Latest

ผลของอาหารโปรไบโอติกต่อการลดโฮโมซีสเตอีน

(ภาพวันนี้ โครเก้ หรือ croquet กีฬาแบบตีคลีที่ช่วยให้ผู้สูงวัยได้อยู่กลางแจ้ง)

ส่งจาก iPhone ของฉัน

เรียนหมอสันต์ครับ

ผมชื่อ … เป็นแฟนคลับของคุณหมอครับ ผมเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีปัญหาเรื่อง Homosystein สูง 18.5 มาหลายปี ซื้อวิตามินB12 มากินอยู่หลายปี ค่า Homosysteine ก็ไม่ลงผมเคยปรึกษาคุณหมอครั้งหนึ่งประมาณ ปี2564 คุณหมอแนะนำให้ผมทดลองฉีดวิตามินB12 ผมฉีดวันเว้นอยู่ 6 เดือนครับ ค่าHomosysteine ของผมก็ไม่ลง
และเมื่อผมได้ฟังบทสนทนาของคุณหมอในรายการเจาะใจ คุณหมอพูดถึงโปรไบโอติค ที่เป็นผู้ผลิต B12
ผมก็เลยลงมือทำน้ำคอมพูชา กินเองเป็นเวลา 4 เดือนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม นี้ผลการตรวจค่า Homosysteine
ลงมาเหลือ 13.69  ผมจึงอยากเรียนให้คุณหมอเป็นข้อมูลเผื่อคุณหมอจะได้เอาค้นคว้าทดลองต่อเผื่อจะเป็นประโยชน์ครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กินมังสวิรัติครับ

…………………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนอื่นขอขอบพระคุณที่แจ้งผลการวิจัยกับตัวเองให้ทราบ

และก่อนที่จะคุยกันต่อไปขออธิบายเกริ่นหน่อยว่า homocysteine นี้คืออะไร มีผลดีเสียต่อสุขภาพอย่างไร กล่าวโดยสรุปโฮโมซีสเตอีนคือกรดอามิโน (โปรตีน) ตัวหนึ่งที่หากเกิดคั่งค้างในร่างกายนานๆจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระทำให้เกิดโรคหลอดเลือด เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระหมายความว่าไม่ต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่นไขมันสูง ความดันสูง สูบบุหรี่ แค่มีโฮโมซีสเตอีนคั่งก็เป็นโรคหลอดเลือดตีบได้แล้ว ใครที่มีโฮโมซีสเตอีนคั่งจึงเป็นเรื่องใหญ่ประมาณคล้ายกับการสูบบุหรี่หรือมีความดันสูงมีโคเลสเตอรอลสูง

คนปกติจะไม่มีการคั่งของโฮโมซีสเตออีน เพราะในอาหารที่มนุษย์เรากินเข้าไปไม่มีโฮโมซีสเตอีน ร่างกายเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาจากกรดอามิโนอีกตัวหนึ่งชื่อเมไทโอนีนแบบเป็นขั้นตอนกลางเพื่อที่จะเปลี่ยนมันไปเป็นกรดอามิโนอีกตัวหนึ่งชื่อซีสเตอีนซึ่งร่างกายเอาไปใช้งานได้ ร่างกายจึงสร้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้ มันจะเกิดคั่งขึ้นมาก็เฉพาะในร่างกายของคนที่กลไกการเผาผลาญผิดปกติไป กล่าวคือร่างกายขาดปัจจัยร่วมสำคัญในการเปลี่ยนโฮโมซีสเตอีนไปเป็นซีสเตอีน อันได้แก่ โฟเลท วิตามินบี.6 และวิตามินบี.12

คนที่กินผักจะไม่ขาดโฟเลท คนที่กินถั่วหรือกินเนื้อจะไม่ขาด B6 ปัญหาใหญ่อยู่ที่วิตามินบี.12 ซึ่งจะขาดในคนสามกลุ่มคือ (1) สูงอายุแล้วตัวช่วยดูดซึมวิตามินบี.12 (intrinsic factor) ในกระเพาะลดปริมาณลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นโรคเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบแบบเหี่ยวแห้ง (atrophic gastritis) (2) มีพันธ์ุกรรมการเผาผลาญบกพร่อง (3) คนไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย เนื่องจากตัวพืชเองไม่มีวิตามินบี.12 ผู้ผลิตวิตามินบี.12 คือแบคทีเรีย หากอยากได้วิตามินบี.12 ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ซึ่งเก็บวิตามินบี.12 ไว้ในตัวก็ต้องกินแบคทีเรียตัวเป็นๆจากอาหารหมักๆบูดๆแทน

การขาดวิตามินบี12 ซึ่งส่งผลให้เกิดการคั่งของโฮโมซีสเตอีนนี้จะนำไปสู่โรคสามกลุ่มคือ (1) โรคหลอดเลือด (2) โรคระบบประสาทรวมทั้งสมองเสื่อม (3) โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโต (megaloblastic anemia) ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ นานมาแล้วมีแฟนบล็อกท่านหนึ่งเป็นพระวัดป่าเขียนมาเล่าว่าท่านมีอาการสมองเสื่อมแล้วรักษาด้วยวิตามินบี.12 แล้วหายได้ ซึ่งท่านได้ทดลองใช้ทั้งแบบกินทั้งแบบฉีดและแบบอมใต้ลิ้น

กลับมาเข้าประเด็นสำคัญของจดหมายแฟนบล็อกท่านนี้ ท่านกินอาหารแบบวีแกนมานาน แล้วป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเลย มีแต่การคั่งของโฮโมซีสเตอีนในร่างกายซึ่งบ่งชี้ไปทางว่าขาดวิตามินบี.12 จับความจากจดหมายที่เล่าท่านได้ทำการทดลองรักษาตัวเองหลายวิธีได้ผลแตกต่างกันไปดังนี้

(1) ทดลองกินวิตามินบี.12 ทุกวันอยู่นานหลายปีแล้วเจาะเลือดดู โฮโมซีสเตอีนไม่ลง แปลว่าไม่เวอร์ค

(2) ทดลองฉีดวิตามินบี.12 ถี่ระดับวันเว้นวันนานถึง 6 เดือน โฮโมซีสเตอีนก็ยังไม่ลงอีก

(3) ทดลองทำอาหารพรีไบโอติกกินในรูปของชาหมักผลไม้ (kombucha) ที่ทำด้วยตัวเอง กินนาน 4 เดือน คราวนี้โฮโมซีสเตอีนลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ผ่าง..ผ่าง..ผ่าง

ผลการทดลองของท่านแม้จะเป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่าแต่มีความหมายมากสำหรับแฟนบล็อกทุกท่านไม่เฉพาะคนที่กินอาหารแบบมังสวิรัติหรือวีแกน เพราะเป็นการชี้ความเป็นไปได้ให้เห็นว่าการป้องกันและแก้ไขการคั่งของโฮโมซีสเตอีนนั้นวิธีที่ท่านเล่ามาคือกินโปรไบโอติกแบบทำเองเป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการกินหรือฉีดวิตามินบี.12 อย่างน้อยก็กรณีตัวท่านเอง ข้อมูลนี้สอดคล้องต้องกันกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้วเป็นอย่างดี กล่าวคือมีหลักฐานวิจัยระดับสูง (สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ) ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ซึ่งซึ่งพิสูจน์ได้ชัดแล้วว่าการกินแบคทีเรียตัวเป็นๆในรูปของโปรไบโอติกช่วยลดระดับการคั่งของโฮโมซีสเตอีนในร่างกายได้

ไหนๆคุยเรื่องโปรไบโอติกแล้วขอแถมผลของมันต่อโรคสมองเสื่อมหน่อยนะ ว่าตอนนี้มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่เป็นข้อมูลเจาะจงว่าอาหารโปรไบโอติกใช้รักษาอาการขี้หลงขี้ลืมหรือสมองเสื่อมให้ดีขึ้นได้ งานวิจัยนี้เอาคนไข้สมองเสื่อมมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารโปรไบโอติกปลอม อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารโปรไบโอติกจริง ทำวิจัยนาน 12 สัปดาห์ แล้วเอามาทำการทดสอบภาวะสมองเสื่อม (MMSE) แข่งกันเปรียบเทียบกับคะแนนที่ทำได้ก่อนการวิจัย พบว่ากลุ่มที่กินอาหารโปรไบโอติกจริงมีอาการสมองเสื่อมดีขึ้นมากกว่ากลุ่มกินโปรไบโอติกปลอม ผลดีที่แสดงออกในรูปของคะแนน MMSE นี้มากกว่าผลดีที่ได้จากการใช้ยารักษาสมองเสื่อมที่ฮิตๆกันอยู่ตอนนี้เสียอีก

ไหนๆก็เล่าเรื่องโปรไบโอติกซึ่งสัมพันธ์กับความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งสัมพันธ์ต่อไปถึงโรคสมองเสื่อมแล้ว ผมขอเล่าต่อถึงรายงานผู้ป่วย (case report) ท่านหนึ่งในวารสาร Curr. Med. Res. Opin. เมื่อหนึ่งปีก่อน เป็นเรื่องของคุณย่าอายุ 90 ปีที่เป็นโรคสมองเสื่อมคนหนึ่ง เขาเอาอุจจาระที่บริจาคโดยชายหนุ่มอายุ 27 ปีที่มีสุขภาพดีมาสวนเก็บเข้าไปทางทวารหนัก (fecal transplantation) ให้เธอ ผลปรากฎว่าคะแนนสมองเสื่อม (MMSE) ของเธอเพิ่มจาก 15 คะแนนเป็น 20 คะแนนในเวลา 3 เดือน เรียกว่าได้คะแนนดีกว่ากินยารักษาสมองเสื่อมถึงสามเท่าเพราะคนขยันกินยา donepezil นานสามเดือนขึ้นไป คะแนน MMSE เพิ่มขึ้นแค่ 1.73 คะแนนเท่านั้น ดังนั้น หิ หิ ไม่แน่นะ ต่อไปการบริจาคอึอาจเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมยอดฮิตอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนหนุ่มคนสาวที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ได้

กล่าวโดยสรุป

อาหารหมักๆ บูดๆ เน่าๆ จงเจริ้ญ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Graham IM, Daly LE, Refsum HM, Robinson K, Brattström LE, Ueland PM, Palma-Reis RJ, Boers GH, Sheahan RG, Israelsson B, Uiterwaal CS, Meleady R, McMaster D, Verhoef P, Witteman J, Rubba P, Bellet H, Wautrecht JC, de Valk HW, Sales Lúis AC, Parrot-Rouland FM, Tan KS, Higgins I, Garcon D, Andria G, et al. Plasma homocysteine as a risk factor for vascular disease. The European Concerted Action Project. JAMA. 1997 Jun 11;277(22):1775-81. doi: 10.1001/jama.1997.03540460039030. PMID: 9178790.
  2. Majewska K, Kręgielska-Narożna M, Jakubowski H, Szulińska M, Bogdański P. The Multispecies Probiotic Effectively Reduces Homocysteine Concentration in Obese Women: A Randomized Double-Blind Placebo-Controlled Study. J Clin Med. 2020 Apr 2;9(4):998. doi: 10.3390/jcm9040998. PMID: 32252416; PMCID: PMC7230928.
  3. Akbari E, Asemi Z, Daneshvar Kakhaki R, Bahmani F, Kouchaki E, Tamtaji OR, Hamidi GA, Salami M. Effect of Probiotic Supplementation on Cognitive Function and Metabolic Status in Alzheimer’s Disease: A Randomized, Double-Blind and Controlled Trial. Front Aging Neurosci. 2016 Nov 10;8:256. doi: 10.3389/fnagi.2016.00256. PMID: 27891089; PMCID: PMC5105117.
  4. Park S.-H., Lee J.H., Shin J., Kim J.-S., Cha B., Lee S., Kwon K.S., Shin Y.W., Choi S.H. Cognitive function improvement after fecal microbiota transplantation in Alzheimer’s dementia patient: A case report. Curr. Med. Res. Opin. 2021;37:1739–1744.
  5. Boada-Rovira M, Brodaty H, Cras P, Baloyannis S, Emre M, Zhang R, Bahra R; 322 Study Group. Efficacy and safety of donepezil in patients with Alzheimer’s disease: results of a global, multinational, clinical experience study. Drugs Aging. 2004;21(1):43-53. doi: 10.2165/00002512-200421010-00004. PMID: 14715043.