Latest

ทุกประเด็นเกี่ยวกับการรักษาสิวที่ดื้อด้านต่อยาปฎิชีวนะ

หนูอายุ 42 ปี แต่เป็นสิวไม่เลิกจนหนูอายคนเขา คนเขามองหนูด้วยสายตาว่าเป็นสาวเป็นแส้ทำไมปล่อยให้หน้าตัวเองสกปรก หนูรักษากับหมอผิวหนังมาสี่ปี เปลี่ยนหมอไปสามคน กินยา doxycyclin บ้าง minocycline บ้าง ยาปฏิชีวนะอื่นจำชื่อไม่ได้บ้าง กินมาตลอดแต่สิวไม่หาย หน้าก็ดำลงๆเพราะแผลเก่าจากสิวมากขึ้นๆ หนูกลุ้มใจมาก ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร รู้อยู่ว่าคุณหมอสันต์เป็นหมอหัวใจ แต่หนูหวังพึ่งคุณหมอ ขอคำแนะนำคุณหมอด้วยค่ะ

เคารพรักและศรัทธาคุณหมอ

……………………………………………………

ตอบครับ

ผมตอบคุณในฐานะที่ผมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวนะ ตอบไปทีละประเด็นตามที่ผมจะนึกได้ เพราะคุณไม่ได้เจาะจงถามมาเป็นข้อๆ

1.. มาตรฐานการรักษาสิวทุกวันนี้ เป็นการรักษาควบ คือใช้ยาทาเฉพาะที่ (เช่น benzoyl peroxide, retinoid, หรือยาปฏิชีวนะชนิดทา) ควบกับกินยาปฏิชีวนะแบบกิน กินกันยาวจนหาย ยาปฏิชีวนะมาตรฐานเพื่อการนี้คือยาในกลุ่ม tetracycline ซึ่งตัวที่ใช้ได้ผลดีที่สุดคือ doxycycline และ minocycline ข้อเสียคือต้องกินกันยาว และเป็นที่รู้กันดีว่ายากลุ่มนี้มันเปลี่ยนสีผิวหนังให้คล้ำลงได้ และมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่แม้จะกินยานี้ยาวหลายปีแล้วแต่สิวก็ยังไม่หาย

2,, อาหารและจุลินทรีย์รักษาสิว มีงานวิจัยซึ่งพิสูจน์ได้ว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ปกติบนผิวหนังเองเช่น S. epidermidis สามารถหมักกลีเซอรอลบนผิวหนังให้กลายเป็นโมเลกุลกรดไขมันสายโซ่ขนาดสั้นเช่น succinic acid ซึ่งยับยังเชื้อจุลินทรีย์ P. acnes ที่เป็นต้นเหตุการเกิดสิวได้ ความรู้นี้ได้ให้แนวคิดการใช้จุลินทรีย์มารักษาสิว โดยจุลินทรีย์ที่มีศัยกภาพในเรื่องนี้ก็เช่น Staphylococcus, Streptococcus, Lactococcus, Lactobacillus, and Enterococcus เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นแค่ขั้นศึกษาวิจัยในห้องทดลองต้องรอดูกันต่อไป

ในแง่ของอาหาร งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสขนาดใหญ่ [2] สรุปผลในภาพรวมได้ว่าอาหารพืชเป็นหลักทั้งผัก ผลไม้ น้ำมันมะกอก ถั่ว นัท และอาหารหมักเช่นโยเกิร์ต ทำให้สุขภาพผิวหนังโดยรวมดีขึ้น ผิวหนังผุดผาดเต่งตึงขึ้น เหี่ยวย่นน้อยลง ลดความเสียหายของผิวหนังจากแสงแดดลง

ในแง่ของอาหารต่อการเป็นสิวนั้น อย่างน้อยก็มีหลักฐานเชิงระบาดวิทยาทะยอยตีพิมพ์ต่อเนื่องมาหลายปีว่าการดื่มนมวัวสัมพันธ์กับการที่วัยรุ่นทั้งชายทั้งหญิงเป็นสิวมากขึ้น [3-5]

อีกงานวิจัยหนึ่งสุ่มแบ่งผู้ป่วยกินอาหารเปรียบเทียบระหว่างอาหารดัชนีน้ำตาลสูง (หวานมาก แคลอรี่แยะ) กับอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ (ไม่หวาน กากแยะ แคลอรี่ต่ำ) พบว่าอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำสัมพันธ์กับการเป็นสิวน้อยลง

อีกงานวิจัยหนึ่งสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบการให้กินชาเขียวในรูปสารสกัดเทียบกับให้กินยาหลอกพบว่ากลุ่มกินชาเขียวลดความรุนแรงของสิวลงได้ [6]

อีกงานวิจัยหนึ่งใช้สารสกัดจากต้นกุกูล (Gugulipid) ซึ่งเป็นสมุนไพรรักษาไขมันสูง เอามารักษาสิว แล้วพบว่ารักษาสิวได้ดีเท่ายา tetracycline

อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่รัสเซียพบว่าเมื่อเกิดการสูญเสียดุลยภาพของจุลินทรีย์ในลำไส้ (dysbiosis) หากแก้ไขให้ดุลยภาพกลับมาเป็นปกติ จะทำให้การรักษาสิวง่ายขึ้น [7]

ในแง่ของการให้กินจุลินทรีย์ (probiotic) เพื่อรักษาสิวก็มีการรักษากันมานานหลายสิบปีแล้ว มีงานวิจัยเก่าชิ้นหนึ่งรายงานการใช้จุลินทรีย์แล็คโตบาซิลลัสกินรักษาสิวแล้วสรุปผลว่าได้ผลดีขึ้น 80% แต่เป็นงานวิจัยระดับต่ำที่ไม่มีกลุ่มควบคุม [8] งานวิจัยใหม่มีแต่การใช้จุลินทรีย์รักษาสิวควบกับการรักษามาตรฐานด้วยยาปฏิชีวนะสรุปผลได้ว่าทำให้การรักษาสิวได้ผลเร็วขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลง [9] ข้อมูลวิจัยเหล่านี้พอจะสรุปได้ระดับหลวมๆว่าอาหารพืชเป็นหลักซึ่งสร้างดุลยภาพให้จุลินทรีย์ในลำไส้ น่าจะมีผลดีต่อการรักษาโรคสิว แม้ว่าข้อมูลวิจัยการใช้อาหารพืชเป็นหลักรักษาสิวแบบตรงๆยังไม่มีใครทำวิจัยไว้ (เพราะมันทำวิจัยยาก มีปัจจัยกวนแยะ)

3.. ปัจจุบันนี้มีการใช้ยาใหม่เกิดขึ้น เพิ่งจะหมาดๆไม่ถึงเดือนมานี้เอง ผมได้เห็นงานวิจัยขนาดใหญ่มาก [10] และการออกแบบงานวิจัยดีมากชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ใหม่ๆซิงๆเลย ชื่องานวิจัย SAFA ในงานวิจัยนี้เขาเอาหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เป็นสิวดื้อด้านเรื้อรังมานานเกิน 6 เดือนมาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยา spinololactone (Aldactone) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะและลดความดัน ในขนาด 50 มก.ต่อวันกินไปนาน 6 สัปดาห์ แล้วเพิ่มขนาดไปเป็น 100 มก.ต่อวันกินต่อไปจนครบ 24 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาหลอกไปนานเท่ากัน ทั้งสองกลุ่มไม่ให้กินยาปฏิชีวนะรักษาสิวเลย ผลวิจัยที่ประเมินด้วยแบบมาตรฐานการประเมินสิว (Acne-QoL) และการประเมินโดยคณะผู้วิจัย (IGA) พบว่าหากวัดเมื่อกินยาได้ 12 สัปดาห์พบว่า กลุ่มที่กินยา spinololactone โรคสิวดีขึ้น 72% ขณะที่กลุ่มกินยาหลอกสิวดีขึ้น 68% แต่เมื่อวัดเมื่อกินยาได้ครบ 24 สัปดาห์พบว่ากลุ่มกินยา spinololactone โรคสิวดีขึ้น 82% ขณะที่กลุ่มควบคุมดีขึ้น 63% ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนการประเมินโดยคณะผู้วิจัยก็พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญเช่นกันกล่าวคือเมื่อกินยาไปได้ 12 สัปดาห์แล้วประเมินได้ผลว่าการรักษาโรคสิวประสบความสำเร็จ 19% ในกลุ่มกินยาจริงและ 6% ในกลุ่มกินยาหลอก (p=0.02)

ในแง่ผลข้างเคียงของยาพบว่าเกิดอาการปวดหัวเล็กน้อยในกลุ่มกินยาจริง 20% และในกลุ่มกินยาหลอก 12% ซึ่งถือว่าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผลข้างเคียงรุนแรงไม่มี คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่าการใช้ยา spironolactone รักษาสิวแทนยาปฏิชีวนะได้ผลดีกว่าการใช้ยาหลอกโดยจะเห็นผลชัดเจนเมื่อใช้ไปนาน 24 สัปดาห์

4,, กล่าวโดยสรุป ในกรณีของคุณ ผมแนะนำบนพื้นฐานของงานวิจัยทั้งหมดที่มีอยู่ถึงวันนี้ ว่า

4.1 ควรเลิกกินยาปฏิชีวินะไปก่อน เพราะมันพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล มีแต่ผลข้างเคียงของยาที่ทำให้สีผิวเข้มขึ้น

4.2 ควรปรับอาหารมากินอาหารพืชเป็นหลัก เน้นที่มีความหลากหลายของชนิด หลากสี หลากรส มีกากแยะ (prebiotic) และมีอาหารหมักที่มีตัวจุลินทรีย์เป็นๆอยู่ในอาหาร (probiotic) แทรกเป็นอาหารประจำวันทุกวันด้วย

4.3 ควรเริ่มทดลองกินยา spinorolactone เพื่อรักษาสิว โดยทดลองกินไปอย่างน้อย 24 สัปดาห์ การจะกินยานี้วิธีที่ดีที่สุดคือไปปรึกษาหมอให้หมอสั่งยาให้ แม้ในเมืองไทยนี้มีข้อแตกต่างจากประเทศที่เจริญแล้วตรงที่ยาอะไรก็หาซื้อเองได้หมด ซื้อบนโต๊ะไม่ได้ก็ซื้อใต้โต๊ะ แต่ผมไม่แนะนำให้ซื้อยา spinorolactone มารักษาตัวเอง

พูดถึงยา spironolactone นี้มันออกฤทธิ์โดยระงับฤทธิ์ของฮอร์โมน aldosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตอันเป็นฮอร์โมนกลุ่มเดียวกับฮอร์โมนที่ทำให้เป็นสิวมากขึ้น เป็นยาที่ใช้รักษาความดันสูงกันมานานแล้ว มีราคาถูก และค่อนข้างปลอดภัย

4.4 ควรปรับวิธีใช้ชีวิตที่มีผลต่อการเป็นสิวด้วย เช่น การไม่สูบบุหรี่ การไม่กินฮอร์โมนเพศ (ยาคุม) ดูแลการนอนหลับให้ดี ออกกำลังกายให้หนักพอควรจนได้เหงื่อทุกวัน หลีกเลี่ยงมลภาวะ หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพผิวหนังและการหายของสิว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Mottin VHM, Suyenaga ES. An approach on the potential use of probiotics in the treatment of skin conditions: acne and atopic dermatitis. Int J Dermatol. 2018 Dec;57(12):1425-1432.
  2. Fam VW, Charoenwoodhipong P, Sivamani RK, Holt RR, Keen CL, Hackman RM. Plant-Based Foods for Skin Health: A Narrative Review. J Acad Nutr Diet. 2022 Mar;122(3):614-629. 
  3. Adebamowo C, Spiegelman D, Danby F, et al. High school dietary dairy intake and teenage acne. J Am Acad Dermatol. 2005;52:207–214. 
  4. Adebamowo C, Spiegelman D, Berkey C, et al. Milk consumption and acne in teenaged boys. J Am Acad Dermatol. 2008;58:787–793. 
  5. Adebamowo C, Spiegelman D, Berkey C, et al. Milk consumption and acne in adolescent girls. Dermatol Online J. 2006;12:1.
  6. Lu P.H., Hsu C.H. Does supplementation with green tea extract improve acne in post-adolescent women? A randomized, double-blind, and placebo-controlled clinical trial. Complement. Ther. Med. 2016;25:159–163.
  7. Volkova L.A., Khalif I.L., Kabanova I.N. Impact of the impaired intestinal microflora on the course of acne vulgaris. Klin. Med. 2001;79:39–41.
  8. Siver R. Lactobacillus for the control of acne. J. Med. Soc. N. J. 1961;59:52–53.
  9. Marchetti F., Capizzi R., Tulli A. Efficacy of regulators of the intestinal bacterial flora in the therapy of acne vulgaris. Clin. Ther. 1987;122:339–343.
  10. Miriam Santer, Megan Lawrence, Susanne Renz, Zina Eminton, Beth Stuart, Tracey H Sach, Sarah Pyne, Matthew J Ridd, Nick Francis, Irene Soulsby, Karen Thomas, Natalia Permyakova, Paul Little, Ingrid Muller, Jacqui Nuttall, Gareth Griffiths, Kim S Thomas, Alison M Layton. Effectiveness of spironolactone for women with acne vulgaris (SAFA) in England and Wales: pragmatic, multicentre, phase 3, double blind, randomised controlled trialBMJ, 2023; e074349