Latest

มะเร็งกระเพาะอาหาร.. ขอให้ช่วยตั้งหลัก

(ภาพวันนี้: หมอสันต์เคยคิดทำสวนกุหลาบ แต่เห็นคนอื่นทำแล้วมันช่างยากเย็น ก็เลยถอดใจ)

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันอายุ 66 ปี เพิ่งเกษียณได้หนึ่งปี เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร invasive adenocarcinoma เพิ่งทราบผลการตัดชิ้นเนื้อจากการส่องตรวจกระเพาะอาหารวันนี้แบบตั้งหลักไม่ทัน ก้อนขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ผลเอ็กซเรย์และ CT ไม่พบว่ามะเร็งแพร่กระจายไปไหน ผลตรวจ HER2 ได้ผลลบ หมอแนะนำไปคนละทาง หมอผ่าตัดให้ผ่าตัดอย่างเดียว หมอเคมีบำบัดให้ใช้เคมีบำบัดก่อนและหลังผ่าตัด อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าควรตั้งหลักตัดสินใจอย่างไร และควรสอนลูกหลานไม่ให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างไร

ขอบพระคุณหมอสันต์ที่ให้ความรู้แบบเชื่อถือได้แก่ประชาชน

………………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแล้วควรรักษาอย่างไร ตอบว่าในภาพใหญ่การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่ได้ผลเชื่อถือได้มากที่สุดมีวิธีเดียวคือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ถ้าเอาออกได้หมดก็หายได้ ดังนั้นการผ่าตัดเป็นวิธีที่ต้องทำก่อนวิธีอื่น ส่วนการจะผ่าตัดแบบไหน (ตัดกระเพาะออกทั้งหมด (total gastrectomy) หรือตัดกระเพาะออกเกือบทั้งหมด (subtotal gastrectomy) หรือตัดกระเพาะด้วยแล้วเลาะต่อมน้ำเหลืองแบบเลาะน้อย (D1 node dissection) หรือแบบเลาะมาก (D2 node dissection) ทั้งหมดนี้ต้องมอบให้หมอผ่าตัดเป็นผู้ตัดสินใจแต่ผู้เดียว โดยหมอเขามีเป้าหมายตัดเนื้องอกออกให้หมดเป็นสำคัญ และการตัดสินใจมักจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยสิ่งที่เขาพบเห็นในห้องผ่าตัด จะให้เขาสัญญาก่อนว่าทำผ่าตัดแบบไหนแค่ไหนคงเป็นไปไม่ได้

ส่วนการรักษาอย่างอื่นเช่นจะให้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ ไม่ว่าจะให้แบบทั้งนำหน้าก่อนผ่าตัดและตามหลังการผ่าตัด (neoadjuvant chemotherapy) หรือจะให้ยาเคมีบำบัดแบบตามหลังการผ่าตัดอย่างเดียว (adjuvant chemotherapy) ทั้งสองแบบเป็นวิธีการรักษาที่วงการแพทย์ทำกันมาทั้งคู่ ถือว่าทั้งเป็นการรักษามาตรฐาน และทั้งเป็นเป็นประเพณีนิยม แต่ผลการรักษายังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ (controversial) ว่าดีคุ้มค่าเมื่อเปรียบกับการผ่าตัดอย่างเดียวหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นชนิดของยาเคมีบำบัดและยาใหม่ในกลุ่ม monoclonal antibody ซึ่งมีประเด็นโต้แย้งมาก ว่ายาตัวไหนดีกว่าตัวไหน สูตรไหนดีกว่าสูตรไหน แต่ในภาพใหญ่แล้วอัตรารอดชีวิตเฉลี่ย (mean survival rate) ของยาเคมีบำบัดทุกชนิดล้วนต่างกันอย่างมากก็ไม่เกิน 3-6 เดือน ยาใหม่จะมีข้อมูลดูดีกว่ายาเก่าเพราะเพิ่งทำวิจัยในคนไข้กลุ่มเล็ก แต่พอใช้นานไปข้อมูลมากขึ้นก็จะค่อยๆพบว่าไม่แตกต่างจากยาเก่ามาก ดังนั้นผมจะขอไม่พูดถึงว่ายาเคมีบำบัดตัวไหนดีตัวไหนไม่ดี เพราะผลมันแตกต่างกันน้อย แม้ว่าราคาจะต่างกันมากก็ตาม ผมจึงขอแนะนำว่าควรต้องทำผ่าตัด ส่วนจะใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่ จะใช้ยาตัวไหน นั่นสุดแล้วแต่คุณชอบ

2.. ถามว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารควรดูแลตัวเองอย่างไร ตอบว่าวงการแพทย์ยังไม่มีความรู้ว่าคนเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารควรดูแลตัวเองอย่างไรเป็นพิเศษ ผมจึงได้แต่ใช้คำแนะนำการดูแลตัวเองของผู้ป่วยมะเร็งในภาพรวม ว่าควรจะ (1) กินอาหารพืชที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผักผลไม้ (2) ลดการกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง (3) ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน (4) ดูแลการนอนหลับของตัวเองให้ดี รวมทั้งขยันออกแดดทุกวันเพื่อให้การนอนหลับดีขึ้น (5) ฝึกลดความเครียดในใจลง ผ่านการฝึกวางความคิด ด้วยกิจกรรมเช่นนั่งสมาธิ รำมวยจีน ฝึกโยคะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

3.. ถามว่าจะบอกลูกหลานให้ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างไร ตอบว่าข้อมูลที่วงการแพทย์มีในปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นมีดังนี้

(3.1) การกินอาหารพวกปลาหมักและเนื้อที่หมัก หรือที่ดองเค็ม หรือที่ย่าง หรือที่เผา ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น เฉพาะผลของอาหารดองเค็มต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารนี้รวมไปถึงผักดองเค็มด้วย

ในทางกลับกัน การกินอาหารกลุ่มผักสดและผลไม้สด ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยลง

(3.2) การสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

(3.3) การเป็นแผลในกระเพาะชนิดเกิดจากแบคทีเรีย H. pylori เรื้อรัง ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น ดังนั้นเมื่อตรวจพบว่าเป็นผลในกระเพาะแบบมีเชื้อนี้ ควรรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวินะจนครบขนาด

(3.4) ความอ้วน สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

(3.5) การได้รับรังสี (เช่นผู้คนในเมืองที่เตาปรมาณูระเบิด) จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

ทั้งหมดนั้นคือเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารที่วงการแพทย์ทราบและอยู่ในวิสัยที่เราจะป้องกันไม่ให้เกิดกับเราได้

อนึ่ง ที่เคยมีข่าวว่ายารักษากระดูกพรุน (bisphosphonate) สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหารมากขึ้นนั้น งานวิจัยติดตามดูกลุ่มคนที่ใช้ยานี้จริงจังไม่พบว่ายานี้กลุ่มนี้สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหารเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Correa P. Diet modification and gastric cancer prevention. J Natl Cancer Inst Monogr. 1992. 75-8. 
  2. Buiatti E, Palli D, Decarli A, Amadori D, Avellini C, Bianchi S, et al. A case-control study of gastric cancer and diet in Italy. Int J Cancer. 1989 Oct 15. 44(4):611-6.
  3. Cardwell CR, Abnet CC, Cantwell MM, Murray LJ. Exposure to oral bisphosphonates and risk of esophageal cancer. JAMA. 2010 Aug 11. 304(6):657-63.