Latest

เดินเส้นทางธรรมะผ่านพุทธคยา แต่ทิศทางที่เดินเป็นทิศที่หนีแก่นไปหากระพี้..รึเปล่า?

(ภาพวันนี้: หมอสันต์กำลังรับจ๊อบบูรณะบ้านไม้สักโบราณหลังหนึ่งสร้างไว้โดยคนฝรั่งเศส โปรดสังเกตทรงหลังคาทรง French Normandy เท่เบิดเลยแมะ)

สวัสดีครับคุณหมอ 

ไม่เคยติดตามคุณหมอ ไม่เคยรู้จักคุณหมอมาก่อน เพิ่งรู้จักหมอก็วันนี้นี่แหละ ผมค้น Google ไปเจอบทความต่างๆที่หมอเขียน (ช่างบังเอิญเสียจริง) คิดว่าหมอต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ

ขอเข้าเรื่องเลยแล้วกัน ตัวผมเองได้เข้ามาสู่เส้นทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อก่อนมีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในเส้นทางนี้มาก ถึงขนาดซื้อตู้พระไตรปิฎกมาไว้ที่บ้านและได้ทำการศึกษาพระสูตร และพระอภิธรรม วันละไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ฟังบรรยายธรรมไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมง เอาเป็นว่าเวลาแต่ละวันใช้ไปกับเส้นทางธรรมะมากกว่าการทำอย่างอื่น

ด้วยบุญหนุนนำอย่างมาก ผมจึงได้มีโอกาสเดินทางไปสังเวชนียสถานทั้ง 4 ที่อินเดียและเนปาลมา 2 ครั้งและได้มีโอกาสเข้าปฏิบัติธรรมหลักสูตรสติปัฏฐาน 4 มา 2 ปี ตอนนั้นคิดว่าชีวิตนี้โชคดีเหลือเกินที่ได้มาพบกับธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้พบกับอาจารย์ที่ช่วยขัดเกลา ช่วยให้ผมสร้างบารมีได้ยิ่งขึ้นไปอีก

ผมคิดว่าผมไปได้ดีในเส้นทางนี้ระดับหนึ่ง แต่เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจากสถานปฏิบัติธรรม ประธานโครงการคนใหม่เข้ามาทำงานวันแรกกล่าวหาว่าผมพูดไม่ดีกับอาจารย์เพียงเพราะผมแซวอาจารย์ ซึ่งทั้งอาจารย์ผู้สอน เหล่าผู้ปฏิบัติธรรมและเจ้าภาพเกือบทุกคนนั้นล้วนรู้จักผมดี เพราะผมอยู่ที่แห่งนั้นมา 2 ปีแล้ว ผลปรากฏว่าการปฏิบัติธรรมครั้งถัดไปผมถูกแบนไม่ให้เข้าหลักสูตรของอาจารย์คนนั้นอีกตลอดชีวิต เพียงเพราะประธานโครงการที่เพิ่งเข้ามาดูแลหลักสูตรครั้งแรกกล่าวหาว่าผมพูดไม่ดีกับอาจารย์(แต่คนอื่นๆในคอร์สปฏิบัติธรรมไม่ได้คิดแบบนั้นนะ)

หลังจากวันนั้นถึงช่วงจุดเปลี่ยนของชีวิต ผมไม่สามารถไปปฏิบัติธรรมกับอาจารย์คนไหนได้อีก เพราะตั้งปณิธาน ตั้งสัจจะวาจาที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาไว้ และมีสัญญาใจว่าเราจะไปในเส้นทางพระพุทธศาสนาด้วยกัน (ชาติก่อนๆคงสร้างบารมีมาด้วยกันล่ะมั๊ง ผมเลยยึดอาจารย์คนนี้)

อยู่ๆจากร่างกายของผมที่ปกติดี ผมเริ่มปวดสะโพกขวา สะโพกซ้าย ปวดหลัง จนต้นขาข้างขวาลีบ MRI ทุกส่วนดูแล้วอาจารย์หมอที่ธรรมศาสตร์กับราชวิถีบอกว่าปกติดีทุกอย่าง แต่ผมรู้ตัวดีว่าตัวผมไม่ปกติจนถึงทุกวันนี้อาการป่วยก็ยังไม่หายแค่ทุเลาลงบัาง ผมจำไม่ได้แล้วว่าหลังกับสะโพกอาการปกติเป็นอย่างไร ผมไม่สามารถกลับไปนั่งสมาธิได้ ไม่สามารถกลับไปอ่านพระไตรปิฎกได้ ไม่สามารถนั่งสวดมนต์ได้เหมือนเก่า เพราะสังขารไม่เอื้ออำนวย

ผมตั้งมั่นในเส้นทางนี้มาก มันจึงเกิดเป็นความคาดหวัง ผมไม่ได้เตรียมใจมาพบกับความผิดหวัง แต่พอมันเกิดเรื่องทุกอย่างขึ้นแล้ว ผมทำใจไม่ได้ ผมไปต่อไม่ถูกถึงขั้นเสียสูญ ไม่ใช่แค่เรื่องปฏิบัติธรรม แต่คนๆนั้นทำให้ผมไปผิดคำสาบานที่พุทธคยา ผมรู้สึกว่าตัวเองเสียสิ่งที่สำคัญมากๆในชีวิตไป

ผมทิ้งชีวิตมา 2 ปีกว่าแล้ว ไม่เอาอะไรซักอย่าง กินๆนอนๆหายใจทิ้งไปวันๆ พระสูตรที่ท่องจำมา บทสวดมนต์ที่เคยจำได้ วิธีการเจริญสติต่างๆมันหายไปเกือบหมดแล้ว ผมเริ่มเบื่อโลกมาซักพัก ตอนนี้ผมเริ่มหมดใจที่จะเดินไปในเส้นพระพุทธศาสนา ผมเริ่มไม่มีใจจะทำมันต่อ ผมไม่รู้จะทำยังไงจริงๆ (แต่ผมยังไม่ได้ทิ้งธรรมะ)

ทุกวันนี้ต้องคอยกดความรู้สึก อยากทำร้าย ทำลายเส้นทางธรรมะของคนๆนั้นคืนบ้าง อยากให้เขาสูญเสียเหมือนที่ตัวผมเองสูญเสีย จริงๆปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ผมจะอดทนอดกลั้นกับเรื่องนี้ ต่อจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้างผมก็ไม่อาจรู้ได้

จากเรื่องที่ผมเล่ามาคร่าวๆ คุณหมอมีวิธีอย่างไรในการเยียวยาหัวใจที่เจ็บหนักดวงนี้บ้าง ถ้าเกิดเรื่องนี้กับตัวคุณหมอเอง คุณหมอจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ในเมื่อทุกอย่างที่ทำมามันไม่เหมือนเก่า มันพังจนไม่เหลือชิ้นดี 

โปรดเมตตาหาทางออกให้ผมทีครับ

……………………………………………………………………..

ตอบครับ

การที่คุณมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างจริงจังนั้นเป็นเรื่องที่วิเศษ เพราะเนื้อหาสาระคำสอนของทุกศาสนาเท่าที่ผมรู้จัก อย่างน้อยก็ ฮินดู คริสต์ อิสลาม และพุทธ ล้วนมีสาระเหมือนกันคือมุ่งให้คนมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและอยู่ด้วยกันได้อย่างปรองดอง ดังนั้นคำสอนของทุกศาสนาถ้าคุณจับแก่นและนำมันมาสู่การปฏิบัติได้ มันไม่มีทางที่จะทำให้คุณเป็นทุกข์ไปได้เลย ถ้าคุณเดินไปบนเส้นทางของศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างจริงจังแล้วคุณเกิดเป็นทุกข์ มีความโกรธ มีความเกลียดขึ้นในใจมากกว่าเดิม แสดงว่าที่คุณจับมาได้นั้นไม่ใช่ “แก่น” เสียแล้ว ท่าทางมันจะเป็น “กระพื้” เสียมากกว่า ดังนั้นผมแนะนำให้คุณถอยออกมาตั้งหลักใหม่ มาเหล่ดูซิว่าถ้าสิ่งที่จับมาได้นั้นคือกระพี้ แล้วอะไรละ เป็นแก่น

ผมจะคุยกับคุณจากคีย์เวอร์ดแค่สองคำ คือ Acceptance กับ Identity หรือ “การยอมรับ” กับ “ตัวตน

พระพุทธเจ้าสอนหนังสือหรือสอนธรรมะครั้งแรก (ในวันอาสาฬหะ) นักเรียนมีห้าคน เนื้อหาที่สอนบันทึกไว้เป็นสูตรชื่อ ธัมจักรกัปปะวัตนสูตร เนื้อหาเกี่ยวกับ acceptance หรีอการยอมรับ คือให้ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ที่ผ่านเข้ามา แบบอยู่ตรงกลางนิ่งๆ ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบหรืออยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบไม่อยากได้ ตรงนี้คือหัวใจนะ acceptance คือคีย์เวอร์ด ในบทสอนนี้ยังได้พูดถึงกลไกการเกิดและดับของความทุกข์ ว่าความทุกข์เกิดจากความคิด (desire) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราแกว่งไปจากการอยู่นิ่งๆตรงกลาง เมื่อวางความคิดไปหมด ทุกข์ก็หมด และยังได้สอนถึงการจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันว่าไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำ จะประกอบอาชีพการงานอะไร ก็ให้ทำในลักษณะที่ “ชอบ” คือทำในแบบที่จะทำให้อยู่นิ่งๆตรงกลางได้ ไม่แกว่งไปหาหรือไปยึดอะไร และไม่แกว่งหนีอะไร เพราะการแกว่งจะทำให้เกิดความคิด (desire) ไม่ว่าจะเป็นคิดจะเอาหรือความคิดจะหนี ก็ล้วนแล้วจะนำไปสู่ความทุกข์

สอนแค่นี้นักเรียนหนึ่งในห้าคน “เก็ท” เลย แต่อีกสี่คนยังไม่เก็ท

ห้าวันต่อมาพระพุทธเจ้าสอนสี่คนที่เหลือใหม่ สอนเรื่องเดิม คือเรื่องจะทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตอยู่โดยไม่ทุกข์ แต่คราวนี้เปลี่ยนมุมสอนใหม่ คือสอนจากมุมของ identity หรือตัวตน คำสอนนี้บันทึกไว้เป็นสูตรชื่อ อนัตตลักขณสูตร เนื้อหามีอยู่ว่าความคิดที่ก่อทุกข์หรือ desire นั้นมันเกิดจากความเข้าใจผิดว่าชีวิตเราซึ่งประกอบขึ้นจากร่างกาย (forms) พลังชีวิต (ซึ่งเรารับรู้ได้ในรูปของ feelings) ความจำ (memory) ความคิด (thought) และความรู้ตัว (consciousness) ว่าทั้งหมดนี้เป็นของที่จริงแท้ ที่สถิตย์สถาพร ทำให้พาลเข้าใจว่าความเป็นบุคคล (อัตตา) ของเรานี้มันเป็นของจริง โดยที่ตัวเราเป็นเจ้าของมัน แต่แท้จริงแล้วมันเป็นการมาบรรจบกันแค่ชั่วคราวขององค์ประกอบย่อยชั่วคราวห้าอย่างคือ ร่างกาย พลังชีวิต ความจำ ความคิด และความรู้ตัว แค่นั้นเอง โดยที่เราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของชิ้นส่วนทั้งห้าส่วนนี้ด้วย และเมื่อแยกแยะชิ้นส่วนย่อยๆทั้งห้านี้ออกไปแล้วสิ่งที่เรียกว่าตัวตนหรืออัตตาก็ไม่มี ไม่มีอะไรเหลือเลย

คราวนี้นักเรียนสี่คนที่เหลือเก็ทเลย

ผมมีความเห็นว่าการยอมรับ (acceptance) และการทิ้งตัวตน (identity) นี้คือทางเข้าถึง “แก่น” คือการมีชีวิตอยู่โดยไม่ทุกข์ ขอให้คุณโฟกัสตรงนี้ ส่วนเรื่องอื่นเป็น “กระพี้” ยกตัวอย่างเช่น

การสาบานใต้ต้นโพธิ์ก็ดี การผิดคำสาบานแล้วพบว่าร่างกายเดี้ยงแบบจะมีอันเป็นไปก็ดี การถูกกล่าวหาและถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมกับหมู่คณะอย่างไม่เป็นธรรมก็ดี การตั้งความหวังแล้วผิดหวังก็ดี การมีความแค้นอยากจะทำลายคนอื่นเพื่อให้หายแค้นก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นกระพี้ นัยหนึ่ง มันเกิดจากความคิดที่ไม่ยอมรับสิ่งต่างๆว่ามันเกิดขึ้นแล้วเหลือแต่ขั้นตอนต่อไปว่าเราจะสนองตอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนี้อย่างไร อีกนัยหนึ่ง มันเกิดจากความคิดที่มีพื้นฐานอยู่บนความปักใจเชื่อว่าอัตตาคือตัวตนของเรานี้เป็นของจริง ซึ่งการยึดกุมความคิดทั้งสองนัยนี้มีแต่จะทำให้คุณเดินไปในทิศที่ห่างไกลออกไปจาก “แก่น” มากยิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้นทุกที

ถามว่าถ้าหมอสันต์มาตกที่นั่งแบบคุณจะทำยังไง หิ หิ ตอบว่า

ถ้าผมถูกประธานโครงการไล่ออกโดยไม่เป็นธรรมผมก็จะ ยอมรับ ว่าเขาไล่ผมออกแล้ว ผมก็จะไตร่ตรองว่าเหตุที่เขาใช้อ้างเพื่อไล่ผมออกนั้นตรงไหนจริงตรงไหนไม่จริง แล้วผมก็จะหาโอกาสเข้าพบประธานโครงการอย่างสุภาพถ่อมตน ยอมรับความจริงส่วนที่ผมผิดพลาด ขอโทษ เขาที่ผมทำอะไรพลาดไป ขอบคุณ เขาอย่างจริงใจที่ช่วยชี้ให้ผมเห็นข้อไม่ดีของตัวเองซึ่งผมไม่เคยมองเห็น ถ้าเขาไม่รับฟังและไล่ผมออกจากห้องเหมือนไล่หมูไล่หมา ผมก็จะ ให้อภัย เขา แถมแผ่ เมตตา ให้เขาด้วย คือผมก็จะทำแค่สิ่งที่สื่อถึงการยอมรับเรื่องนี้ของใจผมเองว่าสิ่งนี้มันได้เกิดขึ้นหรือผ่านเข้ามาในชีวิตผมเรียบร้อยแล้ว ด้วยการ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา แล้วผมก็จะเดินหน้าไปกับชีวิตของผมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

ไม่เป็นไร้ โนพร็อบเบล็ม

ไม่ได้เรียนกับอาจารย์คนนี้ก็ดีเหมือนกันจะได้ไปลองเรียนกับอาจารย์คนอื่นบ้าง หรือไม่มีอาจารย์เลยก็ดีเหมือนกันจะได้ทดลองปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนด้วยตัวเองแบบลองผิดลองถูกเองประเมินผลเองดูบ้าง

ท่านไล่ผมเหมือนหมูเหมือนหมาก็ดีเหมือนกัน เพราะขณะโมโหเดือดปุดๆอยู่นั้นผมจะได้มองดูความบ้าอัตตาของตัวเองว่าโห..เอ็งนี่ยังบ้าอัตตาตัวเองแรงขนาดนี้อยู่หรือนี่ จะได้รู้ระดับชั้นที่แท้จริงของตัวเองเสียทีว่าที่นึกว่าตัวเองไต่บันไดดารามาจนจวนเจียนจะได้เป็นอานาคอนด้าแล้วที่แท้ก็ยังอยู่ที่เดิมคือ..สนามหลวง (หิ หิ)

กล่าวโดยสรุปก็คือผมจะถือเอาเหตุการณ์ครั้งนี้มาเช็คว่าผมเก็ทที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง acceptance กับ identity มากแค่ไหน จะได้ประเมินตัวเองได้ถูกต้องและออกเดินหน้าต่อไปกับการเลือกใช้พระธรรมคำสอนที่เหมาะกับระดับกึ๋นที่แท้จริงของตัวเองมาฝึกปฏิบัติ เพื่อจะให้มีความก้าวหน้าในทางธรรมจนพาตัวเองหลุดพ้นออกไปจากกรงของความคิดของตัวเองได้ในที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์