Latest

เป็นมะเร็ง ได้เคมีบำบัด หมอห้ามกินผักสด ห้ามกินผลไม้เปลือกบาง จะไม่ทำตามนั้นได้ไหม

(ภาพวันนี้ : อยู่กรุงเทพฯ ก็หัดสีไวโอลิน)

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉัน อายุ 69 ปี 4 เดือน แต่งงานแต่ไม่มีลูก ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะ 4 ทราบว่าเป็นมะเร็งและผ่าตัดที่ … ตอนนี้อยู่ระหว่าง เคโม จะเริ่มเข็มแรกวันที่ … หมอที่ผ่าตัดบอกว่าต้องใช้เวลาเคโมนานราว 1 ปี ให้ยาพุ่งเป้า จำชื่อไม่ได้ค่ะ จะมีผลกับท่อปัสสาวะ อาจทะลุ ฉีกขาด มือเท้าชา เยื่อบุลอก ผมร่วง

ขอคำแนะนำจากคุณหมอ ว่าจะดูแลรักษาตัวตามแนวทางธรรมชาติแบบที่คุณหมอใช้อยู่  หรือ รักษาควบคู่กันไปตามแพทย์แผนปัจจุบัน เคโมไปด้วย เพราะทางแพทย์แผนปัจจุบันไม่ให้ทานผักสด ต้องสุกเท่านั้น ผลไม้ต้องเปลือกหนา ห้ามผลไม้เปลือกบาง กลัวติดเชื้อ

รอคำแนะนำ ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามขอคุยเล่นก่อนนะ ความทุกข์อย่างหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งทุกวันนี้คือการที่หมอคนโน้นห้ามกินนี่ หมอคนนี้ห้ามกินนั่น หมอคนนี้ห้ามกินแบบนั้น หมอคนนั้นห้ามกินแบบนี้ หากทำตามทุกหมออย่างซื่อสัตย์จริงใจ ผู้ป่วยก็แทบไม่มีอะไรเหลือให้กินได้เลย เท่าที่ผมได้ยินมาก็เช่น

“ห้ามกินโยเกิร์ต” (เพราะหมอกล้วติดเชื้อแล็คโตบาซิลลัสในนมเปรี้ยว)

“ห้ามกินน้ำเปล่า กินได้แต่โค้กเป๊บซี่” (รายนี้ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะมา หมอปักใจเชื่อน้ำเปล่ามีเชื้อโรคมากกว่าโค้กเป๊บซี่)

“ห้ามกินชาหมักคัมบูฉะ ผักดองกิมจิ..เด็ดขาด” (รายนี้หมอกลัวติดเชื้อสาระพัดซึ่งมีอยู่ในชาหมัก ฟังแล้วให้ผู้ป่วยคิดเสียว่าโชคดีที่คุณหมอท่านลืมนึกถึงน้ำปลา กะปิ น้ำบูดู ว่ามันก็เป็นอาหารหมักด้วย ถ้าหมอห้ามน้ำปลา แล้วผู้ป่วยจะทำอะไรกินกันละทีนี้ หิ..หิ)

“ห้ามกินมังสวิรัติ” (เพราะหมอเชื่อว่ามังสวิรัติทำให้ขาดโปรตีน และเชื่อว่าโปรตีนได้มาจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก และเชื่อว่ากินโปรตีนมากๆเผื่อๆไว้จะทำให้ความสำเร็จของเคมีบำบัดเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าโปรตีนจากพืชมีคุณภาพต่ำกินแล้วไตต้องมาคอยขับทิ้งทำให้ไตเสื่อมเร็ว ฟังให้ดีนะ กรณีนี้เป็นความเชื่อสี่ชั้น)

กรณีของคุณนี้ผมเพิ่งได้ยินกับหูตัวเอง ว่าในปีพ.ศ.นี้ก็ยังมีอยู่ คือ

“ห้ามกินผลไม้เปลือกบาง แต่เปลือกหนากินได้”

“ห้ามกินผักสด แต่ผักต้มกินได้”

ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันมาจากคอนเซ็พท์ neutropenic diet ซึ่งแพร่หลายในวงการแพทย์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คอนเซ็พท์นี้เกิดจากการทำวิจัยตามดูกลุ่มคน (cohort) เล็กๆ เนื้อหาคอนเซ็พท์มีอยู่ว่าระหว่างได้เคมีบำบัดจะเกิดเม็ดเลือดขาวต่ำ (neutropenia) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้นจะต้องกินอาหารที่ป้องกันการติดเชื้อแบบสุดๆ ซึ่งเรียกว่า neutropenic diet อันได้แก่อาหารที่ทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว เช่น นึ่งฆ่าเชื้อโรคแล้ว หรือฉายรังสีแล้ว หรืออย่างน้อยก็ทำให้สุกแท้ๆแน่นอนแล้ว โดยที่ห้ามกินผักสดหรือผลไม้สดเด็ดขาด แต่กาลต่อมาได้มีงานวิจัยระดับดีกว่า (RCT) หลายงานที่พิสูจน์ได้ชัดว่าอาหารแบบ neutropenic diet ไม่ได้ช่วยลดการติดเชื้อเลย มีแต่ผลเสีย เช่น ไปลดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลง ทำให้ผู้ป่วยขาดอาหารมากขึ้น มีผลข้างเคียงทางกระเพาะลำไส้มาก ทำให้เกิดความเกลียดอาหาร และไปลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันผ่านเซลล์ (CMIR) ลง

ดังนั้น มาถึงปีพ.ศ.นี้มันแน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้งเสียอีก ว่าคอนเซ็พท์เรื่อง neutropenic diet เป็นแค่ความเชื่อโชคลางทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของกาลเวลาเท่านั้น ไม่มีสาระอะไรทางวิทยาศาสตร์เลย ไม่ควรเอามาเป็นคำแนะนำโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขณะได้ยาเคมีบำบัดหากจะรักษาผู้ป่วยตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันแบบอิงหลักฐาน (evidence-based medicine)

เอาละ เกริ่นที่มาที่ไปแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ประเด็นผลไม้เปลือกหนาเปลือกบาง ไม่เคยมีหลักฐานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการกินผลไม้เปลือกบางจะทำให้ติดเชื้อง่ายกว่าผลไม้เปลือกหนา ดังนั้น คุณอย่าไปสนใจเรื่องเปลือกหนาเปลือกบางเลย แต่ให้สนใจการพิถีพิถันเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อโรคในผลไม้ที่กิน เช่น

1.1 ล้างผลไม้เอง หั่นเอง ด้วยมีดที่ใช้หั่นผลไม้โดยเฉพาะ ไม่ใช้มีดที่หั่นทุกอย่างดะไปหมด หรือมีดที่เช็ดด้วยผ้าขี้ริ้วผืนเดียวเช็ดมันหมดทั้งเขียงทั้งจาน ช้อน ซ่อม และทั้งมีด

1.2 ผลไม้หั่นแล้วหรือที่เหลือเอาเข้าตู้เย็นทันที อย่าวางไว้บนโต๊ะอาหารหลายชั่วโมง จะเปลือกหนาเปลือกบางไม่สำคัญ เปลือกหนาๆอย่างแตงโมถ้าหั่นทิ้งไว้บนโต๊ะนานๆก็เป็นสาเหตุของจู๊ด..จู๊ด ได้เช่นกัน

1.3 กรณีซื้อผลไม้ที่เขาหั่นสำเร็จใส่ตู้ล้อเข็นข้างถนน ต้องมีลุ้น ควรพิถีพิถันคัดเลือกซื้อจากเจ้าสะอาด และเลือกเอาเฉพาะที่ไม่เน่าไม่เสียแน่นอน ถ้าซื้อมาแล้วพบว่าล๊อตหรือถุงไหนเสีย ให้ทิ้งไปทั้งถุง อย่าเสียดาย

2.. ประเด็นผักสดหรือผักต้มก็ไม่มีหลักฐานว่าคนได้เคมีบำบัดกินผักสดแล้วจะติดเชื้อมากกว่าคนไม่กิน งานวิจัยเปรียบเทียบในเรื่องนี้ได้ผลว่าคนกินผักสดติดเชื้อน้อยกว่าคนไม่กินเสียอีกแต่ว่ามันเป็นความแตกต่างที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.06) ดังนั้นคนได้ยาเคมีบำบัดอยู่ก็กินผักสดได้ แต่จำเป็นต้องเลือกกินแต่ผักที่สะอาด กล่าวคือ

2.1 จ่ายตลาดเองซื้อผักเองโดยรู้แหล่งที่มา ดีที่สุด

2.2 ล้างผักเองด้วยน้ำก๊อกแบบพิถีพิถัน คือเด็ดออกมาล้างทีละใบๆ

2.3 แม้จะเป็นผักสลัดที่ซื้อแบบล้างมาแล้ว (pre-washed)ก็ต้องเอามาล้างใหม่

2.4 ซื้อผักมาล้างเองดีกว่าไปซื้อผักพร้อมกินที่วางขายบนสลัดบาร์ เพราะเขาผ่า หั่น ปอก ไปแล้ว จะเอามาล้างต่อก็ยาก

3.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ คือระหว่างเคมีบำบัดแพทย์มักห้ามกินอาหารหมัก (probiotic) บางท่านห้ามแม้กระทั้งโยเกิร์ต ยิ่งโปรไบโอติกทำกินเองที่นิยมกันแพร่หลายเช่นคัมบูฉะ กิมจิ แพทย์ยิ่งห้ามเด็ดขาดเพราะท่านกลัวติดเชื้อจากอาหารแบบนั้น ทั้งๆที่ไม่เคยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าผู้ป่วยได้เคมีบำบัดกินอาหารโปรไบโอติกแล้วจะติดเชื้อมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งวิจัยออกมาบ่งชี้ไปทางว่าอาหารโปรไบโอติกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันโรคและเพิ่มความสำเร็จของการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือยาล็อคเป้า เพราะอย่าลืมว่าเม็ดเลือดขาวของร่างกายเรานี้ได้อาหารในรูปของโมเลกุลไขมันสายโซ่ขนาดสั้น (SCFA) ซึ่งผลิตให้โดยจุลินทรีย์ในลำไส้นะ ผมได้แนบตัวอย่างหลักฐานการวิจัยระดับแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ในคนจริงๆบางชิ้นเรื่องประโยชน์ของอาหารโปรไบโอติกต่อผลการรักษามะเร็งขณะได้เคมีบำบัดไว้ในบรรณานุกรมท้ายนี้ด้วย

กล่าวโดยสรุป ผมแนะนำว่าเนื่องจากคุณเป็นมะเร็งระยะที่สี่ หลังผ่าตัดแล้วคุณควรรับเคมีบำบัดและยาล็อคเป้าให้ครบคอร์ส ส่วนคำแนะนำ “แถม” ของแพทย์หรือของผู้ช่วยหน้าห้องในเรื่องอาหารที่เป็นคำแนะนำที่ขัดกับหลักฐานวิทยาศาสตร์คุณก็อย่าไปสนใจทำตามเลย ให้ทำตามที่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าดี ซึ่งผมก็ได้สรุปประเด็นสำคัญให้ฟังแล้ว ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกับแพทย์นั้นเป็นเรื่องที่คุณต้องไปหาวิธีเอาเอง เหมือนกับที่คุณเคยหาวิธีหลบเลี่ยงไม่ทะเลาะกับสามี (หิ..หิ)

เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอาหารโปรไบโอติกคืออาหารหมักๆดองๆนั้น ผมแนะนำย้ำอีกทีบนหลักฐานเหล่านี้ว่าผู้ป่วยมะเร็งทั้งที่ได้หรือไม่ได้เคมีบำบัดหรือยาล็อคเป้า ควรได้กินอาหารโปรไบโอติกเป็น “กระสาย” ไปพร้อมกับอาหารพืชเป็นหลักที่หลากหลายตามปกติด้วยทุกวัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Moody K, Finlay J, Mancuso C, et al. Feasibility and safety of a pilot randomized trial of infection rate: neutropenic diet versus standard food safety guidelines. J Pediatr Hematol Oncol. 2006;28:126–133. 
  2. Gardner A, Mattiuzzi G, Faderl S, et al. Randomized comparison of cooked and noncooked diets in patients undergoing remission induction therapy for acute myeloid leukemia. J Clin Oncol. 2008;26:5684–5688.
  3. Moody K, Charlson ME, Finlay J. The neutropenic diet: what’s the evidence? J Pediatr Hematol Oncol. 2002;24:717–721. 
  4. Spencer CN, McQuade JL, et al. Dietary fiber and probiotics influence the gut microbiome and melanoma immunotherapy response. SCIENCE 23 Dec 2021Vol 374, Issue 6575 pp. 1632-1640 DOI: 10.1126/science.aaz7015
  5. Davar D, Dzutsev AK, et al. Fecal microbiota transplant overcomes resistance to anti-PD-1 therapy in melanoma patients. Science. 2021 Feb 5;371(6529):595-602. doi: 10.1126/science.abf3363. PMID: 33542131; PMCID: PMC8097968