Latest

คุณหมอรักษาความงาม อยากได้หลักฐานเรื่องอาหารคีโต

(ภาพวันนี้ / ยืนหยัดบานแม้จะสุดร้อนและสุดแล้ง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

กราบเรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูได้ฟังเล็กเชอร์ของอาจารย์ในชั้นเรียน Lifestyle Medicine ที่ … แล้วมีความประทับในผลงานทางวิชาการของอาจารย์มาก ตอนนี้หนูทำคลินิกความงาม ผู้ป่วยของหนูส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำหนักเกิน ตัวหนูเองนอกจากอยากจะช่วยเขาให้ลดน้ำหนักได้เร็วแล้วยังอยากให้เขามีสุขภาพดีในระยะยาวด้วย คือให้เขาสวยด้วย health จากข้างใน ผู้ป่วยของหนูชอบอาหารคีโต แต่อาจารย์บอกว่าอาหารคีโตมีปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว หนูพยายามจะหา reference ที่เชื่อถือได้ตามวิธีกลั่นกรองหลักฐานที่อาจารย์สอนเพื่อเอาไปคุยกับคนไข้แต่หาไม่พบ หนูรบกวนอาจารย์ยืนยันให้หนูหน่อยว่าคีโคทำให้ LDL สูงจริงหรือเปล่า และทำให้สุขภาพระยะยาวเสียจริงหรือเปล่า

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาหารคีโต (กินไขมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันจากเนื้อสัตว์มาก) ทำให้ไขมันเลว (LDL) ในเลือดเพิ่มขึ้นจริงไหม ตอบว่ามีงานวิจัยที่ดีระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่ตอบคำถามนี้ตรงๆได้แล้ว งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ซึ่งเอาคนมาสองกลุ่มจับฉลากกินอาหารคีโตกับอาหารปกติแล้วเจาะเลือดดู LDL เปรียบเทียบกันพบว่ากลุ่มที่กินอาหารคีโคมี LDL สูงกว่ากลุ่มควบคุมแน่นอนครับ

2.. ถามว่ามีหลักฐานดีๆไหมว่ากินอาหารแบบคีโตแล้วจะทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดในระยะยาวมากขึ้นจริง ตอบว่าหลักฐานที่ดีเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยโรคหัวใจอเมริกัน (JACC) เมื่อปี 2024 นี้เอง เป็นการวิจัยจากฐานข้อมูล UKBB ของอังกฤษซึ่งมีผู้ป่วย 502,546 ผู้วิจัยอ้างว่าเป็นการวิจัยแบบ prospective cohort study ที่มีระยะติดตาม 11 ปี แต่แท้จริงแล้วเป็น retrospective match case control study ที่เอาข้อมูลมาคัดแยกปัจจัยกวนย้อนหลัง โดยนิยามว่าคนกินอาหารที่ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 25% และได้พลังงานจากไขมันสูงกว่า 45% เป็นพวก LCHF หรือ Keto diet หมด ผลวิจัยพบว่ามีคนกินอาหารเข้าเกณฑ์นี้ 305 คน แล้วเอาข้อมูลไปเทียบกับคนกินอาหารปกติที่เพศและอายุใกล้เคียงกันอีก 1220 คน พบว่ากลุ่มกินอาหารคีโคมีดัชนีมวลกายสูงกว่า (26.7 vs 27.7) มีไขมันเลว (LDL และ apoB) สูงกว่า และเมื่อแยกปัจจัยกวนที่แยกได้เช่น เบาหวาน ความดัน อ้วน สูบบุหรี่ ออกไปหมดแล้ว พบว่ากลุ่มกินอาหารคีโตเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดเช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อัมพาต หัวใจล้มเหลว การต้องเข้ารักษาตัวในรพ. และตาย มากกว่ากลุ่มควบคุม (9.8% vs 4.3%) คือมากกว่ากันประมาณเท่าตัว และพบว่ายิ่งไขมัน LDL สูงก็ยิ่งเกิดจุดจบที่เลวร้ายมาก

ทั้งนี้แม้ผมจะบอกว่าเป็นหลักฐานที่ดีที่เรามี แต่อย่าลืมว่ามันก็เป็นเพียง retrospective study นะ ซึ่งเป็นหลักฐานระดับต่ำ หลักฐานระดับสูงกว่านี้เรายังไม่มี คุณหมอต้องใช้ดุลพินิจให้ดีเวลาใช้หลักฐานนี้แนะนำผู้ป่วย

เนื่องจากผู้ป่วยของคุณหมอเป็นพวกคนมีเงินรักสวยรักงามขณะเดียวกันก็อยากมีชีวิตอยู่นานๆ ผมแนะนำว่าควรสนับสนุนอาหารอะไรก็ได้ (รวมทั้งคีโต) ที่ผู้ป่วยถนัดในการลดน้ำหนักในระยะหนึ่งปีแรก เมื่อลดน้ำหนักได้ผลดีมีกำลังใจแล้วค่อยๆใส่แนวคิดการกินอาหารป้องกันโรคเรื้อรังในระยะยาวและค่อยๆชวนให้เพิ่มสัดส่วนของพืชให้มากขึ้น ให้ใช้คอนเซ็พท์ spectrum ของการเปลี่ยนแปลงตนเอง อย่าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะคนรักสวยรักงามยังไงเขาก็จะไม่เชื่อคุณหมอหากเขาคิดว่ามันจะทำให้เขาไม่สวยไม่งามทันใจ

อีกอย่างหนึ่งในการใช้วิชาชีพแพทย์ทำคลินิกความงาม อย่าไปเฮโลสาละพาไปกับข้อมูลใหม่ๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะและพาคนไข้วนเวียนอยู่ในอ่างของข้อมูลสมัยนิยมและศัพท์แสงใหม่ๆต่างๆ ผมไม่ต่อต้านการที่แพทย์เราจะสาละวนอยู่กับการจะขายวิตามิน อาหารเสริม และหัตถการความงามต่างๆเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายส่วนตัวบ้าง แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือควบคู่กับการทำมาหากินตามสไตล์ปกติแล้ว ผมแนะนำให้คุณหมอเกาะติดอยู่กับแก่นกลางของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่เน้นว่าทุกอย่างควรสอดคล้องกับคอนเซ็พท์ทางสรีรวิทยา หลักฐานวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว แล้วมันจะเป็น win-win คือคุณหมอก็ทำมาหากินได้ ผู้ป่วยก็ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Burén J, Ericsson M, Damasceno NRT, Sjödin A. A Ketogenic Low-Carbohydrate High-Fat Diet Increases LDL Cholesterol in Healthy, Young, Normal-Weight Women: A Randomized Controlled Feeding Trial. Nutrients. 2021 Mar 2;13(3):814. doi: 10.3390/nu13030814. PMID: 33801247; PMCID: PMC8001988.
  2. Iatan, I, Huang, K, Vikulova, D. et al. Association of a Low-Carbohydrate High-Fat Diet With Plasma Lipid Levels and Cardiovascular Risk. JACC Adv. null2024, 0 (0) .