Latest

ความเบิกบาน(Joyful) กับภาวะบานไม่หุบ(Ecstacy)

(ภาพวันนี้ / กลาสีกำลังเอาเรือเข้าเทียบท่าเกาะพงัน ในวันที่หมอสันต์ไปเที่ยวพงัน)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมสมาชิก SR …. ครับ อยากถามความแตกต่างระหว่างความเบิกบานที่คุณหมอสอนว่ามันเป็นคุณลักษณะของความรู้ตัวที่ปลอดความคิดว่ามันแตกต่างจาก Ecstasy ที่ Dr … พูดถึงในลักษณะคล้ายกับว่าเป็นที่สุดของการหลุดพ้น (trancendence) อย่างไรครับ หรือว่ามันเป็นอันเดียวกันครับ

…………………………………………….

ตอบครับ

คำถามของคุณเป็นคำถามที่มุ่งถามถึงลักษณะที่จับต้องได้ของพลังชีวิต (life energy) ซึ่งบังเอิญอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้แต่ผมก็จะพยายามอธิบายเท่าที่ผมพอมีประสบการณ์กับตัวเอง กล่าวคือประสบการณ์ทุกประสบการณ์ในชีวิตคนเราล้วนเกิดขึ้นที่ในใจเรา การปรากฎของพลังชีวิตก็เช่นกัน มันปรากฎเป็นประสบการณ์ในใจเราได้สองรูปแบบ คือหากปรากฎเป็นอาการทางร่างกายเรามักเรียกว่า “ความรู้สึก (feeling)” เช่นอาการวูบวาบ ซู่ซ่า ตามตัว น้ำตาไหล น้ำลายไหล หรืออาการที่ร่างกายผ่อนคลาย เป็นต้น โดยนัยนี้อาการปวดก็เป็นรูปแบบหนึ่งของพลังชีวิตที่เผอิญแสดงออกมาแบบขวางๆไม่เข้าระเบียบไม่เข้าพวก

หากพลังชีวิตปรากฎเป็นอาการทางใจเราเรียกว่า “อารมณ์ (emotion)” คำว่าอารมณ์ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยนะ ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาบาลีที่แปลว่า “เป้าของการสังเกต (observation object)” อย่าเอามาปะปนกัน นี่เป็นความวุ่นวายของการใช้ภาษามาสื่อสิ่งที่ควรจะสื่อกันด้วยวิธีอื่น แต่ผมไม่มีทางเลือก เพราะผมสื่อด้วยวิธีอื่นยังไม่เป็น ก็ต้องสื่อด้วยภาษาไปก่อน พลังชีวิตที่แสดงออกเป็นอาการทางใจจะเริ่มแบบอาการของความรักเมตตา (compassion) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดเมื่อเราเข้าถึงและรู้ว่าแหล่งของพลังชีวิตสำหรับทุกชีวิตมันเป็นแหล่งเดียวกันไม่แยกเราแยกเขา ถ้าเข้มข้นขึ้นมาอีกหน่อยมันก็จะปรากฎเป็นความเบิกบาน (่joyful) ซึ่งมักมีธรรมชาติเกิดตามหลังความรู้สึกรักเมตตา เหมือนเวลาเราได้ช่วยเหลือหรือทำอะไรให้ใครแล้วมันปลื้ม..ม

ส่วนคำที่คุณถามถึงคือ ecstasy นั้นเป็นคำที่พวกโยคีชอบใช้ ผมขอแปลว่าเป็นอาการ “บานไม่หุบ” คือยิ้มก็ยิ้มจนหุบไม่ลง หัวเราะก็หัวเราะอยู่นั่นแล้วหยุดไม่ได้ง่ายๆ แบบว่ามันปลื้มสุดๆ หรือขำสุดๆ สำหรับโยคีมันเป็นอาการของการไปพ้นจากคอนเซ็พท์ความคิดต่างๆจนทุกความคิดทุกคอนเซ็ทพ์ของมนุษย์เป็นเรื่องตลกไร้สาระไปหมด คนทั่วไปก็เกิดอาการแบบนี้ได้บ้างเป็นครั้งคราวเมื่อมีอะไรมาช่วยกดความคิดไว้จนอยู่หมัด เช่นตอนที่พี้กัญชาจนเมาได้ที่ เป็นต้น

แต่ ecstasy ไม่ใช่ความหลุดพ้นหรือการบรรลุธรรม มันเป็นแค่ผลข้างเคียง การหลุดพ้นหรือการบรรลุธรรมคือการเข้าใจอย่างถ่องแท้และยอมรับอย่างสุดหัวสุดตีนไม่มีข้อต่อรองหรือไม่มีความหวังใดๆไม่ว่าหวังเล็กๆหรือหวังใหญ่ๆแอบไว้เป็นแบ้คอัพข้างหลัง คือยอมรับว่าทุกความคิดที่คิดขึ้นมาในหัวเราก็ดี หรือแม้แต่ร่างกายนี้นับจากหัวถึงตีนก็ดี มันล้วนไม่ใช่ “เรา” พวกโยคีเขาจะมีสูตรท่องจำเป็นเบสิกก่อนว่า

“ฉันไม่ใช่ร่างกายนี้..ฉันไม่ใช่ความคิดนี้ I am not the body, I am not the mind”

ท่องจำเข้าไว้เพื่อว่าสักวันหนึ่งมันจะเก็ทขึ้นมาจริงๆ เมื่อมันเก็ทจริงๆเมื่อไหร่แล้วละก็ นั่นแหละคือความหลุดพ้นหรือ liberation หรือ trancendence ของจริง

ผมไม่แนะนำให้คุณไปฝันถึง หรือไปยึดเอา ecstasy เป็นเป้าหมายหรือหลักกิโลเมตรสำคัญ เพราะมันจะทำให้คุณจับสาระของชีวิตผิดไป แต่แนะนำให้คุณขยันสังเกตความคิดทุกความคิด ขยันสังเกต “ความอยากอัตโนมัติ” ไม่ว่าจะเป็น “อยากได้” หรือ “อยากหนี” ที่จะทั้งชักลากทั้งดันให้คุณสนองตอบต่อแต่ละความคิด ถ้ามองมันเฉยๆไม่ทำตามมันได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าทนความเร่งเร้ายั่วยวนของความอยากนั้นไม่ไหวก็ปล่อยตามมันไปบ้างแลกกับการแอบสังเกตขณะปล่อยมันไปอย่างใกล้ชิดทีละขณะทีละขณะ ว่ากลไกการสนองตอบแบบอัตโนมัติของใจเรานี้มันทำงานอย่างไร สังเกตดูความเป็นหุ่นยนต์ของตัวเราเอง วันหนึ่งเมื่อหุ่นยนต์รู้กลไกการทำงานของมันเองแบบทะลุปรุโปร่ง วันนั้นมันก็จะหลุดพ้นจากความเป็นหุ่นยนต์

ในเรื่องความสำคัญของการสังเกตนี้ ผมขอพูดต่อไปอีกสักหน่อยเพราะมันก็ยังอยู่ในเรื่องพลังชีวิต ว่าในชีวิตของคนเรานี้เราไปจัดการอะไรที่อยู่ข้างนอกไม่ได้ดอก สมบัติที่เรามีอย่างแท้จริงและพอจัดการได้มีอยู่สองอย่างเท่านั้นคือ เวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กับ พลังชีวิต อย่างแรกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะหมดเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าโมเมนต์นี้ ณ ขณะนี้เรายังได้เวลามีชีวิตอยู่ ดังนั้นการบริหารสมบัติชิ้นแรกคือเวลานี้เราทำได้แค่ใช้มันอย่างของมีค่าทีละขณะๆเท่านั้น ส่วนสมบัติชิ้นที่สองคือพลังชีวิตนั้น ความที่เวลาที่เราเหลืออยู่มีแค่ขณะเดียว เราจะใช้พลังชีวิตที่มีอยู่ไปทางไหน ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็น เราจะเผามันทิ้งเล่นๆก็ได้ด้วยการคิดโน่นคิดนี่เปะปะไปในแต่ละโมเมนต์ เพราะการคิดคือการเผาผลาญพลังชีวิตทิ้งที่คนทั่วไปเขาทำกันมากที่สุด หรือว่าเราจะใช้มันให้มันใหญ่ขึ้นๆจนถึงเวลาที่เราตายเราจะได้ตายอย่างเปี่ยมล้นไปด้วยพลังชีวิตไม่ใช่ตายอย่างหมดพลังชีวิต

ผู้ให้พลังชีวิตที่แท้จริงก็คือความสนใจ (attention) ของเรานั่นเองเพราะความสนใจคือแขนของความรู้ตัว (consciousness) ซึ่งเป็นเจ้าของพลังชีวิตตัวจริง ถ้าอยากให้พลังชีวิตมันใหญ่ขึ้น ให้มุ่งทำแต่สิ่งที่เราสนใจ สิ่งไหนที่เราสนใจมากๆ สิ่งนั้นก็คือ passion ของเรา เมื่อใดที่เรามุ่งมั่นจดจ่อทำสิ่งที่เป็น passion ของเรามากๆเรียกว่าเราวางเป้าหมายชีวิตไว้ที่สิ่งนั้น ดังนั้นการเสริมสร้างพลังชีวิตก็คือการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย (purposeful life) ตื่นขึ้นมาต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าวันนี้เราตื่นมาทำไม ถ้าตอบไม่ได้ชีวิตในวันนี้ก็จะถูกความคิดซ้ำซากวกวนบั่นทอนพลังชีวิตลงไปอีกหนึ่งวัน และมันจะเป็นเช่นนี้ทุกวันๆ จนถึงวันที่เราตายอย่างเขียดแห้งกรอบที่หมดสิ้นแล้วซึ่งพลังชีวิต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์