Latest

เรื่องไร้สาระ (41) ปลูกป่าแบบ Water Wise Gardening

แม้ว่าเดือนเมษาปีนี้จะร้อนสะแด่วแห้ว แต่ก็มีดอกไม้แปลกๆโผล่มาให้เห็นแบบผิดฤดูกาลแยะ เช่น ทางเข้าบ้านผมเองดอกคูนสีเหลืองนัดหมายออกดอกพร้อมกับดอกอินทนินสีม่วงแบบสะพรั่งทำให้เวลาขับรถออกจากบ้านเกิดสีสันย้อนแสงอาทิตย์สวยงามน่าทึ่ง นี่ถ้าดอกจาน (ทองกวาว) ที่ปลูกไว้ด้วยกันออกดอกตามนัดก็จะยิ่งเริ่ด และวันหนึ่งผมเดินเล่นยามเย็น (ร้อนๆ) ต้นเหลืองอินเดียเป็นทิวแถวที่ริมรั้วก็ออกดอกสะพรั่งอีกแล้ว นับเป็นการออกดอกครั้งที่ 5 ในปีนี้ เหลืองสดและสวยงามเจิดจรัสกระตุ้นพลังชีวิตได้ดีมาก

ที่เป็นเอกลักษณ์สุดๆของฤดูกาลนี้คือความร้อน ผมไม่เคยคิดว่าจะได้สัมผัสความร้อนระดับนี้ที่บ้านของตัวเอง สมัยก่อนไปทำงานที่ดูไบ พอพักงานก็ไปเที่ยวทะเลทราย มันร้อนเหมือนคนเอาเครื่องเป่าผมมาเป่าใส่หน้า เป็นความร้อนระดับน่าประทับใจ แต่ตอนนี้บรรยากาศนั้นสัมผัสได้แล้วที่บ้านตัวเอง ไม่ต้องไปเที่ยวทะเลทรายเลย

เพื่อนคนหนึ่งเขียนเล่าทางไลน์ว่าร้อนนี้ไม่ได้ไปไหน ได้แต่ขังตัวเองอยู่ในตู้เย็น จะไปเดินออกกำลังกายก็กลัวจะตายจากฮีทสะโตรก แต่ผมทำอย่างเธอไม่ได้ เพราะผมเป็นคนพันธ์อยู่ไม่สุข ไม่ว่าจะหนาวจะร้อน ยังไงผมก็ต้องหาอะไรทำ ยิ่งร้อนตับแล่บอย่างนี้ ยิ่งอยากทำอะไรเกี่ยวกับความร้อน แม้วัยเจ็ดสิบกว่าและประกาศว่าจะขายสมบัติเก่ากินลูกเดียวแล้ว แต่ว่างเมื่อไหร่ผมก็ยังต้องแว้บ..บไปปลูกป่าเพราะมันเป็นของชอบ ปลูกไปแล้วหลายโปรเจ็ค พอยิ่งร้อนขึ้นมา ก็ยิ่งอยากปลูกป่าเพิ่มอีก มองหาที่ดินของตัวเองว่ายังมีแปลงไหนที่ว่างอีกบ้าง ก็พบว่าเหลืออยู่อีกแปลงหนึ่งอยู่กลางหมู่บ้านเลย เดิมใช้เป็นบ้านพักของพนักงานเวลเนสวีแคร์ ตอนนี้พนักงานย้ายออกไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ดีละ เอาที่แปลงนี้แหละ ปลูกเป็นป่ากลางหมู่บ้าน เท่..ออก

หมอสมวงศ์ท้วงติงว่า

“น้ำก็ไม่มีสักหยดคุณจะไปปลูกต้นไม้ได้อย่างไร รออีกสองเดือนให้ฝนมาก่อนไม่ดีหรือ” ผมบอกว่า

ฮ่า นั่นแหละความท้าทาย ทำอย่างไรจึงจะปลูกพืชหรือสร้างป่าขึ้นมาได้บนความแล้งน้ำสุดๆ เขาเรียกว่าเกษตรกรรมน้ำน้อย ฝรั่งเรียกว่า Water Wise Gardening เป็นคอนเซ็พท์ที่จ๊าบ..ซะ

ว่าแล้วผมก็ลงมือโปรเจ็คใหม่ “ปลูกป่าแบบสวนหมัดกับภัยแล้ง” อย่างเป็นขั้นตอน

หน้างานดั้งเดิมรกด้วยสิ่งที่คนสร้างขั้น

งานขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นงานช้าง คือเคลียร์ความรกรุงรังที่ไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิมทิ้งไปให้หมดก่อน ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน เสาริมทาง รั้วประดับ พื้นทางเดิน โคมไฟแตก รูปปั้นคนแบกหม้อน้ำ บันไดเหล็กวนขึ้นไปบนห้างสูงเพื่อดูวิว ลานคอนกรีตและเตาบาร์บีคิว ขนออกไปทิ้งหมด ป่าธรรมชาติไม่ควรจะมีความรกรุงรังใดๆที่เป็นฝีมือมนุษย์ ถ้าจะรกก็ขอให้เป็นการรกด้วยพืชพันธ์ สัตว์เล็กสัตว์น้อยเสียยังจะดีกว่า

ในพื้นที่นี้มีกระท่อมที่พักหลังเล็กๆเก่าๆ อยู่หลายหลัง ผมตัดใจรื้อทิ้งไปบางหลังเหลือไว้บางหลังเอาไว้ซ่อมเล่น ถามว่าซ่อมไปทำไม ตอบว่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน หิ..หิ เกิดมาเป็นคนชอบซ่อมเจออะไรผุๆพังๆก็ต้องซ่อมไว้ก่อน มีอยู่หลังหนึ่งผมเรียกว่า “กุฏิพระ” มีปัญหาว่าส้วมชักโครกไม่ลง ผมจึงขุดหาสาเหตุ แล้วก็พบ เฮ้ย..ระวัง งูเหลือมยักษ์ อ้าวดูให้ดีไม่ใช่ เป็นรากไม้ขนาดดุ้นขาเด็ก ชอนไชย้อนคอห่านขึ้นมา เหมือนงูเปี๊ยบ บรื้อ..ว

เคลียร์พื้นที่แล้ววางเทปน้ำหยดลงไปบนพื้นแห้งตามแนวระดับ
แล้วปลูกถั่วบราซิลลงไปตรงที่น้ำหยดแหมะๆออกมา

เคลียร์พื้นที่แล้ว ก็มาทำ งานขั้นที่ 2. คือสร้างความชุ่มชื้นอันเป็นหัวใจของป่าขึ้นมา ของเก่าเขาเคยมีธารน้ำเล็กๆ และตาน้ำเล็กๆในพื้นที่แต่ตอนนี้แห้งไปหมดแล้ว ทำอย่างไรจะทำให้ธารน้ำและตาน้ำนี้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ มีน้ำตลอดปี มีก้อนหินสีเข้มๆ ตะไคร่น้ำสีเขียวๆ พืชน้ำอวบๆ เถาวัลย์ หวาย จั๋ง และไม้ป่าดงดิบอย่างหลุมพอ สะตอ ยวน หยี และสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่เอ็นจอยชีวิตริมธารน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..หิ่งห้อย ซึ่งเคยมีอยู่บ้างแล้วพอควรตามธรรมชาติในแถบนี้ ไม่แน่นะ ไปภายหน้าป่าเล็กๆแห่งนี้อาจกลายเป็นที่เพาะพันธ์หิ่งห้อยก็ได้ถ้าผมรู้เคล็ดลับที่จะทำให้มันขยายพันธ์สำเร็จขึ้น

“เฮ้ย..ลุ้ง เลิกฝันกลางวันก่อนเถอะ กำลังพูดเรื่องขาดน้ำกันอยู่นะ”

โอเค. โอเค. การแก้ปัญหาขาดน้ำนี่เป็นงานดับเบิ้ลช้าง เพราะความแห้งแล้งคือความท้าทายสูงสุดของนักปลูกป่า ผมเคยไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติในเมืองไทยนี้หลายแห่ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาก็ขยันปลูกป่ากันจั๊ง เพาะกล้าแล้วปลูก เพาะกล้าแล้วปลูก แต่อัตราตายของต้นไม้ป่าที่เขาเพียรพยายามปลูกผมประเมินด้วยตาตัวเองว่าตายประมาณ 100% แล้วจะไม่ให้เรียกว่าเป็นความท้าทายสูงสุดได้อย่างไร ที่ดินตรงนี้ยิ่งท้าทายหนักเพราะเป็นดินลูกรังแข็งโป๊กเก็บน้ำไม่อยู่ ระดับน้ำใต้ดินก็อยู่ลึกแบบ..ลึกลงๆ ลึกยิ่งดิ่งลง ลึกลงทุกที หมายความว่าต้องจ้างเจาะบาดาลกันซ้ำซาก เพราะน้ำบาดาลมันขยับหนีลงข้างล่าง ถ้าฟลุ้คเจาะได้ก็จะมีอัตราการไหลต่ำกระปริบกระปรอยเหมือนผู้ชายเป็นต่อมลูกหมากโต ต้องลุ้นระทึกมาก แหล่งน้ำที่เชื่อถือได้มีแหล่งเดียวคือ “น้ำฝน” ซึ่งพระเจ้าก็ให้มาแบบกั๊กอีกต่างหาก คือปีละประมาณ 1,100 มม. เท่านั้น

แต่ถ้ามองจากมุมของพระเจ้า ท่านคงจะพูดว่า

“ข้าให้เอ็งปีละ 1,100 มิล เอ็งมีพื้นที่ 4,000 ตรม เท่ากับว่าข้าให้เอ็งปีละตั้ง 4,400 คิวบิกเมตร ให้แยะขนาดนี้เอ็งยังไม่พออีกเหรอวะ”

พอครับ พอๆๆๆ ประทานโทษ หุ..หุ พูดผิดหูเดี๋ยวท่านยั้วะตัดปริมาณฝนอีกผมจะยิ่งซวยหนัก จึงได้แต่แอบบ่นลับหลังว่า 4,400 คิวก็จริง แต่ระยะการส่งมอบของท่านสั้นแค่ 155 วัน แล้วที่เหลืออีก 210 วันผมจะไปเสกน้ำมาจากไหนละเพ่ หิ..หิ แอบบ่นในใจไม่กล้าพูดดัง เดี๋ยวท่านได้ยินเข้าจะว้ากเพ้ยกลับมา

“เอ็งมันโง่เอง ข้าให้แยะ แต่เอ็งไม่มีปัญญาเก็บ แล้วข้าจะเสียเวลากับคนโง่ทำไมวะเนี่ย”

พระเจ้าค่ะ พระเจ้าคะ โอเคพระเจ้าค่ะ เลิกบ่น เลิกร้องเรียนแล้ว มาวางแผนรับความแห้งแล้งอันท้าทายกันดีกว่า โดยเน้นเฉพาะจุดที่ผมคิดจะทำให้เป็นโอเอซีสแบบป่าดิบแล้ง (dry evergreen forest ) เนื้อที่ประมาณหนึ่งไร่ ผมพิจารณาทางเลือกหลายอย่าง คือ

ทางเลือกที่หนึ่ง คือระบบสปริงเกิ้ลพ่นน้ำ เป็นไอเดียที่หรูไฮ แต่หน้าแล้งอย่างนี้แค่น้ำบาดาลยังดูดไม่ขึ้นแล้วจะเอาน้ำที่ไหนมาสปริงเกิ้ลกันละพี่จ๋า

ทางเลือกที่สอง ระบบเก็บเกี่ยวน้ำฝน (rain water harvesting) แบบคลาสสิกของในหลวงร.9 คือ คลองไส้ไก่ หลุมขนมครก และหนองเก็บน้ำ เป็นคอนเซ็พท์ที่ผมชื่นชอบ แต่เผอิญสำหรับที่นี่มันคงเอามาใช้ได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะดินเป็นลูกรังเก็บน้ำไม่ได้ ขืนทำตามโดยไม่มีมาตรการเสริมที่ดีก็จะได้แต่ “ไส้ไก่แห้ง” และ “ขนมครกแห้ง”

ทางเลือกที่สาม คราใดที่มันแล้งจัดนักก็เอารถขนน้ำมาจากคลองมวกเหล็กสิ โห..นี่มันเป็นทางเลือกของเทศบาลหรืออบต.เขานะ ใครๆก็คิดได้เพราะมันง่ายดี แต่มันไม่ช่วยลดโลกร้อน และมันไม่เท่เลย ใช้หมองมากกว่านี้หน่อยดีกว่ามั้งลุง

เสร็จแล้วก็เอาใบไม้แห้งปูทับบนผิวดินและเทปน้ำหยด

ทางเลือกที่สี่ เป็นทางเลือกที่หมอสันต์เพิ่งคิดตกผลึก คือประยุกต์ใช้เทคนิคระบายน้ำท่วมขังแต่เปลี่ยนเอามาเป็นเท็คนิคเก็บน้ำฝนไว้ในพื้นที่แห้งแล้ง วิธีทำคือผมจะส่องกล้องทำแผนที่ระดับทั้งพื้นที่แล้วออกแบบเส้นระดับความถี่ประมาณ 1 เมตร แล้ววางท่อพรุน (Aggi pipe) หุ้มด้วยผ้าซึม (Geotextile) แล้ววางระบบนี้ลงไปในร่องกว้างประมาณหนึ่งคืบตามแนวระดับแล้วกลบด้วยทรายเสมอผิวดิน เหนือผิวดินก็วางเทปน้ำหยดเพื่อเจาะจงหยดน้ำลงไปที่รากต้นถั่วบราซิลที่จะปลูกคลุมดินให้พอดีเป๊ะ แล้วคลุมทุกตารางนิ้วของผิวดินด้วยใบไม้แห้ง หน้าฝนเวลาฝนตกน้ำจะซึมลงตามเชิงลาดของดินลงไปอยู่ในท่อพรุน แล้วค่อยๆกระจายความชึ้นให้พืช ปลายท่อระบายน้ำฝนจากหลังคาเมื่อเติมน้ำเข้าถังเก็บน้ำฝนจนเต็มแล้วก็ปล่อยส่วนที่เหลือเข้าระบบท่อพรุนนี้ตรงๆเลย น้ำใช้แล้วในอาคารไปภายหน้าผมก็จะต่อมาลงระบบท่อพรุนนี้หมด หน้าแล้งก็ใช้วิธีน้ำรดต้นไม้แบบประหยัดโดยหยอดน้ำเข้าไปใต้ใบไม้แห้งทีละหยด แหมะ แหมะ ส่วนการเลี้ยงดูกล้าไม้ป่านั้นจะใช้วิธีฝังคนโฑดินเผาไว้ที่โคนต้นโผล่ปากคนโฑพอให้พ้นผิวดินพอให้เอาน้ำเติมได้สะดวก ปล่อยให้รากไปรุมดูดน้ำเอาจากภายนอกผิวของคนโฑเอาเอง วิธีนี้คาดว่าผิวดินในป่าจะค่อยๆสะสมความชื้นขึ้นมาเอง จะไม่มีการใช้สปริงเกิ้ลรดน้ำเพราะ..ไม่มีน้ำรด ไม่มีการตัดหญ้าเพราะจะเป็นการเร่งการสูญเสียน้ำ แต่ใช้วิธีปลูกถั่วบราซิลแทนหญ้าแล้วปล่อยให้มันคลุมดินเองแบบไม่ต้องตัด พอดินมีความชุ่มชื้นได้ที่แล้วก็ค่อยลงกล้าไม้ป่า

ฟังดูแผนช่างหรูเริ่ด แต่ถามจิงถ้าเกิดแล้งสาหัสไม่มีน้ำสักหยดจะมาใส่คนโฑแล้วท่านจะทำยังไง้ ตอบว่าก็ทำแบบเทศบาลสิครับ คือจ้างรถขนน้ำมาจากคลองมวกเหล็กมาเติมใส่คนโฑ หิ..หิ

จบแผนแก้ปัญหาแล้งน้ำแล้ว งานขั้นที่ 3. คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน เครื่องมือหลักคือขี้วัว เพราะอย่าลืมว่าที่นี่..มวกเหล็ก เอาขี้วัวมาคลุกกับอินทรีย์วัตถุจากโรงหีบอ้อยซึ่งอยู่แถววังม่วง และเศษอินทรีย์วัตถุอื่นๆที่พอหาได้ เทกองลงไป แล้วไถกลบให้เป็นหน้าดินให้หนา แล้วปลูกถั่วบราซิลคลุมหน้าดินนั้นไว้

งานขั้นที่ 4. คือการปลูกต้นไม้ป่ายืนต้น เน้นต้นกล้าขนาดเล็กจากถุงเพาะชำซึ่งมีรากแก้ว แม้ตัวเองจะอายุมากแล้วแต่ผมก็ไม่ใจร้อนไปเล่นไม้ล้อมอย่างคนอื่นเขา เพราะเคยได้ยินคุณลุงชาวสวนคนหนึ่งพูดให้ผมฟังเสียงดังฟังชัดเต็มสองรูหู ว่า

“ไอ้พวกที่ซื้อไม้ล้อมต้นใหญ่ๆมาปลูก มันโง่”

หิ..หิ ความหมายของแกคือต้นไม้ใหญ่แบบขุดล้อมมามันดูแลยากเพราะระบบรากมันไม่แข็งแรงไม่ทนแรงลม คงไม่ได้ตั้งใจว่าใครโง่ดอก แต่หมอสันต์ได้ยินครั้งเดียวก็สยองจึงไม่กล้าเล่นไม้ใหญ่ไม้ล้อม ได้แต่เล่นไม้ถุงตั้งแต่นั้นมา แต่ก็เน้นไม้ป่าดงดิบรากลึก เช่น ยางนา มะค่า ตะเคียน และไม้เศรษฐกิจ เช่น ประดู่ ชิงชัน ไม้แดง สะเดา เป็นต้น วิธีปลูกป่าของผมประยุกต์เท็คนิคของมิยาวากิ คือขุดหรือไถดินให้ลึก ใส่อินทรีย์วัตถุให้มาก แล้วปลูกไม้ป่าท้องถิ่นแบบแน่นมากที่บนผิวดินนั้น แน่นระดับตารางเมตรละหนึ่งต้นขึ้นไป พันธ์สูงบ้าง พันธุ์ต่ำบ้าง ให้รากมันกอดเกี่ยวรัดกันเอาไว้แบบแน่นปึ๊ก ส่วนข้างบนก็ให้มันแบ่งโซนกันหาแดดเอาเอง ไม้สูงก็ขึ้นไปเอาแดดข้างบน ไม้กลางก็เอาแดดที่เข้ามาทางเฉียงๆ ไม้เตี้ยก็อาศัยแสงรำไรใต้เงาไม่ใหญ่ ซึ่งดร.มิยาวากิ ปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นหลักสังคมวิทยาพืช คือให้มันอยู่ใกล้กันกอดกันไว้ ด้านหนึ่งมันจะแย่งกันโต อีกด้านหนึ่งมันจะถ้อยทีถ้อยพึ่งพากัน

เสร็จเรื่องเคลียร์พื้นที่ เรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องต้นไม้ คราวนี้ก็มาถึง งานขั้นที่ 5. คือเรื่องสัตว์ป่าที่จะเชิญมาเป็นผู้อยู่อาศัย เนื่องจาก ม. ออกกฎหมายห้ามเอาสัตว์ใดๆมากักขังไว้เด็ดขาด แผนของผมจึงต้องรอฝนมาให้น้ำเต็มตาน้ำก่อน เมื่อพืชพันธ์ไม้น้ำเริ่มกลับมาเขียวขจีก็หวังว่าสัตว์อย่างเช่นพวกนก กระรอก กระแต เต่า กบ เขียด กิ้งก่า กะปอม และงูเขียว เขาก็น่าจะทะยอยเข้ามาจับจองพื้นที่อาศัยกันเอาเองโดยผมไม่ต้องไปเชิญ ผมเห็นมีไก่ป่าและกระต่ายป่าวิ่งนานๆครั้งอยู่ตามพงหญ้าข้างนอก หวังว่านานไปเขาจะอพยพมาลองอยู่ในนี้บ้างเพราะผมเตรียมพื้นที่โล่งปล่อยให้หญ้าธรรมชาติขึ้นไว้รอแล้ว แขกอีกผู้หนึ่งที่น่าจะมีความสุขหากได้เข้ามาอยู่ที่นี่คือนกเป็ดน้ำ ก็ยังไม่รู้จะเชิญเขายังไงเหมือนกัน ส่วนนกกระยางนั้นผมไม่ได้เชิญ พวกเขาพากันยกพวกเข้ามาทางอากาศ มารอกินปลาตั้งแต่ยังไม่มีน้ำเลยเชียว

แอ่น แอ้น แอ๊น…น สิบวันแรกของโครงการปลูกป่ากลางหมู่บ้านผ่านไปแล้วอย่างร้อนแรงและรวดเร็ว ผมถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย และเปลี่ยนชื่อบ้านนี้เสียใหม่เป็น “ทาร์ซาน อีโควิลล์ (Tarzan Ecoville)” เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยว่าไปภายหน้ายังจะมีโปรเจ็คย่อยๆเชิงรักษ์โลกที่สนุกๆทำได้อีกหลายโปรเจ็ค เพราะสองวันก่อนผมไปเที่ยวเกาะพงัน เห็นป้ายโฆษณาธุรกิจของชาวบ้านที่นั่นเขียนตัวบะเริ่มว่า

“เอาแดด มาดูด”

ความหมายของเขาคือเอาพลังแสงอาทิตย์มาสูบน้ำทำเกษตรกรรม เออ..ผมคิดว่าเข้าท่าแฮะ และจะลองทำดูบ้าง เอาไว้เป็นเรื่องไร้สาระโปรเจ็คหน้า

………………………………………………

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์