Latest

คุณหมอจะเอา Burn Out หรือ Bore Out

อาจารย์คะ…
หนูเป็น resident
หนูหาจุดหมายในชีวิตไม่เจอ
หนูหมดศรัทธาในตัวเอง ในรพ. และในสิ่งรอบตัว
หนูกำลังจะลาออกจากเด้นท์

หนูไม่แน่ใจว่า หนูควรตั้งเป้าอะไรในชีวิต

มานั่งคิดย้อนดูว่าทำไมถึงอยากลาออก พบว่าไม่มีความสุข

ทำไมไม่มีความสุข เพราะหนูคิดว่าหนูไม่เก่งพอ หนูขี้เกียจ หนูไม่จำ หนูทำข้อสอบไม่ได้ หนูไม่เหลือความเคารพตัวเองเลย หนูไม่มีเพื่อนติว หนูไม่มีกระทั่งเพื่อนคุยหรือเพื่อนกินข้าว หนูเสียศรัทธาในความดีของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน

ทำไมไม่มีความสุขแล้วอยู่ไม่ได้ หนูขาด support  ทั้งตัวเองก็ดูแลตัวเองไม่ได้ และไม่มีคนอื่นช่วยประคับประคองได้

ตอนนี้หนูอยากได้ความสุขและความเคารพต่อตัวเองกลับมา หนูคิดว่าคงต้องมองหาเป้าหมายอื่นในชีวิตนอกเหนือไปจากการเรียนให้ได้ดี เรียน เรียน และ เรียน

แต่หนูคิดไม่ออกเลยว่าหนูจะมีเป้าอะไรได้ หนูจะไปทำอะไรได้นอกจากเรียน

หนูไม่รู้จะคุยกับใคร
บางคนก็ใกล้เกินไปจนอาจกระทบการงาน บางคนก็ไกลเกินไปจนไม่สามารถเข้าใจ

คิดถึงอาจารย์ขึ้นมา จึงส่งข้อความมาหา

……………………………………………………………………………………………

ตอบครับ

     ผมยังไม่หายเมาเครื่องบิน (jet lag) เลยนะเนี่ย โรคเมาเครื่องบินนี้ยิ่งแก่ยิ่งอาการหนัก..ขอบอก ดังนั้นท่านผู้อ่านที่ยังไม่เดือดร้อนเวลานั่งเครื่องบินนานๆก็อย่าเพิ่งคุย เอาไว้ให้ท่านแก่ได้ที่ก่อนแล้วคอยดู

     แต่ถึงจะยังเมา ผมก็พยายามลากสังขารตัวเองไปมวกเหล็กจนได้ เพราะตั้งใจจะจบงานก่อสร้างโรงรถก่อด้วยหินที่ทำกันมาสองเดือนกว่าแล้วให้ได้ แล้วมันก็จบไปได้แล้วจริงๆ คือ 95% ผมถือว่าจบแล้ว เหลือแต่สีภายในที่จะต้องทาซ้ำอีกรอบสองรอบ นี่เป็นผลงานการก่อสร้างของชายสองคน คือชายหนุ่ม ปถห. (ประถมหก) ผู้ซึ่งทำมากกว่าพูด กับชายแก่อายุ 63 ผู้ซึ่งพูดมากกว่าทำ บอกได้คำเดียวว่าผลงานจ๊าบ..บ มาก พูดแล้วจะหาว่าคุย ไม่เชื่อท่านดูรูปเอาเองเถอะ หมดเงินไปแสนต้นๆ ไม่นับค่าแรงตัวชายแก่และค่าออกแบบของชายแก่ เป็นรูปแบบของการก่อหินที่ท่านอาจจะไม่เคยเห็นที่ไหนในเมืองไทยมาก่อน เพราะมีแต่คนสติไม่ดีเท่านั้นจึงจะทำ เนื่องจากมันเปลืองแรงมาก มันเป็นเทคนิคก่อหินแบบก่อไปเลื่อนแบบไป (slipped form masonry) และถ้าท่านสังเกตให้ดี นอกจากหน้าต่างหลังคาหรือ sun roof ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหมอสันต์แล้ว มันยังมีหน้าต่างชั้นบนด้วยนะ เพราะมันมีชั้นบนจริงๆ แบบว่าดึงบันไดลงมาจากเพดานโรงรถแล้วก็ปีนขึ้นไปนอนที่ชั้นบนได้..เจ๋งมั้ยละ

     เอาเป็นว่าได้รายงานสรุปเรื่องก่อสร้างโรงรถจบตามสัญญาแล้ว ยังมีอีก วีคเอนด์นี้ผมยังมีโครงการยักษ์ที่จะต้องเริ่มอีกโครงการหนึ่ง คือการเข้าครัวทำอาหารเองตลอดกาล นี่ก็เป็นเรื่องที่ตั้งใจมานานแล้วเพราะการจะมีสุขภาพดีเดี๋ยวนี้โภชนาการเป็นองค์ประกอบสำคัญซะเกินครึ่ง แต่เหตุที่มาได้ฤกษ์เข้าครัวเอาตอนนี้ก็เพราะมันเป็นสถานะการณ์ตกกะไดพลอยโจน เนื่องจากคุณแจ๋วซึ่งเลี้ยงดูเรามาตลอดได้ลาออกไปเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ของเธอเอง แล้วผมก็ไม่ชอบไปทานอาหารนอกบ้าน ส่วนภรรยาก็ไม่ชอบทำอาหารกินเอง มันก็เลยเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะเข้ายึดอำนาจซะตอนนี้เลย อันที่จริงผมเริ่มไปแล้วเมื่อวาน ด้วยการลับมีดเหย็งๆ เพราะการสำรวจครัวพบว่ามีดในครัวทื่อเสียหมดแล้วทุกด้าม ทื่อชนิดที่ถ้าคุณยายของผมยังมีชีวิตอยู่ท่านก็จะบอกว่า (ขอโทษ) “เถือ ..ูด ยังไม่เข้าเล้ย”  แต่ถึงจะเริ่มต้นแบบยักแย่ยักยัน ท่านก็อย่าเพิ่งดูถูกหรือติเรือทั้งโกลน เพราะการแสวงหาการบรรลุทางโภชนาการของหมอสันต์อาจจะเป็นแบบต้นร้ายปลายดีก็ได้ ดังนั้นโปรดติดตามตอนต่อไป ตอนนี้ขอตอบจดหมายฉบับเบาๆของคุณหมอผู้หญิงท่านนี้ก่อนนะ

………………………………………………

     ตอบว่า..มาจะกล่าวบทไป ในชีพหนึ่งของการเกิดมาเป็นคนของเรานี้ เมื่อใดก็ตามที่สามสหายวัฒนะมาพบกัน คือ

     (1) หมดอารมณ์ (ซึ่งภาษาเหนือเขาใช้คำว่า “เสี้ยงใจ”)
     (2) ทำอะไรก็ไม่สำเร็จดั่งใจหมาย และ
     (3) ตัวตนแตกแยก (depersonalization)

     เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเบิร์นเอ้าท์ (burn out) ซึ่งผมขอแปลว่าโรค “เอียนการทำงาน” ทั้งนี้ต้องอย่าสับสนกับอีกคำหนึ่งคือ bore out ซึ่งผมแปลว่าโรค “เอียนการว่างงาน” เพราะทั้งสองเรื่องนี้สาเหตุตรงกันข้ามแต่ให้อาการป่วยที่เหมือนกัน แต่คุณหมออย่าไปค้นหาโรคนี้ในระบบจำแนกโรคทางจิตเวช (DSM 5) นะครับ เพราะไม่มีหรอก แต่มีอยู่ในระบบการจำแนกโรคทั่วไป (ICD10) เราสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้โดยใช้ชื่อ “ปัญหาเกี่ยวกับความยากลำบากในการจัดการชีวิต” หรือ Problems related to life-management difficulty ซึ่งมีโค้ดโรคว่า Z73

     มองในแง่อาการวิทยาเบิร์นเอ้าท์มันเหมือนกับโรคซึมเศร้ายังกับแกะ แต่ว่ามีอาการเด่นอยู่ที่ใครจะทำอะไรตูก็ไม่เอาด้วยแล้วทั้งนั้น (no engagement) เมื่อวัดผลการทำงานก็จะพบว่าผลงานห่วยลง เมื่อวัดสุขภาพก็จะพบว่ามีฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดออกมาในเลือดมากขึ้น แต่เบิร์นเอ้าท์ไม่เหมือนความเครียดตรงที่ความเครียดมักไปจบที่การระเบิด ซึ่งอาจจะเป็นการระเบิดพลังก็ได้ แต่เบิร์นเอ้าท์มีที่จบที่เดียว คือความต๊อแต๊สิ้นหวัง เบิร์นเอ้าท์ในหมู่แพทย์ประจำบ้านนี้มันมีอยู่มากอย่างแน่นอนเป็นสัจจะธรรม มีงานวิจัยเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์แล้วไม่ต่ำกว่า 190 เปเปอร์ ทำให้เราพอจะมีข้อมูลอยู่บ้างว่าจากจุดนี้เราควรจะไปทางไหนดี

     มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

     ในภาพรวม สาเหตุของเบิร์นเอ้าท์เดากันเอาว่ามันเกิดจากการทำงานอาชีพที่เครียดมากเกินไป เป็นเวลานานมากเกินไป หรือการต้องทำงานที่ยากเกินไป โดยมีทรัพยากรน้อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา กำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ บางครั้งก็เป็นงานที่เรียกร้องความสามารถเกินที่มนุษย์ปกติพึงจะมีด้วยซ้ำ

     สำหรับแพทย์ประจำบ้านไทย เบิร์นเอ้าท์เป็นผลิตผลจากความห่วยของระบบการศึกษาไทยด้วย เพราะสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม. 6 เด็กต้องเรียนอย่างบ้าเลือดเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้คณะที่พ่อแม่หรือตัวเองต้องการ คำว่าบ้าเลือดนี้ก็คือหากเป็นเด็กต่างจังหวัดกลางวันวันธรรมดาเรียนในโรงเรียน ตกเย็นเรียนกวดวิชาใกล้บ้าน เสาร์อาทิตย์ขึ้นเรือบินหรือรถยนต์เข้ามาเรียนกวดวิชาในกรุงเทพ อย่างนี้แหละครับที่ผมเรียกว่าบ้าเลือด พอเข้ามหาวิทยาลัยได้ ใจของเด็กมันก็เอียนการเรียนจวนจะอ๊วกแล้ว พูดง่ายๆว่าเด็กที่เรารับเข้าโรงเรียนแพทย์มาตั้งแต่วันแรก เกือบทั้งหมดจิตประสาทอยู่ในระดับใกล้จะบ้า

     เมื่อเข้าโรงเรียนแพทย์มาแล้ว เด็กจะคัดสรรตัวเองไปเป็นแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบ

     แบบที่ 1. คือตูไม่รงไม่เรียนมันละ หันไปบ้ากิจกรรมรับน้องใหม่หรือกิจกรรมอื่นๆที่ผู้ใหญ่มองว่าไร้สาระโดยทิ้งการเรียนไปเสียจนหายเบื่อ ซึ่งแบบนี้ก็จะมีทางไปในอนาคตบั้นปลายเป็นสองพวก
       พวกที่หนึ่ง ก็คือถูกไล่ออกกลางคันเพราะสอบตกซ้ำซาก
       พวกที่สอง คือถูลู่ถูกังไปจนจบออกมาได้เนื่องจากครูทนรำคาญไม่ไหวจึงช่วยถีบออกมา พวกที่จบออกมาได้ในสูตรนี้ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในการทำงานเพราะรู้จักวิธีทำงานอย่างมีความสุขและมีทักษะที่จะปะทะสังสรรค์กับผู้คน

     แบบที่ 2. คือพวกที่พยายามบังคับตัวเองให้ตั้งใจเรียนต่อไปแม้จะเอียนแค่ไหนก็ตาม ซึ่งแบบนี้ก็จะมีทางไปในอนาคตเป็นสามพวก

     พวกที่หนึ่ง คือเป็นบ้ากลางคันเรียนไม่จบ
     พวกที่สอง คือเรียนจบและสอบได้คะแนนดี จบไปเป็นครูแพทย์เป็นข้าราชการหรือทำงานอื่นที่เป็นงานทำตามจารีตเดิมๆโดยไม่ต้องคิดมากได้เจริญเติบโต มักไปกันได้จนถึงจุดสูงสุดของงานนั้น
     พวกที่สาม คือเรียนจบแล้วไปเป็นหมอบ้านนอกหรือเป็นหมอในกรุงเทพเนี่ยแหละ แต่มีลักษณะร่วมสำคัญว่าจะทิ้งการเรียนการหาความรู้เพิ่มเติมไปเสียหมดสิ้นทันทีที่จบ และหันไปดูละครน้ำเน่าอย่างเอาเป็นเอาตายแทน

     พูดถึงตรงนี้ผมขอนอกเรื่องหน่อยนะ วันก่อนผมไปกินข้าวบ้านเพื่อนที่มวกเหล็กซึ่งเป็นคนนอกวงอาชีพแพทย์แต่มีลูกเป็นหมอ เขาบ่นให้ฟังว่าเขาไม่เข้าใจว่าทำไมลูกสาวของเขากับเมียของเขาทำไมดูละครน้ำเน่ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยทั้งๆที่ต่างก็เป็นหมอเป็นคนมีความรู้สูงๆกันแล้ว เขาเล่าว่าพอเขาได้ยินเสียงนางร้ายในทีวี.ขึ้นเสียงแว้ด..ด แว้ด..ด ตัวเขาทนไม่ได้ต้องหลบออกไปตากยุงนั่งดื่มไวน์อยู่คนเดียวที่ระเบียงนอกบ้าน

     (หึ หึ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่เราคุยกันหรอก บังเอิญคิดขึ้นได้จึงเล่าให้ฟัง)

     เราคุยกันถึงไหนแล้วนะ อ้อ.. สาเหตุของเบิร์นเอ้าท์ในเรสิเด้นท์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร งานวิจัยพอสรุปได้ว่าสาเหตุอาจแบ่งเป็นสองภาค คือภาคองค์กร กับภาคตัวบุคคล
     ในภาคองค์กร สาเหตุที่พบก็เช่น จัดเวลาให้ไม่พอ ระบบงานทำให้คุมเวลาไม่ได้ แผนการทำงานมากไป องค์กรมีการจัดการที่ไม่ดี  องค์กรมีระบบความสัมพันธ์ในหมู่คนทำงานไม่ดี และถ้าจะมองสาขาที่คนเบิร์นเอ้าท์กันมากก็พบว่าเป็นทุกสาขาในอัตราราว 50% หากวิจัยด้วยหน่วยนับสากลที่เรียกว่า MBI (Maslach Burnout Inventory) ก็พบว่าอัตราเกิดเบิร์นเอ้าท์สูงสุดในสาขาสูตินรีเวชคือ 75% อายุรกรรมและประสาทวิทยารองลงมาคือ 63%,  ตา 60, ผิวหนัง 50%, ศัลยกรรมทั่วไป 40%, จิตเวช 40%, และเวชศาสตร์ครอบครัว 27%

     ในภาคตัวบุคคล เมื่อวิจัยลงไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเบิร์นเอ้าท์ก็พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญคือ การเป็นเรสิเด้นท์ปีที่หนึ่ง, การเป็นคนอารมณ์ขึ้นๆลงๆ, การไม่ชอบสาขาที่ตัวเองเรียน, การมีความเครียดทางครอบครัวเป็นพื้น, และการไม่มี ผ. (หิ หิ พูดเล่น..เอ๊ย ไม่ใช่ พูดจริง หมายถึงการไม่ได้แต่งงานนะครับ เป็นปัจจัยเสี่ยงของเบิร์นเอ้าท์อย่างหนึ่ง นี่เป็นผลวิจัยนะ ผมไม่ได้มั่วนิ่มเอาเอง)

     แล้วเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร

     สิ่งที่งานวิจัยบ่งชี้ว่าการแก้ไขในส่วนขององค์กรที่น่าจะมีประโยชน์ได้แก่ การมีโปรกแกรมลดความเครียด, การจัดให้ความรู้เรสิเด้นท์เรื่องเบิร์นเอ้าท์, การจัดที่ปรึกษาไว้ให้คำปรึกษา, การตัดตารางการทำงานลงไม่ให้มากเกินไป เช่นบ้างก็ให้นอนเวรที่บ้านแทนนอนในรพ.ซึ่งก็ได้อย่างเสียอย่างคือขณะที่ได้พักผ่อนมากขึ้นแต่ประสบการณ์ทางคลินิกก็จะลดลง ก็ต้องยอม, การสับเปลี่ยนไปทำงานอื่นสลับ เช่นไปวิจัยบ้าง ไปช่วยสอนบ้าง ก็พบว่าทำให้เกิดความพึงพอใจมากขึ้น, การจัดระบบพี่ดูน้อง (Mentoring programs) ก็ช่วยได้, การสอนวุฒิภาวะทางอารมณ์ให้เรสิเด้นท์, การจัดทีมดูแลความเป็นอยู่นักเรียนโข่ง (Graduate Medical Education Wellness Teams) ขึ้นมาลาดตระเวณรับฟังและช่วยแก้ไขปัญหาโดยเก็บเป็นความลับเข้มงวด, ที่แผนกจิตเวชของซีด้าร์ไซไน ทำกันถึงฝึกสอนการบริหารเวลา สอนเทคนิคสนองตอบแบบผ่อนคลาย (relaxation response) ฝึกเทคนิคการหายใจ นั่งสมาธิ โดยเน้นให้เรสิเด้นท์ฝึกปฏิบัติในขณะทำงานนั่นแหละ

     ทั้งหมดนี้บังเอิญในเมืองไทยไม่มีทำกัน สมัยผมเป็นเรสิเด้นท์ที่ในเมืองไทยนี้ การสอบเรสิเด้นท์สาขารังสีวิทยาสมัยนั้นขึ้นชื่อว่าโหดมาก รอบแรกต้องตกกันเกือบครึ่งซะทุกที แล้วก็มีเรสิเด้นท์สาขารังสีวิทยาคนหนึ่งฉีดโปตัสเซียมฆ่าตัวตายก่อนสอบไม่กี่วัน ซึ่งเธอก็ได้ตายสมใจจริงๆ ในปีนั้นเรสิเด้นท์รังสีวิทยาคนอื่นๆสอบได้หมดยกชั้นทั้งประเทศ นี่ก็เป็นการแก้ปัญหาองค์กรแบบไทยๆ ซึ่งเพื่อนที่เป็นเรสิเด้นท์เอ็กซเรย์รุ่นนั้นบอกผมว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี 100% หิ หิ เธอพูดจีจีนะ ผมเปล่าประชด

     ในแง่การแก้ไขในภาคตัวบุคคลบ้าง งานวิจัยบอกว่าวิธีที่ลดเบิร์นเอ้าท์ของเรสิเด้นท์ที่ได้ผลคือการยอมรับการสนับสนุนจากเพื่อน (peer support), การฝึกสติลดความเครียด (BMSR), การออกกำลังกาย, การลาพักร้อน การจัดเวลาพักประจำวัน และการหันเหไปทำอะไรอื่นบ้าง เช่น ดนตรี นวด ชมธรรมชาติ โยคะ เขียนบันทึก(reflective writing) เป็นต้น

     ลองวิธีของหมอสันต์ดูหน่อยไหม

     ผมเองก็เคยเบิร์นเอ้าท์มาก่อน ทั้งสมัยเป็นแพทย์ประจำบ้านและสมัยที่ทำงานมากเกินกำลังตัวเอง อาการป่วยที่ว่า depersonalization นั้นผมก็เคยเป็น คือมีอยู่วันหนึ่งผมพูดกับพนักงานลูกน้องซึ่งมีอยู่ถึง 2,000 คน พอพูดไปแล้วผมถามตัวเองว่า เฮ้ย คนที่พูดกับพนักงานเมื่อกี้นี้ตัวผมจริงๆหรือเปล่า มันไม่ใช่ผมนี่ ผมไม่เคยพูดอะไรแบบฝืดๆฝืนๆอ้ำๆอึ้งๆอย่างนี้นี่นา แล้วถ้าไม่ใช่ผม คนเมื่อกี้เป็นใครกันวะ ประมาณนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ผมลองใช้วิธีต่างๆแก้ไข แล้วก็สรุปสูตรของผมออกมาได้ คุณจะลองสูตรแก้เบิร์นเอ้าท์ของผมไหมละ

     คือมาถึงวันนี้แล้ว ผมมองย้อนหลังไป ผมเห็นแก่นกลางของเรื่องนี้อยู่ที่คำๆเดียว คือ “ดุล” (balance) เราต้องเรียนรู้ที่จะถ่วงดุลในทุกๆเรื่อง ดุลระหว่างการเป็นผู้ให้กับการเป็นผู้รับ ดุลระหว่างความเครียดกับการผ่อนคลาย ดุลระหว่างความซีเรียสกับการเม้คโจ๊คหัวเราะ ดุลระหว่างการออกกำลังกายกับการนอนหลับ ดุลระหว่างการทำงานกับการอยู่ว่างๆเฉยๆ ดุลระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ดุลระหว่างที่ทำงานกับที่บ้าน

     เพื่อที่จะเอาคอนเซ็พท์นี้มาใช้ คุณต้องรื้อคอนเซ็พท์ชีวิตเดิมๆทิ้งไปก่อน เริ่มต้นด้วยการรื้อเป้าหมายชีวิตเดิมๆทิ้งไปก่อน เพราะเป้าหมายใหม่คือ “ชีวิตที่ได้ดุล” ถ้าไม่รื้อเป้าหมายเดิม แล้วจะไปสู่เป้าหมายใหม่ได้อย่างไร รื้อทิ้งของเก่าไปไม่ต้องสนใจ ทิ้งแบบทิ้งผู้ชายสั่วๆคนหนึ่งออกไปจากชีวิต คือหักดิบเลย แม้แต่เป้าหมายสูงสุดที่เคยคิดจะต้องสอบบอร์ดให้ได้ในเวลาที่กำหนดก็ให้เลิกไปเสีย แล้วยังไม่ต้องไปคิดไกลถึงว่าจะสอบได้หรือสอบตก จะเลิกอาชีพหรือไม่เลิก จะไปขายเต้าฮวยหรือขายกล้วยปิ้ง ยังไม่ต้องคิด เพราะนั่นมันไม่เกี่ยวอะไรกับเป้าหมายใหม่ เป้าหมายที่จะมี..”ชีวิตที่ได้ดุล”

     การมีชีวิตที่ได้ดุล หมายถึงชีวิตในวันนี้เท่านั้น เพราะเรามีชีวิตอยู่แต่ในวันนี้ เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เมื่อวานนี้ และไม่ได้มีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น ตื่นเช้ามาอย่าเพิ่งเลิ่กๆๆทำโน่นทำนี่ไปตามสัญชาติญาณ แต่มองชีวิตในวันนี้ว่าวันนี้เราจะจัดดุลในเรื่องใดบ้าง เรากำลังเพิ่งเริ่มตอนเช้าของวัน อย่างน้อยเราจัดเวลาได้ละถูกแมะ สมมุติว่าการจัดดุลเวลางานกับเวลาส่วนตัวเสียใหม่จะมีผลให้งานเสียหาย เจ้านายด่า ก็ (ขอโทษ) ช่างแม่..ม ไปก่อน อธิบายได้ก็อธิบาย ถ้าลำบากจะอธิบายก็ไม่ต้องอธิบาย นี่มันชีวิตของเรา เวลาของเรา เราจะใช้มันอย่างไรมันเรื่องของเรา จะให้เราสอบตก เราไม่แคร์ เพราะการสอบได้ไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของเรา แต่ชีวิตที่ได้ดุลคือเป้าหมาย ค่อยๆบรรจงจัดดุลในเรื่องต่างๆในชีวิตไปทีละเรื่องๆ บางเรื่องเราไม่เคยทำไม่มีทักษะ ก็ต้องฝึกทำหรือฝืนทำ อย่างเช่นการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการพูดตลกเม้คโจ๊กเป็นต้น

     คุณหมอใช้เวลานานเท่าที่ตัวเองต้องการในการจัดดุลของชีวิตในวันนี้ เน้นเฉพาะวันนี้ ทีละวันๆ เริ่มต้นแต่ละวันด้วยพิธีกรรมที่ผ่อนคลาย เช่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรืออย่างน้อยก็ใส่ใจมองดูอะไรที่สวยๆงามๆนอกหน้าต่าง กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย ปรับการนอนหลับ กำหนดขอบเขตไม่ให้งานรุกเข้ามาในชีวิตส่วนตัว หลีกหนีจากเทคโนโลยี ฟูมฟักความคิดศิลปินในตัวเราให้งอกเงย ฝึกสติ และหัดจัดการความเครียดให้เป็น

     ถ้าจัดดุลชีวิตให้ตัวเองได้จนคิดว่าลงตัวแล้ว ค่อยมาประเมินว่าชีวิตที่เดินมาถึงจุดนี้ เลือกมาฝึกอบรมสาขานี้ มันเหมาะกับเราไหม จะไปต่อหรือไม่ หรือจะเลิกไปทำอย่างอื่น ถึงตอนที่ชีวิตได้ดุลแล้ว ค่อยมาคิดวินิจฉัย เพราะการด่วนวินิจฉัยตัดสินตอนนี้โดยที่เรายังไม่ได้เป็นนายของชีวิตเราเองอย่างแท้จริง คุณหมอจะไปไหนไม่รอดหรอก จาก burn out คุณหมอก็จะไปเป็น bore out ซึ่งก็จะแย่พอๆกัน

     ในการจัดรูปแบบชีวิตใหม่นี้ ผมขอแทรกข้อคิดสองเรื่องให้คุณหมอนำไปใช้

     เรื่องที่ 1. คืออย่าไปทำทุกอย่างให้ได้ดีหมด มันเป็นไปไมได้หรอก ชีวิตมันต้องเอามือทำบ้าง ขอโทษ.. เอาตีนทำบ้าง คอนเซ็พท์นี้ไม่ใช่ผมกุขึ้นมาเองนะ แต่ผมเรียนรู้มาจากนาย สมัยผมเป็นเรสิเด้นท์อยู่เมืองนอก นายของผมเป็นจอมปราชญ์อัจฉริยะในสาขาอาชีพนี้ เป็นผู้นิพนธ์สิ่งที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ไบเบิ้ล” ของงานผ่าตัดหัวใจ ซึ่งหมอผ่าตัดหัวใจใช้กันทั่วโลก แต่การเป็นสมุนรับใช้ใกล้ชิดทำให้ผมรู้ไต๋ของนายว่าแท้จริงแล้วนายมีหลักในการทำงานอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นในบางโอกาสถ้าการผ่าตัดมีอะไรบกพร่องแม้เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นฝีมือของขี้ข้า ท่านจะสำทับเบาๆแต่น้ำเสียงหนักๆน่าเลื่อมใสว่า

“Don’t accept anything less than perfection”

     “อย่ายอมรับอะไรที่ต่ำกว่าความสมบูรณ์”

     แต่ในบางโอกาสที่เราเจอปัญหายากๆ และเราก็ทำกันจนจวนเจียนจะหมดแรง ผลงานที่ได้มันยังบกพร่อง ท่านกลับตัดสินใจหยุดอยู่แค่นั้น ผมก็ทักท้วงว่ามันยังไม่สมบูรณ์เราต้องทำต่ออีกหน่อย ท่านจะพูดว่า

     “In surgery, we learn to accept risk”

     “ศัลยกรรม คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับความเสี่ยง”

     จากตรงนี้ไงครับ ที่ผมเรียนรู้สูตรเอามือทำบ้าง เอาตีนทำบ้าง หิ หิ

     เรื่องที่ 2. อย่าไปมี “องค์” มากจนเราเสียดุลระหว่างการเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับ อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนที่ฟ้าส่งมาทำหน้าที่พระผู้ช่วยให้รอด เราจึงจะต้องทำตัวเท่แบบเป็นผู้ให้ ให้ ให้ เท่านั้น นี่เป็นคอนเซ็พท์ชีวิตที่ผิดมาก  คือผมจะย้ำความสำคัญของการยอมรับ peer support ผมรู้สึกว่าแพทย์ประจำบ้านไทยมีอะไรไม่ยอมคุยกันเองเพราะกลัวเสียฟอร์ม ซึ่งผมอยากให้คิดใหม่ เราเป็นขี้ข้าเขา เวลามีอะไรที่บีบคั้นอึดอัด มันจะมามีใครมาเห็นหัวอกเราได้ดีไปกว่าขี้ข้าด้วยกันละครับ ถูกแมะ สมัยผมเป็นเรสิเด้นท์อยู่ต่างประเทศ พวกเรสิเด้นท์ศัลยกรรมหัวใจจะมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งคือนัดหมุนเวียนกันไปกินข้าวเย็นบ้านเพื่อนเรสิเด้นท์แต่ละคน ไปถึงก็ปิ้งบาร์บีคิว ลูกๆก็เล่นกันไป เมียๆก็คุยกันไป พวกเราเรสิเด้นท์ก็ดื่มไวน์เม้าท์กันทำท่าทำทางล้อเลียนนินทาเจ้านายหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งเป็นที่สนุกสนาน ผมยังจำที่เพื่อนหมออินเดียทำท่าทำเสียงเลียนแบบนายเวลาโมโห หายใจฟืดฟาด มือก็ถือ needle holder ยงโยะยงโย่ทำท่าจะเย็บ แต่ก็ไม่เย็บ จำได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาทำท่าได้ตลกมาก การสุมหัวกันของพวกขี้ข้าเพื่อนินทานายนี่มันเป็นอะไรที่คลายเครียดได้ดีที่สุด คุณหมออย่าไปตั้งแง่ว่าเพื่อนของเรามันเลว มันไม่มีวันเห็นใจเรา ผมกล้ารับประกันว่าไม่เป็นความจริง จริงอยู่ด้านหนึ่งเราก็เหมือนอยู่ในเกมส์การแข่งขันที่ทุกคนรอจังหวะที่จะเอาเปรียบคนอื่น แต่ลึกลงไปในใจแล้วมนุษย์เราเป็น social animal ทุกคนมีสัญชาติญาณเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีความสุขที่ได้ให้และรับความช่วยเหลือจากกันและกัน คุณหมอต้องทำลายกำแพงที่กั้นตัวเองจากเพื่อนๆเรสิเด้นท์นี้ลงให้ได้ แล้วชีวิตจะดีขึ้นทันตาเห็น

     นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Thomas NK. Resident burnout. JAMA. 2004 Dec 15;292(23):2880-9.
2. McCray LW, Cronholm PF, Bogner HR, Gallo JJ, Neill RA. Resident physician burnout: is there hope? Fam Med. 2008 Oct;40(9):626-32.
3. Bianchi, R., Boffy, C., Hingray, C., Truchot, D., & Laurent, E. Comparative symptomatology of burnout and depression. Journal of Health Psychology, 2013;18(6):782-787.
4. Freudenberger H. J. Staff burnout. J Soc Issues. 1974;30(1):159–165.
5. Maslach C., Jackson S. E., Leiter M. P. Maslach Burnout Inventory Manual. 3rd ed. Palo Alto, CA: Consulting Psychologists Press; 1996.
6. Dyrbye L. N., Thomas M. R., Massie F. S. Burnout and suicidal ideation among US medical students.Ann Intern Med. 2008;149(5):334–341.
7. Figley C. R. Compassion fatigue as secondary traumatic stress disorder: an overview. In: Figley C. R., Lutherville M. D., editors. Compassion Fatigue: Coping with Secondary Traumatic Stress. Baltimore, MD: Sidran Press; 1995.
8. Becker J. L., Milad M. P., Klock S. C. Burnout, depression, and career satisfaction: cross-sectional study of obstetrics and gynecology residents. Am J Obstet Gyn. 2006;195(5):1444–1449.
9. Shapiro S., Astin J., Bishop S., Cordova M. Mindfulness-based stress reduction for health care professionals: results from a randomized trial. Int J Stress Manage. 2005;12(2):164–176.
10. Galantino M. L., Baime M., Maguire M., Szapary P. O., Farrar J. T. Short communication: in association of psychological and physiological measures of stress in health-care professionals during an 8-week mindfulness meditation program. Stress Health. 2005;21(4):255–261.
11. Dabrow S., Russell S., Ackley K., Anderson E., Fabri P. Combating the stress of residency: one school’s approach. Acad Med. 2006;81:436–439.