Latest

บทความพิเศษสงกรานต์ 2567 เรื่องสัมพันธภาพ-ความเหงา-การปลีกวิเวก

(ภาพวันนี้ / เตรียมการมื้อเช้า วันหนึ่งในฤดูสุดร้อน)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

ในโอกาสที่กลับมาหลังวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ ของดตอบคำถามหนึ่งวัน เพราะมีเหตุให้ผมอยากเขียนถึงความสำคัญของสัมพันธภาพที่ดี

สัมพันธภาพ (Connectedness)

สัมพันธภาพที่ดีทางสังคม คือภาวะที่คนรับรู้จำนวน คุณภาพ และความหลากหลายของความสัมพันธ์ที่ตนมีกับผู้อื่น ที่ก่อให้เกิดสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตนเองได้รับการเอาใจใส่ดูแล ตนเองได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่า และตนเองได้รับการพยุงเกื้อหนุน ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจ ร่างกาย และพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต งานวิจัยให้ผลบ่งชี้ว่าสัมพันธภาพทางสังคมที่ดีทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และมีสุขภาพดีชีวีมีสุขมากขึ้น

มนุษย์เรามีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน สมาชิกคนอื่นๆในชุมชน มีผลต่อสุขภาพและความสุขสบายของมนุษย์ได้มาก การรู้สึกว่าตนเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม ทำให้คนเลือกมีนิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพตนเองหรือทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น งานวิจัยแกล้งเด็กโดยตัดสินการกระทำของเด็กกลุ่มหนึ่งแบบลำเอียง กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งตัดสินแบบเที่ยงธรรม หลังการถูกตัดสินแล้วให้เด็กเลือกกินขนมแบบดีต่อสุขภาพกับขนมหวานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เด็กกลุ่มที่ถูกตัดสินอย่างลำเอียงจะเลือกกินขนมหวานแบบไม่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากลุ่มเด็กที่ถูกตัดสินแบบเที่ยงตรง อีกงานวิจัยหนึ่งบ่งชี้ว่าเมื่อคนตกอยู่ภายใต้ภาวะเครียด หรือถูกบีบรัดด้วยเวลา หรือถูกบีบทางเลือกให้เหลือน้อย เขาจะเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อคนคนหนึ่งมีสัมพันธภาพที่ดีและที่มั่นคงทางสังคมกับคนรอบข้าง เขาหรือเธอจะแนวโน้มที่จะเลือกมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพตนเอง และเมื่อตรวจดูตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆก็มักจะได้ผลว่าปกติเป็นส่วนใหญ่ คราใดที่มีความเครียด ความกังวล ซึมเศร้า เกิดความยากลำบากในชีวิต ก็มีโอกาสจะรับมือกับได้ดีกว่าคนที่ขาดสัมพันธภาพที่ดีทางสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมน้อยกว่า ผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมมากกว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าถึง 50% ซึ่งพบความแตกต่างนี้ได้ทั้งในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคอัมพาตเฉียบพลัน โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมช่วยให้เป็นคนเครียดยาก หากเกิดความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ก็ฟื้นตัวได้รวดเร็ว มีนิสัยกินเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และรักษาร่างกายไม่ให้อ้วนได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น มีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น มีสำนึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (sense of belonging) มีความสุขกายสุขใจ (wellness) มากขึ้น มีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะไปก่อเหตุรุนแรงกับคนอื่น หรือที่จะฆ่าตัวตายลง ลดความเสี่ยงตายจากโรคเรื้อรังต่างๆลง และมีอายุยืนยาวขึ้น

ความเหงา (loneliness)

ความเหงา (loneliness) และการแยกตัวออกจากสังคม (social isolation) เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไป การสำรวจในประเทศสหรัฐฯพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไปรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในความเหงา แม้ว่าเทคโนโลยีชะช่วยเชื่อมต่อผู้คนที่อยู่ห่างไกลเข้าด้วยกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวตัดสะบั้นสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว ซึ่งนำไปสู่ความเหงา ความเหงาและการแยกตัวทางสังคมก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด ทำให้อัตราป่วยและตายจากโรคต่างๆเช่นโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม เพิ่มขึ้น

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำที่ผมเองได้มาจากหลักฐานวิจัยเท่าที่มี ว่าการเอาชนะความเหงา ควรให้เวลา หรือลงทุนเวลาให้กับการบ่มเพาะสัมพันธภาพกับคนอื่น สำรวจค้นหาวิธีที่จะได้พบคนใหม่ๆ เช่น ไปร่วมชมรม สโมสร ไปเข้าชั้นเรียนต่างๆ แชร์สิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่แล้วมาทำร่วมกับเพื่อน เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหาร ทำกิจกรรมใหม่ร่วมกับเพื่อน หาโอกาสที่จะได้แสดงความช่วยเหลือเกื้อกูล ความขอบคุณ ความรับผิดชอบ ต่อคนอื่น ลดการทำอะไรที่เป็นการตัดโอกาสที่จะได้มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นลง เช่นการเฝ้าดูหน้าจอมากเกินไป เมื่อสัมพันธภาพที่ดีที่เคยมีต้องขาดสะบั้นลงไปด้วยเหตุใดก็หาทางฟื้นฟูมันขึ้นมาใหม่ด้วยจิตใจยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ให้อภัย และเมตตา

ดุลยภาพระหว่างความเหงา (Loneliness) กับการปลีกวิเวก (Solitude)

สัญชาติญาณที่จะต้องรักษาตัวให้รอดปลอดภัย ที่ผลักดันให้มนุษย์ใส่ใจสร้างสัมพันธภาพที่ดีทางสังคม คือความเหงา (loneliness) ขณะที่การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตอย่างมากมายจนปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถสนองตอบความต้องการอีกอย่างหนึ่งในใจมนุษย์ คือความอยากเรียนรู้และเติบโตต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อคลุกคลีมีปฏิสัมพันธ์กันถึงจุดหนึ่งมนุษย์ก็จะเกิดอาการ “ตีบตัน” ในแง่ของการเรียนรู้และเติบโตของตัวเองขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาในคำสนทนาเช่น Been there, done that คือที่ไหนที่คนเขาอวดกันว่าได้ไป ตัวเองก็ไปมาหมดแล้ว อะไรที่คนเขาอวดกันว่าได้ทำ ตัวเองก็ทำมาหมดแล้ว แต่ชีวิตก็ยังมีความต้องการเรียนรู้เติบโตต่อไปอีก โดยที่การอ่านหนังสือ การเดินทางท่องเที่ยว หรือการคลุกคลีไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้นั้นได้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่จะพบได้จากการอ่าน การเดินทาง การพูดคุย ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีบัญญัติไว้แล้วในภาษามนุษย์ซึ่งตนเองก็ได้เรียนรู้ในประเด็นสำคัญมาจนโชกโชนและซ้ำซากแล้ว ทางเดียวที่จะได้เรียนรู้เติบโตต่อไปก็ต้องออกไปจากสิ่งซึ่งภาษามนุษย์อธิบายไม่ถึง ออกไปสู่ unknown ที่อยู่ไกลโพ้นออกไปนอกขอบเขตของภาษา

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่คนบางคนเริ่มเสาะหา การปลีกวิเวก (solitude) เพื่อไปให้พ้นความคิด ภาษา การพูดคุย ด้วยความคาดหมายว่าเมื่อพ้นกรอบของคอนเซ็พท์และความคิดออกไป “ฉัน” ซึ่งเป็นจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) น่าจะมองเห็นรับรู้สิ่งที่เคยถูกคอนเซ็พท์ต่างๆของความคิดปิดบังอำพรางอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคอนเซ็พท์ที่ว่าร่างกายนี้เป็น “ฉัน” ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ คอนเซ็พท์ที่ว่าความคิดนี้เป็น “ฉัน” ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ คอนเซ็พท์ที่ว่าตัวตน (identity) อันนี้เป็น “ฉัน” ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ หากฝ่าข้ามคอนเซ็พท์และความคิดเหล่านี้ไปได้หมด ชีวิตมันก็น่าจะโปร่งโล่งไม่ตีบตันอีกต่อไปในแง่ของการเรียนรู้และเติบโต เพราะฉันที่เป็นอิสระจากร่างกาย จากความคิด และจากตัวตน มันย่อมจะเป็นฉันที่สามารถรับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ (unknown) ได้อย่างโปร่งใส อย่างไม่ถูกอะไรปิดบังหรืออำพรางไว้ จึงน่าจะเป็นที่สุดของการแสวงหา

มนุษย์ทุกวันนี้จึงเผชิญปัญหาดุลยภาพระหว่างความเหงากับการปลีกวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสองกลุ่ม คือผู้สูงวัยซึ่งผ่านโลกมามากจนสรุปความจำเจซ้ำซากในชีวิตได้หมดแล้ว กับวัยรุ่นสมัยใหม่ที่วิถีชีวิตปัจจุบันทำให้ได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการสนองความอยากทั้งเซ็กซ์และทรัพย์สมบัติแท้จริงแล้วไร้สาระและไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินชีวิตในแนวนี้อีกต่อไป

การสูญเสียดุลยภาพระหว่างความเหงากับการปลีกวิเวก ทำให้คนจำนวนมากที่หาทางออกไม่ได้ต้องพึ่งยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลาง ทั้งยาที่ถูกกฎหมายเช่น ยาคลายกังวล ยาแก้ปวด ยาช่วยนอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า และยาที่ผิดกฎหมายเช่น กัญชา โคเคน เฮโรอีน และยากระตุ้นประสาทหลอน (psychedelics) แนวโน้มการใช้ยาเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และจัดเป็นกลุ่มยาที่มีการเพิ่มการบริโภคมากที่สุด     

การสร้างดุลภาพระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมเพื่อบำบัดความเหงา กับการปลีกวิเวกหลีกเร้นเพื่อให้ได้บรรยากาศที่เอื้อต่อการวางคอนเซ็พท์หรือความคิดทั้งหลายอันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เติบโตสู่โลกของ unknown ที่ภาษามนุษย์อธิบายไม่ถึง จึงเป็นทางเดินแคบๆที่มนุษย์เราต้องเดินหรือไต่ไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้หนักหรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป จึงจะได้ครบทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และการได้เติมเต็มความอยากที่จะเรียนรู้เติบโตไปอย่างไม่สิ้นสุดซึ่งเป็นธรรมชาติอันหนึ่งของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………………………