Latest

คนเป็นอัมพาตสอนเรื่องสมองซีกซ้ายซีกขวา

ุคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมอายุ 58 ปี เป็นอัมพาตเมื่อปี 55 หมอพบว่ามีเลือดออกในสมองข้างซ้าย ต้องผ่าตัดสมอง ผ่าแล้วเดินไม่ได้ และพิการตั้งแต่นั้นมา จนเมื่อปี 57 ลูกชายได้เอาบทความของคุณหมอเรื่องการออกกำลังกายสำหรับคนเป็นอัมพาตมาให้อ่าน ผมอ่านแบบแก้เหงาไปหลายรอบ มีอยู่วันหนึ่งก็ลองทำดู ลองง้างมือที่หงิกไปแล้วออกจากกันดู เอามือข้างดีง้างมือข้างไม่ดี ทำตามที่คุณหมอสันต์สอนทุกอย่างมาครึ่งปีแล้วรู้สึกว่ามันจะดีขึ้น จึงทำเรื่อยมาทุกวันที่บ้าน ทำด้วยตัวเองเพราะอยู่คนเดียว มัดมือข้างดีติดเอวก็มัดเองโดยมัดผ้ายืดก่อนแล้วเอามือซุกไว้ มัดเท้าติดกันก็มัดเอง ตอนนี้ผมเดินได้แล้ว อยากจะขอบคุณคุณหมอ เสียดายที่คุณหมอเขียนบทความนี้ช้าไปสองปี เพราะ ถ้าผมรู้จักเรื่องพิสัยการเคลื่อนไหวที่คุณหมอสอนเสียตั้งแต่เป็นอัมพาตใหม่ๆ มือขวาผมก็คงไม่หงิกมากอย่างตอนนี้
วันที่ผมเป็นอัมพาตนั้นมันเป็นเวลาเช้า ผมตื่นขึ้นมารู้สึกตัวเองมันหลวมๆโคร่งๆแปลกๆ พอดูมือและแขนตัวเองก็รู้สึกว่ามันอย่างกับมือของสัตว์ประหลาด คือผิวหนังหยาบเหมือนเกล็ดงูและสีออกแดง ผมลุกไปเข้าห้องน้ำ เวลาเดินรู้สึกว่าตัวเองเดินย่างสามขุน ทั้งร่างกายตัวเองก็คล้ายจะสูงใหญ่กว่าธรรมดายังกะเปรตเดินในหมอก รู้สึกว่ากล้ามเนื้อทุกมัดข้อทุกข้อทำงานกันช้าๆเหมือนเครื่องไม่ได้หยอดน้ำมันดังกุกกักๆ พอไปอาบน้ำ จะยกมือขวาก็พบว่ายกไม่ขึ้น ต้องใช้มือซ้ายแทน ผมมองดูแขนของตัวเองที่หยิบฝักบัวดูมันพิกล คือแขนมันเบลอๆจนไม่เห็นขอบเขตของผิวหนังชัดเจน แต่ขณะเดียวกันผมก็มีความรู้สึกสบายใจอย่างประหลาด รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของอากาศรอบๆ ปลอดโปร่งโล่งสบายไม่อินังขังขอบอะไรทั้งนั้น ราวกับว่าผมบรรลุนิพพานแล้ว ขณะที่ใจหนึ่งคิดว่าเป็นอย่างนี้ดีแล้ว สบายดี แต่ก็ได้ยินเสียงตัวเองตะโกนบอกตัวเองว่าผมเป็นอัมพาตแล้ว ต้องรีบโทรไปหาลูกชาย พออาบน้ำแล้วก็ผมมาโทรศัพท์ แต่ผมนึกเบอร์โทรศัพท์ลูกชายไม่ออกทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เคยจำได้ดี ต้องไปเอาสมุดที่จดเบอร์ลูกชายไว้ พอได้สมุดแล้วได้เบอร์แล้วปรากฎว่าตัวเลขที่จดไว้มันไม่เป็นตัวเลข มันเป็นเหมือนจุดที่เอามาต่อๆกันขณะที่พื้นกระดาษก็เป็นจุดๆแต่ว่าคนละสี พอดูตัวเลขตัวแรกแล้วหันมาจะกดโทรศัพท์ก็กดไม่ถูกว่ามันคือตัวเลขตัวไหน ต้องเอาสมุดโทรศัพท์มาวางข้างแป้นโทรศัพท์ แล้วดูรูปทรงของตัวเลขในสมุดกับในแป้นโทรศัพท์ให้เหมือนกันแล้วกดไปทีละตัว จะดูทีละหลายตัวก็จำไม่ได้ โชคดีที่โทรศัพท์ได้สำเร็จ ลูกชายรับสาย ผมบอกว่าพ่อท่าจะเป็นอัมพาตให้มารับพ่อไปหาหมอเดี๋ยวนี้ ผมได้ยินเสียงตอบกลับมาดัง หลัว หลัว หลัว หลัว ฟังไม่รู้เรื่องเลย จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็นเสียงลูกชายหรือเปล่า แต่ในที่สุดลูกชายเขาก็มา ผมรู้ตัวอีกทีตอนอยู่โรงพยาบาล ตอนหมอเขาเอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ถึงตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวตนร่างกายของผมมันใหญ่ขึ้นๆๆจนต้องออกไปอยู่นอกเครื่องคอมพิวเตอร์และล้นออกไปนอกตึกโรงพยาบาลออกไปอยู่บนท้องฟ้า จนผมคิดว่านี่ผมจะกลับไปอยู่ในร่างเดิมที่เล็กนิดเดียวได้อย่างไร แต่ผมก็ไม่ได้เดือดร้อน ผมรู้สึกว่าผมกับท้องฟ้าแทบจะเป็นอันเดียวกันไปเสียแล้ว รู้สึกสบายเหมือนนกที่พองลมออกไปเรื่อยๆๆแล้วก็หมดสติไป หลังผ่าตัดแล้วผมฟื้นขึ้นมา อยู่โรงพยาบาลแบบจำอะไรไม่ได้เลย อยู่ได้หนึ่งเดือนก็กลับบ้านโดยไปกายภาพทุกอาทิตย์นานสองปีกว่า
ปัญหาของผมก็คือตอนที่ผมเป็นอัมพาตไปนั้นจิตใจของผมรู้สึกสบายดี เขาจับผมนั่งเก้าอี้ผมก็นั่งเก้าอี้ได้ทั้งวันไม่เดือดร้อน ถึงผมยิ้มไม่ได้ แต่ใจผมก็สบาย ต่อมาความจำของผมก็ค่อยๆกลับมามากขึ้นๆจนถึงขั้นที่ผมกลับไปดูแลบัญชีของร้านค้าผมได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือผมมีความกังวลสูงมาก กังวลถึงอนาคตว่าตัวผมยังไม่ปกติ 100% อนาคตตัวเองและลูกเมียจะเป็นอย่างไร เพราะลูกคนสุดท้องก็ยังอาศัยผมอยู่ ทำไมตอนเป็นอัมพาตหนักๆจิตใจผมสบาย แต่พอหายจากอัมพาตแล้วจิตใจผมกลับวิตกหดหู่ ผมควรจะทำอย่างไรต่อไปดี

…………………………………………….

ตอบครับ

     จดหมายของคุณอ่านสนุกมากนะ เสียดายที่คุณไม่ได้เล่าให้ฟังว่าตอนเบลอๆใกล้จะม่องนั้นคุณเห็นผีบ้างหรือเปล่า เพราะผู้อ่านบล็อกนี้หลายคนชอบถามผมเรื่องผีอยู่เรื่อย แต่ผมยังหาคนตอบให้ไม่ได้สักที พูดถึงผี คุณเคยได้ยินโจ๊กฝรั่งเรื่องขี้เมาอัดผีไหม ถ้าไม่เคยได้ยินผมจะเล่าให้ฟัง

     เรื่องมีอยู่ว่าสุภาพบุรุษผู้ดีสูงอายุป่วยด้วยเหตุท้องร่วงกลางดึกต้องเข้าโรงพยาบาล พอเขารู้สึกว่าปวดก็วิ่งเข้าห้องน้ำ แต่พอไปถึงจริงก็มีแต่ลม เป็นอย่างนี้หลายหน จนถึงจุดหนึ่งเขาก็เลยไม่เข้าห้องน้ำมันละ เพราะมันคงจะเป็นลมอีกนะแหละ แต่คราวนี้มันกลับเป็นของจริง ทำเอาผ้าปูที่นอนของโรงพยาบาลเปรอะไปหมด คุณปู่ผู้ดีอายพยาบาลจึงรีบรวบผ้าปูที่นอนโยนออกไปทางหน้าต่างตึก พอดีมีขี้เมาเดินผ่านมา เห็นร่างที่คลุมด้วยผ้าขาวลอยละล่องลงมาก็ตัดสินใจเข้าโซ้ยโดยไม่ยั้งมือ ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งดังตุบตับกลิ้งไปบนถนนนัวเนีย

     จ่าตำรวจเดินผ่านมาเห็นเข้าก็ถามว่า

     “เกิดอะไรขึ้นเนี่ย” ขี้เมาตอบว่า

     “คุณจ่าครับ คราวนี้ผมมั่นใจว่าผมอัดผีจนขี้แตกได้แล้วจริงๆ”

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     เลิกคุยเล่น มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1. ถามว่าเป็นอัมพาตไปแล้วตั้งสองปีกว่าถึงจะได้มาเริ่มฟืื้นฟูร่างกาย มันสายเกินไปไหม ตอบว่าไม่สายหรอกครับ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราทราบว่าเซลสมองเกิดใหม่และสร้างการเชื่อมโยงใหม่ๆ (brain plasticity) ได้ตลอดเวลาจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนตาย การฟื้นฟูร่างกายก็คือการสอนให้สมองสร้างเซลใหม่และให้เซลเก่าๆสร้างแขนขาเชื่อมต่อกันใหม่ ไม่มีคำว่าสายครับ ผมเคยช่วยคนไข้ที่เป็นอัมพาตไปแล้วหกปีให้เริ่มฟื้นฟูร่างกายใหม่ เธอก็ทำได้ดี ไม่เห็นสายเกินไปเลย

     2. ถามว่าทำไมตอนเป็นอัมพาตจิตใจดีจัง แต่พอหายจากอัมพาตจิตใจกลับแย่ ตอบได้คำเดียวว่า…เวร! ผมหมายความว่าอย่างนี้ คนที่เป็นแบบคุณนี้สมัยก่อนมีแยะ คนไข้เหล่านั้นเป็นโรคลมบ้าหมู สมัยก่อนการรักษาลมบ้าหมูเราต้องจับเขาผ่าตัดปาดครึ่งสมองแยกซีกซ้ายซีกขวาออกจากกันเพื่อไม่ให้ไฟฟ้าสะป๊าร์คข้ามข้าง จะได้ไม่ชักรุนแรง นั่นมันเป็นคอนเซ็พท์การรักษาสมัยที่แพทย์เรายังไม่ฉลาดเท่าทุกวันนี้ มีคนไข้ถูกผ่าตัดแบบนี้ไปแยะ คนไข้เหล่านี้หลายคนจะมีอาการแบบคุณ คือสมองซึ่งปกติประสานงานกันสองข้างต้องเล่นอยู่ข้างเดียว ข้างใครข้างมัน สุดแล้วแต่ว่าข้างใหนใหญ่ก็ได้เล่นมากกว่า ภาษาแพทย์เรียกว่าป่วยเป็น split brain syndrome สมัยนั้นมีนักจิตฝีมือเจ๋งคนหนึ่งชื่อสะเปอรี่ (Sperry) ทำวิจัยในคนไข้เหล่านี้ไว้มาก จึงเกิดเป็นองค์ความรู้เรื่องสมองซีกซ้ายสมองซีกขวาขึ้นมา ข้อมูลเหล่านั้นยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ บรรทัดนี้ผมขอสดุดีผลงานของสะเปอรี่ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

     สาระหลักมีอยู่ว่าสะเปอรี่พบว่าสมองสองซีกของคนเรานี้มีวิธีทำงานไม่เหมือนกัน สมองซีกขวาทำงานแบบที่ภาษาคอมพิวเตอร์เรียกว่า parallel processing คือทำงานรับเอาข้อมูลที่แตกต่างหลายหลากชนิด (เช่น ภาพ เสียง กลิ่น รส อุณหภมูิ สัมผัส) จากสิ่งแวดล้อมรอบกายเข้ามาพร้อมๆกัน ณ เวลาเดียวแล้วประมวลผลแบบคลุกเคล้ากันตูมเดียวแล้วสรุปรายงานออกมาเป็นภาพใหญ่ ว่า ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นการรายงานในลักษณะรูปภาพนะ ไม่ใช่รายงานเป็นภาษา ไม่ใช่รายงานเป็นตัวเลข วิธีมองภาพของสมองก็จะจับภาพใหญ่มัวๆซัวๆให้ได้ก่อน แล้วค่อยไล่ไปหารายละเอียดซึ่งประกอบขึ้นจากจุดเล็กๆแบบ pixel ของภาพจากกล้องดิจิตอล สมองข้างขวาจึงบอกได้แค่ว่าที่เราอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้มันคือที่ไหนหน้าตามันเป็นอย่างไร เห็นมาอย่างไรก็รายงานให้เจ้านาย (ซึ่งก็คือจิตสำนึก) ไปอย่างนั้น ไม่มีการใช้ข้อมูลจากอดีตมาช่วยแจงรายละเอียด ไม่มีการคำนวณหรือคาดการณ์อะไรไปในอนาคตว่าจากที่เห็นที่นี่เดี๋ยวนี้นี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นในกาลข้างหน้า

     ส่วนสมองข้างซ้ายนั้นทำงานแบบ serial processing คือเมื่อได้รับสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามา ณ เวลาเดี๋ยวนี้ สมองซ้ายจะไม่รายงานสรุปผลในทันที แต่จะไปค้นความจำในอดีตเพื่อหาสิ่งที่เหมือนกัน หรือที่เกี่ยวข้องกัน ทีละชิ้นๆ ค้นได้อันหนึ่งก็เอามาเปรียบเทียบเชิงวิเคราะห์ด้วยตรรกะหรือคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เพิ่งรับเข้ามาทีหนึ่ง เปรียบเทียบวิเคราะห์ไปทีละชิ้นๆๆ แล้วเอามาต่อๆกันเป็นเรื่องราว คือมองครั้งแรกให้เห็นเป็นจุดเล็กๆก่อน แล้วค่อยๆขยายจนเห็นความสัมพันธ์กันไปมาเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ แล้วก็รายงานเรื่องทั้งหมดให้เจ้านาย เป็นภาษา หรือเป็นตัวเลข ว่าสิ่งเร้าใหม่ที่รับเข้ามานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับของเก่าที่เคยรับรู้ในอดีตแล้ว มันดีหรือไม่ดี เป็นมิตรหรือเป็นศัตรู เป็นของเราหรือไม่ใช่ของเรา และรายงานเชิงวิเคราะห์ด้วยว่ามันจะก่อผลต่อเราในอนาคตอย่างไร

    ตอนที่เลือดออกกดสมองข้างซ้ายจนสมองข้างซ้ายบวมใช้การไม่ได้นั้น ชีวิตคุณควบคุมด้วยสมองข้างขวาข้างเดียว ซึ่งรู้จักแต่ปัจจุบัน ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้วิธีคำนวณความเสี่ยง ไม่รู้จักการสร้างฉาก (scenario) ว่าอนาคตจะมีได้กี่แบบ ไม่รู้ว่าอนาคตแบบดีเป็นไง แบบร้ายเป็นไง คุณก็เลยสบายใจไง เพราะใครก็ตามที่ไม่คิดถึงอดีตไม่คิดถึงอนาคนก็สบายใจทั้งนั้นแหละ แต่พอสมองข้างซ้ายของคุณฟื้นตัวมากขึ้น ความจำและความสามารถคิดวิเคราะห์ก็กลับมา คุณก็สามารถสร้างฉากคาดการณ์อนาคตขึ้นมาได้อีกครั้ง เอวังของความสุขก็มาถึงด้วยประการฉะนี้ ผมถึงว่า…เวร! ไง

     3. ถามว่าแล้่วจะทำอย่างไรต่อไปดี งานวิจัยการลดความเครียด กังวลและซึมเศร้าในผู้ป่วยหลังเป็นอัมพาต เท่าที่ผมเห็นว่าเจ๋งที่สุดคืองานวิจัยการฝึกสติลดความเครียด (MBSR – mindfulness based stress reduction) ของมหาวิทยาลัยแห่งแมสซาจูเซ็ท (University of Massachusetts) ซึ่งคนไข้บางกลุ่มของงานวิจัยนี้เป็นผู้ป่วยหลังเป็นอัมพาต ผลวิจัยของเขาสรุปได้ว่า MBSR ลดความเครียดกังวลซึมเศร้าลงได้มากกว่าการไม่ทำ MBSR ดังนั้นผมจึงแนะนำว่าคุณลองทำดู ผมได้เคยเขียนเรื่อง MBSR ไปนานแล้ว คุณตามอ่านดูได้ที่
http://visitdrsant.blogspot.com/2014/06/mbsr.html

     4. เรื่องที่คุณเป็นอัมพาตแล้วยักแย่ยักยันโทรศัพท์นั้นเป็นอุทาหรณ์สอนใจที่ดีสำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่น ซึ่งแฟนบล็อกหมอสันต์นี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยเป็นอัมพาตได้กันทุกคน (หิ หิ พูดถึงความเป็นไปได้ เปล่าแช่ง) จึงควรวางแผนให้การเรียกความช่วยเหลือฉุกเฉินทำได้โดยสะดวก เพราะตอนนั้นสมองของคุณอาจจะอ่านตัวเลขไม่ออก แล้วโทรศัพท์จะมีประโยชน์อะไร ผมต้องชมคุณว่าเก่งมากนะที่รู้จักเอาเลขในสมุดโทรศัพท์ไปเทียบรูปทรงกับตัวเลขบนแป้นโทรศัพท์แล้วกดหาลูกชายได้ เพราะสมองซีกขวารู้จักแต่ภาพ แต่ไม่รู้จักหน่วยนับหรือการนับ ดังนั้นทุกท่านควรใช้ปุ่มเรียกฉุกเฉิน คือให้ลูกๆช่วยเซ็ทไว้ให้แบบกดทีเดียวก็โทรไปหาคนเกี่ยวข้องทุกคนได้เลย จะให้ดีแปะสีแดงที่ปุ่มให้เห็นชัดๆ สำหรับคนที่ใช้ไอโฟนเขามีแอ๊พชื่อ SOS ซึ่งหากเซ็ทไว้เรียบร้อยเรากดปุ่มแดง (SOS) มันก็จะหมุนไปส่งข่าวให้คนที่เราตั้งเบอร์ไว้ทันทีว่าฉันกำลังเข้าตาจน ซ่อยสันแน ซ่อยสันแน ประมาณนั้น

     ในเรื่องความพร้อมกรณีเป็นอัมพาตนี้ ผมอยากแถมอีกประเด็นหนึ่งคือควรจดชื่อที่อยู่แผนที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีเครื่องตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT) ไว้ เวลาเป็นอัมพาตก็ตรงดิ่งเข้าโรงพยาบาลแห่งนั้นเลย อย่าเสียเวลาแวะโรงพยาบาลเล็กโรงพยาบาลน้อยแบบใกล้บ้านใกล้ใจไม่ต้องแวะ เพราะเขาช่วยอะไรคุณไม่ได้มีแต่จะเสียเวลานาทีทองไป เพราะการจะฉีดยาละลายลิ่มเลือดก็ดี หรือจะผ่าสมองฉุกเฉินเพื่อเอาเลือดคั่งออกก็ดี มันต้องทำ CT สมองก่อนจึงจะลงมือรักษาได้

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Sperry, R.W., “CerebralOrganization and Behavior”. The AmericanAssociation forthe Advancement of Science. Science 1961;133:3466,
1749 – 1757.
2. Bayne, T. “The Unity of Consciousness and the Split‐Brain Syndrome”. The Journal of Philosophy. 2008; 106:277‐300.
3. Zaidel E., Zaidek D. and Sperry RW. Left and right intelligence: Case studies of Raven’s progressive matrices following brain bisection and hemidecortication. Cortex 1981;17(2):167-186.
4. Chauveau, F., et al. (2009). The hippocampus and prefrontal cortex are differentially involved in serial memory retrieval in non-stress and stress conditions. Neurobiology of Learning and Memory, 91(1).

5.  Grossman, P; Niemann, L; Schmidt, S; Walach, H. “Mindfulness-based stress reduction and health benefits: A meta-analysis”. Focus on Alternative and Complementary Therapies 2010; 8 (4): 500. doi:10.1111/j.2042-7166.2003.tb04008.x.
6. Khoury, Bassam; Lecomte, Tania; Fortin, Guillaume; Masse, Marjolaine; Therien, Phillip; Bouchard, Vanessa; Chapleau, Marie-Andrée; Paquin, Karine; Hofmann, Stefan G. “Mindfulness-based therapy: A comprehensive meta-analysis”. Clinical Psychology Review 2013;33 (6): 763–71.doi:10.1016/j.cpr.2013.05.005PMID 23796855.
7.  Bohlmeijer, Ernst; Prenger, Rilana; Taal, Erik; Cuijpers, Pim “The effects of mindfulness-based stress reduction therapy on mental health of adults with a chronic medical disease: A meta-analysis”. Journal of Psychosomatic Research 2010;68 (6): 539–44.doi:10.1016/j.jpsychores.2009.10.005.PMID 20488270.
8. Lauche R, Cramer H, Dobos G, Langhorst J, Schmidt S . “A systematic review and meta-analysis of mindfulness-based stress reduction for the fibromyalgia syndrome”. J Psychosom Res (Systematic review) 2009; 75 (6): 500–10. doi:10.1016/j.jpsychores.2013.10.010.PMID 24290038.
9. Mindfulness-based stress reduction (MBSR) improves long-term mental fatigue after stroke or traumatic brain injury.  2012;26(13-14):1621-8. doi: 10.3109/02699052.2012.700082. Epub 2012 Jul 13. 
10. A pilot study examining the effect of mindfulness-based stress reduction on symptoms of chronic mild traumatic brain injury/postconcussive syndrome. Azulay J, Smart CM, Mott T, Cicerone KD. J Head Trauma Rehabil. 2013 Jul-Aug; 28(4):323-31.