Latest

เหงา เมื่ออายุ 64 ปี

สามีดิฉันอายุ 64 ปี เคยทำงานเป็น ….. พอเกษียณอายุแล้วสุขภาพจิตไม่ดี เศร้าซึม บ่นนอนไม่หลับ เคยมีอำนาจ แล้วไม่มี รายได้ลดลง ลำบาก กลุ้มใจ คิดมาก คิดถึงแต่เรื่องเก่า ยังติดตามข่าวคราวที่ทำงานเก่า แล้ววิจารณ์ตำหนิว่าลูกน้องเก่าคนโน้นทำอย่างนี้ไม่ถูก คือบ่นแต่ว่าที่ทำงานเก่า (ราชการ) มันแย่ลง และไม่เคยว่าลูกน้องคนไหนดี และที่มากที่สุดคือบ่นคิดถึงลูกๆ ว่าทำไมพวกเขาไม่พาหลานมาเยี่ยม โกรธที่เขาไม่มาเยี่ยม พอเขากันมาจริงๆก็ด่าเขา ลูกก็ยิ่งหลบหน้าไม่มาหา สามีก็หงุดหงิด โทรไปหาลูก ลูกก็ไม่รับสาย ตัวดิฉันเองก็พยายามออกไปศูนย์การค้าบ้าง นัดเพื่อนไปกินอะไรกันบ้าง แต่เขาไม่ไปด้วย เพราะเขาไปเขาไม่รู้จะคุยอะไรกับเพื่อนๆ ของดิฉัน ตัวเขาเองไม่มีเพื่อน เพราะทำแต่งานหาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียมาตลอดชีวิต และมีแต่ตัวดิฉันนี่แหละพอจะนับได้ว่าเป็นเพื่อนเขามาตลอด พอดิฉันออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ สามีก็ต่อว่าจนดิฉันรำคาญ คนใช้ก็เปลี่ยนบ่อยจนทุกวันนี้ไม่มีใครอยู่ด้วย เพราะคนสุดท้ายที่เพิ่งออกไปสามีไปลวนลามเขา ทั้งๆที่แก่ขนาดนั้นแล้วนั่นแหละคุณหมอ
คุณหมอคะ คนเราแก่ตัวแล้วทำอย่างไรจึงจะเอาชนะความเหงาได้ และในกรณีของสามี ตัวดิฉันจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง

……………………………………..

ตอบครับ

     1.. ถามว่าแก่ตัวแล้วทำอย่างไรจึงจะเอาชนะความเหงาได้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราเรียกว่า “ความเหงา (loneliness) ก่อนนะ คำว่าความเหงาเป็นภาษาชาวบ้าน แต่ในภาษาหมอไส้ในของความเหงานี้มันยังมีส่วนย่อยได้อีกหลายอย่าง เช่น

– ขาดสิ่งกระตุ้น (sensory deprivation)
– เสียความนับถือตัวเอง (loss of self esteem)
– รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า (sense of worthlessness)
– โรคซึมเศร้า (depression)
– โรคสมองเสื่อม (NCD)
– โรคกังวลเกินเหตุ (GAD) และ
– โรคกลัวเกินเหตุ (panic disorder)

     ดังนั้นในทางการแพทย์การจะลงมือรักษาก็ต้องแยกแยะสาเหตุให้ชัดก่อนว่ามันเป็นอะไรกันแน่ แล้วรักษาไปตามสาเหตุ แต่ว่าไหนๆคุณก็ถามมาแล้ว และอยากได้คำตอบโดยไม่ต้องต่อความยาว ผมตอบให้แบบรูดมหาราชก็แล้วกันนะว่าการแก้ปัญหาคนแก่เหงาแบบเหมาโหล ให้ทำดังนี้

     วิธีที่ 1. ฝึกสติเพื่อลดความเครียด (MBSR) อันที่จริงแล้วผมอยากเปลี่ยนชื่อว่าฝึกสติเพื่อลดความคิด แต่ฝรั่งเขาตั้งชื่อว่าลดความเครียดก็ลดความเครียดตามเขาก็แล้วกัน วิธี MBSR นี้เป็นวิธีที่มีงานวิจัยรองรับมากขึ้นๆทุกวัน และเป็นวิธีที่ผมแนะนำมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่เจ๋งที่สุด รากฐานของการฝึกสติเพื่อลดความเครียดหรือลดความคิดนี้มีสามอย่างคือ
1.1 การตามดูลมหายใจ (breathing meditation)
1.2 การลาดตระเวนความสนใจไปรับรู้ความรู้สึกทั่วร่างกาย (body scanning) และ
1.3 การตามดูและรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย (attentive movement)

     ให้ลองทำให้เป็นสักอย่างหนึ่งก่อนก็แล้วกัน ผมแนะนำการตามดูลมหายใจก่อนเพราะเป็นอะไรที่มีพิธีรีตองน้อยที่สุด ถ้าเป็นชาวพุทธเขามีสูตรให้ทำเรียกว่า อาณาปานสติ หากใช้สูตรนี้ แก่แล้วไม่ต้องไปเสาะหาเพื่อนที่ไหน ลมหายใจของตัวเองนั่นแหละคือเพื่อนแท้ อ้าว อย่าทำเป็นเล่นไปนะ ลมหายใจเนี่ย ถ้าเราสนใจมันจริงๆ เวลาเราสูดลมเข้าช้าๆลึกๆ มันจะพาความสดชื่นจากภายนอกเข้ามาสู่ตัวเรา แล้วเวลาเราทำปากจู๋ค่อยๆบรรจงพ่นลมหายใจออกมาเบาๆช้าๆยาวๆ มันจะออกไปพร้อมกับทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายของเราผ่อนคลายได้ด้วย จริ๊ง..ง ไม่เชื่อลองดู แบบว่าเข้า..สดชื่น ออก..ผ่อนคลาย เข้า…สดชื่น ออก..ผ่อนคลาย ถ้าทำเป็นแล้วละก็ผมรับรองแก่อายุเท่าไหร่ก็ไม่มีเหงา เพราะมีลมหายใจของตัวเองเป็นเพื่อน เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ คิดถึงเพลงหนึ่งขึ้นมาได้

     “…ลมที่เป่า ใบไม้แกว่ง 
     นั้นมิใช่ เพียงแรงของลม
     มีลมหายใจ ของฉันผสม ฝากลมเอาไว้
     แม้เธอ หายใจ
     สูดลมเข้าไป ในทรวงเมื่อไหร่
     เธอโปรดจำไว้
     เธอสูดลมรัก ฉันเข้าแล้วเอย..”

     ไม่เกี่ยวอะไรกันหรอก แต่คิดขึ้นมาได้แค่นั้นเอง

     วิธีที่ 2. หาอะไรให้ตัวเองได้ง่วนทำ มีงานวิจัยสนับสนุนวิธีนี้แยะพอควร ผมมีเคยมีคนไข้ท่านหนึ่ง เกษียณจากอาชีพตุลาการ ตอนนั้นท่านอายุแปดสิบกว่าแล้วและไม่ชอบออกกำลังกาย จึงนั่งจุมปุ๊กอยู่ที่บ้านทั้งวัน ผมถามว่าอยู่ที่บ้านเวลาว่างๆท่านทำอะไรบ้างครับ ท่านบอกว่า “ผมไม่ค่อยว่าง” ผมก็เลยสนใจถามว่าท่านทำอะไรถึงไม่ว่าง ท่านตอบว่าท่านกรอกแบบฟอร์ม ถามไปถามมาจึงได้ความว่าที่บ้านมีแบบฟอร์มเปล่าๆเก่าๆ ซึ่งใช้สมัยท่านยังพิพากษาคดีกองอยู่หลายตั้ง ท่านก็เลยเอาแบบฟอร์มพวกนั้นมานั่งกรอก ทำให้ท่านไม่ว่างและไม่เหงา ผมถามว่าถ้าแบบฟอร์มพวกนั้นหมดจะทำยังไง ท่านตอบว่า

     “ไม่หมดหรอก ผมกรอกมาเกือบยี่สิบปียังกรอกได้ไม่ถึงครึ่ง” 

(ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

วิธีแก้เหงาแบบนี้มีคนใช้กันแยะนะ แล้วได้ผลดีเสียด้วย ผมมีเพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นฝรั่งชาวอังกฤษ เขาเกษียณจากอาชีพวิศวกรซ่อมเครื่องบิน มาปลูกบ้านอยู่ที่ระยอง เขาทำงานอดิเรกคือต่อเครื่องบินเล็ก เล็กขนาดกล่องไม้ขีดขึ้นไปจนถึงขนาดปลาช่อนตัวโตๆ ในบ้านของเขามีแต่ตำราต่อเครื่องบินเล็ก ตู้ตามผนังก็ตั้งแสดงเครื่องบินเล็กแบบต่างๆเป็นหลายร้อยแบบ ไฮไลท์ก็คือเขาพาผมไปดูห้องเก็บโมเดล หมายถึงชุดต่อเครื่องบินเล็กแบบต่างๆซึ่งขายกันเป็นกล่องๆ เขาซื้อมาเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเต็มห้องขนาดใหญ่ทั้งห้อง ผมถามว่าโอ้โฮ คุณทำไมซื้อมาเก็บไว้มากมายนัก เขาตอบว่า

“Just to make sure I have enough to do till I die”
(จะได้ชัวร์ว่าผมจะมีพอใช้ไปจนตาย)

  ทุกวันนี้ถ้าผมไประยองและแวะไปหาเขาเมื่อไหร่ เขาก็จะอยู่ที่นั่นแหละ นั่งอยู่ในซอกเล็กๆเหมือนตู้ช่างซ่อมนาฬิกา สวมแต่กางเกง ไม่สวมเสื้อ และนั่งต่อเครื่องบินเล็กอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย

     วิธีที่ 3. ไปทำงานจิตอาสา คืองานจิตอาสานี้ไม่ต้องเป็นงานที่เท่ๆหรอก ไม่ต้องบอกใครด้วย อย่างเช่นถ้าเราออกไปกวาดถนนเก็บใบไม้หน้าบ้าน นี่ก็เป็นงานจิตอาสาแล้ว ถ้าชอบที่จะพบปะสื่อสารกับผู้คน หรืออยากทำอะไรที่มันยากๆหรือที่เป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจจะสมัครไปร่วมงานกับองค์กรจิตอาสาต่างๆ อย่างมูลนิธิสอนช่วยชีวิตที่ผมเป็นประธานอยู่นี้ปีหน้าจะสร้างบ้านเมตตาธรรม ซึ่งเป็นบ้านผู้สูงอายุและที่เป็นสถานที่ฝึกสอนผู้ดูแล ก็จะระดมอาสาสมัครมาร่วมกันทำงานเพื่อผู้สูงอายุครั้งใหญ่ เมื่อเห็นประกาศชวนไป คุณก็ยุให้สามีของคุณมาร่วมด้วยก็ได้นะครับ

     วิธีที่ 4. หาเพื่อนใหม่ สำหรับคนอายุ 64 ปี การจะหาเพื่อนใหม่ก็ไม่ใช่ว่าหาไม่ได้ มันมีตั้งหลายวิธี เช่นไปลงทะเบียนเรียนหนังสือใหม่ ก็จะได้คนวัยน้อยกว่าเป็นเพื่อน ไปทัวร์เป็นกลุ่ม ไปเข้าคอร์สทำกิจกรรมระยะสั้นต่างๆ อย่างเช่น Health Camp ที่ผมทำทุกหน้าหนาว ผมก็เห็นผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้สูงอายุบางท่านมามีเพื่อนใหม่ในชั้นเรียนนี้และยังติดต่อไปมาหาสู่กันจนหลังจากแค้มป์จบแล้ว

     แต่ว่าถ้าจนปัญญาหาเพื่อนใหม่ไม่ได้เลย ผมแนะนำหมา แมว ไก่ต๊อก หรือนกแก้ว ก็ได้ครับ เพราะงานวิจัยการใช้สัตว์เลี้ยงรักษาผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตพบว่ามีสัตว์เลี้ยงดีกว่าไม่มีสัตว์เลี้ยง

     2. ถามว่าคุณในฐานะภรรยาจะช่วยสามีอายุ 64 ปีที่เหงาได้อย่างไร ตอบว่าช่วยไม่ได้หรอกครับ เพราะปูนนี้ด้วยกันแล้ว ถ้ายิ่งคุณไปพยายามช่วย เขายิ่งเหงาหนัก

     อะจ๊าก..ก ขอโทษ ผมพูดเล่น เอ๊ย ไม่ใช่ พูดจริง  คือการรู้จักใช้ชีวิตให้มีความสุขเป็นทักษะส่วนบุคคล ทำแทนกันไม่ได้หรอก อย่างจะฝึกอาณาปานสติ ตามดูลมหายใจ คุณทำแทนเขาได้ไหมละ อย่างดีที่สุดที่คุณจะทำได้ก็คือคุณทำตัวให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นแม่แบบ เป็น role model เขาเห็นคุณฝึกสติ เห็นคุณง่วนทำโน่นทำนี่ มีเพื่อน มีความสุข เดี๋ยวเขาจะแอบเลียนแบบคุณเอง แต่อย่าไปพยายามคลายเหงาให้เขาเลย และอย่าเกณฑ์ลูกหลานมาคลายเหงาให้เขาด้วย นอกจากจะเป็นการทรมานลูกหลานแล้ว มันยังไม่เวอร์คอีกต่างหาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์