Latest

ผีอำ.. ขอความช่วยเหลือจากภาวะผีอำ

คุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมมีปัญหาเรื่องผีอำ คือเวลานอนแล้วตื่นขึ้นมาเคลิ้มๆจะขยับตัวไม่ได้ หายใจไม่ถนัดเหมือนจะขาดใจตาย ร้องก็ไม่มีเสียงออกมา เรียกให้คนข้างๆช่วยก็ไม่ได้ เป็นแบบนี้บ่อยมาก ไปหาหมอๆก็บอกว่าผมเป็นโรคกังวล ให้ยากล่อมประสาทมากินก็ไม่หาย ขอคำแนะนำคุณหมอครับ
ประชา

ตอบ

ผีอำ มีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า Isolated sleep paralysis หรือ ISP (MeSH = D020188) มีอาการที่เป็นเอกลักษณ์คือตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองเป็นอัมพาต รู้ตัวดี เห็นรอบๆตัวดี แต่ขยับแขนขาไม่ได้ ร้องให้คนช่วยก็ร้องไม่ออก เต็มไปด้วยความกลัว ภาพที่เห็นบางทีก็จริงบ้างหลอกบ้าง อาจจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาที

ทางการแพทย์เองก็ยังไม่ทราบกลไกการเกิดผีอำอย่างชัดเจนนัก ทราบแต่ว่าในการนอนหลับตามปกติ เมื่อหลับลงไปถึงระยะหลับฝันซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวของลูกตาด้วย (Rapid Eye Movement หรือ REM sleep) จะมีระยะที่แขนขาถูกระงับทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ (REM atonia) อยู่ช่วงหนึ่ง ภาวะเช่นนี้เป็นภาวะปกติของการนอนหลับ ภาวะ REM atonia นี้จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเกิดผีอำนี้อย่างไรยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่มีความเชื่อว่าเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกันอยู่
ผีอำเป็นได้กับทุกคน งานวิจัยกับนักศึกษาแพทย์อิหร่านพบว่า 24.1% เคยมีประสบการณ์ผีอำนี้อย่างน้อยคนละครั้งสองครั้งในชีวิต

งานวิจัยอื่นหลายรายงานสรุปได้ว่าโอกาสเกิดผีอำจะมีมากขึ้นถ้า
1. นอนหงาย
2. อดนอน
3. เข้านอนไม่เป็นเวลา
4. มีความเครียด
5. เปลี่ยนวิถีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมไปแบบทันทีทันใด

การรักษาผีอำประกอบด้วย (1) อธิบายให้เข้าใจธรรมชาติของ REM sleep (2) อธิบายให้เข้าใจ REM atonia ว่าเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของ REM sleep (3) อธิบายว่าผีอำเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เป็นได้กับทุกคนที่มีปัจจัยร่วมทั้ง 5 ข้อข้างต้น (4) ให้ปรับนิสัยการนอน ให้นอนตะแคงแทนนอนหงาย (5) เข้านอนตรงเวลาทุกวัน (6) อย่าปล่อยตัวเองให้อดนอนเรื้อรัง (7) พักผ่อนสมองและผ่อนคลายร่างกายก่อนนอน อย่าทำงานหรือหมกมุ่นครุ่นคิดอะไรจนชนเวลานอน (8) จัดการความเครียดให้เป็นระบบ จัดระเบียบชีวิตให้ลงตัว ทำงานเท่าที่ตัวเองมีเวลาและพลังพอทำได้ อย่าพยายามทำอะไรมากเกินเวลาและเกินพลังที่ตนเองมีจนงานการคั่งค้างสะสม
การรักษาผีอำไม่ต้องใช้ยา ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะหายเมื่อแก้ปัญหาเรื่องอดนอนเรื้อรังได้สำเร็จ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

เอกสารอ้างอิง

1. Solomonova, E., Neilsen, T., Stenstrom, P. Simard, V. Frantova, E., & Donderi, D. (2008). Sensed Presence as a correlate of sleep paralysis distress, social anxiety and waking state. Consciousness and Cognition 2008;17:49-63.
2. Cheyne, J. A. & Girard, T. A. (2007). Paranoid delusions and threatening hallucinations: A prospective study of hypnagogic/hypnopompic hallucinations during sleep paralysis. Consciousness and Cognition 2007;1: 959-974.
3. Girard, T. A. & Cheyne, J. A. (2006). Timing of spontaneous sleep paralysis episodes. Journal of Sleep Research, 15, 222-229.
4. Otto, M. W., Simon, N. M., Powers, M., Hinton, D., Zalta, A. K., Pollack, M. H. (2006) Rates of isolated sleep paralysis in outpatients with anxiety disorders. Journal of Anxiety Disorders, 20, 687-693.
5. McNally, R. J. & Clancy, S. A. (2005a). Sleep Paralysis in Adults reporting repressed, recovered, or continuous memories of childhood abuse. Journal of Anxiety Disorders, 19, 595-602.
6. Cheyne, J. A. (2003). Sleep paralysis and the structure of waking-nightmare hallucinations. Dreaming, 13, 163-179.