Latest

ถ้าการตายจากนิวโมเนียมีวัคซีนป้องกัน ทำไมหมอไม่บอก

คุณหมอครับ

คุณแม่ผมอายุ 68 ปี ป่วยเป็นปอดอักเสบ อยู่ไอซียูเดือนกว่าแล้วเสียชีวิต หมอบอกว่าเป็นโรค IPD ซึ่งเชื้อดื้อยาทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต และได้ยินหมออีกคนหนึ่งถามว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมเนียหรือเปล่า ผมอยากถามคุณหมอว่า
1. โรค IPD ในคนสูงอายุนี้ป้องกันด้วยวัคซีนได้ใช่ไหม
2. ถ้าป้องกันได้ ทำไมหมอไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน
3. ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนนี้
4. วัคซีนราคาเท่าไร ฉีดที่ไหนได้บ้าง ข้าราชการเบิกได้หรือเปล่าครับ

Pakorn

………………………..

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามของคุณ ผมขอพูดถึงโรค IPD พอให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นรู้แบ๊คกราวด์นิดหนึ่ง โรคนี้ย่อมาจาก invasive pneumococcal disease แปลว่าโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมเนีย (S. pneumoniae) ชนิดรุกล้ำเข้ากระแสเลือด เป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และเด็ก ปีหนึ่งๆในสหรัฐมีผู้ป่วยเป็นปอดบวมประมาณ 5 แสนคน โดยที่หนึ่งในสามเกิดจากเชื้อนี้ เมื่อเชื้อนี้ผ่านทางเดินลมหายใจเข้ามาสู่ตัวเราแล้ว จะทำให้เจ็บป่วยได้หลายแบบ นับตั้งแต่ติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบน เป็นปอดบวม และติดเชื้อแบบรุกล้ำเข้าสู่กระแสเลือด (invasive pneumococcal disease – IPD) ทำให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯเพราะเชื้อนี้ปีละประมาณ 40,000 คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้น หากติดเชื้อนี้แล้ว 30-40% เชื้อจะรุกล้ำเข้ากระแสเลือด และ 36% จะเสียชีวิต

เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1. โรค IPD ในคนสูงอายุนี้ป้องกันด้วยวัคซีนได้ใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ การฉีดวัคซีนป้องกันชื่อ PPSV23 (pneumococcal polysaccharide vaccine 23 strains) เป็นวิธีที่เชื่อถือได้วิธีเดียวที่จะป้องกันการเสียชีวิตจากโรค IPD ได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว เกิน 80% ของผู้รับจะสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งเพิ่มจำนวนตัวเองขึ้นได้เกิน 2 เท่าภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ วัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด (IPD) ได้ประมาณ 75% ในผู้สูงอายุ และ 65-84% ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

2. สาเหตุที่หมอไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีน อาจเป็นเพราะ

2.1 หมอลืม

2.2 หมอไม่มีเวลาพูด

2.3 หมอไม่รู้ คืออาจจะไม่รู้ว่ามีวัคซีน PPSV23 อยู่ในโลกนี้ หรืออาจจะไม่รู้ว่ามาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทั่วไป ต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันนิวโมเนียด้วย การที่หมอจะไม่รู้อะไรบ้างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความรู้แพทย์กว้างใหญ่ไพศาลเรียนกันจนตายก็ไม่หมด เรียนได้หน้าลืมหลัง ไม่มีหมอคนไหนจะแสนรู้ไปหมดทุกเรื่องหรอกครับ รวมทั้งหมอสันต์ด้วย (แหะ..แหะ พูดเล่น)

3. ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนนี้ องค์กรนำทางด้านการแพทย์เช่นองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรวิชาชีพที่สำคัญๆในสหรัฐ เช่นศูนย์ควบคุมโรค (CDC) วิทยาลัยอายุรแพทย์ (ACP) วิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัว (AAFP) ล้วนแนะนำว่าคนต่อไปนี้มีความเสี่ยงสูง ควรฉีดวัคซีนป้องกันนิวโมเนีย คือ

3.1 ผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

3.2 ผู้มีอายุระหว่าง 2-64 ปี ที่

3.2.1 เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้อวัยวะสำคัญเสียการทำงาน เช่น (1) โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด

3.2.2 โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (3) โรคตับเรื้อรัง (4) พิษสุราเรื้อรัง (5) โรคเบาหวานระยะที่มีปัญหากับระบบไหลเวียนเลือด หรือกับไต

3.2.3 มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นเป็นโรคเอดส์ เป็นมะเร็งต่างๆ

3.2.4 ม้ามเสียการทำงาน หรือถูกตัดม้ามไปแล้ว

3.2.5 ผู้พักอาศัยในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อนิวโมเนียบ่อย รวมทั้งในบ้านพักผู้สูงอายุ

3.2.6 ผู้ที่เพิ่งฟื้นจากการเป็นปอดบวมเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด (WHO)

4. วัคซีนราคาเข็มละประมาณ 1500 – 2000 บาท ฉีดเข็มเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต ยกเว้นคนที่ตัดม้ามไปแล้วซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อนิวโมเนียสูงมากเป็นพิเศษอาจฉีดเบิ้ลทุกห้าปีได้

5. ข้าราชการ ผมเข้าใจว่าเบิกไม่ได้ครับ สมัยก่อนการป้องกันโรคทุกชนิดไม่ว่าวัคซีนอะไรก็เบิกไม่ได้เลย แต่การรักษาปลายเหตุของโรคจะเสียเงินกี่แสนกี่ล้านก็เบิกได้ ตลกดีแมะ สมัยนี้ดีขึ้นหน่อย วัคซีนราคาถูกๆเริ่มเบิกได้บ้างแล้ว อย่างน้อยวัคซีนบาดทะยักและวัคซีนหมาบ้าก็เบิกได้ละน่า (ขอโทษ..ติดนิสัยปากเสียอีกละ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………..

…………………………………………………
Update 2 มีค. 58

ในปีนี้ (พ.ศ. 2558) คณะกรรมการแนะนำเวชปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกัน ได้สรุปหลักฐานและออกคำแนะนำใหม่  (ACIP .2015) ว่าต่อไปนี้ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทุกคนไม่ว่าจะมีความเสี่ยงพิเศษหรือไม่ ให้ฉีดวัคซีนควบสองตัวคือฉีด PCV13 แล้วหลังจากนั้นก็ฉีด PPSV23 ตามหลังภายใน 6-12 เดือน ในกรณีที่เคยได้ PPSV23 มาตัวเดียว ให้รอไปอย่างน้อย 12 เดือนแล้วฉีด PCV13 หนึ่งเข็มตามหลัง

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Prevention of Pneumococcal Disease: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) MMWR 1997: 46(RR-08);1-24

2. Fedson DS, Musher DM, Eskola J. Pneumococcal vaccine. In: Plotkin SA, Orenstein WA eds. Vaccines (3rd ed.). Philadelphia: WB Saunders Company; 1999. pp. 553–607.