Latest

Adjustment disorder .. โรคแพ้ยอดขาย

สวัสดีค่ะคุณหมอ
ขอรบกวนเรียนถามคุณหมอค่ะว่า อาการทางจิตที่เป็นอยู่ควรจะไปหาหมอจิตเวชหรือควรบำบัดโดยใช้วิธีสะกดจิตใต้สำนึกดีคะ คือว่า ตอนนี้หนูอายุ 35 ย่าง 36 ปีแล้ว มีความรู้สึกว่าอายุมากขึ้นเรื่อยแต่เหมือนอนาคตจะอยู่ไหนยังไม่รู้ ทุกวันนี้หนูเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ทำงานมาประมาณ 8 ปีแล้ว ตอนทำงานใหม่ๆก็สนุกดี แต่ตอนนี้ด้วยความกดดันของยอดขายที่ต้องทำผลงานให้ผ่านในแต่ละเดือน ทำให้ทุกวันนี้ทำงานแบบไม่มีความสุขเลย เนื่องจากที่เป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่ชอบเข้าสังคม นโยบายก็เข้มงวดขึ้น หาลูกค้ายาก อนุมัติก็ยาก หนูเบื่อกับการดิ้นรนในแต่ละวัน เคยปรึกษาผู้ใหญ่ขอเปลี่ยนตำแหน่ง แต่ไม่มีตำแหน่งว่าง ตอนนี้อดทนกับความรู้สึกย่ำแย่นี้มาปีกว่าแล้ว อยากลาออก แต่ทำไม่ได้ เพราะมีภาระต้องผ่อนบ้าน ต้องดูแลพ่อแม่ ส่วนพี่น้องคนอื่นก็มีเพียงบางคนส่งเงินให้พ่อแม่ใช้บ้าง แต่ไม่มีใครที่จะให้ฝากฝังได้ ตอนนี้หนูเบื่อมากอยากจะหนีไปบวชชี หรือไม่ก็ไปอยู่ชนบทเล็กๆ ปลูกผักแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ไม่มีเงินจะซื้อที่ดิน ไม่รู้จะทำอย่างไร หนูควรจะปรึกษาใครดีคะ บางครั้งก็อยากไปสะกดจิตเพื่อแก้ไขข้อพร่องเรื่องการเข้าสังคม แต่บางครั้งก็อยากหลบสังคมวุ่นวายนี้ไปอยู่บ้านนอกแทน อย่างหนูจัดว่าเป็นโรคจิตหรือเปล่าคะ หนูขอรบกวนคุณหมอหน่อยนะคะ 
ขอบคุณมากค่ะ
…………………………………………………………..
ตอบครับ
     คำถามของคุณทำให้ผมคิดถึงเพลงหนึ่งของแกรนด์เอ็กซ์เมื่อราวยี่สิบปีมาแล้ว
“…เคยเหงาบ้างไหม
เหมือนวันที่โลกไร้สรรพเสียง
เรไรไม่ร้อย จำเรียง
ยินเพียงหัวใจ ไหวระรัว…”
     ไม่ค่อยเกี่ยวกันหรอก แต่คิดขึ้นมาได้เท่านั้นเอง
     ก่อนจะตอบคำถามของคุณ เนื่องจากมีผู้ถามมาบ่อยมากและผมยังไม่เคยตอบ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้จะไปหาจิตแพทย์ดีไหม ผมขอรวบเล่าไว้ในที่นี้เสียทีเดียวเลย ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพว่าโรคอะไรที่เรียกว่าเป็นโรคจิต และจิตแพทย์เขาทำงานอย่างไร คือในระบบจำแนกโรคจิตเวช (DSM-IV) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (APA) แบ่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นความผิดปกติทางจิตออกไปเป็น 17 กลุ่มดังนี้

1.. โรคที่เป็นตั้งแต่เกิด เช่นปัญญาอ่อน สมาธิสั้น
2. โรคสมองเสื่อม (dementia) เช่นอัลไซเมอร์
3. จิตผิดปกติเนื่องจากโรคทางกาย  เช่นเป็นบ้าเพราะเชื้อโรคเอดส์
4. จิตผิดปกติเพราะสารเสพย์ติด (substant related disorder) เช่นแอลกอฮอลิสม์
5.  โรคบ้าขนานแท้ (schizophrenia) หมายถึงจิตหลอนตัวเองไม่มีเสียงก็ได้ยิน ไม่มีภาพก็เห็นภาพ คือบ้าแท้ๆหลุดโลกไปเลย
6. ความผิดปกติของอารมณ์ (mood disorder) เช่นโรคคึกสลับซึมเศร้า (bipolar disorder) หรือโรคซึมเศร้า (major depression)
7. โรคจากความกังวล (anxiety disorder) เช่น โรคกังวลทั่วไป โรคกลัวสังคม
8. ความผิดปกติของร่างกายที่สืบเนื่องจากจิตใจ (somatoform disorder) เช่นแบบที่สมัยก่อนเรียกว่าฮิสทีเรีย คือร่างกายออกอาการเหมือนแกล้งทำ เช่นชัก เพราะเหตุจากจิตใจ
9. โรคป่วยเทียม (factitious disorder) คือมีไข้มีอาการป่วยเหมือนเป็นโรคทางกายสักอย่างเปี๊ยะ แต่ที่จริงเป็นเพราะจิตใจเรียกร้องหาความเอาใจใส่จากคนอื่น
10. โรคหลายบุคลิก (dissociative disorder) แบบ ดร.แจกเกลกับมิสเตอร์ไฮป์ เดี๋ยวเป็นแบบนั้น เดี๋ยวเป็นแบบนี้
11. โรคสับสนเพศของตัวเอง (sexual and gender identity disorder) คือใจเป็นคนละเพศกับร่ายกาย
12. โรคผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เช่นโรคไม่ยอมกินเพราะกลัวอ้วน (anorexia nervosa) โรคกินแล้วล้วงคออ๊วก (bulimia nervosa)   
13. โรคผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ (sleep disorder) เช่นโรคนอนไม่หลับ
14. โรคยั้งใจไม่ได้ (impulse control disorder) เช่นพวกนิยมขโมยของ (kleptomania)
15. ความผิดปกติในการปรับตัว (adjustment disorder) เช่นอาการผิดปกติหลังการตายของคู่สมรส
16. โรคบุคลิกภาพแปรปรวน (personality disorder) เช่นโรคหลงตัวเองเกินเหตุ (narcissism)
17. โรคอื่นๆที่เข้ากลุ่มอะไรไม่ได้ เช่นโรครัวลิ้นโดยไม่ตั้งใจ (tardive dyskinesia) เป็นต้น
     ทั้ง 17 กลุ่มนี้ ในชีวิตจริงไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ในการทำงาน จิตแพทย์จะมองการเจ็บป่วยออกมาจากหลายมุมมอง (axis) ซึ่งมีทั้งหมดห้ามุมมอง คือ

Axis 1. มองจากมุมของโรค คือทั้งสิบเจ็ดกลุ่มโรคข้างต้น
Axis 2. มองจากมุมของบุคลิกภาพและเชาว์ปัญญาดั้งเดิม
Axis 3. มองจากมุมของสภาพการเจ็บป่วยทางกายที่เกี่ยวข้อง
Axis 4. มองจากมุมของสังคมและสิ่งแวดล้อมเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง
Axis 5. มองจากมุมของความสามารถในการทำงานและการใช้ชีวิต
     แล้วเอามุมมองทั้งหมดนี้มากำหนดแนวทางช่วยแก้ปัญหาให้คนไข้ ดังนั้นขอบเขตที่จิตแพทย์จะช่วยผู้ป่วยได้นั้นจึงกว้างขวางมาก แทบจะเรียกว่าเอาแค่ไม่สบายใจไม่ว่าเรื่องอะไรก็ไปหาจิตแพทย์ได้แล้ว ไม่ต้องเดือดร้อนขอตีความก่อนเลยว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปหาจิตแพทย์ได้ไหม                  
     เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
     1. ถามว่าจะไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดหรือนักสะกดจิตดีไหม

     เอาประเด็นไปหาใครดีก่อนนะ ตอบว่าต้องไปหาจิตแพทย์สิครับ เพราะในเมืองไทยบรรดานักจิตวิทยาหรือนักสะกดจิต (ถ้ายังมีเหลือทำพันธุ์อยู่) ล้วนทำงานเป็นผู้ช่วยของจิตแพทย์ทั้งสิ้น ถ้าจิตแพทย์เห็นว่ามีประโยชน์ ท่านจะส่งคุณไปหาเอง เขาเหล่านั้นไม่ใช่เป็นผู้รักษาผู้ป่วยซะเอง เพราะกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้คนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์รักษาคนไข้ด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน

     ส่วนในประเด็นที่ว่าจะไปหาดีไหม ตอบว่าดีครับ ถ้ามีเวลาและมีเงิน ถ้ามีเวลาแต่ไม่มีเงิน ก็ยังมีทางเลือกอื่นนะครับ คือไปหาพระตามวัดไง เมืองไทยนี้พระได้ทำหน้าที่ของจิตแพทย์อย่างได้ผลมานมนานแล้ว จึงไม่ควรมองข้ามบริการดีๆนี้

     2.. ถามว่าอย่างคุณเนี่ยเป็นโรคจิตหรือเปล่า ถ้าคำว่าโรคจิตหมายถึงโรคบ้าขนานแท้ คุณไม่ได้เป็นโรคจิตหรอกครับ แล้วถามว่าคุณเป็นอะไร แหะ..แหะ ตอบว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมใช้วิธีเดาแอ็กว่าคุณอาจจะเป็นอะไรสักอย่างใน 5 ข้อต่อไปนี้

2.1.. คุณเป็นโรคเซ็งมะก้องด้อง หิ..หิ ขอโทษ โรคนี้ไม่มีในทำเนียบโรคของ ICD หรอกครับ ผมตั้งขึ้นเองเล่นๆไม่ให้คุณเครียด คือหมายความว่าคุณหาความสุขแต่หาไม่เจอ ก็เลยเซ็ง เส่ง เส้ง เซ้ง เส็ง

2.2..คุณตกอยู่ในภาวะวิกฤติการณ์ครึ่งชีวิต (midlife crisis) คืออาการที่เป็นกับคนอายุกลางคน คือประมาณสี่สิบปี บวกลบเผื่อไว้สักสิบปี มันมาในรูปแบบของความรู้สึกไม่พึงพอใจกับวิถีชีวิตหรือแม้กระทั่งกับตัวชีวิตเอง ทั้งๆที่ก็รู้สึกดีๆมาได้ตลอด อยู่ๆก็เบื่อ เบื่อคน เบื่อสิ่งของ หรือสิ่งเร้าใดๆที่เคยท้าทายตนเองเป็นอย่างดีในอดีต อยากไปเสาะหา ไปทำอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และสับสนว่า ตัวเราเองนี่เป็นใคร และกำลังจะไปไหนกัน

2.3 คุณอาจมีความผิดปกติในการปรับตัว (adjustment disorder) ในที่นี้ก็คือการปรับตัวกับยอดขาย หรือผมขอเรียกง่ายๆอย่างไม่เป็นทางการว่าคุณเป็น “โรคแพ้ยอดขาย”

2.4..คุณอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (depression) ผมใช้คำว่าอาจจะเพราะข้อมูลที่ให้มามันไม่ครบ แต่อาการบางอย่างเช่น มีอารมณ์ซึมๆ หมดพลัง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ตั้งสติไม่ได้ คิดอะไรไม่ตก ตัดสินใจไม่ได้ มันเป็นอาการส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้า และผมท้าพนันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียวเลยว่าอย่างคุณนี้ถ้าจิตแพทย์เห็นเข้าคุณได้กินยาต้านซึมเศร้าแหงๆ

2.5.. คุณไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่อาจจะใกล้บรรลุธรรมแล้ว โฮ่..โฮ่ แบบว่าหน่ายสังสารวัฏฏ์ถึงขีด เริ่มจะทนความไร้ความหมายของชีวิตไม่ได้แล้ว และคิดอ่านจะแหวกแนวออกไปแสวงหาโมกขธรรม โน่น ไปโน่นเลย 
     3. ถามว่าแล้วคุณควรจะทำอย่างไรดี ตอบว่ามันแล้วแต่ว่าคุณเป็นโรคอะไรในห้าโรคที่ผมเดาข้างต้น การแก้ไขมันก็ต้องแก้ตามโรคที่เป็น กล่าวคือ

3.1 กรณีที่คุณเป็นโรคเซ็งหรือหาความสุขไม่เจอ ผมคงช่วยอะไรไม่ได้ เอ๊ย.. ไม่ใช่ สิ่งที่ผมพอจะช่วยได้ก็คือเล่าให้คุณฟังว่างานวิจัยทางการแพทย์เขาพบข้อมูลว่าอะไรสัมพันธ์กับความสุขบ้าง ผมจะไล่เลียงหัวข้อตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ผลวิจัยที่ได้นี้ ก็สอดคล้องกับผลวิจัยอื่นๆ ซึ่งสรุปว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสุขคือ 

หนึ่ง การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อในศาสนาของตนข้อมูลแยกไม่ออกว่าเป็นเพราะพระเจ้าหรือธรรมะดีจริง หรือเป็นเพราะการได้ไปสมาคมกับคนพันธุ์เดียวกัน แต่ก็สรุปได้แน่ชัดว่าพวกธัมมะธัมโมถือศีล ไม่ว่าจะถือสากด้วยหรือไม่ก็ตาม ล้วนมีความสุขมากกว่าพวกไม่เอาศาสนา 

สอง การมีเพื่อนซี้หรือญาติสนิท หรือได้แต่งงานกับคนที่รู้ใจ บางงานวิจัยพบว่าถ้ามีเพื่อนที่สุขง่ายหัวเราะง่าย เราก็จะสุขง่ายไปด้วย บางงานวิจัยพบว่าเพื่อนซี้ในที่ทำงานมีผลต่อความสุขมากกว่าคู่สมรส ในประเด็นการแต่งงาน พบว่าคนได้แต่งงานมีความสุขมากว่าคนไม่แต่งงาน แต่โปรดอย่าลืมนะครับว่าเขาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง การที่มีความสัมพันธ์ระหว่างการได้แต่งงานกับการมีความสุข จะไปพรวดพราดสรุปว่าการได้แต่งงานเป็นสาเหตุของความสุขยังไม่ได้ มันอาจเกิดจากปัจจัยกวน (confound factors) อย่างอื่น เช่น สมมุติว่าการเป็นคนหยวนๆ (หมายถึงคนแบบเอาไงเอากัน) เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการมีความสุข แล้วคนหยวนๆก็ได้แต่งงานมากกว่าคนโกตั๊ก (หมายถึงคนเรื่องมาก) เมื่อเรามานับดูเห็นว่าคนที่ได้แต่งงานมีความสุขมากกว่าคนไม่แต่งงาน จะสรุปว่าการได้แต่งงานทำให้เกิดความสุขยังไม่ได้ เพราะมันมีปัจจัยกวนซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงซ่อนอยู่

สาม ก็คือการได้ง่วนทำอะไร ยิ่งเป็นอะไรที่ใด้ใช้ความรู้และทักษะของตัวเองเต็มที่ด้วยยิ่งสุขมาก ในประเด็นต้องได้ทำอะไรถึงจะมีความสุขนี้ นายชิคเซนท์เมฮี (Mihaly Csikszentmihalyi) ได้ทำวิจัยไว้อย่างพิสดาร คือสุ่มเพจเข้าไปหาคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างโดยไม่เลือกเวลาแล้วถามว่าตอนนี้คุณทำอะไรอยู่เอ่ย แล้วคุณกำลังรู้สึกยังไง ก็ได้ผลสรุปออกมาชัดเจนว่าถ้ากำลังง่วนทำอะไรอยู่ จะรู้สึกดีมีความสุขมากกว่าถ้าอยู่ว่างๆเฉยๆ ดังนั้นใครที่อยากมีความสุขก็จงอย่าได้ขี้เกียจ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หลายงานวิจัยสรุปได้ว่าการได้ง่วนกับอะไรที่ง่ายๆราคาถูกๆ มีความสุขมากกว่าการเล่นของยากๆราคาแพงๆ คนทำสวนเป็นงานอดิเรกมีความสุขมากว่าคนเล่นเรือยอชต์ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับความสุข แทบทุกงานวิจัยล้วนได้ผลตรงกันว่าสิ่งต่อไปนี้ไม่สัมพันธ์กับความสุข คือ (1) การมีรายได้มากขึ้นหรือความร่ำรวย (2) การมีความรู้สูงๆ (3) การเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูง(4) วัย อันทีจริงผลวิจัยบางรายการพบว่าวัยสูงอายุมีความสุขมากกว่าวัยหนุ่มสาวเสียอีก (5) เชื้อชาติ (6) เพศ (7) การมีลูกหรือไม่มี


ดังนั้นกรณีที่คุณเป็นโรคเซ็ง คุณเอาข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ก็แล้วกัน
3.2 กรณีที่คุณตกอยู่ใน midlife crisis หรือเป็นโรค “แพ้ยอดขาย” คำแนะนำของจิตแพทย์ยุคโบราณชื่อ คาร์ล จุง แนะนำว่าคุณได้พยายามผ่านระยะทำตัวให้กลมกลืน ( accommodation) คือได้พยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ ให้ประสบความสำเร็จตามมาตรฐานสังคม ยอมใส่หน้ากากหรือหัวโขนพรางตัวตนที่แท้จริงของเราไว้บ้าง ทั้งโดยจงใจ หรือโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว จนมาถึงระยะถอดหัวโขน ( Separation) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนนักแสดงที่ออกมาหลังเวทีแล้วถอดหัวโขนออกมองตัวเองในกระจก คำถามที่เกิดขึ้นก็เช่นว่า ตัวตนคนที่สวมหัวโขนนั้นจริงๆแล้วเป็นอย่างไร มันเหมือนหัวโขนนี่หรือเปล่า และเริ่มเกิดความเคว้งคว้าง (liminality) ตัวตนเก่าก็ไม่ชอบ ตัวตนใหม่ก็ยังหาไม่เจอ ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร จะไปทางไหน กลัวที่จะต้องตัดสินใจ จุงแนะนำว่าต่อไปนี้จำเป็นที่คุณจะต้องเข้าสู่ระยะสร้างตัวตนใหม่ที่ตัวเองยอมรับได้ขึ้นมา (reintegration) หาให้พบตัวตนใหม่ที่กล้อมแกล้มกลมกลืนกับชีวิตจริง ให้คุณพอรับได้ชัดขึ้นว่าตัวเองเป็นใครจะไปทางไหน และประเมินตัวเองใหม่เป็นระยะ และหันหน้าสู้ความจริงและยอมรับด้านที่ไม่ค่อยเข้าท่าที่ยังอาจมีอยู่ในตัวตนใหม่ ( individuation) ยอมรับว่าโลกนี้คือละคร ชีวิตจริงมันก็ต้องแสดงกันบ้าง ยอมรับวิธีประสานความคาดหวังของคนรอบข้างให้เข้ากับเสียงเพรียกจากก้นบึ้งหัวใจของตัวเอง ตามใจความรับผิดชอบในหน้าที่บ้าง ตามใจตัวเองบ้าง ทั้งหมดนี่คือแนวทางรับมือกับ midlife crisis ตามที่หมอจุงเขาว่าไว้

3.3 กรณีที่คุณเป็นโรคซึมเศร้า อันนี้หลักวิชาแพทย์ต้องอัดยาลูกเดียวครับ ยาแก้ซึมเศร้านี้ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ใช้กันแบบว่าคนไข้อ้าปากยังไม่ทันเห็นลิ้นไก่หมอก็จ่ายยาแก้ซึมเศร้าแล้ว แต่ว่าถ้าไม่ชอบยา ผมแนะนำให้รักษาโรคซึมเศร้าด้วยวิธีต่อไปนี้  

(1) ฝึกให้ร่างกายตอบสนองต่อความผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก รำมวยจีน โยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น 
(2) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ 
(2.1) ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารต่อต้านความเครียดโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด 
(2.2) นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย 
(2.3) ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยา หรือแม้กระทั่งน้ำตาล 
(3) การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้ ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง 
(4) ตากแดดบ้าง งานวิจัยหลายรายการให้ผลตรงกันว่าแสงแดดนี่แก้ภาวะซึมเศร้าได้จริงๆนะครับ 
(5) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก
(6) หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหอม เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่านหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น

3.4 ถ้าเป็นกรณีหน่ายสังสารวัฏฏ์ อันนี้หนักหน่อยนะครับ แบบว่าหมออาจจะเอาไม่อยู่ ผมแนะนำให้คุยกับพระดีกว่านะครับ หิ..หิ โบ้ยซะเลย


แต่ผมให้ข้อมูลประกอบนิดหนึ่งนะครับ ในส่วนที่คุณอยากจะไปบวชชีเพื่อปลีกวิเวกนั้น ผม โน คอมเมนท์ แต่ที่คิดจะไปอยู่ชนบททำเกษตรพอเพียงนี่ผมมีข้อมูลนะครับ ว่า

(1).. ชีวิตในชนบทไม่ได้วิเวกนะครับ มีเรื่องไร้สาระไม่น้อยกว่า หรือเผลอๆมากกว่าชีวิตในเมืองกรุง เมื่อวานนี้หลัดๆผมคุยกับคนไข้คนหนึ่งซึ่งอยู่บ้านนอก เรื่องการลดน้ำมันที่ใช้ผัดทอดอาหาร เธอบอกว่าเธอก็ลดแล้วถ้าเป็นการทำอาหารในบ้าน แต่งานสังคมเช่นงานแต่ง งานบวช งานศพ มันมาก ต้องทานอาหารนอกบ้านบ่อย ซึ่งคุมไม่ได้ ผมถามว่าบ่อยแค่ไหน เธอตอบว่าเดือนละอย่างน้อย 30 งาน โอ้ โฮ นี่เป็นตัวอย่างของจริงนะ แล้วคุณคิดว่าอยู่ชนบทมันจะวิเวกได้แมะ

(2) ความคิดจะทำเกษตรพอเพียงนั้นเป็นความคิดที่ประเสริฐจริงๆ แต่ผมแนะนำว่าให้เริ่มทำแบบใส่กระถางตั้งไว้ที่ระเบียงห้องในคอนโดของคุณก่อนดีกว่านะครับ เพราะขึ้นชื่อว่าเกษตรกรรม ต้องเน้นตรงคำว่า “กรรม” นะครับ มันมีแต่เสียเงิน กับเสียเงิน ที่พูดอย่างนี้เพราะผมทำมาแยะแล้ว ทั้งแบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียง เกษตรโลภมาก ผมทำมาหมดแล้ว สาระมันเป็นอย่างไร คุณฟังเอาจากภรรยาของผมก็ได้นะครับ เธอบอกว่า

“..ไร่ของคุณไม่ได้ปูด้วยแบงค์ร้อยนะ แต่เป็นแบ้งค์ห้าร้อยทั้งหมดที่ปูบนพื้นดินของไร่”
นี่ภรรยาผมเธอพูดสมัยที่แบงค์พันยังไม่มีใช้นะครับ คือเกษตรกรรมมันมีแต่เสียกับเสีย ดังนั้น ยิ่งทำขนาดเล็กเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น และวิธีที่ดียิ่งกว่านั้นคือให้คุณทนทำงานหาเงินที่แบงค์ด้วยความทุกข์ระทมขมขื่นอกไหม้ไส้ขมแค่ไหนก็ทนไปเถอะ เพื่อจะได้มีเศษเงินเหลือไปผลาญใช้อย่างต่อเนื่องและมีความสุขกับงานเกษตร “กรรม” นี่เป็นสูตรที่ผมว่าเวอร์คสุดครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Berganza CE, Mezzich JE, Jorge MR (2002). “Latin American Guide for Psychiatric Diagnosis (GLDP)”.Psychopathology 35 (2–3): 185–90.doi:10.1159/000065143. PMID 12145508

……………………………………….
3 พค. 56
จดหมายจากผู้ป่วย
ขอบคุณคุณหมอมากเลยนะคะ หนูได้ทั้งความรู้ ข้อคิด และอารมณ์ขันด้วย ดูคุณหมอมีความสุขมากเลย ทุกวันนี้หนูมีแฟนที่ยังไม่ได้แต่งงาน (ยังหาวันดีแต่งไม่ได้) เวลาคุยกับเค้าก็จะมีมุขให้ขำๆ ตลอด แต่ช่วงเวลาอื่นก็หงอยเหมือนเดิม ยังคงหาความสุขด้วยตัวเองไม่ได้ คุณหมอทราบเบอร์โทร Hot Line ปรึกษาหรือศูนย์ที่ … บ้างมั้ยคะ อีกอย่าง หนูเพิ่งจะรู้ว่าการทำเกษตรต้องใช้เงินเยอะ คิดว่าแค่ซื้อเมล็ดพันธุ์+ปุ๋ย ไม่กี่บาท ที่เหลือคือแรงกาย+ใจและเวลา สงสัยหนูต้องลองหาข้อมูลและลงมือฝึกทำแล้วล่ะ คุณหมอพอจะทราบแหล่งเรียนรู้และฝึกปฎิบัติบ้างมั๊ยคะ จะได้ลองของจริงเลยว่าไหวแค่ไหน สุดท้ายนี้ หนูขอขอบคุณคุณหมอมากที่ได้ตอบคำถามคลายข้อข้องใจ ขอคุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองคุณหมอและครอบครัวให้มีความสุขและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 
ขอบคุณค่ะ
………………………………………………..