Latest

ไอดอลอีกคนหนึ่งจากแฟนบล็อกหมอสันต์

สวัสดีครับคุณหมอ ผมอายุ 44 ปี ได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ไมทรัล วาวล์ โดยการใส่วงแหวน ไททาเนียมและเย็บซ่อมแซม และได้ทำบายพาสเส้นหัวใจตีบเนื่องจากแคลเซียมอีกหนึ่งเส้นเมื่อเดีอนพฤศจิกายน ปี 2558 ทุกอย่างทำงานดีปกติ แต่คุณหมอที่ดูแลให้ทานยาดังนี้ตลอดชีวิต คือ lipitor 20 mg, diovan 40 mg, caraten 3 mg, และ aspirin 81 mg ครับ

คำถามคือ ผมเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต คือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ใช้น้ำมันทุกชนิด ไม่ทาน nuts ออกกำลังกายทุกวันโดยการปั่นจักรยานวันละ 1 ชั่วโมง ระยะทาง 30 กม. ใช้เวลา 4 อาทิตย์ ได้ผลเลือด ตามที่แนบครับ ผมสามารถหยุดยาทั้งหมดได้ไหมครับ หรือทานเฉพาะบ้างตัว แต่หมอที่ดูแลยังไงก็จะให้ทานยาต่อเพราะจะมีผลดีในระยะยาวเขาบอกแบบนี้ครับ

ความดันของผม ประมาณ 105/75 ชีพจรปกติประมาณ 84 ขณะออกกำลังกายอัตราการเต้นหัวใจอยู่ระหว่าง 125-160ครับ และหลังจากผ่าตัดครบ3เดีอนผมทานแต่ยา aspirin 83mgอย่างเดียวครับ
รูป 1 ,2 และ 3 ก่อนผ่าตัดครับ รูป 4 และ 5 หลังผ่าตัดครับ

แฟนแนะนำให้อ่านหนังสือ 4 เล่มนี้ครับ ของ ดร. John mcdougall ” the starch solution” และ ดร. T. Colin campbell ” the china study” และ ดร. Esselstyn ” prevent and reverse heart disease” สุดท้ายเป็น ดร. Dean ornish ” reversi

ng heart disease” อ่านแล้วรู้สึกศรัทธาครับ รวมทั้งแฟนสนับสนุนเต็มที่ด้วยครับ
ขอบคุณครับ

………………………………………..
ตอบครับ
     แม่เฮย.. ท่านผู้อ่านเห็นโปรไฟล์ของแฟนบล็อกหมอสันต์แล้วงืดไหมเนี่ย หนังสือทั้งสี่เล่มที่คุณอ่านนั้น แม้แต่แพทย์จำนวนมากยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำไปว่ามีหนังสือทั้งสี่เล่มนี้อยู่ในโลกนี้ หิ หิ ขอโทษ เปล่าประชดเพื่อนแพทย์ด้วยกันนะ แค่จะชมแฟนตัวเองว่าหูตากว้างเฉยๆ การอ่านมากรู้มากนั่นเรื่องหนึ่งนะ แต่รู้แล้วทำเนี่ยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่า อันที่จริงเหตุผลที่ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบก็เพื่อจะฉายภาพของคนอย่างคุณให้แฟนๆบล็อกท่านอื่นๆอีกจำนวนมากที่ยังจมปลักขี้เกียจอยู่ จะได้ยึดถือเอาคุณเป็นไอดอล กล่าวคือเมื่อมีความรู้แล้วไม่แค่รู้เฉยๆ แต่เอาความรู้นั้นมาปฏิบัติเพื่อพลิกผันโรคของตัวเองแบบจริงจังจนได้ผลด้วย การที่คุณเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต คือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ใช้น้ำมันทุกชนิด และออกกำลังกายทุกวันนั้นถูกใจหมอสันต์จริง..จริ๊ง วันหลังถ้าได้ลงมามวกเหล็กแวะมาหาหน่อยนะ จะขอถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก
     เอาเหอะ มาตอบคำถามของแควนท่านนี้ดีกว่า
     1. ถามว่าหมอบอกว่ายาลดไขมัน (lipitor) ลดความดัน (diovan และ caraten) และยาต้านเกล็ดเลือด (aspirin) เมื่อกินแล้วต้องกินตลอดชีวิตจริงไหม ตอบว่า “ไม่จริงหรอกครับ” เพราะไม่มีกฎหมายบังคับไว้ หิ หิ ขอโทษ นอกเรื่อง ถึงมองในแง่สัจจธรรม ความข้อที่แพทย์ของคุณว่ามานั้นมันก็ไม่ใช่สัจจธรรม เพราะไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับเชื่อถือได้ชิ้นไหนแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่ายาสามกลุ่มนี้กินแล้วต้องกินตลอดชีวิต ถ้าจะมองจากหลักวิชาแพทย์ หลักมีอยู่ว่ายาทุกตัวมีประโยชน์และโทษ เราเอาประโยชน์มากำหนดเป็นข้อบ่งชี้ในการใช้ (indication) เอาโทษมากำหนดเป็นข้อพึงระวังและข้อห้ามใช้ (contraindication) ตราบใดที่ประโยชน์ยังมีมากกว่าโทษตราบนั้นเราก็ยังให้ยาอยู่ แต่เมื่อใดที่โทษกับประโยชน์สูสีกันหรือโทษมีมากกว่าประโยชน์ เราก็หยุดยาทันที เนี่ย หลักวิชาแพทย์มีแค่เนี้ยะ 
     ทีนี้ผมจะจาระไนให้คุณฟังเป็นรายตัวนะ
     1.1 ยาลดไขมัน ชื่อมันก็บอกว่าเขาให้เพื่อลดไขมันในเลือด อันว่าไขมันในเลือดนั้นมันสูงขึ้นเพราะอาหารที่กินเข้าไปมีปริมาณพลังงานมากเกินกว่าการเผาผลาญที่ร่างกายใช้ พูดง่ายๆว่าเหตุของไขมันในเลือดสูงเพราะอาหาร สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุก็ต้องแก้กันที่เหตุ ซึงตัวคุณก็ได้ปรับอาหารจนไขมันในเลือดลงมาต่ำขนาดนี้แล้ว แล้วคุณจะกินยาลดไขมันไปอีกทำพรื้อละครับ
     ถ้ามองในแง่ประโยชน์และโทษของยาลดไขมัน คนมีความเสี่ยงระดับปานกลางอย่างคุณนี้ หลักฐานวิจัยที่ทำโดยบริษัทยาเองบอกว่าประโยชน์ต่อหัวใจของยานี้ (absolute risk reduction -ARR) คือมันลดความเสี่ยงทางหัวใจของคุณลงได้ประมาณ 1% หรือผมอาจจะพูดให้คุณเข้าใจง่ายขึ้นโดยพูดในคอนเซ็พท์ของจำนวนคนที่ต้องกินยาเพื่อให้ได้ประโยชน์หนึ่งคน (number need to treat – NTT) ว่าเท่ากับ 104 หมายความว่าต้องให้คนแบบคุณนี้ 104 คนกินยาไปห้าปี ก็จะมีคนได้ประโยชน์หนึ่งคน คนที่เหลืออีก 103 คนกินยาฟรีไปไม่ได้ประโยชน์อะไร
     ถ้าจะมองในแง่การป้องกันอัมพาต ต้องให้คน 154 คน กินยาลดไขมันนี้ไปห้าปี จึงจะได้ประโยชน์หนึ่งคน
     ในอีกด้านหนึ่ง พูดถึงประโยชน์ไม่พูดถึงโทษก็กระไร กรณีที่อยากจะหาเรื่องให้คนดีๆได้เป็นเบาหวานกับเขาบ้าง (เพราะฤทธิ์ข้างเคียงของยา statin) ต้องให้คนดีๆกินยาไป 100 คน ก็จะได้เป็นเบาหวานหนึ่งคน
     กรณีที่อยากหาเรื่องให้คนดีๆได้ผลข้างเคียงของยาเช่นปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสลายตัว ต้องกินยาไป 10 คน ก็จะได้รับผลข้างเคียงของยาหนึ่งคน
    
     ทั้งหมดที่ว่ามานั้นเป็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่คนไขมันในเลือดสูงนะครับ คนที่ปรับอาหารจนไขมันในเลือดต่ำแล้วอย่างคุณนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาเลย
     1.2 ยาลดความดัน ก็อีกหงะ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเขาให้คนความดันสูงกิน นิยามทางการแพทย์ถือว่าสูงเมื่อความดันตัวบน 140 มิลขึ้นไป ของคุณได้ปรับอาหารและออกกำลังกายจนวัดความดันได้ 105 มิล ถ้ายังทะลึ่งกินยาลดความดันอยู่อีกเดี๋ยวได้ขี่จักรยานแล้วหัวทิ่มถนนนะจะบอกให้ 
     1.3 ยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาแอสไพริน เขาให้กินเพื่อป้องกันหัวใจวายหรืออัมพาตจากการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด ซึ่งมีสองแบบคือกินในคนที่ยังไม่มีอาการป่วยของโรคหรือป้องกันปฐมภูมิ (primary prevention) กับกินในคนที่มีอาการป่วยเป็นโรคชัดแล้ว (secondary prevention) ในกรณีของคุณนี้ต้องคิดประโยชน์ของยาแบบป้องก้นปฐมภูมิเพราะโรคลิ้นหัวใจรั่วนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับยาแอสไพริน ส่วนโรคหลอดเลือดนั้นคุณยังไม่ได้มีอาการป่วยเป็นโรคถึงขั้นต้องรักษาเลย แต่หมอเขาถือว่าไหนๆผ่าเข้าไปแล้วจึงบายพาสแถมให้ กลุ่มคนที่ยังไม่มีอาการของโรคหลอดเลือดแบบนี้ประโยชน์ของยาแอสไพรินคือมันจะลดความเสี่ยงตาย (ARR) ได้เพียง 0.3% เท่านั้นเอง มีเลขศูนย์นำหน้าจุดทศนิยมด้วยนะ ถ้ายานี้ไม่ก่อปัญหาอะไรให้คุณเลย หมายความว่ากินแล้วไม่แสบท้อง เลือดไม่ออก ประโยชน์อันจิ๊บจ๊อยนี้หมอคนอื่นๆอาจกล้อมแกล้มพูดได้ว่าคุ้มกับความเสี่ยง อันนี้ก็แล้วแต่ดุลพินิจของหมอแต่ละคนครับ แต่ผมแนะนำให้คุณคิดเองว่าประโยชน์ 0.3% นี้มันเรียกว่ามากหรือน้อย ทั้งนี้คุณอย่าไปสับสนเวลาบริษัทยาเขาพูดว่าแอสไพรินลดความเสี่ยงในการป้องกันปฐมภูมิใด้ 12% นะครับ เพราะนั่นเขาพูดถึงการลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk reduction – RRR) ซึ่งเป็นค่าการลดความเสี่ยงที่คิดขึ้นมาเพื่อให้ขายยาได้ง่ายขึ้น คุณอย่าไปไขว้เขว ให้ยึดค่าความเสี่ยงสมบูรณ์ (ARR) ซึ่งตรงไปตรงมาดีกว่า แต่ถ้าคุณอยากรู้รายละเอียดว่า ARR กับ RRR ต่างกันอย่างไรลองหาอ่านบทความในบล็อกเก่าๆที่ผมเคยเขียนถึงเรื่องพวกนี้ไปแล้วสองสามครั้ง 
     อนึ่งข้อมูลประโยชน์ของอันจิ๊บจ๊อยของยาแอสไพรินนี้เป็นข้อมูลที่ได้จากการวิจัยในคนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์กินเนื้อ หมายความว่าคนกินเนื้อสัตว์เป็นล่ำเป็นสัน กินพืชน้อย สำหรับคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลยกินแต่พืชอย่างคุณนั้น ข้อมูลไม่มีเลย ซึ่งผมเดาเอาว่าถ้าทำวิจัยกันจริงก็คงจะพบว่ายานี้ไม่มีประโยชน์เลย เพราะตัวโมเลกุลออกฤทธิ์ตัวเดียวโดดๆในยาแอสไพรินที่ชื่อซาลิไซเลท (salicylate) นั้นเป็นสารที่พบมากอยู่แล้วในพืชอาหารทั่วไปเช่นผลไม้เกือบทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกพรุน แอปเปิล เบอรี่ต่างๆรวมทั้งลูกหม่อน ซอสมะเขือเทศ สมุนไพรและเครื่องเทศทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขมิ้นเหลือง (cumin) ในผงกะหรี่นั้นมีซาลิไซเลทมากกว่าในยาเม็ดแอสไพรินเสียอีก หากกินอาหารเหล่านี้เป็นประจำการจะกินหรือไม่กินยาแอสไพรินเพิ่มก็ไม่มีความหมายอะไร  
      2. ถามว่าหากอยากเลิกยาทั้งหมดเสียจะเลิกได้ไหม ตอบว่าเลิกได้สิครับ ไม่ผิดกฎหมายนี่ ไม่มีใครจับคุณเข้าคุกดอก และผมแนะนำให้เลิกเสียให้หมดทันที..ปึ๊ด แล้วติดตามดูตัวชี้วัดไปห่างปีละครั้งสองครั้ง ตัวชี้วัดที่ต้องตามดูแน่ๆสองตัวก็คือความดัน และไขมันในเลือด 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Ray KK, Seshasai SR, Erqou S, Sever P, Jukema JW, Ford I, Sattar N. Statins

and all-cause mortality in high-risk primary prevention: a meta-analysis of 11 randomized controlled trials involving 65,229 participants. Arch Intern Med. 2010 Jun 28;170(12):1024-31. Review. PubMed PMID: 20585067.

2. Thavendiranathan P. Primary prevention of cardiovascular disease with statin therapy. Arch Int Med. 2006; 166: 2307-13. CTT Collaborators. Efficacy and safety of cholesterol-lowering treatment: prospective meta-analysis of data from 90 056 participants in 14 randomised trials of statins. Lancet. 2005; 366: 1267-1278.

4. Brugts JJ, Yetgin T, Hoeks SE, Gotto AM, Shepherd J, Westendorp RG, de Craen
AJ, Knopp RH, Nakamura H, Ridker P, van Domburg R, Deckers JW. The benefits of statins in people without established cardiovascular disease but with cardiovascular risk factors: meta-analysis of randomised controlled trials. BMJ. 2009 Jun 30;338:b2376. doi: 10.1136/bmj.b2376. Review. PubMed PMID: 19567909; PubMed Central PMCID: PMC2714690.

5. Mills EJ, Rachlis B, Wu P, Devereaux PJ, Arora P, Perri D. Primary prevention
of cardiovascular mortality and events with statin treatments: a network meta-analysis involving more than 65,000 patients. J Am Coll Cardiol. 2008 Nov 25;52(22):1769-81. PubMed PMID: 19022156.

7. Taylor F, Ward K, Moore TH, Burke M, Davey Smith G, Casas JP, Ebrahim S.
Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2011 Jan 19;(1):CD004816. Review. PubMed PMID: 21249663.

8. Sattar N, Preiss D, Murray HM, Welsh P, Buckley BM, de Craen AJ, Seshasai SR,
McMurray JJ, Freeman DJ, Jukema JW, Macfarlane PW, Packard CJ, Stott DJ, Westendorp RG, Shepherd J, Davis BR, Pressel SL, Marchioli R, Marfisi RM, Maggioni AP, Tavazzi L, Tognoni G, Kjekshus J, Pedersen TR, Cook TJ, Gotto AM, Clearfield MB, Downs JR, Nakamura H, Ohashi Y, Mizuno K, Ray KK, Ford I. Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials. Lancet. 2010 Feb 27;375(9716):735-42. Epub 2010 Feb 16. PubMed PMID: 20167359.

9. Taylor F, Huffman MD, Macedo AF, et al. Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2013 Jan 31;1:CD004816.


10. Manling Xie,  Zhilei Shan, Yan Zhang, Sijing Chen, Wei Yang, Wei Bao, Ying Rong, Xuefeng Yu, Frank B. Hu, and Liegang Liu. Aspirin for Primary Prevention of Cardiovascular Events: Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials and Subgroup Analysis by Sex and Diabetes Status. PLoS One. 2014; 9(10): e90286. Published online 2014 Oct 31.  doi:  10.1371/journal.pone.0090286

11. Swain AR et al. Salicylates in foods. Research 1985;85(8): 950-960.