Latest

ทำไงจึงจะได้วิตามินบี.12 โดยไม่กินเนื้อสัตว์และไม่กินวิตามินด้วย

คุณหมอสันต์คะ

ฟังคุณหมอพูดรายการของสันติอโศกเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบี.12 ในคนทานอาหารมังสะวิรัติ คุณหมอแนะนำให้ทานวิตามินบี.12 เสริม แต่คุณหมอคะ พวกเรามีความเชื่อหนักแน่นว่าอาหารพืชตามธรรมชาติจะทำให้เรามีสุขภาพปกติอยู่ได้โดยไม่ต้องทานวิตามินเสริม คำแนะนำของคุณหมอมันทำให้เราหงุดหงิดพอสมควร ดังนั้นมันมีความเป็นไปได้ไหมคะ เราจะต้องทานอะไร อย่างไร โดยไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่ได้รับวิตามินบี.12 เพียงพอโดยไม่ต้องทานวิตามินบี.12 เสริมด้วย

………………………………………….

ตอบครับ

     แหม แค่กินวิตามินบี.12 เสริมอาทิตย์ละเม็ดสองเม็ด ทำไมจะต้องรังเกียจรังงอนด้วยละครับ อย่างนี้เพื่อนผมที่ทำวิตามินขายก็แย่สิ แหะ แหะ พูดเล่น

     แต่เอาเถอะ คนเราบางครั้งก็มีอุดมคติ บ้างก็ปักธงว่าเนื้อสัตว์ไม่กินเด็ดขาดเพราะรักสัตว์เหลือเกิน บ้างปักธงว่าต้องของธรรมชาติเท่านั้น ของสังเคราะห์ วิตามง วิตามิน เป็นเม็ด เป็นแคปซูล ไม่เอาทั้งนั้นเพราะไม่ใช่ของธรรมชาติ ฮี่ ฮี่ ผมไม่ค่อนแคะนักอุดมคติหรอกนะ เพราะสมัยหนุ่มๆผมก็เคยลองเป็นนักอุดมคติในทางการเมืองกับเขาเหมือนกัน แต่เป็นอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิกไปเพราะความกลัวตาย..สารภาพ

     ถามว่ามันมีวิธีไหมที่คนเราจะกินแต่พืชล้วนๆแล้วไม่ขาดวิตามินบี.12 ชัวร์ๆ ตอบว่ามันคงจะมีวิธี แต่วงการแพทย์ยังไม่รู้เท่านั้นเอง

     ทำไมผมจึงว่ามันคงจะมีวิธี ผมดูจากหลักฐานสองอย่างดังนี้

     หลักฐานที่ 1. คือหลักฐานเชิงระบาดวิทยา ว่าประเทศอินเดียมีคนเป็นพัน (พันล้านนะครับ ไม่ใช่พันคน) แล้วในจำนวนนี้ราว 70% เป็นมังสะวิรัติ บ้างมังเข้ม บ้างมังจืด แต่ก็มังละกันน่า แล้วทำไมอุบัติการณ์ของโรคขาดวิตามินบี.12 ในอินเดียจึงไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโต (megaloblastic anemia) โรคหัวใจขาดเลือด และโรคของระบบประสาทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมอย่างหนึ่งของคนที่ขาดวิตามินบี.12 นั้น อินเดียแทบจะเป็นประเทศที่มีคนเป็นอัลไซเมอร์น้อยที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป ดังนั้นเขาจะต้องได้วิตามินบี.12 มาจากทางไหนสักแห่ง เพียงแต่ว่าวงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าเขาได้มาจากไหนเท่านั้นเอง

     หลักฐานที่ 2. เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยเค้นท์ ประเทศอังกฤษ ได้สมคบกับเด็กนักเรียนชั้นเกรด 11 และ 12 ของโรงเรียนเซอร์โรเจอร์แมนวู้ด ทำวิจัยที่ดีมากชิ้นหนึ่ง โดยให้นักเรียนปลูกผักเครส (garden cress) ลงบนดินที่ใส่ปุ่ยวิตามินบี.12 ในความเข้มข้นที่แน่นอน หลังจากนั้นเจ็ดวันก็เก็บใบต้นอ่อนเครสมาล้างและวิเคราะห์ระดับวิตามินบี.12 พบว่ามีวิตามินบี.12 สะสมอยู่ในใบของผักเครสในสัดส่วนที่แปรผันตามความเข้มข้นของปุ๋ยวิตามินบี12 ที่ใส่ลงไปในดินที่ใช้เลี้ยงผักนั้น 

     แล้วทีมวิจัยของเค้นท์ก็ทำการทดลองอีกชิ้นหนึ่งยืนยันด้วยวิธีเอาโมเลกุลวิตามินบี.12 มาติดสารกัมมันตรังสีที่เปล่งแสงได้เมื่อถูกลำแสงเลเซอร์ แล้วเอาวิตามิน.บี12นี้ไปทำปุ๋ยปลูกผักเครส แล้วตัดใบผักเครสมาตรวจก็พบว่าวิตามินบี.12 ที่เปล่งแสงได้นี้ถูกดูดขึ้นไปเก็บไว้ในใบของผักเครส

     งานวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าพืชบางชนิด (เช่นผักเครส) สามารถดูดวิตามินบี.12 จากปุ๋ยที่มีวิตามินบี.12ขึ้นไปเก็บไว้ที่ใบของมันได้ นั่นหมายความว่าหากเอาผักที่คนกินมาวิจัยดูว่าผักชนิดไหนดูดปุ๋ยวิตามินบี.12 ขึั้นไปเก็นบนใบได้ ชุมชนมังสะวิรัติใดๆในโลกนี้ก็จะสามารถทำฟาร์มปลูกผักเหล่านั้นโดยใส่ปุ๋ยวิตามินบี.12 ก็จะได้ผักที่มีวิตามินบี.12 มาบริโภคโดยไม่ต้องกินวิตามินบี.12 เสริมนอกเหนือไปจากอาหารที่กินในมื้อตามปกติ

     รออยู่แต่ว่าจะมีใครยอมเหนื่อยทำวิจัยต่อจากเด็กนักเรียนอังกฤษเหล่านั้นบ้างนะซิครับ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าผักชนิดไหนบ้างที่ดูดวิตามินบี.12 ไปเก็บที่ใบของมันได้ ถ้ารู้ตรงนี้แล้วสันติอโศกก็ทำฟาร์มปลูกผักอุดมวิตามินบี.12 ขายได้เลยถูกแมะ ผมสั่งเผื่อไว้เลย เมื่อไหร่คุณมีของขายแล้วบอกผมหน่อยนะ หมอสันต์จะเป็นลูกค้าขาประจำคนแรก เพราะทุกวันนี้ถึงจะได้วิตามินฟรีเพราะเพื่อนเขาให้ แต่มันก็เบื่อที่ต้องมาคอยกิน โถ สมัยเด็กๆหมอสันต์ตัวผอมกระแด๋งแม่จึงคอยบังคับให้กินยาหมูตุ้ย เอ๊ย..ไม่ใช่ ยาวิตามิน ตอนนี้ตัวเองแก่แล้วก็ยังต้องมาคอยบังคับให้ตัวเองกินยาวิตามินอีก มันน่าเบื่อไหมละคะท่านสารวัตร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Andrew D. Lawrence, Emi Nemoto-Smith, Evelyne Deery, Joseph A. Baker, Susanne Schroeder, David G. Brown, Jennifer M.A. Tullet, Mark J. Howard, Ian R. Brown, Alison G. Smith, Helena I. Boshoff, Clifton E. Barry, Martin J. Warren. Construction of Fluorescent Analogs to Follow the Uptake and Distribution of Cobalamin (Vitamin B 12 ) in Bacteria, Worms, and Plants. Cell Chemical Biology, 2018; DOI: 10.1016/j.chembiol.2018.04.012