Latest

จะเกษียณ ต้องตัดสินใจเรื่องต่อประกันสังคม หรือใช้บัตรทอง หรือเอาบำนาญมาซื้อประกันเอกชน

(ภาพวันนี้ / ชีวิตวัยชรา ตีโครเก้ แล้วอยู่กับ ม้า นก เป็ด กวาง)

เรียน อาจารย์สันต์ ที่เคารพ

หนูได้อ่านข้อความที่อาจารย์สรุปเรื่องประกันสังคมกับบัตรทอง ซึงควรใช้บัตรทองดีกว่า

เรียนปรึกษาค่ะ ถ้ามีประกันสังคมที่โรงพยาบาลที่ดีมากอยู่แล้วเช่น …. ก็ยังควรเลือกใช้สิทธิ์บัตรทองดีกว่าใช่ไหมคะ หนูมีข้อสงสัยนิดเพื่อเรียนถาม ถ้าประกันสังคมล่ม คนที่อยู่ในประกันสังคมจะทำอย่างไรต่อคะ ระบบประกันสุขภาพมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นมากๆ ทางรัฐบาลใช้งบประมาณนี้จากส่วนไหนคะ ถ้าเราต่อประกันสังคมโดยใช้สิทธิ์ที่ … ควรซื้อประกันสุขภาพเพิ่มหรือไม่คะ ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่อง การรักษาและยาที่ได้จะเท่าเทียมโรงพยาบาบเอกขนหรือ เราสามารถขอยาที่คุณภาพดีโดยจ่ายเพิ่มได้ไหมคะ ถ้าเราเลือกรับบำนาญประกันสังคม  แล้วไปซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว แล้วใช้สิทธิ์บัตรทอง เราก็สามารถมาหาหมอที่โรงพยาบาล … ได้อยู่ตามกระบวนการแต่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง คุณหมอจะดูแลเราต่างไปจากคนไข้อื่นไหมคะ และจะเป็นหมอประจำบ้านหรืออาจารย์หมอคะ ยังไม่ตกผลึกเลยค่ะ ตอนนี้ทุกข์เพราะตัดสินใจไม่ได้ค่ะ 

กราบขอบพระคุณในความเมตตาของท่านอาจารย์ค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าถ้าถือบัตรประกันสังคมซึ่งโรงพยาบาลคู่สัญญาเป็นโรงพยาบาลที่ดีถูกอกถูกใจอยู่แล้ว เมื่อเกษียณจากงานแล้วควรจ่ายเบี้ยต่อเดือนละ 423 บาทเพื่อเป็นผู้ประกันตนเอง (ม 39) หรือควรรับบำนาญประกันสังคม (ม 33) แล้วมาใช้สิทธิบัตรทองดีกว่า ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญเรื่องอะไรมากกว่ากัน กล่าวคือ

1.1 ถ้าคุณติดอกติดใจโรงพยาบาลดีที่คุณใช้อยู่มาก ส่วนเรื่องเงินบำนาญไม่สำคัญเพราะคุณมีเงินใช้แยะเหลือเฟือแล้ว การต่อสิทธิประกันสังคม (ม 39) ก็ดีตรงที่ได้อยู่กับโรงพยาบาลเดิม เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าการจะเข้าเป็นคู่สัญญากับโรงพยาบาลที่ดีนั้นเข้ายาก ยิ่งถือบัตรทองยิ่งเป็นไปไม่ได้เพราะเขาบังคับเข้ารพ.ใกล้ภูมิลำเนา

1.2 ถ้าคุณมองผลประโยชน์ทางตัวเงินบำนาญเป็นลำดับความสำคัญที่ 1 คุณควรรับบำนาญตามมาตรา 33 แล้วไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามบัตรทองจะดีที่สุด เพราะการต่อสิทธิประกันสังคมผ่านมาตรา 39 คุณจะเสียสิทธิประโยชน์ในการรับบำนาญไปแยะมาก เนื่องจากวิธีการคำนวณบำนาญของ ม 39 คือถือว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคุณคือ 4800 บาท เวลาคำนวณบำนาญเขาคิดจากเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ทำให้บำนาญที่จะได้เมื่อย้ายมาอยู่ ม 39 หดลงเหลือนิด..ด เดียว เทียบกับเมื่อคุณเกษียณเอาบำนาญตามมาตรา 33 ซึ่งเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายของคนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้นหากต่อกับม.39 ไปนานเกิน 60 เดือน บำนาญจะลดลงไปราวสามเท่า

ตรงนี้เป็นความสายตาสั้นของคนเขียนกฎหมายนี้ในตอนแรกที่ตั้งเจตนาจะช่วยคนตกงานระยะสั้นอย่างเดียว แต่ลืมนึกถึงว่าสังคมจะมีคนสูงอายุมากขึ้นและอยากจะอยู่กับระบบไปนานๆหลังเกษียณ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะให้ประโยชน์กับระบบ เพราะยิ่งเขาขออยู่ต่อแบบ ม. 39 ไปนาน ระบบยิ่งไม่ต้องจ่ายบำนาญให้เขา เพราะเขาตายเสียก่อน (หิ..หิ)

คุณเขียนมาเรื่องนี้ก็ดีแล้ว ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้กราบเรียนเสนอแนะให้ท่านสส.และสว.ผู้ทรงเกียรติช่วยแก้มาตรา 39 ของกฎหมายประกันสังคมอย่างเป็นทางการเสียเลย กฎหมายเขียนผิดไปได้ก็แก้ได้ไม่เห็นจะเป็นไร ประเด็นแก้ก็คือวิธีคำนวนบำนาญ ม. 39 ควรมีอีกวิธีหนึ่ง คือเปิดให้ผู้ประกันตนเอาเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายขณะอยู่ ม.33 มาคำนวนบำนาญแทนค่าคงที่ 4800 บาทได้ ทำอย่างนี้ก็จะได้ใจจากผู้ใช้แรงงานและคนทำงานบริษัทที่ใกล้เกษียณซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เงินบำนาญที่จะจ่ายให้เขาก็เป็นสิทธิพึงได้ของเขาแต่เดิมนั่นแหละ แถมจะช่วยให้ระบบต้องจ่ายเงินน้อยลงเพราะยิ่งเขาขออยู่ ม.39 ไปนานเขายิ่งแก่ตัวลงก็ยิ่งมีเวลารับนำนาญน้อยลง

2.. ถามว่า ถ้าประกันสังคมล่ม คนที่อยู่ในประกันสังคมจะทำอย่างไรต่อคะ ตอบว่าก็โละไปอยู่กับบัตรทองสิครับ ตอนนี้ประกันสังคมบางประเภทเช่นมาตรา 40 ก็ถูกระบุให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิสวัสดิการสุขภาพกับบัตรทองเรียบร้อยแล้ว

3.. ถามว่าระบบประกันสุขภาพมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นมากๆ รัฐบาลใช้งบประมาณนี้จากส่วนไหนคะ ตอบว่าก็เอามาจากภาษีของคุณนั่นแหละ หมอสันต์เคยเขียนจดหมายบอกนายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่งว่าให้เก็บเบี้ยบัตรทอง แต่ท่านไม่เอาด้วย

4..ถามว่าถ้าระบบบัตรทองล่มแล้วจะทำยังไงกันต่อ ตอบว่า..ก็ตัวใครตัวมันสิครับ

5.. ถามว่าถ้าต่อประกันสังคมโดยใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลเดิม ควรซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพิ่มหรือไม่คะ ตอบว่าถ้าจะเอาความสะดวกก็ควรเพราะทำให้เลือกรพ.ได้มากกว่า แต่ถ้าจะเอาคุณภาพการรักษาก็ไม่จำเป็นครับ เพราะสินไหมประกันสุขภาพเอกชนยังไงก็จ่ายในวงเงินจำกัดและจ่ายน้อยกว่าประกันสังคมหรือบัตรทองซึ่งจ่ายแบบไม่มีจำกัดอย่างเทียบกันไม่ได้

6.. ถามว่าเมื่อใช้บัตรประกันสังคมหรือบัตรทอง การรักษาและยาที่ได้จะเท่าเทียมโรงพยาบาลเอกชนหรือ ตอบว่าคุณภาพการรักษาเท่ากันแน่ แต่ความสะดวกสบายเช่นความแน่นของผู้คนและความหรูหราของหับที่หลับที่นอน ความโอภาปราศัยจ๊ะจ๋าของเจ้าหน้าที่ อาจไม่เท่ากันครับ

7.. ถามว่าเมื่อใช้บัตรประกันสังคมหรือบัตรทอง เราสามารถขอยาที่คุณภาพดีโดยจ่ายเพิ่มได้ไหมคะ ตอบว่าทุกวันนี้ฝ่ายโรงพยาบาลหรือแม้แต่ตัวแพทย์เองก็มักชอบขายยา “นอกบัญชี” ให้ผู้ป่วยจ่ายเงินซื้อเองอยู่แล้วเพราะมันเป็นรายได้เสริมของเขาทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ยานอกบัญชีหมายถึงยาที่หลักฐานวิทยาศาสตร์ยังไม่ชี้ชัดว่าคุณภาพดีกว่ายา “ในบัญชี” หรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นยาใหม่ที่อยู่ในระหว่างการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเคมีบำบัด

เรื่องยานี้ผมบอกให้คุณมั่นใจได้ 100% ว่ายาในบัญชี (ซึ่งเหมือนกันทั้งสามระบบคือบัตรทอง ปกส. และข้าราชการ) มียาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคทุกชนิดทั้งหนักและเบาครบถ้วน ความเห็นส่วนตัวของผมยังจะเห็นว่ามีมากเกินความจำเป็นไปมากแล้วด้วยซ้ำไป

8.. ถามว่าถือบัตรประกันสังคม ถือบัตรทอง ถือบัตรประกันสุขภาพเอกชน หมอจะดูแลต่างกันไหมอย่างไร ตอบว่า เป็นความจริงที่ว่าแพทย์คนเดียวกันดูแลผู้ป่วยแต่ละคนด้วยระดับความสนใจหรือการให้เวลาต่างกัน มีปัจจัยที่กำหนดตรงนี้หลายปัจจัยมาก เช่น มู้ดของแพทย์ในวันนั้น (เช่นอาจหงุดหงิดมาจากบ้าน) บรรยากาศของสถานที่ตรวจ (ยิ่งแน่นยิ่งหงุดหงิด) การได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินตรงจากผู้ป่วย การมีความรู้ความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาให้คนไข้รายนั้นหรือไม่ (ถ้าความรู้น้อยช่วยเขาไม่ได้ก็หงุดหงิด) เป็นต้น การถือบัตรอะไรมันมีความหมายเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนที่รับรักษาผู้ป่วยหลายสิทธิ์ (เช่นรับทั้งผู้ป่วยบัตรทอง บัตรประกันสังคม และผู้ป่วยจ่ายเงินเอง) เพราะแต่ละบัตรก็จะถูกส่งไปรับการตรวจในบรรยากาศที่ความแน่นต่างกัน ส่วนในโรงพยาบาลของรัฐนั้นถือบัตรอะไรก็ไม่ต่างกันหรอกครับเพราะมัน “แน่น” แบบรูดมหาราชตลอดกาล

9. ถามว่าหากเลือกรับบำนาญประกันสังคม  แล้วไปซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว แล้วใช้สิทธิ์บัตรทอง เราก็สามารถมาหาหมอที่โรงพยาบาล … ได้อยู่ใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ ในฐานะผู้ป่วยจ่ายเงินเอง ถ้ามีอะไรหนักหนาก็ขอย้ายเข้ารพ.บัตรทองของตัวเอง แต่ในการซื้อประกันสุขภาพให้พึงระวังนิดหนึ่งนะ เมืองไทยนี้เขาชอบขายประกันชีวิตแถมประกันสุขภาพ ซึ่งจ่ายเบี้ยแยะแต่ให้สิทธิประโยชน์เรื่องสุขภาพนิดเดียว ส่วนใหญ่ไม่ให้สิทธิ์การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ต้องหนักหนาถึงแอดมิทนอนรพ.จึงจะเบิกสินไหมได้ ซึ่งหนักขนาดนั้นวงเงินก็เกินกรมธรรม์อีก ต้องย้ายเข้ารพ.บัตรทองอยู่ดี ดังนั้นหากจะประกันสุขภาพเอกชนเพื่อเอาความสะดวก ควรเลือกกรมธรรม์ที่มีวงเงินจ่ายค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วย ซึ่งมักจะเป็นกรมธรรม์ที่เบี้ยแพง แพงกว่าเบี้ยของม.39 เป็นสิบๆเท่าขึ้นไป

10.. ถามว่ากรณีไหนอาจารย์แพทย์จะดูแลผู้ป่วยเอง กรณีไหนจะให้แพทย์ประจำบ้านหรือแพทย์ฝึกหัดดู ตอบว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับชนิดของบัตรสวัสดิการที่ถือ ผู้ป่วยทุกคนมีอาจารย์แพทย์เป็นเจ้าของเหมือนกันหมด อาจารย์ทุกคนต้องเวียนกันไปนั่งตรวจผู้ป่วยนอกโดยไม่เลือกคนไข้ว่าเป็นหน้าอินทร์หรือหน้าพรหม แต่ว่าผู้ป่วยบางคนอาจไปไม่ถึงมืออาจารย์เพราะคิวของอาจารย์เต็มแล้ว หรือไม่ก็เพราะแพทย์ประจำบ้านเขาเอาอยู่ ถ้าแพทย์ประจำบ้านเอาไม่อยู่ เขาจะปรึกษาอาจารย์มาดูโดยผู้ป่วยไม่ต้องเรียกหา ยกเว้นกรณีพิเศษต่อไปนี้ซึ่งอาจารย์จะดูเองหมด คือ (1) ผู้ป่วยมีเส้น นับตั้งแต่เส้นรัฐมนตรีลงมาจนถึงเส้นพนักงานเข็นเปล ใช้ได้หมด (2) เป็นคลินิกพิเศษนอกเวลา (3) เป็นผู้ป่วยหนักปางตายหรือผู้ป่วยแปลกประหลาดที่อาจารย์สนใจเป็นพิเศษ

11. ถามว่ายังไม่ตกผลึกเรื่องแผนรักษาพยาบาลเมื่อเกษียณเลย จนเป็นทุกข์เพราะตัดสินใจไม่ได้ ทำไงดี ตอบว่าถ้าจะวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองเมื่อเกษียณ ให้วางแผนป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเองด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย จัดการความเครียด สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ตัว นอนหลับให้พอ แค่นี้พอแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องลงมือทำวันนี้ อย่าไปกังวลถึงว่าเมื่อป่วยแล้วจะไปโรงพยาบาลไหน นั่นมันยังมาไม่ถึง กังวลล่วงหน้าไปก็ไลฟ์บอย และ…ทุกข์ฟรี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. จดหมายจากท่านผู้อ่าน

ถ้าเกษียนแล้ว แต่ยังอยากรักษาพยาบาลกับสิทธิ ปกส แต่ก็ไม่อยากให้เงินบำนาญปกส หดหาย เพราะถ้าส่ง ม 39 ฐานเงินเดือนจะเหลือแค่ 4800 ให้ทำเรื่องเกษียนก่อน และรับบำนาญไปอย่าเกิน 6 เดือน แล้วค่อยไปขอต่อ ม 39 จำนวนเงินบำนาญของเราต่อเดือนที่ได้รับก้อจะถูกฟรีซเอาไว้ เมื่อไหร่ที่เราหยุดส่ง ม 39 เค้าก้อจะเอาบำนาญที่เราได้รับนี้ มาคำนวนใหม่ แบบนี้เงินจะไม่หดหายค่ะ ถ้ายังงัยลองคุยกับประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคมนะคะ อย่าคุยกับ call center คุยกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องบำนาญโดยตรงเลยค่ะ