Latest

ผอมลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่ไม่อยากผอม

(ภาพวันนี้ / บัวสวรรค์)

คุณหมอสันต์ครับ
ผมอายุ 54 ปี มีปัญหาน้ำหนักลดลงมาอย่างรวดเร็ว จากเดิม 68 กก. เมื่อปีก่อนตอนนี้เหลือ 49 กก. ผมเป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมอ เข้าวิ่งมาราธอนเป็นประจำ ไม่เคยเป็นโรคอะไร ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ได้กินยาอะไร ผลตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่เห็นหมอบอกว่ามีอะไรผิดปกติ แต่ทำไมถึงผอมลงมาก ภรรยาไล่ให้ไปตรวจเพราะเธอกลัวผมเป็นมะเร็ง เธอบอกให้ผมทำ CT ทั้งตัว เพื่อนที่ซี้กันกระซิบถามผมว่ามึงเป็นเอดส์หรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างนั้น

ขอคำแนะนำจากคุณหมอสันต์ครับ

………………………………………………

ตอบครับ

1. ถามว่าการผอมลงอย่างรวดเร็วเป็นโรคหรือเปล่า ตอบว่าเป็นโรคสิครับ ในทางการแพทย์มีชื่อโรคหนึ่งว่า Unintentional weight loss แปลว่าน้ำหนักลดโดยไม่ได้จงใจลด นิยามว่าคือการที่น้ำหนักลดลงมาเองมากกว่าเดิมเกิน 5% ในเวลา 1 ปี ผู้ป่วยโรคนี้เกือบทั้งหมดจะผอมผิดปกติ คือมีดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 18.5 กก./ตรม. ดัชนีมวลการได้จากการเอาน้ำหนักเป็นกก.เป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรสองครั้ง ยกตัวอย่างเช่นคุณมีน้ำหนัก 49 กก. สูง 170 ซม. ก็เอา 49 กก. ตั้งแล้วเอา 1.70 เมตร ไปหาร หารครั้งที่หนึ่งได้ 28.8 ก็เอาค่าที่ได้ 28.8 นี้ตั้ง เอา 1.70 ไปหารอีกเป็นครั้งที่สอง ได้ 16.9 นั่นแหละคือดัชนีมวลกายของคุณ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่าคุณผอมผิดปกติมาก คนที่ผอมผิดปกติถือเป็นดัชนีวัดสุขภาพสำคัญที่ต้องแก้ไข เพราะหากไม่แก้ไขพบว่าจะมีอัตราตายมากกว่าคนปกติอีกหนึ่งเท่าตัว และคนผอมผิดปกติจะมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนน้ำหนักปกติ ในแง่ที่คนผอมผิดปกติมักมีกล้ามเนื้อลีบทำให้ทำกิจกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิตไม่ได้ มักมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ มักตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า

2. ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุให้น้ำหนักลดลงเองอย่างรวดเร็ว ตอบว่าโห..มีสาเหตุเยอะแยะ แป๊ะตราไก่ เท่าที่ผมพอจะนึกออก ผมจะเรียงตามความสำคัญก่อนหลังที่ผมพบบ่อยในชีวิตจริง มีดังนี้

สาเหตุที่ 1. กินอาหารให้พลังงานน้อยเกินไป ไม่พอกับที่ร่างกายต้องเอาพลังงานไปใช้ ร่างกายจึงต้องหันไปใช้ก๊อกสำรองก๊อกแรกคือคาร์โบไฮเดรต (ไกลโคเจน) ที่เก็บไว้ในตับออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน เมื่อไกลโคเจนหมดร่างกายก็ไปใช้ก๊อกสอง คือสลายเอาไขมันที่เก็บไว้ทั่วตัวมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน เมื่อไขมันที่เก็บไว้หมด ร่างกายก็ไปใช้ก๊อกสาม คือสลายเอากล้ามเนื้อที่ใช้งานอยู่ทุกวันมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน ผลสุดท้ายก็คือการผอมแห้งและกล้ามเนื้อลีบ คนที่กินอาหารให้พลังงานน้อยเกินไปนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกกินอาหารสุขภาพเกินขนาด จะกินนั่นก็กินไม่ได้ จะกินนี่ก็กลัวเป็นโรคนี้ จึงกินแต่อาหาร สุขภ้าพ.. สุขภาพ เช่นกินแต่ผักหญ้า ไม่กินของมันๆ ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย เป็นต้น ทำให้ร่างกายขาดแคลอรี

สาเหตุที่ 2. เป็นคนบ้าออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายแบบแอโรบิกซึ่งมีการเคลื่อนไหวใช้พลังงานมาก พวกนักวิ่งมาราธอนนี่แหละตัวดีนักที่มักจะเป็นโรคน้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะวิ่งมาก แต่กินน้อยแบบสุขภ้าพ..พ สุขภาพ ควบคู่ไปด้วย ทำให้ร่างกายต้องไปสลายเอากล้ามเนื้อมาใช้ ทำให้กล้ามเนื้อลีบ กระดูกพรุน และในที่สุดกระดูกหัก นี่เป็นพิมพ์นิยมของพวกนักวิ่งมาราธอนที่เติมแคลอรี่ให้ร่างกายไม่ทัน

สาเหตุที่ 3. เป็นคนขี้เครียด เพราะความเครียดใช้พลังงานของร่างกายแบบล้างผลาญ ฮอร์โมเครียดเช่นคอร์ติซอลจะเพิ่มการเผาผลาญแคลอรีอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ความเครียดเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อซึ่งทวีคูณการใช้แคลอรีขึ้นไปอีก อวัยวะที่ใช้แคลอรีมากที่สุดคือสมอง คือตัวสมองเองหนักแค่ 1.4 กก.หรือประมาณ 2% ของน้ำหนักตัวเป็นอย่างมาก แต่ใช้พลังงานถึง 20% ของที่ร่างกายใช้ ยิ่งเครียดมาก ยิ่งมีความคิดแยะ ยิ่งผอมเร็ว เพราะร่างกายใช้พลังงานแยะจนกินไม่ทัน

สาเหตุที่ 4. เป็นคนที่ไม่ชอบกินหรือไม่ยอมกิน เหตุที่ไม่ยอมกิน สาเหตุยอดนิยมเลยมีสองเหตุ คือโรคซึมเศร้า กับโรคสมองเสื่อม พวกแรกไม่มีอารมณ์กิน พวกหลังลืมไปว่าการจะมีชีวิตอยู่นี้มันต้องกินด้วย

สาเหตุที่ 5. พวกกินไม่ได้หรือย่อยไม่ได้ หมายถึงมีความผิดปกติของระบบการกินการย่อยตั้งแต่ปากถึงทวารหนัก นับตั้งแต่เหงือกไม่ดี ฟันไม่ดี เคี้ยวไม่ได้ กลไกการกลืนเสียไป กรดไหลย้อน มีโรคของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่นลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบจากแพ้อาหาร (เช่นแพ้กลูเต็น) เป็นต้น และรวมไปถึงการมีพยาธิตัวตืดอยู่ในลำไส้ด้วย

สาเหตุที่ 6. เป็นเพราะยาที่กินอยู่แล้วนั่นแหละ คนทุกวันนี้กินยามาก บางคนกินยาวันละกำมือ ทั้งยาที่ออกฤทธิ์ตรงในสมองเช่นยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาโรคจิต ซึ่งทำให้กินอะไรไม่ลงโดยตรง และยารักษาโรคเรื้อรังบางตัวที่หมอให้กินกันแบบไม่มีวันเลิกเช่น ยาลดไขมัน ยาลดความดันบางตัว ก็มีฤทธิ์ให้เบื่ออาหาร รวมไปถึงสารเสพย์ติดเช่นเฮโรอีน กัญชา ก็ทำให้หมดอารมณ์อยากกินอาหารได้

สาเหตุที่ 7. เป็นโรคของต่อมไร้ท่อ ทำให้ดุลยภาพของฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญเสียไป เช่นเป็นเบาหวาน เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น

สาเหตุที่ 8. เป็นโรคเรื้อรัง ที่ใช้ทรัพยากรของร่างกายไปมาก เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคปอดเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคเอดส์ โรคโลหิตจางเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากการเสียเลือดในทางเดินอาหารทีละเล็กทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว เป็นต้น

สาเหตุที่ 9. เป็นมะเร็งซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง ในร่างกาย

สาเหตุที่ 10. คือความแก่ ผมหมายถึงว่า ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์เรานี้เมื่อแก่ตัวแล้วจะเบื่ออาหารและผอมลง (physiologic anorexia of aging) เพราะตัวฮอร์โมนก่อความอิ่ม (satiating hormone) หลายชนิดเพิ่มขึ้นในกระแสเลือด เพียงแต่การผอมด้วยเหตุความแก่นี้ การลดของน้ำหนักจะไม่เป็นไปอย่างฮวบฮาบ คือไม่ถึงขนาดเกิน 5% ต่อปี

3.. ถามว่าจะแก้ไขน้ำหนักลดพรวดพราดนี้ได้อย่างไร ตอบว่าให้ทำเป็นขั้นตอน ดังนี้

3.1 ปรับนิสัยการกินก่อน กินให้ได้แคลอรีพอเพียง กินข้าว กินแป้ง กินคาร์โบไฮเดรต กินไขมันไม่อิ่มตัวเช่นถั่ว นัท อะโวกาโด ให้แยะๆ หรือจะให้ง่ายกว่านั้น ให้ใช้นโยบายกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ต้องกลัวจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ เพราะโรคผอมลงอย่างรวดเร็วที่คุณเป็นอยู่นี้ก็พร้อมที่จะทำให้คุณตายได้แล้ว ไม่ต้องกลัวโรคอื่นมากยิ่งกว่าโรคนี้

3.2 ปรับนิสัยการออกกำลังกาย ลดการออกกำลังกายลงให้พอดีกับอาหารให้พลังงานที่กินได้ เพิ่มการออกกำลังกายแบบเล่นกล้าม ลดการออกกำลังกายแบบแอโรบิกลงให้เหลือแค่หนักพอควรสัปดาห์ละ 150 นาทีก็พอ ขณะรักษาโรคผอม ผมแนะนำให้หยุดวิ่งมาราธอนไปก่อน จนกว่าน้ำหนักขึ้นจึงค่อยกลับไปวิ่งใหม่

3.3 จัดการความเครียด แบ่งเวลาให้มีเวลาพักผ่อนไม่ใช่เอาแต่ทำงานหรือเอาแต่วิ่งมาราธอน ควรจะมีเวลานอกเวลางานที่จะได้ “ใช้ชีวิต” มองดูดอกไม้ต้นไม้ให้จิตใจเบิกบาน ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีเป้าหมายว่าวันนี้ตื่นมาทำอะไร อย่าใช้ชีวิตแบบซังกะตายหรือแบบหนูถีบจักรที่ไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ นอกจากนี้ควรจัดเวลานอนหลับให้พอด้วย ถ้านอนไม่หลับก็ต้องนั่งสมาธิก่อนนอนจนความคิดหมดแล้วค่อยเข้านอน

3.4 เลิกยาที่หมอให้กิน ตัวที่ไม่จำเป็น เลิกเสียให้หมด รวมทั้งยาลดไขมัน ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ถ้ากินอยู่ให้เลิกให้หมด

3.5 ทำทั้งสี่อย่างข้างต้นเองแล้วรอดูผลไปสักสามเดือน หากน้ำหนักยังลดไม่เลิก ก็ต้องเข้าตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลเพื่อคัดกรองหาสาเหตุอื่นๆที่อาจจะซ่อนอยู่ เริ่มจากการตรวจพื้นฐานเช่นตรวจร่างกายโดยแพทย์ ตรวจเลือดนับเม็ดเลือดดูภาวะโลหิตจาง ตรวจเคมีของเลือด (blood chemistry) อย่างละเอียดซึ่งอย่างน้อยต้องรวมถึง (1) น้ำตาลในเลือด (ดูเบาหวาน) (2) การทำงานของต่อมไทรอยด์ (TSH, FT4) (3) การทำงานของตับ (SGPT, TB, DB, Albumin, Globulin) การทำงานของไต (GFR) สารชี้บ่งการอักเสบ (EST และ hCRP) ตรวจเชื้อ HIV ตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิและเลือดตกค้างในอุจจาระ (stool exam) ในกรณีของคุณนี้ซึ่งอายุห้าสิบกว่าแล้วควรถือโอกาสส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และค้นหาจุดเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่างไปด้วยเสียเลย หากตรวจทั้งหมดนี้แล้วยังไม่พบสาเหตุ ผมเห็นด้วยกับภรรยาของคุณว่าควรตรวจ Total Body CT เพื่อค้นหามะเร็งที่อาจซุกซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกาย

3.6 ถ้าทำสี่อย่างข้างต้นก็แล้ว ตรวจทั้งหมดนี้ก็แล้ว ยังไม่เจออะไรอีก และยังไม่หายผอม ก็ให้กลับบ้านแล้วมีชีวิตอยู่กับความผอมต่อไปโดยยอมรับมันซะ

3.7 การรักษาโรคผอมด้วยยา ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์ที่ถูกต้อง ไม่มียาที่อย.อนุมัติให้รักษาโรคผอมเลยสักตัวเดียว แต่แพทย์ชอบเอายาอื่นมาใช้รักษาโรคผอมแบบ off label (แบบแอบใช้ใต้โต๊ะ) ซึ่งเป็นการประกอบวิชาชีพอย่างผิดวิธี หมอสันต์ไม่เห็นด้วยเลย เช่นให้กินยาต้านซึมเศร้าชื่อ   Mirtazapine (Remeron) เพื่อให้เกิดความอยากอาหาร เป็นต้น หรือให้กินฮอร์โมนเพศเทียมตัวหนึ่งชื่อ megestrol เพื่อให้อยากอาหาร หรือให้กินยาแก้แพ้เช่น cyproheptadine หรือแม้กระทั่งให้ยาที่เมืองนอกเขาห้ามใช้แต่เมืองไทยมีให้ใช้ชื่อ pizotifen (Mosegor) ทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานว่ามียาตัวไหนลดการตายจากโรคผอมได้แม้แต่ตัวเดียว ดังนั้นหมอสันต์ไม่แนะนำให้ใช้ยารักษาโรคผอมใดๆทั้งสิ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์