Latest

สงสัยว่ายาลดการหลั่งกรด (Omeprazol) จะทำให้เป็นสมองเสื่อมได้หรือเปล่า

(ภาพวันนี้ / ใกล้จะได้กินข้าวโพดต้มแล้ว)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมอายุ 65 ปี เป็นวิศวกร เป็นคนรูปร่างผอม ส่วนสูง 170 ซม. นน. 60 กก. เคยตรวจสุขภาพประจำปีแล้วแพทย์พบโรคหลอดเลือดหัวใจแล้วได้ทำบอลลูนไป 1 เส้น (ตอนที่ไปตรวจไม่มีอาการอะไร) และให้กินยา aspirin, clopidogrel, omeprazol, atorvastatin ยาทั้งสี่ตัวนี้ผมกินมาห้าปีแล้ว ขอหมอหยุดหมอก็บอกว่าหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดลิ่มเลือดจะอุดขดลวด ประเด็นที่ผมอยากปรึกษาคุณหมอสันต์คือผมมีอาการขี้หลงขี้ลืมรุนแรงมาก จึงไปหาหมอประสาท ทำการทดสอบแล้วสรุปว่าเป็นสมองเสื่อมแน่นอน แต่ทำ MRI แล้วไม่พบอะไรผิดปกติ หมอบอกว่าเป็นสมองเสื่อมแบบไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์ ผมถามหมอผู้จ่ายยาว่ายาทั้งสี่ตัวนี้ทำให้สมองเสื่อมได้ไหม หมอตอบว่าไม่ได้ แต่ผมไม่วางใจ ผมได้แอบทดลองหยุดยา atorvastatin ไปสามเดือนแล้วอาการขี้ลืมก็ไม่เห็นจะดีขึ้นจึงกลับมากินใหม่ ผมสงสัยมาก ว่ายา omeprazol จะเป็นตัวทำให้สมองเสื่อม แต่ผมไม่กล้าทดลองหยุดยาเพราะหมอบอกว่าผมกินยาต้านเกล็ดเลือดคู่ หากหยุดยานี้แล้วจะมีอันตรายจากเลือดออกในกระเพาะ อยากถามหมอสันต์ว่ายาomeprazol ทำให้สมองเสื่อมได้ไหม และผมควรจะทำอย่างไรดีครับเพราะผมเพิ่งอายุ 65 ปีเอง

…………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ยาลดการหลั่งกรด (PPI) เช่นยา omeprazole จะเกี่ยวดองกับการเป็นสมองเสื่อม ตอบว่าเป็นไปได้ครับ นี่ผมตอบตามงานวิจัยข้างล่างนี้

งานวิจัยนี้ [1] ดูผู้ป่วยที่กินยาและที่ไม่กินยาในกลุ่ม PPI จำนวน 5712 คน ตอนเริ่มต้นไม่มีใครเป็นสมองเสื่อม แล้วตามศึกษาเป็นเวลาเฉลี่ย 5.5 ปี แล้วเอาตัวเลขคนเป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดในระหว่างนี้มาวิเคราะห์ทั้งประเด็นการกินหรือไม่กินยา PPI กินนานหรือกินไม่นาน แล้วแยกเอาปัจจัยกวนที่รู้อยู่แล้วว่าทำให้สมองเสื่อมเช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น แยกออกไปก่อน แล้วเทียบคนที่เหลือเป็นกลุ่มอายุเดียวกันและเพศเดียวกัน พบว่าคนที่กินยาลดการหลั่งกรด (PPI) เป็นเวลานานกว่า 4.4 ปี สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับคนไม่ได้กินยา

ในภาพรวมยานี้ไม่ใช่ยาสำหรับกินนานๆ วงการแพทย์รู้อยู่แล้วว่ายานี้หากกินไปนานจะสัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรังมากขึ้น เป็นอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้น กระดูกพรุนกระดูกหักมากขึ้น ข้อมูลจากงานวิจัยที่ผมยกมาให้ดูนี้เพิ่มผลพลอยเสียของยานี้เข้ามาอีกหนึ่งโรค คือโรคสมองเสื่อม

กลไกที่ยานี้ทำให้เกิดผลพลอยเสียดังกล่าววงการแพทย์ยังไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามันมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น

2.. ถามว่ายาลดไขมัน statin เองทำให้ขี้หลงขี้ลืมได้ไหม ตอบว่าได้ แต่เป็นเรื่องชั่วคราว อาการขี้หลงขี้ลืมจะกลับมาปกติหลังการหยุดยา [7] ในกรณีของคุณนี้คุณได้ทดลองหยุดยาลดไขมันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็น่าจะอนุมานได้ว่ามันไม่เกี่ยวกับยาลดไขมัน

3.. ถามว่าทำอย่างไรจะเลิกยา omeprazole ได้ ตอบว่าต้องเลิกยาต้านการหลั่งกรดไปเสียหนึ่งตัวก่อน ที่คุณหมอของคุณกลัวว่าหยุดยาต้านการหลั่งกรดไปตัวหนึ่งแล้วลิ่มเลือดจะอุดตันขดลวดนั้นเป็นความกลัวที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานวิทยาศาสตร์เลย หลักฐานประโยชน์การควบยาต้านเกล็ดเลือดหลังใส่ขดลวดที่ชัวร์ๆว่าดีแน่คือให้นานแค่สองเดือนแค่นั้น (นี่นับเฉพาะคนไข้หนัก (ACS) ด้วยนะ แต่ต่อมา Guidelines ยอมรับให้ใช้ยาสองตัวควบนานถึง 1 ปี [2] โดยที่หลักฐานยังไม่แน่นแต่ก็ยอมรับกันได้ ส่วนการใช้นานเกิน 1 ปีนั้นยังเป็นประเด็นที่เถียงกันไม่ตกฟาก (controversy) ยังสรุปเป็นหลักฐานไม่ได้เลยสักนิด เพราะงานวิจัยใหญ่สี่งานให้ผลขัดแย้งกันไปข้างละสองงานเลยเจ๊ากันไปพอดี [2-6] พูดแบบบ้านๆก็คือยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้ควบยาไปนานเกินหนึ่งปี แต่วงการหมอหัวใจนี้มีสไตล์อยู่อย่างหนึ่ง คือถ้ามี controversy ว่าจะให้ยาดี หรือจะไม่ให้ยาดี ข้าพเจ้าขอเลือกข้างให้ยาแยะไว้ก่อน นี่..มันเป็นยังงี้ซะด้วยนะท่านสารวัตร

4.. กล่าวโดยสรุป สิ่งที่คุณพึงทำคือเจรจากับหมอโรคหัวใจขอลดยาต้านเกล็ดเลือดเหลือตัวเดียว แล้วหยุดยา omeprazole ไปซะ ส่วนยาลดไขมันนั้นหากคุณสามารถเปลี่ยนอาหารไปกินพืชเป็นหลักและเลิกใช้น้ำมันผัดทอดอาหารได้ก็จะดี เพราะงานวิจ้ย [8] พบว่ายิ่งกินมังเข้ม LDL จะยิ่งต่ำ จะเอาต่ำกว่า 70 ก็ยังได้ ถึงตอนนั้นคุณเลิกยาลดไขมันไปเสียเลยก็จะดี เพราะขี้ลืมชั่วคราว หรือขี้ลืมถาวร จะต่างกันตรงไหนหากคุณกินยาอยู่แบบไม่ยอมเลิก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Carin Northuis, Elizabeth Bell, Pamela Lutsey, Kristen M George, Rebecca F. Gottesman, Tom H. Mosley, Eric A Whitsel, Kamakshi Lakshminarayan. Cumulative Use of Proton Pump Inhibitors and Risk of Dementia: The Atherosclerosis Risk in Communities StudyNeurology, 2023; 10.1212/WNL.0000000000207747 DOI: 10.1212/WNL.0000000000207747
  2. Levine GN, Bates ER, Bittl JA, Brindis RG, Fihn SD, Fleisher LA, Granger CB, Lange RA, Mack MJ, Mauri L, Mehran R. 2016 ACC/AHA guideline focused update on duration of dual antiplatelet therapy in patients with coronary artery disease: a report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines: an update of the 2011 ACCF/AHA/SCAI Guideline for Percutaneous Coronary Intervention, 2011 ACCF/AHA Guideline for Coronary Artery Bypass Graft Surgery, 2012 ACC/AHA/ACP/AATS/PCNA/SCAI/STS Guideline for the Diagnosis and Management of Patients With Stable Ischemic Heart Disease, 2013 ACCF/AHA Guideline for the Management of ST‐Elevation Myocardial Infarction, 2014 AHA/ACC Guideline for the Management of Patients With Non‐ST‐Elevation Acute Coronary Syndromes, and 2014 ACC/AHA Guideline on Perioperative Cardiovascular Evaluation and Management of Patients Undergoing Noncardiac Surgery. Circulation. 2016; 134:e123–e155.LinkGoogle Scholar
  3. Bonaca MP, Bhatt DL, Cohen M, Steg PG, Storey RF, Jensen EC, Magnani G, Bansilal S, Fish MP, Im K, Bengtsson O. Long‐term use of ticagrelor in patients with prior myocardial infarction. N Engl J Med. 2015; 372:1791–1800.CrossrefMedlineGoogle Scholar
  4. Helft G, Steg PG, Le Feuvre C, Georges JL, Carrie D, Dreyfus X, Furber A, Leclercq F, Eltchaninoff H, Falquier JF, Henry P. Stopping or continuing clopidogrel 12 months after drug‐eluting stent placement: the OPTIDUAL randomized trial. Eur Heart J. 2016; 37:365–374.MedlineGoogle Scholar
  5. Lee CW, Ahn JM, Park DW, Kang SJ, Lee SW, Kim YH, Park SW, Han S, Lee SG, Seong IW, Rha SW. Optimal duration of dual antiplatelet therapy after drug‐eluting stent implantation: a randomized, controlled trial. Circulation. 2014; 129:304–312.LinkGoogle Scholar
  6. Mauri L, Kereiakes DJ, Yeh RW, Driscoll‐Shempp P, Cutlip DE, Steg PG, Normand SL, Braunwald E, Wiviott SD, Cohen DJ, Holmes DR. Twelve or 30 months of dual antiplatelet therapy after drug‐eluting stents. N Engl J Med. 2014; 371:2155–2166.CrossrefMedlineGoogle Scholar
  7. Posvar EL, Radulovic LL, Cilla DD Jr, Whitfield LR, Sedman AJ. Tolerance and pharmacokinetics of single-dose atorvastatin, a potent inhibitor of HMG-CoA reductase, in healthy subjects. J Clin Pharmacol. 1996 Aug; 36(8):728-31.
  8. De Biase SG1, Fernandes SF, Gianini RJ, Duarte JL. Vegetarian diet and cholesterol and triglycerides levels. Arq Bras Cardiol. 2007 Jan;88(1):35-9