Latest

แจ้งข่าวการส่งหนังสือ และเล่าเรื่องไปพูดที่จุฬา

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี ได้ส่งออกไปให้ท่านหมดแล้ว ส่งออกไปแล้วสองพันกว่าเล่ม เล่มสุดท้ายที่สั่งมาก่อน 1 สค. ส่งออกไปได้สามวันแล้ว ซึ่งทุกท่านควรจะได้รับแล้ว หากท่านไม่ได้รับรบกวนคลิก tracking number ที่ส่งให้ท่านทางไลน์ตามดูกับ Thailand Post ด้วย หากตามไม่ได้ กรุณาแจ้งผมกลับมาทางไลน์หรือทางโทรศัพท์ ที่หมอสันต์เป็นห่วงไม่ใช่ห่วงไปรษณีย์ทำของหายเพราะผมส่งแบบ EMS ซึ่งเขารับประกันว่าไม่มีวันหาย แต่ห่วงท่านที่จ่ายเงินแล้วไม่ได้ส่งใบเปย์สลิปและที่อยู่มาให้ผมทางไลน์ เพราะดูเงินในธนาคารที่ส่งมาให้ มันจะมากกว่าเปย์สลิปและที่อยู่ที่ส่งมาให้ แต่การจัดส่งทั้งหมดทำผ่านระบบ line shop จึงส่งได้เฉพาะคนที่ส่งเปย์สลิปและที่อยู่มาทางไลน์เท่านั้น คนที่จ่ายเงินแล้วไม่ได้ติดต่อมาทางไลน์ @healthylife ผมก็หมดปัญญาจะทราบได้ว่าท่านเป็นใครพักอาศัยอยู่ที่ส่วนไหนของประเทศ

พูดถึงตอนนี้ขอนอกเรื่องหน่อย แฟนบล็อกหมอสันต์ส่วนใหญ่เป็นสว. และจำนวนหนึ่งไม่ถนัดเรื่องออนไลน์ ถนัดแต่โทรศัพท์โทรเลขธนาณัติ จนแทบจะส่งเงินมาให้ทางโทรศัพท์เลยทีเดียว เช่นบอกมาทางโทรศัพท์เลยว่า

“คุณจดชื่อที่อยู่ฉันไว้เดี๋ยวนี้เลยไม่ได้หรือ แล้วบอกที่อยู่คุณมาฉันจะธนาณัติเงินให้”

หิ หิ ว่าแต่สมัยนี้เขาจะยังมีธนาณัติกันอยู่หรือครับ

เอาเป็นว่าใครไม่ได้หนังสือให้รีบบอกผมจะส่งไปให้ใหม่ หมอสันต์ถือคติแบบศาล คือส่งหนังสือผิดไปให้คนที่ไม่ได้จ่ายเงินร้อยคน ยังดีกว่าเอาเงินเขามาแล้วไม่ได้ให้หนังสือเขาแม้เพียงคนเดียว

อนึ่ง มีความผิดพลาดเล็กน้อยบางเรื่องที่ต้องขออภัยรวบยอดผ่านบล็อกนี้เสียเลย คือบางท่านติดต่อมาขอลายเซ็นด้วย ซึ่งผมก็รับปากดิบดี แต่ว่าก็ต้องช้าหน่อยนะ เพราะหนังสือทุกเล่มผมให้เขา wrap พลาสติกมาจากโรงงาน ต้องมาบรรจงกรีดบรรจงแกะก่อนจึงจะเซ็นให้ได้ บางท่านระบุให้ส่งไปรษณีย์ด่วน EMS เพราะอยากได้เร็ว บางท่านขอให้ลงทะเบียนเพราะกลัวของหาย หลายท่านติดต่อมาขอให้หุ้มหนังสือด้วยพลาสติกให้ด้วยเพื่อป้องกันหนังสือเปียก ซึ่งทั้งหมดนั้นผมก็ทำตามประสงค์ให้ครบถ้วนทุกประเด็น แต่ว่ากล่องใส่ที่ออกแบบไว้ดิบดีนั้นเขาผลิตมาให้ไม่ทันกับความใจร้อนของผู้รอหนังสือ จึงต้องเอาซองที่หาซื้อได้บรรจุส่งไปให้แก้ขัด ซึ่งบางท่านก็บ่นว่าซองแตก แต่หนังสือปลอดภัย อันนี้ผมก็ต้องขออภัยด้วย

ขณะเดียวกันก็ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ส่ง feed back กลับมาในเวลารวดเร็วว่าหนังสือได้แล้ว บ้างเห็นหนังสือแล้วสั่งซื้อเพิ่มทันที ที่เคยซื้อหนึ่งเล่มก็สั่งเพิ่มอีก 20 อีกเล่ม 50 เล่มเป็นต้น บางท่านอ่านหนังสือแล้วก็สรรเสริญเยินยอมาเสียยืดยาวจนผมอดเอามาโฆษณาไม่ได้ เช่น

“..ได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้วครับ เป็น นส ที่มีรูปแบบ เนื้อหาที่ดีมากครับ เกินคุ้มเทียบกับราคาที่จ่ายไป ขอบพระคุณคุณหมอที่สละเวลาในการเขียน Blog เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปให้สามารถดูแลตัวเองได้ ขออาราธนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ช่วยดลบันดาลให้คุณหมอและครอบครัวจงมีสุขภาพดีตลอดอายุขัยนะครับ..”

…………………………………………………………………….

วันนี้ผมตั้งจะเล่าเรื่องที่ผมไปพูดที่จุฬา เขาจ้างให้ไปพูดเรื่อง “ชีวิตสมดุล กายดี ใจดี ชีวีมีสุข” แต่เนื่องจากครั้งนี้ผมทดลองเปลี่ยนสไตล์การพูดใหม่คือให้ถามข้อข้องใจและตอบคำถามก่อนแล้วค่อยพูด ผลปรากฎว่าตอบคำถามได้ไม่ทันหมดแต่เวลาจะหมดก่อนต้องรีบพูดจึงพูดได้นิดเดียวเพราะหมดเวลาพอดี อย่างไรก็ตาม เรื่องที่พูดไปน่าจะมีประโยชน์กับแฟนบล็อก จึงนำมาเล่าให้ฟัง

“..ขอตัดการตอบคำถามไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เพราะเวลาจะหมดเสียก่อนที่จะได้พูด

เรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้คือ ชีวิตสมดุล กายดี ใจดี ชีวีมีสุข ลองมาดูจากมุมของทางการแพทย์บ้างนะครับ ในสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ วงการแพทย์เองก็เริ่มยอมรับว่าเราไม่มีปัญญารักษาโรคเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาหลักของผู้คนได้ จึงได้เกิดสาขาวิชาใหม่ขึ้นสาขาหนึ่งเรียกว่า “เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine)” ซึ่งแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์วิธีชีวิตได้ทำงานวิจัยทบทวนสาเหตุของโรคเรื้อรังแล้วสรุปสาเหตุหลักออกมาได้ 6 สาเหตุ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น 6 เสาหลักของเวชศาสตร์วิถีชีวิต คือ

  1. เครียด

2. กินอาหารเนื้อสัตว์มาก พืชน้อย

3.ไม่ได้เคลื่อนไหว

4.ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไม่ดี

5.นอนไม่หลับ

6.ได้สารพิษจากภายนอก (ยา บุหรี่ แอลกอฮอล์)  

มองในภาพใหญ่ก่อนนะ

เรื่องแรกความเครียด ใหม่ๆเราก็แค่ยอมรับกันว่าความเครียดก่อโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคความดันเลือดสูง แต่ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาต่อมามันกลายเป็นว่าความเครียดสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรังได้ทุกโรค รวมทั้งโรคมะเร็งด้วย กลไกที่ความเครียดก่อโรคเรื้อรังนั้นซับซ้อน ผ่านการทำงานของระบบร่างกายหลายระบบรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันโรคซึ่งหากทำงานผิดพลาดไปก็จะทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้น

เรื่องอาหารนั้นก็เป็นสิ่งที่ผู้คนรู้ดีแล้วแต่ยังอาจจะทำไม่ค่อยได้ รู้ว่าอาหารไขมันอิ่มตัว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ทำให้เราป่วยเป็นโรคหลอดเลือดซึ่งเป็นปฐมเหตุของโรคเรื้อรังหลายโรค ขณะที่อาหารพืชที่หลากหลายในรูปแบบที่มีไขมันต่ำทำให้เราหายป่วยจากโรคหลอดเลือด

เรื่องการไม่ได้เคลื่อนไหวก็เป็นสาเหตุที่เด่นชัดว่าสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรัง ผมไม่ได้ใช้คำว่า “ออกกำลังกาย” นะ เพราะคำว่าออกกำลังกายแค่ฟังหลายคนก็ใจแป้วแล้วว่าต้องไปโรงยิมทำไม่ได้ดอก ผมใช้คำว่าการเคลื่อนไหว เพราะร่างกายนี้ออกแบบมาให้มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมาก พอไม่เคลื่อนไหว มันก็ป่วย

เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมีผลต่อสุขภาพกับการมีอายุยืนนี้ มันมาจากงานวิจัยที่ดีมากของฮาร์วาร์ด ทำวิจัยกันอยู่สามชั่วอายุคน หมายความว่าเปลี่ยนนักวิจัยไปสามรุ่น ทำวิจัยชิ้นนี้อยู่นาน 75 ปี พยายามจะสรุปให้ได้ว่าอะไรทำให้คนเรามีสุขภาพดีมีอายุยืน ได้ผลสรุปออกมาว่าปัจจัยแรกที่เด่นชัดเจนมากว่าทำให้คนอายุยืน คือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว

เรื่องปัญหาการนอนหลับต่อสุขภาพนั้นมันเป็นปัญหาไม่ใช่ระดับประเทศนะ แต่เป็นปัญหาระดับโลก หลายปีมาแล้วที่สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้โปรโมทตัวชี้วัดสุขภาพสำคัญขึ้นมา 7 ตัว เรียกว่า Simple Seven คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมัน (4) น้ำตาล (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การไม่สูบบุหรี่ คือแค่ทำให้ตัวชี้วัดทั้งเจ็ดตัวนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความเสี่ยงที่จะป่วยจะตายก็ลดลงไปตั้ง 91% ขณะที่การขยันกินยาและเข้าโรงพยาบาลทำบอลลูนทำบายพาสลดความเสี่ยงลงได้อย่างมาก 30% แต่พอมาในปีนี้ AHA ได้เพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาอีกหนึ่งตัว คือ “การนอนหลับ” และตั้งชื่อเรียกชุดตัวชี้วัดนี้ใหม่ว่า “สิ่งจำเป็นแปดอย่าง (Essential-8)” ที่ต้องเพิ่มเพราะหลักฐานวิทยาศาสตร์มันชัดเจนว่าการนอนไม่หลับสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรัง เช่นนอนไม่หลับทำให้สมองเสื่อม ทำให้เป็นฮาร์ทแอทแทคมากขึ้น ทำให้สโตรคมากขึ้น ทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้น เป็นต้น

เรื่องการได้รับสารพิษจากนอกตัวนั้น ถ้าพูดบุหรี่และแอลกอฮอล์ เรารู้กันดีแล้วว่าไม่ดีต่อร่างกาย นอกจากมลภวะและสารพิษจากอุตสาหกรรมแล้ว สารพิษที่เราตั้งใจรับเข้ามาก็คือยาต่างๆที่หมอให้เรากินนี่เอง ถ้าท่านอ่านฉลากยาที่กินก็จะเห็นว่าระบุผลข้างเคียงยาวเหยียดจนสยอง แต่แพทย์จำเป็นต้องให้เรากินเพราะประโยชน์ที่จะได้มันยังมากกว่าโทษของมันอยู่ หากเราทำให้โรคเรื้อรังหายได้โดยไม่ต้องใช้ยา นั่นแหละจะดีที่สุด

เอาละ คราวนี้เรามาเจาะลึกลงไปทีละเรื่อง เริ่มที่เรื่อง “เครียด” ก่อน

สาเหตุของความเครียดคือความคิดของเราเอง ถ้าวางความคิดลงเสียได้ ก็หายเครียด นี่คนส่วนใหญ่รู้แล้ว อาจมีบางคนบอกว่าไม่ใช่ ของฉันสาเหตุของความเครียดเป็นเพราะลูกสาวของฉันไม่ได้อย่างใจฉัน แต่ในความเป็นจริงคือสถานะการณ์ในชีวิตนอกตัวเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เรายังไม่รับรู้มันหรอกจนกว่ามันจะมาถึงใจเราแล้วและเราแปลความหมายและ “สนองตอบ” ต่อสถานะการณ์นั้นออกไปแล้ว มันไม่ใช่สถานะการณ์ภายนอกที่เป็นต้นเหตุ แต่มันเป็นวิธีที่เราสนองตอบต่อสถานะการณ์ต่างหากที่เป็นต้นเหตุ การสนองตอบของเราก็ด้วยการคิดนั่นเอง ดังนั้นความคิดจึงเป็นต้นเหตุหลักของความเครียด

คนเราจะวางความคิดลงไม่ได้หากไม่มีเครื่องมือช่วย ท่านดูลิงตัวนี้ ลูกผลไม้ที่วางอยู่บนพื้นหินนี้คือลูกเบาบับ ซึ่งข้างในมีเนื้อกินได้หวานๆมันๆ คนป่าอะมาซอนใช้ขวานฟันเปลือกแข็งออกเพื่อกินข้างใน ลิงทั่วไปไม่สามารถกินผลเบาบับได้ แต่มีลิงพันธ์นี้พันธ์เดียวที่กินผลเบาบับได้ เพราะมันรู้วิธีใช้เครื่องมือ เครื่องมือของมันก็คือก้อนหินหนักๆ ยกขึ้นสูงๆแล้วปล่อยลงมาให้กระแทกผลเบาบับจนแตกออก แล้วก็กินข้างในได้

เครื่องมือแรกที่จะให้ท่านลองใช้คือ “การผ่อนคลาย (relaxation) หลักมีอยู่ว่าความคิดปรากฎต่อเราสองรูปแบบ แบบหนึ่งเป็นเรื่องราวในใจ อีกแบบหนึ่งเป็นการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เราทำข้างหนึ่งก็มีผลต่ออีกข้างหนึ่ง เราคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งอยู่ ความคิดก็จะหายไป ให้ท่านมองหน้าพระพุทธรูปองค์นี้นะ มองเฉยๆ มองแบบสบายๆ นี่เป็นใบหน้าของคนที่ผ่อนคลาย ยิ้มที่มุมปากนิดๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า เอ้า..ให้ท่านเลียนแบบพระพุทธรูปนะ ยิ้มที่มุมปาก นิดๆ มีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าความผ่อนคลายก็ดี ความเครียดก็ดี มันติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ทั้งๆที่ไม่ได้พูดอะไรกันเลย มันติดต่อโดยการแอบเลียนสีหน้าโดยไม่ได้ตั้งใจ เราเห็นหน้าที่ผ่อนคลาย เราเลียนสีหน้าโดยไม่ได้ตั้งใจ เราก็จะพลอยผ่อนคลายไปด้วย

จุดที่สองนอกจากใบหน้าที่จะทำให้เราผ่อนคลายได้ง่ายคือ คอ บ่า ไหล่ ท่านต้องนั่งให้หลังตรงก่อนนะ การทำหลังให้ตรงเนี่ยมันเป็นเคล็ดของโยคีเขา โยคีถือว่ากระดูกสันหลังคือทางวิ่งของพลังชีวิต คนอินเดียโบราณเรียนรู้ร่างกายโดยไม่ได้ผ่าศพดู ไม่เหมือนทางยุโรปซึ่งได้ความรู้ร่างกายมาจากการขโมยชำแหละศพในป่าช้า อย่างคนจะเรียนจบแพทย์ตามแบบยุโรปต้องชำแหละศพตั้งแต่หัวถึงเท้ามาแล้วทุกคน โยคีเขียนภาพภายในร่างกายออกมาแล้วสลักลงบนหิน แต่คนรุ่นหลังดูก็รู้ว่าบางอันถูกบางอันผิดในแง่ของอะไรอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตามที่ถูกเป๋งเลยคือโครงสร้างของระบบประสาทอัตโนมัติที่ว่าเป็นทางวิ่งของพลังชีวิตนี่แหละ แกนประสาทสันหลังคือศูนย์รวม แล้วแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทั่วร่างกาย ดังนั้น การจะฝึกเกี่ยวกับความคิด ต้องทำหลังให้ตรงก่อน แล้วก็ผ่อนคลาย คอ บ่า ไหล่ ผ่อนคลายใบหน้า ยิ้มด้วย จะเห็นว่าเราทำอย่างนี้แล้วความคิดในหัวมันลดลง

เครื่องมือชิ้นถัดไปที่ผมจะให้ท่านลองคือการหายใจลึกๆ ท่านจะเห็นตัวเลข 4-4-8 ไม่ใช่ผมให้หวยนะ เป็นตัวเลขบอกจังหวะ

ท่านหายใจ “เข้า” ผมจะนับ 1 2 3 4 ถ้าผมนับไม่จบ ท่านอย่าหยุดหายใจเข้า จบแล้วผมจะบอกให้ “กลั้น” ท่านก็แค่หยุดหายใจเหมือนปิดก๊อกน้ำ ไม่ต้องเบ่ง ขณะกลั้นผมจะนับ 1 2 3 4 แล้วผมจะบอกว่า “ออก” ท่านก็ปล่อยลมหายใจออกแบบสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปด้วย ยิ้มที่มุมปากด้วยนิดๆ ถ้าผมนับยังไม่ถึง 8 ท่านอย่าเพิ่งหายใจเข้านะ ถ้าลมหมดแล้วก็นิ่งอยู่อย่างนั้น นิ่งดู ตรงนี้เรียกว่าปลายสุดของลมหายใจออก มันเป็นจุดที่คนเราใกล้ความตายมากที่สุด เพราะความตายเกิดเมื่อปลายการหายใจออกครั้งสุดท้ายแล้วไม่มีลมหายใจเข้าครั้งใหม่ นั่นก็คือตาย จุดนี้เป็นจุดที่ความคิดอ่อนแรงมากที่สุด ให้ท่านสนใจตรงจุดนี้

เอ้า มาทดลองกันดูนะ สักสามลมหายใจ

เข้า 1 2 3 4

กลั้น 1 2 3 4

ออก 1 2 3 4 5 6 7 8

คราวนี้ท่านลองหายใจแบบ 4 4 8 ของท่านเองบ้าง ผมไม่นับละ ทดลองทำดูสักหนึ่งนาที ผ่อนคลายไปด้วย

เราได้ลองใช้สองเครื่องมือแล้วนะ การผ่อนคลาย กับการหายใจลึก คราวนี้ผมจะให้ลองเครื่องมือชิ้นที่สาม การสังเกต มันเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน ท่านต้องใจเย็นๆค่อยๆทดลองทำไปนะ

ผมจะให้ท่านลองสังเกตเสียงก่อน เอ้า..ท่านหลับตา ผ่อนคลาย สบายๆ เงี่ยหูฟังเสียง สังเกตเสียงโดยไม่คิดอะไรต่อยอด เริ่มตั้งแต่เสียงที่ดังที่สุด คือเสียงของผม เสียงที่เบาลงไป เสียงแอร์ เสียงคนเปิดประตู เสียงใครทำอะไรกับปากกา กระดาษ เสียงคนพูดกันเบาๆนอกห้อง

แล้วท่านสังเกตต่อไปถึงความเงียบ (silence) สังเกตจนเห็นว่าแท้จริงรอบตัวเราเป็นพื้นที่กว้างใหญ่นี้มันเป็นความเงียบ เสียงเป็นเพียงสิ่งเล็กๆที่ผุดขึ้นมาจากความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ให้ท่านปักหลักอยู่ที่ความเงียบ สังเกตเสียง

คราวนี้ ขณะปักหลักอยู่ตรงความเงียบนั้นแหละ หรือตรงความว่างเปล่านั้นแหละ ให้ท่านสังเกตดูความคิดของท่านเอง สังเกตให้เห็นว่าความรู้ตัวของท่านนั้นเป็นความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ ความคิดเป็นสิ่งเล็กผุดขึ้นมาในท่ามกลางความรู้ตัว เกิดแล้วมันอยู่ได้สักพัก แล้วก็ดับหายไปในความรู้ตัวนั่นแหละ

ท่านวางตัวเองให้ถูกตำแหน่งนะ เราเป็นความรู้ตัว เป็นผู้สังเกต ความคิดเป็นสิ่งที่ถูกเราสังเกต ความคิดไม่ใช่เรา ขณะที่เราสังเกตดูความคิด เรารู้ตัวอยู่ แต่ความคิดจะหยุดลง เพราะเมื่อถูกเราสังเกตดู ความคิดมันขวยอาย มันฝ่อหายไปเอง

เวลาที่มีสิ่งเร้าเข้ามาในภาวะทั่วไปการสนองตอบจะเกิดขึ้นทันทีแบบอัตโนมัติ แต่ในครั้งนี้ที่เราตั้งใจสังเกต พอมีสิ่งเร้าเข้ามา ให้ท่านอยู่นิ่งๆ อยู่ตรงกลางนิ่งๆ สังเกตก่อน อย่าใจร้อนแบบมีอะไรเข้ามาปุ๊บก็สนองตอบไปปั๊บแบบอัตโนมัติ แบบหุ่นยนต์ ให้อยู่นิ่งๆ สังเกตเฉยๆก่อน

เป็ดตัวนี้เป็นหุ่นยนต์รุ่นโบราณเรียกว่าออโตมาตรอน เป็นยุคก่อนคอมพิวเตอร์ ถ้าท่านไปดูมิวเซียมทางยุโรปท่านจะยังเห็นเป็ดแบบนี้อยู่ วิธีทำงานของมันก็คือพอเราไขลานที่สีข้างมันแล้วปล่อยให้มันเดินไป มันก็จะเดิน

เตาะแตะ เตาะแตะ แล้วเลี้ยวซ้าย..แคว่ก แคว้ก

เตาะแตะ เตาะแตะ แล้วเลี้ยวขวา..แคว่ก แคว้ก

มันทำแค่นี้จนลานหมด ทำอย่างเป็นอัตโนมัติ ทำตามกระเดื่องตามลานที่เขาวางไว้ข้างใน

ชีวิตเราทุกวันนี้เราก็ทำแค่นี้เหมือนเป็ดตัวนี้เหมือนกันเลยนะ เราสนองตอบทุกอย่างที่เข้ามาแบบอัตโนมัติซ้ำๆซากๆมาตลอดชีวิต จนเราแก่แล้วเราก็แก่แบบแก่แดดแก่ลม มีน้อยมากที่จะหยุดสังเกตดูทุกอย่างที่เข้ามาแล้วสนองตอบออกไปอย่างมีสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความคิดของเรา เราไม่เคยสังเกตดูมันเลย มีอะไรเข้ามาก็ทันทีก็ อัตโนมัติ..แคว่ก แคว้ก

ถ้าท่านจะใช้ชีวิตให้แตกต่างจากเป็ดตัวนี้ ท่านต้องหัดอยู่นิ่งๆ อยู่ตรงกลาง สังเกต ไม่รีบแกว่งเข้าหาสิ่งที่ชอบ หรือรีบแกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ อยู่นิ่งๆ สังเกตดูก่อน การนิ่งเป็นการยอมรับว่าเร้าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ต้องมีขั้นตอนนี้ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยคิดว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้านี้อย่างไร ไม่ใช่สนองตอบออกไปอย่างเป็นอัตโนมัติ แต่ท่านต้องใส่ใจนิดหนึ่ง ว่าความคิดมันเป็นของที่เนียน เป็นของที่ละเอียด ท่านต้องมีความละเมียดท่านจึงจะสังเกตความคิดได้

สรุปว่าเราได้คุยกันถึงเครื่องมือวางความคิดไปสามชิ้นแล้วนะ การผ่อนคลาย การหายใจลึก การสังเกต ให้ท่านเอาไปลองใช้ ลองได้ทุกที่ทุกเวลา

ถ้าลองแล้วก็ยังวางไม่ได้เลย มันมีนะครับ อย่างเช่นคนเป็นโรคจิต ความคิดมันแยะมาก ออกจากความคิดไม่ได้เลย เข้าวัดก็วัดแตก ผมแนะนำให้ถอยไปเริ่มที่เครื่องมือที่สี่ก่อน คือ “งานอดิเรก” การได้จดจ่อทำงานอะไรที่ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียของ “ตัวตน (ego)” เราเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือวางความคิดอย่างหยาบที่สุดและได้ผลดีที่สุดในคนที่ความคิดแยะเกินไปจนออกจากความคิดยังไงก็ออกมาไม่ได้

เกินเวลาเขามาแยะแล้ว ผมจะตอบคำถามของคุณพ่อที่ยื่นค้างไว้อีกท่านเดียวนะครับ แล้ววันนี้จะขอพอแค่นี้ก่อน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์