Latest

การยอมรับ-การใช้ชีวิต-เมตตาธรรม

(ภาพวันนี้ / เมื่อวานซืนไปเที่ยวบ้านชนบทแบบฝรั่งเศสหลังหนึ่ง สามพ่อแม่ลูก และเพื่อนๆ นั่งดื่ม afternoon tea ร้อนๆ ในวันฝนตกพรำๆเย็นๆ บ้านหลังนั้นอยู่ที่เขาใหญ่นี่เอง หิ..หิ ชื่อ La Purinee)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง – RDBY)

พวกเราทุกคนป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งแปลว่าโรคที่วงการแพทย์ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร ไม่รู้ว่าทำอย่างไรมันจึงจะหาย ได้แต่ลองผิดลองถูกกันไปแบบตาบอดคลำช้าง คลำกันมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังคลำได้ไม่ถึงไหน เรา

เรามาที่นี่เพื่อเสาะหาหนทางที่จะช่วยตัวเองโดยที่ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกเช่นกัน แต่โดยสามัญสำนึกเรารู้ในภาพใหญ่ว่าร่างกายและจิตใจของเรามันไม่ลงตัว มันปั่นป่วน มันไม่สุขสบาย

ในระหว่างพักรอเพื่อนๆนี้ผมอยากจะคุยนอกเรื่อง เพื่อแชร์ประสบการณ์ของตัวผมเอง ซึ่งก็ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกัน แต่ว่าป่วยมาก่อน ได้ลองผิดลองถูกมาก่อน ผมสรุปเป็นวิธีของตัวเองว่าทางที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจนี้มันสุขสบายหรือลงตัวนั้น มันมีสามมุมมองสามด้านด้วยกัน คือ

1.. การยอมรับ (Acceptance) หมายถึงการที่เราผ่อนคลาย ยิ้ม นิ่ง กับแต่ละโมเมนต์ของชีวิต “นิ่ง” หมายความว่าเราอยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบที่อยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่อยากได้ อะไรโผล่เข้ามาในชีวิตเรา เราก็โอเค.หมด เรายอมรับหมด อะไรที่จะจากเราไปเราก็โอเค.หมด ยอมรับหมด ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรน ไม่ร้อนรนกระวนกระวาย กระต๊าก..ก ปกป้อง หรือต่อต้านอะไร เน้นเป็นพิเศษกับการยอมรับคนรอบตัว แบบยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ไม่ไปหงุดหงิดหรือพยายามอยากจะให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

2.. การใช้ชีวิต (Living) หมายถึงการที่เราให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่หรือการดำรงชีวิตอยู่ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือจะขยายให้กว้างที่สุดก็ไม่เกินลมหายใจนี้ คือชีวิตดำรงอยู่ทีละลมหายใจ เริ่มจากหายใจเข้าไปสิ้นสุดที่ปลายของการหายใจออก ณ ที่ปลายของลมหายใจออก หากไม่มีการหายใจเข้าครั้งใหม่ ชีวิตก็จบแค่นั้น ดังนั้นการใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ตราบใดที่ยังหายใจเข้าออกได้ ก็ยังใช้ชีวิตได้ ประเด็นคือเราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้มันเป็นชีวิตที่สงบเย็น และสร้างสรรค์

ต่างจากอีกมุมหนึ่งของชีวิต ซึ่งคือ “สถานะการณ์ในชีวิต (Life situation)” ซึ่งเป็นเรื่องราว เป็นนิยาย เป็นดราม่า เป็นนิทาน ที่เราแต่งขึ้นจากฉากหรือเหตุการณ์รอบตัวโดยมีตัวตนหรืออีโก้ของเราเป็นศูนย์กลาง มีเรื่องราวเป็นตุเป็นตะ ในมิติของเวลา มีอดีต มีอนาคต เหมือนหนังที่เราสร้างขึ้นมาเองแล้วฉายให้ตัวเองดู แต่ว่าเผอิญเรามีความสามารถสร้างได้แต่หนังห่วยๆ ดูแล้วก็มีแต่จะเป็นทุกข์ น้อยมากที่การสร้างหนังให้ตัวเองดูจะมีคนสร้างหนังดีๆที่ตัวเองดูแล้วเป็นสุข ดังนั้นประเด็นของผมคืออย่าไปยุ่งกับสถานะการณ์ในชีวิตมากนัก ให้โฟกัสที่การใช้ชีวิตทีละลมหายใจ

3.. การเปลี่ยนตัวตน (Change of identity) คนเรานี้แท้จริงแล้วมีสองตัวตน “ตัวตนแรก” ที่เรารู้จักคุ้นเคยคือการเป็นบุคคลคนนี้ มีชื่อนี้ นามสกุลนี้ เรียนจบมาเรื่องนี้ ทำมาหากินอาชีพนี้ อยู่ในสังคมในประเทศนี้ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี มีทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านี้ มีความผูกพันกับคนรอบตัวกันคนนี้ในสถานะนี้ กับคนนั้นในสถานะนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อีกแหละเป็นแค่เรื่องราวที่เราวาดภาพตัวของเราขึ้นในสมองของเราเอง พูดง่ายว่าตัวตนเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงชุดของความคิดที่เราสมมุติขึ้นและพยายามยึดถือปกป้องให้มันดูเป็นจริงเป็นจัง

“ตัวตนที่สอง” ก็คือตัวเราเองในภาวะที่ปลอดตัวตนที่แรก หรือผมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคือ “ความรู้ตัวในขณะปลอดความคิด” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายที่สุดว่าคือ “เมตตาธรรม” ในตัวตนที่สองนี้ความเป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาไม่มีแล้ว มีแต่ความรู้ตัวในความว่างเปล่าที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นทุกชีวิต และมีศักยภาพที่จะรับรู้ เรียนรู้ และดลบันดาลอะไรได้ในแบบแมจิก หรือแบบที่ภาษาไม่อาจอธิบายไปถึง

การเปลี่ยนตัวตน ผมหมายถึงเราตั้งใจย้ายการเป็นตัวตนแรกมาเป็นตัวตนที่สอง จากการเป็นบุคลลคนหนึ่งที่มีทรัพย์มีความยึดถือเกี่ยวพันที่ต้องปกป้องดูแล มาเป็นเมตตาธรรมต่อทุกชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่มีผลประโยชน์ อุปมาเหมือนเรามีบ้านหลังหนึ่งอยู่ในกรุงเทพ ต่อมาปลูกอีกหลังหน้าที่ต่างจังหวัด แล้วเราก็ค่อยๆย้ายจากหลังแรกมาอยู่หลังที่สองมากขึ้นๆ

ผมสรุปเองเออเองแบบไสยศาสตร์ว่าการหายป่วยแบบแมจิกจะไม่เกิดขึ้นหากผมยังต่อสู้กับความเจ็บป่วยอยู่ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อผมยอมรับการเจ็บป่วยนั้นแล้ว และการหายมันค่อยๆหนักแน่นยิ่งขึ้นเมื่อผมเริ่มโฟกัสที่การใช้ชีวิต เลิกสนใจหรือกังวลกับสถานะการณ์ในชีวิต และมันหายสนิทเมื่อผมเปลี่ยนตัวตนจากการเป็นคนๆหนึ่งที่ต้องปกป้องอะไรต่อมิอะไรที่สมมุติว่าเป็นของตัวเอง ไปเป็นเมตตาธรรมที่ไม่มีอะไรต้องคอยปกป้อง มีแต่ ให้ ให้ ให้ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน..แม้คำขอบคุณก็ไม่หวัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์