Latest

ความตายของคนใกล้ชิดเป็น “ครูใหญ่” ให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของแต่ละลมหายใจของเราที่เหลืออยู่

คุณหมอครับ

ภรรยาผมเพิ่งสิ้นลมไป ผมรู้สึกชา เชื่องช้า เหมือนทำอะไรไม่ถูกเมื่อต้องอยู่คนเดียว ผมไม่ใช่คนเข้าวัดเข้าวา ในใจมีแต่ภาพอดีต ผมร้องไห้บ้าง กลัวความเหงา กลัวความลึกลับของความตาย

………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. การเป็นคนไม่เคยสนใจศาสนาไม่เข้าวัดเข้าวาในช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ประเด็นสลักสำคัญอะไร ดีเสียอีกที่ไม่มีคอนเซ็พท์โน่นนี่นั่นมาเป็นขยะรกหน่วยความจำในหัว การจะมีชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปฟังเอาจากใครพูดที่ไหน แค่ขยันทิ้งคอนเซ็พท์เก่าๆที่สังคมหรือภาวะรอบตัวยัดเยียดให้เรายึดถือเกี่ยวพันโดยไม่จำเป็นไปเสียให้หมด แล้วเริ่มต้นสังเกตรับรู้ยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาที่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็น ค่อยๆถอยกลับเข้าไปสู่ความสงบที่ส่วนลึกของใจเราเอง แล้วก็จะมีชีวิตที่ดี คือสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้เอง

2.. อดีตเป็นเพียงความคิดที่เราคิดขึ้นที่เดี๋ยวนี้โดยเราจงใจเรียบเรียงให้ต่อเนื่องเหมือนนิยายเรื่องยาวเอาไว้ให้ตัวเองอ่าน ดังนั้นหากจะแสวงหาสิ่งดีๆในชีวิต อย่าไปยุ่งกับอดีต อย่าไปคิดถึงหรือจมอยู่กับอดีต และอย่าไปปักหลักเชื่อว่าคุณเป็นสิ่งเดียวที่คงที่สถาพรที่นั่งมองความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวอยู่อย่างหวาดระแวงเหมือนไม้หลักปักอยู่กลางแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว ถ้าคุณมองโลกจากมุมนั้นชีวิตคุณจะลำบากมากเพราะมีแต่คุณปักหลักนิ่งอยู่คนเดียวขณะที่อย่างอื่นล้วนถาโถมเข้ากระแทกใส่คุณไม่เว้นแต่ละนาที แต่ถ้าคุณเปลี่ยนมุมมองใหม่ ยอมรับให้ตัวเองไหลไปตามความเปลี่ยนแปลงรอบตัวเหมือนไม้ที่ลอยไปตามน้ำ โดยที่ตัวคุณก็เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย คุณจะพบว่าสิ่งรอบตัวคุณที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกับคุณนั้นดูเหมือนมันนิ่ง และคุณจะรู้สึกถึงความสงบในความเคลื่อนไหว

3.. วิธีในทางปฏิบัติก็คือให้หัดอยู่กับลมหายใจนี้ ยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ที่เดี๋ยวนี้ ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบเอาไว้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ อะไรผ่านเข้ามาและผ่านออกไปยอมรับหมด วิธีตรวจสอบว่าคุณอยู่ที่เดี๋ยวนี้หรือเปล่าก็ง่ายมาก คุณได้ยินเสียงต่างๆรอบตัวคุณไหม พัดลม เสียงจิ้งหรีด เสียงรถยนต์ครางแต่ไกลเบาๆ หรือแม้กระทั่งความเงียบ ลองเงี่ยหูฟังซิ จับแต่เสียง ไม่ต้องตีความ ให้คุณทำตัวเป็นความเงียบ เงี่ยหูฟังเสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้นในความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ ถ้าคุณได้ยิน คุณก็กำลังอยู่กับเดี๋ยวนี้

หรือคุณลองมองไปรอบๆตัวคุณซิ คุณเห็นอะไรที่อยู่ที่เดี๋ยวนี้ไหม หลอดไฟ หน้าต่าง ต้นไม้ ท้องฟ้า เห็นตามที่มันเป็น ไม่ต้องพากย์ว่ามันดีหรือไม่ดี ให้ทำตัวเป็นพื้นที่ว่างเปล่ากว้างใหญ่ไกลสุดขอบฟ้า ที่ภาพทุกภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่านี้ ถ้าคุณเห็น คุณก็กำลังอยู่กับเดี๋ยวนี้

หรือคุณลองชำเลืองเข้าไปในใจของคุณซิ คุณกำลังคิดอะไรอยู่ ถ้าตอบได้ว่ากำลังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ลองกลับไปมองอีกทีซิ ยังมีความคิดนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้าตอบได้ว่าไม่มีแล้ว ไม่มีความคิดเลย ก็แสดงว่าคุณก็กำลังอยู่กับเดี๋ยวนี้แล้ว เพราะที่เดี๋ยวนี้ไม่มีความคิด ถ้ามีความคิดโมเมนต์นั้นก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้เสียแล้ว ให้คุณมองใหม่ ต่อเมื่อความคิดหายไปแล้วโดยที่คุณยังรู้ตัวอยู่นั่นแหละ จึงจะเป็นเดี๋ยวนี้ เพราะเดี๋ยวนี้คือความว่างเปล่าระหว่างความคิดสองความคิด ความคิดแรกจบไปแล้ว ความคิดที่สองยังไม่มา ตรงนั้นแหละคือเดี๋ยวนี้

4.. อุปมาชีวิตในภาพใหญ่เหมือนคุณไปเที่ยวเมืองลำปางแล้วได้ไปนั่งโดยสารรถม้า “ตัวรถ” ก็คือร่างกายของเรา “ม้า” ก็คือพลังชีวิตซึ่งเรารับรู้ได้ในรูปของอารมณ์ความรู้สึก “คนขับ” ก็คือความคิดหรืออีโก้ ส่วนตัวเราที่แท้จริงนั้นคือผู้โดยสารที่นั่งอยู่หลังคนขับ ตราบใดที่คุณดำเนินชีวิตโดยเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นคนขับรถ คุณก็ไม่ได้อยู่กับเดี๋ยวนี้ ต่อเมื่อคุณถอยไปเป็นผู้โดยสาร นั่งสังเกตอยู่เฉยๆ นั่นแหละคุณอยู่กับเดี๋ยวนี้ และในฐานะผู้โดยสาร คุณย่อมไม่ผูกพันกับทั้งรถ ทั้งม้า ทั้งคนขับ เพราะเมื่อถึงที่หมาย คุณจ่ายค่าโดยสารแล้วก็เดินจากกันไปคนละทาง

5.. ความตายของคนใกล้ชิดเป็น “ครูใหญ่” ให้รู้ซึ้งถึงโอกาสในแต่ละลมหายใจของเราที่ยังเหลืออยู่ ความตระหนักว่าเราทุกคนจะต้องตาย จะตายเวลาไหนก็ได้ ตายได้ทุกเมื่อ ปลายสุดของลมหายใจออกรอบนี้ หากไม่ตามมาด้วยลมหายใจเข้าของรอบใหม่ ชีวิตก็จบลงแล้ว ทำให้แต่ละลมหายใจที่ “เดี๋ยวนี้” มันเป็นโอกาสที่มีค่ามาก เพราะโอกาสอย่างนี้อาจจะไม่มีอีกแล้ว

ประเด็นคือ เราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้เราสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้มากที่สุด แทนที่จะสูญเสียแต่ละลมหายใจไปกับการจมอยู่ในความคิดซ้ำซากวกวน ซึ่งทั้งไม่สงบเย็น และทั้งไม่สร้างสรรค์

6.. ความกลัวตายเป็นความคิดที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้ เป็นแค่อีกหนึ่งความคิด เป็นความคิดที่ไม่สร้างสรรค์เสียด้วย สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะทิ้งหรือปล่อยอีโก้ให้มันตายไปเสียก่อนที่ความตายของร่างกายจะมาถึงเพื่อป้องกันไม่ให้อีโก้พาเราออกอาการทุรนทุรายจนหมดโอกาสที่เราจะได้สัมผัสเรียนรู้ความสงบเย็นและสร้างสรรค์ของช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิตที่เรียกว่า “ความตาย” นี้ การจะทิ้งอีโก้นี้ด่านใหญ่ก็คือการยอม “ลงแดง” จากการเสพย์ติดความคิด เพราะความคิดมันทำให้เราเกิดความเพลินและอาลัยใยดีทำให้เราติดหนึบอยู่กับมันเลิกไม่ได้ การฝึกวางความคิดจึงเป็นสารัตถะสำคัญของการดำรงชีวิตในลมหายใจนี้

7.. “ความเหงา (loneliness)” หรือความโหยหาที่เกาะเกี่ยวที่มั่นคง เป็นความคิดไร้สาระซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์เมื่อเราต้องอยู่คนเดียว หากคุณเปลี่ยนเอาการต้องอยู่คนเดียวนี้มาสังเกตชีวิตจากมุมมองใหม่ คือสังเกตสิ่งรอบตัวจากมุมของเดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็นโดยไม่คิดอะไรต่อยอด สถานะการณ์จะเปลี่ยนจากเหงาเป็น “วิเวก (solitude)” ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนความทุกข์จากความเหงาให้เป็นความสงบเย็นและสร้างสรรค์ เพราะเมื่อปลอดความคิด คุณจะเข้าถึงส่วนลึกของใจคุณได้เองอย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งมันมีอัตลักษณ์อยู่สามอย่างคือ (1) มันเป็นความตื่นและรู้ตัว (2) มันเป็นความรักความเมตตา (3) มันเป็นปัญญาญาณสร้างสรรค์ ซึ่งที่วิเวกนี้แหละเป็นที่ที่คุณจะเรียนรู้ที่จะไม่กลัวตายได้เอง เพราะที่วิเวกนี้ “อีโก้” ไม่ได้มาอยู่กับคุณด้วย

8.. โปรดสังเกตว่าผมไม่ได้ปลอบโยนคุณเลยที่สูญเสียภรรยาไป ยามที่คนเรากำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตอย่างที่คุณเจออยู่ขณะนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่คนเราจะเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิต จากมุมของอีโก้ซึ่งต้องการคำปลอบโยนว่า สู้สู้นะ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม มาเป็นมุมของการยอมรับเดี๋ยวนี้ซึ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่จะเป็นทางเดียวที่จะพาไปสู่ความสงบเย็นและสร้างสรรค์ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผมตอบคุณวันนี้คุณอาจน่าผิดหวังที่มันไม่ใช่คำปลอบโยน แต่ผมแนะนำว่าหากคุณอ่านวันนี้แล้วผิดหวัง ให้คุณทิ้งไว้อีกหลายๆวันแล้วกลับมาอ่านใหม่อีกหลายๆรอบ เผื่อคุณจะใช้ประโยชน์จากมันได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์