Latest

ความสองฝักสองฝ่ายในใจหมอหนุ่ม

(ภาพวันนี้ / ดอกไมยราพยามเช้า)

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเป็น extern ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งครับ การเรียนหมอ 6 ปีมันช่างยาวนานและใช้กำลังภายในเยอะพอสมควรครับ ผมเรียนรู้ที่จะพอเอาตัวรอดไปได้ในแต่ละวัน จนกระทั่งตอนมาเป็น extern ได้ไปวนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลายเดือน ซึ่งมีการทำงานที่ไม่เหมือนกับโรงเรียนแพทย์ ตัวผมมีโอกาสได้ดูแลคนไข้ ได้ฝึกทำงานเหมือนหมอคนหนึ่ง ทำให้ผมกลับมารักและเห็นคุณค่าในวิชาชีพแพทย์มากขึ้นมากๆครับ และช่วงเวลา 3 ปีของคลินิก ผมก็ค้นหาตัวเองเจอว่าชอบศัลย์ ได้ elective ในหลายๆที่ก็รู้สึกว่าใช่ แต่ติดตรง mindset ของตัวผมเองครับอาจารย์ ที่รู้สึกอยากพอ อยากวางจากการขวนขวายขะมักเขม้น (observe จาก resident ในคณะครับ) บางครั้งก็ทรมานจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองยังรู้ไม่มากพอ ทำให้ลังเลว่าจะ fix ward หรือจะไปใช้ทุนดี และมีโอกาสได้ไปตั้งแคมป์ ได้เจอกับผู้คนใหม่ๆที่หลากหลาย ทำให้รู้สึกว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่ มีอะไรให้น่าเรียนรู้อีกเยอะเลยครับ แต่การเรียนหมอนั้น ทั้งความหนักและตารางที่ไม่แน่นอน ทำให้การจัดสรรเวลาของผมเป็นไปได้ยากครับ จึงอยากปรึกษาว่าอาจารย์มีคำแนะนำ วิธีจัดการความคิด การจัดสรรเวลาของตัวเองอย่างไรครับ

ขอบคุณมากๆครับอาจารย์

………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. คนที่เรียนแพทย์ซึ่งเอียนระบบการเรียนการสอบจนร่อแร่จะไปไม่ไหว แต่เมื่อได้ไป extern ได้สัมผัสกับคนไข้จริงๆ ความรักชอบอาชีพจะกลับมา มันเป็นเช่นนี้เกือบทุกคน ดังนั้นท่านที่เป็นนักศึกษาแพทย์ที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เกินพอแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาการเมื่ออยู่ปี 3 ปี 4 อย่าเพิ่งตัดสินใจกระโดดร่มหนี ให้แกล้งถูลู่ถูกังเอามือทำบ้างเอาตีนทำบ้างลากตัวเองไปให้ถึงปี 6 แล้วค่อยไปประเมินเอาตอนโน้นว่าควรจะสู้หรือควรจะหนีดี เพราะตอนโน้นข้อมูลมันรอบด้านกว่า ทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องดีกว่า

2.. ถามว่าจบปี 6 แล้วจะเข้าโปรแกรมฝึกอบรมศัลยศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่ตัวเองชื่นชอบเลยดีไหม หรือจะไปใช้ทุนในชนบทดี ตอบว่าไปใช้ทุนในชนบทก่อนดีกว่าครับ ใช้ทุนครบแล้วค่อยว่ากัน ที่ผมตอบอย่างนี้ผมตอบจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเองไม่ได้ตอบบนหลักการรับใช้ชาติหรืออะไรทำนองนั้นทั้งสิ้น คือมองย้อนหลังไปตั้งแต่ผมไปเป็นแพทย์ใช้ทุนในชนบท กลับมาเป็นแพทย์ประบ้านในสาขาที่ชอบ ออกไปเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลศูนย์ ไปเป็นศัลยแพทย์หัวใจทำงานในต่างประเทศ กลับมาเป็นแพทย์อาวุโสวิ่งรอกหากินมือเป็นระวิงอยู่ในกรุงเทพนานจนแก่เฒ่าบางช่วงก็ทำงานบริหารไปด้วย ทั้งหมดนี้โมเมนต์ที่ผมมีความสุขที่สุดคือช่วงที่ผมใช้ทุนอยู่ในชนบท ถัดมาก็คือช่วงทำงานอยู่เมืองนอก ถัดมาก็ช่วงเป็นหมออยู่ในรพ.ศูนย์ ส่วนช่วงเป็นหมอใหญ่หากินอยู่ในกรุงเทพ เป็นช่วงที่ผมมีความสุขน้อยที่สุด นี่ว่าแต่ประเด็นความสุขนะ ไม่เอาประเด็นความภาคภูมิใจ จากตัวอย่างชีวิตของผมคนเดียวนี้คุณลองเอาไปประยุกต์ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกทางเดินของคุณเอาเองดูนะครับ

3.. พูดถึงการเป็นหมอแล้ว “รู้ไม่มากพอ” มันเป็นกันทุกคน ความรู้เกิดจากการได้รักษาคนไข้ เราแบ่งสาขาของเราเป็นสูติ ศัลย์ Med เด็ก แต่คนไข้เขามาทั้งตัวและใจเขาด้วย มาแบบ holistic การจะเรียนรู้เอาจากคนไข้เราต้องหัดเรียนแบบ holistic ไม่ใช่มองแต่จากมุมของศัลย์หรือสูติ เมื่อรักษาคนไข้นานไปคุณหมอจะค่อยๆเรียนรู้ไปเองว่าสิ่งที่ทำให้คนไข้หายจากโรคไม่ใช่เราเนรมิตให้ แต่เป็นพลังในตัวในใจของเขาเอง บทบาทของหมอเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นบทบาทของ “โค้ช” โดยอัตโนมัติ ในบทบาทนี้เราจะเข้าใจคนไข้เป็นรายคน ไม่ใช่เป็นรายวิชาสูติ ศัลย์ Med เด็ก และความสุขที่ได้จากการรักษาคนไข้ 90% เกิดจากบทบาทโค้ช มีเพียง 10% เท่านั้นที่เกิดจากการใช้วิชาสูติ ศัลย์ Med เด็ก การเรียนเป็นโค้ชเรียนจากการรักษาคนไข้ไปทีละคน เป็นการเรียนที่ต่อเนื่องจนเราเลิกอาชีพจึงจะจบ ดังนั้นอย่าไปห่วงเรื่องการที่เรายังรู้ไม่มากพอ ตราบใดที่ยังรักษาคนไข้อยู่ ความรู้มันจะมากขึ้นๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์