Latest

ท้องอืดและลมขึ้นระดับมหึมามหากาพย์

(ภาพวันนี้ / ดอกถั่วอะรูมิไร้ ที่ริมทางเดิน)

เรียน คุณหมอสันต์

จากที่ได้ดู YouTube ของคุณหมอสันต์ที่พูดถึงเรื่องลำไส้ พอดีดิฉันอายุ 65 ปี มีปัญหาลมในไส้เคลื่อนไหวตลอดเวลาและเสียงดังมาก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม2 วันที่ผ่านมาไปใส่รากฟันเทียมเขาฉีดยาชาหลายเข็มยิ่งทำให้ลมในตัวมากขึ้น จากประสบการณ์ทุกครั้งที่ถูกฉีดยาจะมีการเคลื่อนไหวของลมเช่นตอนที่ฉีดวัคซีนด้านขวาลมก็จะไปวิ่งไปที่แขนด้านซ้าย นี่เป็นข้อสังเกตส่วนตัวที่เป็นคนที่ลมเยอะเป็นพิเศษมานานแล้ว ยิ่งหมอให้ยาฆ่าเชื้อมาฆ่าแบคทีเรียยิ่งทำให้ท้องเสียถ่ายเป็นลมมากขึ้น

คืนนี้ตื่นมากลางดึก 02:00 น ซึ่งเป็นเวลาของธาตุลมก็มีอาการเวียนหัวเหมือนที่เคยเป็นเมื่อก่อนแล้วหายไปแล้วพักหนึ่งจึงแก้ไขโดยเคาะที่กลางกระหม่อมให้ลมเรอออกเพื่อลดอาการเวียนหัวแล้วล้มได้เพื่อเดินไปห้องน้ำ  มันก็จะถ่ายพุ่งเอาลมออกแล้วอาการเวียนหัวก็จะดีขึ้นเป็นแบบนี้เป็นประจำที่มีลมเยอะ คำถามคืออาการแบบนี้จะแก้ไขอย่างไรคะ เคยกินน้ำผักปั่นที่คุณหมอสันต์แนะนำก็ลมเยอะ พยายามกินถั่วเพื่อให้ได้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ก็ยังไม่สำเร็จ การกินอาหารหมักดองก็จะยิ่งทำให้ลมเยอะแล้วปวดไปตามจุดต่างๆที่มีการติดขัดของพลังปราณ เมื่อกดตรงบริเวณที่ปวดก็จะมีลมออกมา ถ้าไม่เรอออกก็จะผายลมออกหรือไม่ก็ถ่ายออก

ถ้าลมมากก็จะขับถ่ายออกแบบพุ่ง อีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ทำให้ปวดหัวหรือปวดถ่ายจนถ่ายพุ่งเมื่อถ่ายออกก็หายอาการปวดคือการเข้าไปสัมผัสกับแอร์เย็นๆของแอร์บางห้องที่มีลมพุ่งเป็นพิเศษ อีกสิ่งเร้าหนึ่งก็คือการดูคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลที่มีการวิ่งของตัวหนังสือมากๆเช่นการเทรดทองคำแบบ real time หรือแม้แต่การเจอลมฝนหรือลมหนาวที่มาอย่างรวดเร็ว (ในขณะที่เขียนอยู่นี้นืกขึ้นได้ว่าน่าจะกินยาพิฆาตวาโยของหมอพื้นเมืองที่ได้รับมานานแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้มันตีกันกับยาที่หมอฟันให้มา)

รบกวนขอความเห็นและคำแนะนำ

ขอบคุณมากค่ะ

ปล.ยินดีรายงานผลจากประสบการณ์เรื่องลมในตัวหรือเป็นตัวทดลองให้ในการวิจัยเรื่องลมซึ่งจริงๆแล้วคือสาเหตุของอาการปวดต่างๆ

……………………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามผมขอ “จำกัดเขต” ให้ชัดๆก่อนว่าผมตอบได้แต่ในขอบเขตของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งผมมีความรู้และใช้วิชานี้ทำมาหากินอยู่เท่านั้น วิชาแพทย์ไม่มีคอนเซ็พท์เรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ ยิ่งประเภทเคาะกระหม่อมแล้วลมพุ่งออกทางก้นนั้น หิ..หิ เป็นศาสตร์ลึกลับที่วิชาแพทย์ไม่รู้จักเลยครับ ผมมิอาจล้วงลูกเอามาตอบได้

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าในคนปกติ ลมขนาดมหึมามหากาพย์ในกระเพาะลำไส้มันมาจากไหนกัน ตอบว่ามันมาจากสี่ทางคือ

1.1 กลืนลมเข้าไปดื้อๆ เช่นชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง ชอบดูดอาหารเหลวด้วยกล้องดูด (หลอดดูดอันโตๆ) ชอบดูดอาหารแท่งแบบอมแล้วดูด อมแล้วดูด ชอบดื่มอะไรเร็วๆอั๊ก อั๊ก อั๊ก หรือแม้กระทั่งฟันปลอมหลวมก็ทำให้กลืนลมลงท้องมากขึ้น

1.2 จากตัวอาหารเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารในกลุ่มแป้งย่อยยากเช่นโอลิโกแซคคาไรด์เป็นต้น กินเข้าไปแล้วมักถูกจุลินทรีย์ในลำไส้ชนิดทำงานครึ่งๆกลางย่อยแล้วเกิดแก้สทิ้งไว้

1.3 จากจุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดขยันสร้างลมขึ้นมาจากอาหาร แต่หากจุลินทรีย์มีดุลยภาพดี หมายความว่ามีจุลินทรีย์ที่ถนัดย่อยอาหารกลุ่มแป้งย่อยยากได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ อาการลมขึ้นก็จะน้อย

1.4 จากการที่ทางเดินอาหารมีการเคลื่อนไหวน้อยอันสืบเนื่องจากการที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวน้อย ร่างกายนี้ออกแบบมาให้ทำงานได้ดีขณะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ เมื่อหยุดเคลื่อนไหวก็..เสร็จ

2.. ถามว่าแล้วมันมีโรคหรือการเจ็บป่วยแบบที่ทำให้เกิดลมในท้องขึ้นมากมายบ้างไหม ตอบว่ามี ตัวอย่างของคนป่วยก็เช่นตัวคุณนี่ไง โรคแบบนี้วิชาแพทย์รู้แต่ว่ามันมีอยู่ แต่ไม่รู้สาเหตุว่ามันเกิดจากอะไรและจะรักษาอย่างไร จึงตั้งชื่อโรคแบบแพทย์รู้กันเองว่าคือ “โรคอะไรไม่รู้และไม่รู้จะรักษายังไง” จึงได้แต่ใส่เสื้อกาวน์และวางฟอร์มให้คนไข้สบายใจ แต่คนไข้ฟังชื่อโรคแล้วเลื่อมใสศรัทธาว่าตัวเองเป็นโรคที่หมอรู้จักแล้วและหมอกำลังให้การรักษาอยู่ ชื่อโรคเหล่านั้นได้แก่

2.1 โรคในกลุ่มลมค้างในท้องแยะโดยหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าโรค irritable bowel syndrome (IBS) บ้าง functional GI disorder บ้าง โรคอาหารไม่ย่อย (functional dyspepsia) บ้าง สมัยหมอสันต์เป็นหนุ่มทำงานเป็นหมอบ้านนอกได้ตั้งชื่อเรียกโรคในกลุ่มนี้เพื่อให้คนไข้เข้าใจง่ายว่า “โรคประสาทลงลำไส้” ซึ่งสี่สิบปีต่อมาวงการแพทย์ก็ได้พบหลักฐานว่าการทำงานของทางเดินอาหารเป็นผลจากการประสานงานหรือประสานงาของสามส่วนย่อย คือ สมอง ทางเดินอาหาร และจุลินทรีย์ในลำไส้ เรียกสายการประสานงานนี้ว่า gut-microbiota-brain axis ดังนั้นชื่อที่หมอสันต์ตั้งไว้ก็ถูกต้องแล้วอย่างน้อยสองในสาม ขาดก็แต่ส่วนจุลินทรีย์ไปเพราะสมัยโน้นความรู้แพทย์เรื่องนี้ยังไม่มี ถ้าเป็นสมัยนี้หมอสันต์จะตั้งชื่อโรคในกลุ่มนี้ว่าโรค “สมอง-ลำไส้-จุลินทรีย์ ตีกัน” ผิดถูกอย่าว่ากัน เพราะนี่เป็นโรคหมอทำ เอ๊ย.. ไม่ใช่ โรคหมอสันต์ตั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่อให้วิจิตรพิศดารอย่างไร ก็ยังไม่รู้วิธีรักษาอยู่ดี

3.. ถามว่าแล้วลมในท้องเยอะที่เกิดจากโรคที่เป็นโรคจริงๆ รู้สาเหตุเหน่งๆ และรักษาได้เน็ดๆ ไม่มีเลยหรือ ตอบว่ามีเหมือนกัน แต่อาจไม่ใช่ในกรณีของคุณ เช่น

3.1 โรคขาดเอ็นไซม์ย่อยแป้งหรือน้ำตาล เช่น

3.1.1 โรคเอ็นไซม์แล็คเตสไม่พอใช้มาแต่กำเนิด (lactose intolerance ) ทำให้ย่อยแล็คโต้สซึ่งเป็นน้ำตาลในนมไม่ได้ กินนมทีไรก็นมเอ๊ย..ไม่ใช่ ลมขึ้นและท้องไส้ปั่นป่วนทุกที เป็นโรคนี้จริงก็ต้องเลี่ยงนม

3.1.2 โรคทนฟรุ้ตโต้สไม่ได้ (dietary fructose intolerance) เพราะเอ็นไซม์ฟรุ้คเตสมีไม่พอใช้มาแต่กำเนิด เวลากินอะไรหวานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่ใช้น้ำเชื่อมฟรุ้คโต้สคอร์นไซรัพเป็นตัวให้ความหวานเช่นน้ำอัดลมเป็นต้น ก็จะเกิดอาการผิดสำแดงต่างๆนาๆขึ้นในทางเดินอาหาร ถ้าเป็นโรคนี้จริงก็ต้องเลี่ยงอาหารหวานที่มีส่วนผสมของฟรุ้คโต้ส ซึ่งก็คือรสหวานธรรมชาติทั้งหลายในโลกนี้นั่นเอง ยกเว้นรสหวานปะแล่มๆของกลูโค้สกินได้ไม่เป็นไร

3.2 โรคซิลิแอค (celiac disease หรือ sprue) โรคนี้มันตั้งต้นจากร่างกายมีปฏิกริยากับโปรตีนตัวหนึ่งในข้าวสาลีชื่อกลูเต็น คือเจอกลูเต็นเมื่อไหร่ร่างกายจะต่อต้านเกิดการอักเสบขึ้นที่โน่นที่นี่โดยมีศูนย์รวมการต่อต้านอยู่ในลำไส้นั่นเอง (enteropathy) มีอาการได้สองแบบ แบบแรกคืออาการเด่นที่ระบบทางเดินอาหารแบบว่าลำไส้อักเสบดูดซึมอาหารได้ไม่ดีจนขาดวิตามินเกลือแร่ต่างๆกลายเป็นโรคขาดอาหารผอม หัวโต พุงโร ก้นลีบ อีกแบบหนึ่งมีอาการเด่นอยู่นอกระบบทางเดินอาหารคือมีการอักเสบไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดก็ดี โรคเก้าท์ โรคเอ็นอักเสบเสื่อมสภาพเร็วผิดสังเกต หรือมีอาการทางระบบประสาทเช่นทรงตัวไม่ได้เวียนหัวบ้านหมุนก็ดี เป็นได้หมด ถ้าเป็นโรคซิลิแอคจริงก็ต้องงดอาหารทุกชนิดที่มีกลูเต็นเช่นแป้งข้าวสาลีเป็นต้น

3.3 โรคกระเพาะเคลื่อนไหวช้า (gastroparesis) วิธีพิสูจน์เป็นวิธีโบราณที่ไม่ซับซ้อน สมัยก่อนให้กลืนลูกปัดแล้วไปตามนับเอาที่อึว่าลูกปัดใช้เวลาเดินทางนานแค่ไหน ปกติ 24 ชั่วโมงมันควรออกไปทางทวารหนักได้แล้ว อย่างอืดสุดๆก็ไม่เกิน 7 วัน สมัยนี้การวินิจฉัยใช้วิธีให้กลืนแค้ปซูล SmartPill ซึ่งเอามาวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่ามันเดินทางมาอย่างไรไปติดค้างอยู่ตรงไหนบ้าง แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงวินิจฉัยโรคนี้ได้ก็ใช่ว่าจะมีวิธีรักษา เพราะสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรค gastroparesis คือไม่พบสาเหตุ หรือ idiopathic แล้วจะรักษาพรื้อละครับ แฮ่..แฮ่..แฮ่ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

3.4 ข้อนี้คุณไม่ต้องอ่านก็ได้ แต่ถ้าอ่านต้องอ่านอย่างใส่ใจ คือมีหมอจำนวนหนึ่งเชื่อว่ามีโรคอยู่โรคหนึ่งซึ่งเขาตั้งชื่อว่า Small Intestinal Bacterial Overgrowth – SIBO โดยนิยามว่าคือโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเพิ่มขนาดมากผิดปกติ ต้องรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และห้ามกินนั่นกินนี่ที่เป็นแป้งย่อยยาก แต่วงการแพทย์กระแสหลักยังไม่เชื่อว่ามีโรค SIBO อยู่จริง และวิธีรักษาที่ทำไปก็ไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าได้ผล มีแต่จะทำให้คนไข้เดือดร้อนมีชีวิตลำบากยิ่งขึ้นเพราะนี่ก็กินไม่ได้นั่นก็กินไม่ได้

3.5 โรคมหาอุตม์ (gut obstruction) หมายความว่ามีอะไรไปอุดกั้นการเคลื่อนไหวของอาหารในลำไส้ เช่นเนื้องอกของลำไส้เป็นต้น โรคนี้อาการมักจะชัดถึงขั้นท้องจะระเบิดจะเป็นจะตาย ทำให้คนไข้ต้องรีบไปหาหมอ แล้วหมอก็จะวินิจฉัยด้วยส่องกล้องดูทั้งส่องบน ส่องล่าง และทำ CT ดูภาพของท้อง เป็นต้น ส่วนการรักษานั้นมักจบด้วยการผ่าตัด ที่สำคัญและใกล้เคียงกับโรคมหาอุตม์ก็คืออาการท้องผูกเรื้อรังนี้ก็ทำให้ลมคั่งในท้องได้

4.. สรุปว่าจะให้รักษาลมในท้องแยะอย่างไร ตอบในภาพใหญ่ว่า ไม่ทราบครับ แหะ..แหะ

ไม่ใช่ผมไม่ทราบคนเดียวนะ วงการแพทย์ทั้งโลกก็ยังไม่ทราบ จึงได้แต่วางฟอร์มทำการวินิจฉัยและรักษากันไป นี่เป็นวิธีปฏิบัติวิชาชีพส่วนของแพทย์ สำหรับตัวคุณในฐานะผู้ป่วยซึ่งอยู่มาได้ถึงปูนนี้แล้วผมแนะนำว่าการจะไปเริ่มต้นด้วยการให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยไปทีละโรคนั้นอาจจะไม่ทันเสียแล้ว เพราะคนอื่นที่ท้องอืดแบบเดียวกันเขาตั้งต้นหาหมอกันมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนมาจนอายุเท่าคุณเขายังตรวจรักษากันไม่ทันเสร็จเลย ดังนั้นผมแนะนำว่าให้คุณทำการทดลองกับตัวเอง ดังนี้

4.1 ทดลองเพื่อวินิจฉัยแยกโรคขาดแล็คเตส โดยกินนมและผลิตภัณฑ์นมเต็มที่อย่างน้อยหนึ่งเดือน แล้วงดกินนมและผลิตภํณฑ์นมอีกหนึ่งเดือน แล้วประเมินผล

4.2 ทดลองเพื่อวินิจฉัยแยกโรคขาดฟรุ้คเตส โดยกินของหวานทุกอย่างที่ขวางหน้าหนึ่งเดือน แล้วงดของหวานทุกอย่างอีกหนึ่งเดือน ถ้ากลัวขาดพลังงานก็ซื้อน้ำตาลกลูโค้สกินแทนไปก่อน ครบเดือนแล้วประเมินผล

4.3 ทดลองวินิจฉัยแยกโรคซิลิแอค โดยการกินทุกอย่างที่มีกลูเต็นหนึ่งเดือน แล้วทดลองงดทุกอย่างที่มีกลูเต็นหนึ่งเดือน แล้วประเมินผลฃ

4.4 ทดลองเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้เสียใหม่ นี่เป็นการทดลองครั้งใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่าสรุปผลเร็วกว่านี้เพราะการเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ต้องใช้เวลา วิธีทำคือเลิกกินเนื้อสัตว์ กินแต่พืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้กากมาก และมีแป้งย่อยยากแยะรวมทั้งถั่ว งา นัท ธัญพืชไม่ขัดสี กินให้หมดแต่กินแบบเริ่มน้อยๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น กินอาหารหมักพวก probiotic รวมทั้งโยเกิร์ตด้วย ในช่วงนี้ห้ามกินยาปฏิชีวนะใดๆ ในการเริ่มการทดลองใหม่ๆคุณจะท้องอืดมากขึ้นปางตาย แต่ผมรับประกันว่าคุณจะไม่ตาย ให้ทนทำการทดลองไป กินจนคุณขับถ่ายได้มากกว่าวันละหนึ่งครั้ง แล้วกินไปจนครบหกเดือน แล้วประเมินผล อย่าประเมินผลก่อนหกเดือน เพราะจุลินทรีย์ในลำไส้มันเปลี่ยนชนิดไม่ทัน

4.5 ทดลองรักษาโรคปสด. ประสาทแด๊กซ์ (ถ้ามี) ด้วยการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นอนหลับให้พอ ออกแดดทุกวัน หัดมองโลกแต่แง่ดี หัดรับรู้และยอมรับอาการแบบอยู่กับมันไป ท้องอืดก็โอเค. ท้องโล่งก็โอเค. ยอมรับหมด บางทีทดลองอันนี้อันเดียวคุณอาจจะหายเลยก็ได้ อาจจะไม่ใช่ท้องอืดหายนะ แต่คุณชาด้านกับมันไปเอง ฮิ..ฮิ

รวมเวลาทดลองทั้งหมดอย่างน้อยหนึ่งปี หากได้คำตอบและแก้ปัญหาได้ ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เทียบกับเพื่อนของคุณที่เป็นแบบเดียวกันแต่เขาขยันไปหาหมอกินยามาหลายสิบปี ป่านนี้เขายังไปไม่ถึงไหนกันเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. หลังจากตอบคำถามนี้แล้ว ผมจะหายตัวไปหลายสัปดาห์เพื่อพา ม. ไปเที่ยว ตปท. พบกันอีกที เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

บรรณานุกรม

1. Lacy BE, Cangemi D, Vazquez-Roque M. Management of chronic abdominal distension and bloating. Clinical Gastroenterology and Hepatology. 2021;19(2):219–231.e1. doi: 10.1016/j.cgh.2020.03.056

2. Cotter TG, Gurney M, Loftus CG. Gas and bloating-controlling emissions: a case-based review for the primary care provider. Mayo Clinic Proceedings. 2016;91(8):1105–1113. doi: 10.1016/j.mayocp.2016.04.017

3. Rao SSC, Lee YY. Chapter 40: Approach to the patient with gas and bloating. In: Podolsky DK, Camilleri M, Fitz G, et al, eds. Yamada’s Textbook of Gastroenterology. 6th ed. John Wiley & Sons, Ltd; 2016:723–734.