Latest

หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR-33 เรื่องคอนเซ็พท์ของชีวิต

(ภาพวันนี้ / หมอกเช้า หน้าบ้าน)

เรามาที่นี่ เพื่อเสาะหาวิธีหลุดพ้นออกไปจากกรงความคิดของเราเอง จะด้วยเหตุใดก็ตาม (1) บ้างมาเพราะความคิดทำให้เครียด (2) บ้างมาเพราะความคิดทำให้เราป่วย (3) บ้างมาเพราะความคิดทำให้ไม่มีความสุข หรือบางคนมาด้วยเหตุพิเศษ คือ (4) ใจมีแต่ความสงสัยตะหงิดๆว่าชีวิตมันมีแค่นี้หรือ กิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ ป่วย ทุกข์ แล้วก็ตายไป มันมีอะไรควรค่าแก่การเสาะหาทำความรู้จักมากกว่านี้อีกไหม

ไม่ว่าแต่ละท่านจะมาด้วยเหตุใดก็ตาม ผมจะแบ่งเรื่องที่เราจะพูดจะทำขณะอยู่ด้วยกันสี่วันที่นี่ออกเป็นสองส่วน คือ (1) คอนเซ็พท์ของชีวิต (2) การลงมือปฏิบัติเพื่อวางความคิด สี่วันนี้ผมคาดหวังจะให้ท่าน “แม่นยำในคอนเซ็พท์ของชีวิต และช่ำชองในการใช้เครื่องมือวางความคิด”

“แม่นยำในคอนเซ็พท์ ช่ำชองในการใช้เครื่องมือ”

ผมมีเวลาให้กับคอนเซ็พท์แค่ 5% เพื่อจะได้ให้เวลากับการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิด 95 %

ในชั่วโมงแรกนี้เรามาคุยกันเรื่องคอนเซ็พท์ของชีวิตก่อน

ผมมีคอนเซ็พท์หลักของชีวิตที่จะเสนอให้ทำความเข้าใจเพียงห้าเรื่องเท่านั้น คือ

คอนเซ็พท์ที่ 1. การยอมรับ (Acceptance) หมายถึงการที่เราควรจะขยันผ่อนคลาย ยิ้ม นิ่ง กับแต่ละโมเมนต์ของชีวิต “นิ่ง” หมายความว่าเราอยู่นิ่งๆ ตรงกลาง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบ ที่อยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ หรือไม่อยากได้ อะไรโผล่เข้ามาในชีวิตเรา เราก็โอเค.หมด เรายอมรับหมด อะไรที่จะจากเราไปเราก็โอเค.หมด ยอมรับหมด ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรน ไม่ร้อนรนกระวนกระวาย ไม่กระต๊าก..ก ไม่ดราม่า ไม่ปกป้อง ไม่ต่อต้านอะไร

เน้นเป็นพิเศษกับการยอมรับคนรอบตัว แบบยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ไม่ไปหงุดหงิดหรือพยายามอยากจะให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

การยอมรับนี้หมายความรวมถึงยอมรับความไม่จีรัง (impermanence) ของทุกอย่างในชีวิตนี้ด้วย ยอมรับว่าในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่เราจะเป็นเจ้าของหรือบงการได้ (selflessness) ด้วย

คอนเซ็พท์ที่ 2. การใช้ชีวิต (Living) หมายถึงการที่เราให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่หรือการดำรงชีวิตอยู่ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ถ้าจะขยายการใช้ชีวิตให้กว้างที่สุดก็ไม่เกินลมหายใจนี้ คือชีวิตดำรงอยู่ทีละลมหายใจ เริ่มจากหายใจเข้าไปสิ้นสุดที่ปลายของการหายใจออก ณ ที่ปลายของลมหายใจออก หากไม่มีการหายใจเข้าครั้งใหม่ ชีวิตก็จบแค่นั้น ดังนั้นการใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ตราบใดที่ยังหายใจเข้าออกได้ ก็ยังใช้ชีวิตได้ ประเด็นคือเราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้มันเป็นชีวิตที่สงบเย็น และสร้างสรรค์

ต่างจากการมองชีวิตจากอีกมุมหนึ่ง คือ สถานะการณ์ในชีวิต (Life situation)ซึ่งเป็นเรื่องราว เป็นนิยาย เป็นดราม่า เป็นนิทาน ที่เราแต่งขึ้นจากฉากหรือเหตุการณ์รอบตัวโดยมีตัวตนหรืออีโก้ของเราเป็นศูนย์กลาง มีเรื่องราวเป็นตุเป็นตะ ในมิติของเวลา มีอดีต มีอนาคต เหมือนหนังที่เราสร้างขึ้นมาเองแล้วฉายให้ตัวเองดู แต่ว่าเผอิญเรามีความสามารถสร้างได้แต่หนังห่วยๆ ดูแล้วก็เครียด น้อยมากที่การสร้างหนังให้ตัวเองดูจะมีคนสร้างหนังดีๆที่ตัวเองดูแล้วผ่อนคลายเป็นสุข ดังนั้นประเด็นของผมคืออย่าไปให้ความสนใจกับสถานะการณ์ในชีวิตมากนัก ให้โฟกัสที่การใช้ชีวิตทีละลมหายใจ

คอนเซ็พท์ที่ 3. การเปลี่ยนตัวตน (Change of identity) คนเรานี้แท้จริงแล้วมีสองตัวตน “ตัวตนแรก” ที่เรารู้จักคุ้นเคยคือการเป็นบุคคลคนนี้ มีชื่อนี้ นามสกุลนี้ เรียนจบมาเรื่องนี้ ทำมาหากินอาชีพนี้ อยู่ในสังคมในประเทศนี้ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี มีทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านี้ มีความผูกพันกับคนรอบตัวกับคนนี้ในสถานะนั้น กับคนนั้นในสถานะนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแค่เรื่องราวที่เราวาดภาพตัวของเราขึ้นในสมองของเราเอง พูดง่ายว่าตัวตนที่หนึ่งเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงชุดของความคิดที่เราสมมุติขึ้นและพยายามยึดถือปกป้องให้มันดูเป็นจริงเป็นจัง

“ตัวตนที่สอง” ก็คือตัวเราเองในภาวะที่ปลอดตัวตนที่หนึ่ง หรือผมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคือ “ความรู้ตัวในขณะปลอดความคิด”

ฟังให้ดีนะ ความรู้ตัวในขณะปลอดความคิด เรากำลังพูดถึงภาวะปลอดความคิด เมื่อไม่มีความคิด ก็ไม่มีภาษาไปอธิบายได้เพราะภาษามีขึ้นเพื่อสื่อความคิด จึงทำได้แต่พูดอ้อมๆให้เห็นรางๆ แล้วไปทำความรู้จักกับมันเอาเอง แต่ในการสื่อถึงตัวตนที่สองหรือความรู้ตัวขณะปลอดความคิดนี้ยังไงเราก็ต้องอาศัยภาษา ผมจึงขอสรุปเป็นภาษาแบบเลาๆว่ามันมีสามลักษณะอยู่ในสิ่งเดียวกัน แบบ three in one คือ

(1) มันเป็นความตื่นและรู้ตัว (awareness) หมายความว่าตื่นอยู่ และสามารถรับรู้ได้

(2) มันเป็นความเมตตา (compassion) เพราะตรงนี้ไม่ผลประโยชน์ของตัวตนที่หนึ่งมาเกี่ยวข้อง มันจึงไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชีวิตเรากับชีวิตอื่น หมายความว่าจากมุมของความรู้ตัวนี้ ชีวิตเรากับชีวิตอื่นเป็นสิ่งเดียวกัน

(3) มันเป็นปัญญาญาณ (wisdom) หรือในภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า intuition หรือ insight ก็ได้ เอาเป็นว่ามันเป็นปัญญาที่ผุดขึ้นมาเองโดยไม่ผ่านการเรียนรู้ในอดีตของเราละกัน ความจริงมันได้ผุดขึ้นมาเองดอก มันอยู่ที่นั่นแหละ เพียงแต่ว่าความคิดของเราบังมันเอาไว้

การเปลี่ยนตัวตน ผมหมายถึงเราตั้งใจย้ายการเป็นตัวตนแรกมาเป็นตัวตนที่สอง จากการเป็นบุคลลคนหนึ่งที่มีทรัพย์มีความยึดถือเกี่ยวพันที่ต้องปกป้องดูแล มาเป็นความรู้ตัวที่สงบเย็นมีเมตตาต่อทุกชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่มีผลประโยชน์ อุปมาเหมือนเรามีบ้านหลังหนึ่งอยู่ในกรุงเทพ ต่อมาปลูกอีกหลังหน้าที่ต่างจังหวัด แล้วเราก็ค่อยๆย้ายจากหลังแรกมาอยู่หลังที่สองมากขึ้นๆ ตอนวัยทำงานอาจแทบไม่มีเวลาไปอยู่บ้านต่างจังหวัดเลย พอเกษียณแล้วก็มาอยู่บ้านต่างจังหวัดสัปดาห์ละหลายวัน แต่ว่าบ้านที่กรุงเทพก็ยังอยู่ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรุนแรงแบบว่าย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วขายบ้านกรุงเทพทิ้ง

การเปลี่ยนตัวตนต้องเกิดขึ้นก่อน มนุษย์เราจึงจะหลุดพ้นจากกรงของความคิดที่ครอบเราไว้อย่างอยู่หมัดได้ เพราะทุกความคิด สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ล้วนชงขึ้นมาเพื่อปกป้องหรืออวย “ผลประโยชน์” ของตัวตนที่หนึ่งทั้งสิ้น ตราบใดที่ตัวตนที่หนึ่งยังแข็งแรงอยู่ ตราบนั้นความคิดก็จะยังเป็นนายเราอยู่ร่ำไป

คอนเซ็พท์ที่ 4. เรื่ององค์ประกอบของชีวิต นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักคิดทุกยุคพูดเหมือนกันว่าชีวิตเป็นเพียงสิ่งประกอบชั่วคราวขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อย บ้างแบ่งองค์ประกอบย่อยเหล่านั้นออกเป็นสองส่วนบ้าง สามส่วนบ้าง ห้าส่วนบ้าง เจ็ดส่วนบ้าง แต่คอนเซ็พท์หลักมักคล้ายกัน ผมจะเลือกเอาที่เขาแบ่งองค์ประกอบของชีวิตออกตามเป็นห้าส่วน คือ

(1) ร่างกาย (physical body) ซึ่งมีวิธีทำงานแบบกลไกอัตโนมัติเสีย 95% เหลืออีก 5% เป็นการทำงานภายใต้การกำกับของความคิดจิตใจ

(2) พลังชีวิต (life energy) หมายถึงพลังงานที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตเคลื่อนไหวดำเนินไปได้ เรารับรู้พลังชีวิตในรูปแบบของความรู้สึก (feeling) ทั้งทางร่างกายเช่น ความปวด ความรู้สึกซู่ซ่า และทางใจเช่น ความรู้สึกคึกคักกระดี๊กระด๊า

(3) ความจำ (memory) ทั้งความจำที่เกิดจากการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนโต และความจำที่ฝังแฝงมาในเซลร่างกายในรูปของยีนที่เราได้จากพ่อและแม่ ซึ่งยีนนั้นยังถูกปรับเปลี่ยนด้วยสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

(4) ความคิด (thought) ซึ่งอาจแยกย่อยไปได้อีกสามแบบคือ สัญชาติญาณ (instinct) ความคิดอ่าน (intellect) และปัญญาญาณ (intuition) แต่ละแบบมีกลไกการเกิดต่างกัน สองแบบแรกมีกลไกการเกิดแบบวงจรสนองตอบอัตโนมัติ และเกิดแบบเดิมๆ ซ้ำๆซากๆ และวกๆวนๆ

(5) ความรู้ตัว (consciousness) คือความตื่น ความรู้ตัว ความสามารถรับรู้ได้ เป็นส่วนที่ลึกละเอียดที่สุดของชีวิต มีธรรมชาติประจำสามอย่าง คือเป็นความรู้ตัว เป็นความเมตตา และเป็นปัญญาญาณ

ความเข้าใจองค์ประกอบของชีวิตมีความสำคัญอย่างไร อุปมาเราได้โทรศัพท์ไอโฟนมาเครื่องหนึ่ง มันทำอะไรได้แยะมาก แต่เราใช้มันได้นิดเดียวคือแค่โทรศัพท์ เปิดไลน์ เปิดเฟส และดูติ๊กต๊อก อย่างอื่นเราไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้บ้างและเราก็ไม่เคยใช้ แต่ไอโฟนยังดีที่มีคู่มือการใช้งาน ส่วนชีวิตอันประกอบด้วยกายและใจนี้มันเป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนกว่าไอโฟนหลายเท่า นอกจากเราไม่มีไอเดียว่ามันประกอบขึ้นมาจากอะไรและใช้การอะไรได้บ้างแล้ว คู่มือใช้งานก็ไม่มี เราก็เลยนึกว่าเราเป็นแค่หุ่นยนต์รุ่นโบราณตัวหนึ่ง เกิดมาแล้วก็กิน ขับถ่าย นอน เข้าโรงเรียน ทำงาน แต่งงาน สืบพันธ์ แล้วก็ตายไป เหมือนกับหุ่นยนต์ตัวอื่นๆซึ่งทำเช่นนี้มาช้านาน เหมือนกับหมาแมว ต่างกันแค่ว่ากว่าจะทำเพียงแค่นี้ได้เราเป็นทุกข์แทบตาย ขณะที่หมาแมวมันทำได้เท่ากันโดยไม่เห็นมันจะต้องทุกข์ร้อนอะไรมากมายเลย

แต่ถ้าเราสนใจกายนี้และใจนี้เหมือนคนที่ซื้อไอโฟนมาแล้วขยันอ่านคู่มือการใช้งานดูเสียหน่อย เราก็จะรู้ว่าองค์ประกอบส่วนสำคัญสองส่วนคือร่างกายและความคิดนั้น มันมีกลไกการทำงานแบบปฏิกริยาสนองตอบอัตโนมัติ (automatic reflex) ซึ่งดูเผินๆเหมือนว่าเราเข้าไปแทรกแซงอะไรไม่ได้เลยต้องปล่อยไปตามยถากรรม แต่หากเรารู้วิธีและลงมือเข้าไปแแทรกแซงตัดตอนวงจรสนองตอบอัตโนมัติของมันอย่างได้จังหวะ เราก็จะเข้าถึงฟังชั่นดีๆอื่นๆของมันได้ และจะพบว่าการใช้ชีวิตนั้นง่ายมาก

คอนเซ็พท์ที่ 5. ทิศทางในการดำเนินชีวิต โลกนี้มีแต่ข้อกำหนดวิธีดำเนินชีวิตเต็มไปหมด โดยนักปกครองบ้าง โดยนักบวชบ้าง ที่เขียนไว้เป็นหนังสือหรือคัมภีร์ก็มาก แต่ไม่มีหนังสือหรือคัมภีร์เล่มไหนเลยที่จะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงขั้นสุดท้าย (reference) ได้แม้แต่เล่มเดียว ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฏก คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์เวดะ คัมภีร์เต๋า ดังนั้นสำหรับทิศทางการใช้ชีวิตของผมเอง ผมพึ่งแต่ประสบการณ์ของตนเอง ผมไม่ได้ “เชื่อ” หรือไม่ได้ “ไม่เชื่อ” คำสอนใดๆโดยทันที แต่ใครว่าอะไรดีผมรับฟังแล้วเอามาลองปฏิบัติดูเองหมด แล้วประเมินเอาจากประสบการณ์ของตนเอง ที่ดีจริงก็เก็บเอาไว้ใช้ ที่ไม่ดีจริงก็ทิ้งไป โดยไม่สนใจว่าใครเป็นคนพูดไว้

ในการกำหนดทิศทางดำเนินชีวิต มันเป็นเรื่องของใครของมัน ผมทำได้แค่ยกตัวอย่างของผมมาแชร์ให้ฟังเท่านั้น เบื้องนอกผมทำตัวให้อยู่ในสังคมได้ไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน ขณะที่ทิศทางการดำเนินชีวิตของผมที่แท้จริงคือมุ่งทิ้งคอนเซ็พท์ ตรรกะ คำสอนใดๆ ที่ได้เรียนรู้มาแล้วไปให้หมด เพื่อถอยเข้าไปหา “ความรู้ตัวที่ปลอดความคิด” ซึ่งเป็นส่วนลึกในตัวเอง ผมพบว่าที่ตรงนี้นอกจากจะสงบเย็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นมาได้เต็มศักยภาพที่ผมเองมีอีกด้วย คือมันเป็นแหล่งของปัญญาและความรู้ที่หาไม่พบที่ข้างนอก มันทำให้ผมบรรลุเป้าหมายสุดท้ายที่มีไว้ในใจ คือการมีชีวิตที่

“สงบเย็น และสร้างสรรค์”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์