Latest

เป็นหมอเปิดคลินิกจนคนไข้ติด เกษียณแล้วอยากปิดแต่ปิดไม่ลง

(ภาพวันนี้ / ดอก ฮอลลี่ฮ็อค)

ขอคำปรึกษาจากอจ.หมอค่ะ

เราสองคน สามีจบแพทย์ … รุ่น … ดิฉันพยาบาล ดิฉันลาออกก่อนเกษียณค่ะ ส่วนคุณหมอรับราชการจนเกษียณ เราสองคนจากรพ. … ไปอยู่ รพ. … ย้ายไปจว. … ก่อนจะย้ายมา จว … เพราะ อจ.ในกระทรวงให้มาช่วยเพราะที่นี่หมอลาออกกันมากขาดแคลนแพทย์ อยู่มาตั้งแต่ปี … เกษียณแล้วอยากจะปิดคลินิกแต่ปิดไม่ลงเพราะเป็นห่วงคนไข้ จะขอปรึกษาอจ.ว่าตอนอจ.จะปิดคลินิก อจ.ทำยังไงคะ ห่วงคนไข้ปิดไม่ได้สักทีค่ะ คิดว่าจะปิดต้นปี 67 ค่ะ

……………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเปิดคลินิกทำมาจนเกษียณ จะปิดดีไหม ตอบว่าทุกอย่างเมื่อมี “เปิด” ก็ต้องมี “ปิด” ไม่ปิดตอนนี้ก็ต้องไปปิดเอาตอนสุดท้าย คือตายคา (ขอโทษ หิ หิ) ถ้าเลือกแบบแรกต้องมีแผนลูกประกอบ คือปิดแล้วจะไปทำอะไร เพราะปัญหาของผู้สูงอายุที่ป่วยหรือเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้สาเหตุหนึ่งคือแก่แล้วไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าเลือกเอาแบบหลังไม่ต้องมีแผนลูกประกอบ เพราะเมื่อตายคาแล้วปัญหาทุกอย่างก็จบไปพร้อมกันแบบรูดมหาราช

2.. ถามว่าสมัยหมอสันต์ปิดคลินิกส่วนตัวของตัวเองทำอย่างไร ตอบว่า โห.. ผมต้องทบทวนความจำหน่อยนะ เพราะนั่นมันปีพ.ศ. 2525 ซึ่งก็คือสี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมจำได้ว่าสมัยหนุ่มๆผมทำอะไรไม่มีแผนมากหรอก เล่าเรื่องวันเปิดก่อนนะ พออยากมีเงินมาใช้หนี้ผมก็เปิดคลินิก เปิดโดยขาดแผนที่ดี เปิดมาวันแรกลูกค้าล้นหน้าร้านจนยาหมดยังมีลูกค้ารอตรึม ผมจึงปิดประตู ก็ยังมีลูกค้ายื่นมือสลอนเข้ามาขอซื้อยาทางหน้าต่าง ผมต้องแอบออกประตูหลังปล่อยให้เด็กเอียดอายุ 15 ปี ซึ่งจ้างมาเป็นเสมียนหน้าร้านรับหน้าลูกค้าแทน หิ..หิ

พอถึงวันจะปิดคลินิก ผมใช้วิธีประกาศไปในหมู่เพื่อนแพทย์รุ่นเดียวกันที่ทำงานอยู่ในละแวกแถบนั้นว่าใครอยากมาทำคลินิกของผมต่อบ้าง โชคดีที่มีเพื่อนคนหนึ่งมารับช่วง ก่อนปิดสองสามเดือนผมบอกคนไข้ว่าผมจะไปละนะ คนไข้โรคเรื้อรังทุกคนต้องเลือกว่าจะสมัครใจไปรักษากับใครที่ไหน ทางเลือกแรกก็คือผมดึงหมอเก่งจากจุฬามาทำต่อที่นี่ให้ อีกทางเลือกหนึ่งคือหากท่านจะไปรักษาต่อกับหมออื่นที่เมืองอื่นเช่นที่หาดใหญ่หรือกรุงเทพฯให้บอกมาผมจะทำหนังสือส่งตัวอย่างละเอียดให้ คนที่ไม่ย้ายไปไหนผมก็เขียนประวัติเก่าทิ้งไว้ให้หมอใหม่อย่างละเอียด ปรากฎว่ามีคนไข้ขอไปรักษาต่อที่มอ.หาดใหญ่แค่สองสามคน ที่เหลืออยู่รักษาที่คลินิกเดิมต่อหมด และทุกคนแฮปปี้ มีบ้างที่คนไข้เป็นประเภทริปแวนวิงเคิล คือหลับไปหลายปีแล้วตื่นขึ้นมานึกว่าทุกอย่างยังอยู่ที่เดิม เพื่อนของผมที่มารับช่วงทำคลินิกต่อเขาเป็นคนตลก พบกันเมื่อราวสามสิบปีให้หลังเขาเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อผมกลับจากบ้านนอกมาได้ราวยี่สิบปีแล้ว มีตาแก่คนหนึ่งเดินเข้าคลินิกมาแล้วถามเสมียนว่า

“หม้อสั้นยู่ม้าย..ย”

ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

3. ถามว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึกเป็นห่วงคนไข้ที่ดูแลกันมานาน ตอบว่า คุณเป็นคนรุ่นไม่ห่างจากผมมากนี่ น่าจะเคยได้อ่านหนังสือกำลังภายในมาบ้าง เช่นของ ว. ณ เมืองลุง และ น. นพรัตน์ เป็นต้น ในหนังสือกำลังภายในมีสำนวนที่ใช้กันบ่อยมากสำนวนหนึ่งว่า

“ไม่มีงานเลี้ยงใด ไม่เลิกรา”

ความเป็นห่วงคนไข้เป็นปัญหาในใจของเราซึ่งเป็นแพทย์พยาบาลที่ “อิน” กับงานอาชีพ แต่ไม่ใช่ปัญหาของคนไข้ ปัญหาของคนไข้นั้นเราวางแผนแก้ปัญหาตามหลักวิชาชีพไว้ให้เขาหมดแล้ว เช่นการสรุประวัติ การทำหนังสือส่งตัว เป็นต้น ส่วนปัญหาในใจของเรา เราต้องแก้ไขของเราเอาเอง

ปล. ในโอกาสเกษียณอายุจากงานอาชีพนี้ ขอให้ท่านทั้งสองมีสุขภาพดีมีความสุขในชีวิตวัยเกษียณนะครับ

น.พ.สันต์ ใจยอดศิลป์