Latest

เพราะความซึมเศร้าในอีกมุมหนึ่งก็คือการ “หด” ของพลังชีวิต

(ภาพวันนี้ / ใบพุดทรา)

อาจารย์คะ
หนูเป็นมะเร็งตับ ตอนแรกเป็นแล้วเลิกทำงาน ยิ่งแย่ จึงกลับมาทำงานแบบลดการทำงานลง
เมื่อกลางเดือนที่แล้วหนูไปเรียนสีนำ้กับอาจารย์ … ช่วงอยู่ในการวาดรูป อาการปวดตามตัวหายไปหมดเลยคะ รู้สึกถึงจิตใจเบิกบาน (ส่วนใหญ่ตอนนี้ ใจยังไม่ค่อยเบิกบานคะ)   
อาการปวดที่หายไป เหมือนกับตอนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ไปเข้าคอร์สสุขภาพยาวๆ แวะเยี่ยมญาติ อาการเกร็งคอ ปวดตัว ก็จะหายไป พอใกล้กลับมาเมืองไทย ก็รู้ตัวว่าเริ่มเกร็ง และค่อยๆเริ่มปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้จับได้เลยว่าเริ่มเกร็งตรงไหนก่อน อีกอย่างคือตอนไปเที่ยว อาการใจสั่นจาก PVC ก็ลดลงเยอะคะ กลับมาอยู่กรุงเทพ เพิ่มฃึ้นเยอะ หนูใช้ Apple Watch ไม่รู้ว่าคิดไปเอง หรือมีอัตตาสูงเวลากลับมาเมืองไทยเลยเริ่มเป็นอีก หรือแค่เวลาเดินทาง กิจกรรมเยอะ นั่งเฉยๆน้อย (อันนี้ไม่น่าอธิบายทั้งหมด เพราะบางที ก่อนจะกลับ 1 วันก็เริ่มค่อยๆปวดเพิ่มขึ้นแล้วคะ) ตอนนี้ที่รับรู้ได้ชัดเจนขึ้น คือตอนใจหม่นหมอง หรือเวลาใจเบิกบานคะ  ซึ่งส่วนใหญ่ใจยังไม่สงบเย็นคะ ความสม่ำเสมอในการจัดการกับความคิดคงยังน้อยคะ

การจับความคิดแล้วจัดเข้าหมวดหมู่แล้ววางลง กับการตามดูความคิดแบบรู้สึกตัว  ใช้ได้ทั้ง 2 อย่างพร้อมกันใช่ไหมคะ

ส่วนใหญ่ตอนตื่นมากลางคืนจะรู้ว่าคิ้วขมวดอยู่เลยคะ  แสดงว่าเรามีความคิดไหมคะ นอนถึงไม่ค่อยสนิท ตอนนี้พอตื่นมาแล้วรู้สึกว่าคิ้วขมวดก็กำหนดรู้และให้คลายอาการเกร็งคะ ถูกไหมคะ

เคารพ
Sent from my iPhone

………………………………………………………………………

ตอบครับ

1. การที่เมื่อใจหม่นหมองแล้วรู้ เมื่อใจเบิกบานแล้วรู้ เป็นความก้าวหน้าที่ดี ในขั้นนี้ยังไม่ต้องไปลุ้นหรือไปพยายามทำให้ใจสงบ ไม่ต้องไปวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้สงบ อะไรทำให้หม่นหมองด้วย แค่มันสงบเรารู้ มันไม่สงบเรารู้ นี่เรียกว่าเป็นการจับขั้นตอน perception ได้ แค่นี้ก็เป็นความก้าวหน้าที่ดีมากแล้ว 

2. การตีทะเบียนความคิดแล้วดีดทิ้งเมื่อมันมาอีก ใช้ควบคู่กับการสังเกตหรือชำเลืองดูความคิดได้สิครับ ใช้ทั้ง 2 อย่างไปด้วยกันได้ เพราะมันเป็นคนละประเด็นกัน การสอบสวนตีทะเบียนความคิดเป็นการเตือนว่าความคิดนี้เคยมาแล้วนะอย่าเสียเวลาไปยุ่งกับมันอีก ประเด็นสำคัญคือหนึ่งความคิดสอบสวนกันครั้งเดียวแล้วจบ อย่าสอบสวนซ้ำซาก

ส่วนการสังเกตหรือชำเลืองดูว่าเมื่อกี้คิดอะไรอยู่นั้นเป็นเหมือนการตีระฆังเตือนตัวเองให้อยู่กับความรู้ตัว ณ ขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ อย่าไปจมอยู่กับความคิดใดๆ

3. การที่คิ้วขมวดก็ดี หน้าไม่ยิ้มก็ดี คอบ่าไหล่เกร็งก็ดี ล้วนบ่งบอกว่าความสนใจของเราไปขลุกอยู่ในความคิด ต่างจากเมื่อเรียนวาดรูปซึ่งเป็นการทำสมาธิ ความสนใจถูกลากออกจากความคิดมาอยู่กับปัจจุบันขณะที่วาดรูป กล้ามเนื้อจึงไม่เกร็ง

การที่คุณให้ความสนใจการเกร็งหรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อนั้นดีแล้ว เพราะวิธีที่ง่ายที่สุดในการวางความคิดคือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้ได้ตลอดเวลา ยิ้มที่มุมปากได้บ่อยๆ การจะทำอย่างนั้นได้เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้เห็นอะไรที่เข้ามาขณะนี้ตามที่มันเป็น คืออยู่กับ perception ภาพ เสียง สัมผัส หรือขั้นตอนของกิจกรรมตรงหน้าตลอด หากเราหลุดจาก perception เมื่อไหร่ เราก็จะกลับเข้าไปอยู่ใน thought ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อร่างกาย ทุกครั้งเมื่อเราเห็นว่ากล้ามเนื้อเกร็งเรารีบสั่งขยับท่าร่างสั่งให้ผ่อนคลายนั้นก็ถูกแล้ว ควรฝึกผ่อนคลายช่วงกลางวันขณะตื่นอยู่ให้ได้ก่อน ส่วนที่มันเผลอเกร็งช่วงหลับนั้นมันเป็นปฏิกริยาสนองตอบอัตโนมัติที่กระตุ้นโดยความจำ หรือพูดแบบบ้านๆว่ามันเป็นกรรมเก่า ปล่อยมันไปก่อนเถอะ ถ้าช่วงตื่นผ่อนคลายได้ดี ต่อไปช่วงหลับมันจะผ่อนคลายได้เอง 

4. เมื่อเราเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ทำงานน้อยลง ในมุมมองของอีโก้ (identity) มันจะคอยชี้ว่ามีบางอย่างขาดหายไป ซึ่งคือความนับถือตัวเอง (ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอีโก้) ที่ถดถอยลงนั่นเอง จะเกิดความกลัวที่ตัวเองจะไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น (มันคงเป็นสัญชาติญาณของ pack animal ที่ฝังแฝงมานาน) เกิดความกังวลว่าสถานะตัวตนของตัวเองจะไม่สูงเด่นไม่มั่นคงปลอดภัย ความกลัวนี้เป็นปากทางนำไปสู่อารมณ์ซึมเศร้า คนทั่วไปแก้ปัญหาโดยการกลับไปอยู่กินกับอีโก้ใหม่ นั่นก็คือวิถีของพวกคนบ้างาน (workaholic) ตรงนี้แหละที่จะชี้ให้คุณเห็นว่าความคิดคือสิ่งเสพย์ติด เมื่อเคยคิดอย่างนี้แล้วมันอดคิดซ้ำอีกไม่ได้ อั้นไม่อยู่ ต้องคิดมันต่อไป คิดให้มากขึ้น นั่นเป็นวิถีชีวิตของ “ขี้ยา” ซึ่งไม่ใช่วิถีที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนอย่างเราซึ่งเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเส้นทางนั้นนำเรามาสู่การป่วยที่ตรงนี้ วิธีแก้ปัญหาเชิงจิตวิทยาที่มุ่งประนีประนอมกับอีโก้นั้นมันไม่เวอร์คดอก ควรมุ่งหน้ารู้ทุกอารมณ์ รู้ทุกความคิด มองดูมันจนมันฝ่อหายไป หรือตีทะเบียนความคิดนั้นไว้แล้วดีดทิ้งเมื่อมันมาอีก พูดง่ายๆว่าต้องมุ่งหน้าทิ้งอีโก้ วันสำเร็จก็คือวันที่ทุกความคิดถูกรู้ทันและถูกตีตกไปได้หมดครั้งแล้วครั้งเล่า จนความคิดเหล่านั้นไม่กลับมาอีก เมื่อนั้นความจำในอดีต (ซึ่งก็คืออีโก้) ก็จะรังควาญเราไม่ได้อีกต่อไป 

เครื่องมือรับมือกับความซึมเศร้า ด้านหนึ่งคือการขยันสังเกตเห็นรู้ทันกิจกรรมในใจของเราไม่ว่าจะเป็นความคิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ สังเกตดูมันไปเฉยๆ อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มพลังชีวิต เพราะความซึมเศร้าในอีกมุมหนึ่งก็คือการ “หด” ของพลังชีวิต

เราเพิ่มพลังชีวิตได้จากการอยู่กับธรรมชาติสายน้ำสายลมแสงแดด หรือการทำกิจกรรมเช่นรำมวยจีน โยคะ นั่งสมาธิ หรือการได้ทำสิ่งที่ชอบที่เป็น passion ได้ใช้ creativity หรือที่ได้ฟูมฟักเมตตาธรรมด้วยการช่วยเหลือเจือจานชีวิตอื่น

เพราะ “ความรู้ตัว” หรือ “ใจที่ปลอดความคิด” ซึ่งเป็นส่วนลึกสุดในชีวิตนี้นั้นจะเข้าถึงก็ด้วยการทิ้งความคิดที่มาจากอีโก้ไปก่อนเท่านั้น มันมีอัตลักษณ์อยู่สามอย่างคือ (1) มันเป็นความตื่นและสามารถรับรู้ (awareness) (2) มันเป็นเมตตาธรรม (compassion) (3) มันเป็นปัญญาญาณสร้างสรรค์ (creative intuition) ให้คุณทำความคุ้นเคยกับอัตลักษณ์ทั้งสามอย่างนี้ เมื่อเข้าถึงความรู้ตัวแล้ว ความซึมเศร้าจะหายไปเอง เพราะที่ความรู้ตัวมันไม่มีอีโก้ จึงจะไม่มีใครมาดราม่าอะไรให้วุ่นวายอีก

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป ผมแนะนำให้ทิ้งคุณค่าและความหมายที่ได้มาจากการยึดกุมคอนเซ็พท์เดิมๆไปเสียแบบทิ้งลงถังขยะไปง่ายๆดื้อๆเลย เพราะทั้งหมดนั้นเป็นแค่ความคิด แล้วหันมาแสวงหาเรียนรู้สิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้นมหัศจรรย์กว่า นั่นคือการจะได้รู้จักใจนี้ในยามที่ปลอดความคิด เมื่อนั้นจะได้สัมผัสความสุขสงบเย็นของ compassion และจะได้พบกับความสนุกน่าตื่นตาตื่นใจของ creative intuition การมาแสวงหาสิ่งใหม่ในแนวนี้มีแต่ได้กับได้ ดีกว่าการกลับไปเป็นคนบ้างานเป็นไหนๆ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์