Latest

ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ แล้วอยากยกน้ำหนัก ดึงสายยืด ตีเทนนิส และขับรถ

(ก่อนตอบคำถามวันนี้ขอแจ้งข่าวนิดหนึ่งว่าหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” ขายไปหมดแล้ว ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิมพ์ครั้งที่สอง ท่านที่ต้องการจะซื้อหนังสือกรุณาอดใจรอ ประมาณว่าน่าจะออกจากโรงพิมพ์ 15 พย. นี้ ทันเป็นของขวัญปีใหม่พอดี เมื่อหนังสือออกได้แล้วผมจะแจ้งยืนยันอีกครั้ง)

เรียน อ.สันต์ ใจยอดศิลป์

      ผมชื่อ … อายุ 61 ปี ผมได้ไปใส่เครื่อง pacemaker มาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 เนื่องจากหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายหลังใส่เครื่อง pacemaker ที่อยากเรียนถามอาจารย์ดังนี้

      1.ผมจะสามารถออกกำลังกายจำพวกกายบริหาร ยกน้ำหนักดัมเบล และดึงสายยางยืดได้หรือไม่ เพราะก่อนผมจะไปใส่เครื่อง pacemaker พวกเคยดู YouTube ของอาจารย์ที่เกี่่ยวกับการออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสำหรับผูู้สูงอายุ แล้วก็ได้ทำมาตลอด แต่พอมาใส่เครื่อง pacemaker แล้วกลัวว่าถ้าออกกำลังกายแบบนี้ อาจทำให้สายไฟของเครื่อง pacemaker หักชำรุดได้นะครับ

      2.เรื่องการขับรถและเล่นเทนนิสนี่ ต้องรอให้ผ่าน 3 เดือนไปก่อนใช่ไหมครับ  คุณหมอที่ใส่ pacemaker ให้ผมบอกว่าเรื่องขับรถขอให้ 3 เดือนก่อน ส่วนเรื่องเล่นเทนนิสคุณหมอไม่ได้เล่นเทนนิสเลยตอบไม่ได้ แต่ผมเคยหาข้อมูลใน YouTube บางเพจเขาก็บอกว่าเล่นเทนนิสได้แต่ต้อง 3 เดือนไปแล้ว

      ผมไม่แน่ใจก็เลยขอเรียนถามอาจารย์สันต์ เพราะเห็นว่าอาจารย์ชอบออกกำลังกายและได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายในแบบต่างๆ ไว้เป็นความรู้ที่ดีมาก

           ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

………………………………………………….

ตอบครับ

 1.. ถามว่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pace maker) แล้วจะสามารถออกกำลังกายบริหารแบบยกน้ำหนัก ดึงสายยืดได้ไหม ตอบว่า ได้ครับ

2.. ถามว่าการยกน้ำหนักและดึงสายยืดจะทำให้สายไฟของเครื่องกระตุ้นหักชำรุดได้ไหม ตอบว่าไม่ได้หรอกครับ กรณีเดียวที่สายไฟจะหักชำรุดคือขณะใส่เกิดการพับแล้วมีการลากดึงหรือดัน แต่เมื่อใส่เข้าที่แล้วไม่มีหักแล้วครับ มันอยู่ในหลอดเลือดและในห้องหัวใจ คุณจะไปหักมันได้อย่างไร

3.. ถามว่าจะขับรถและเล่นเทนนิสต้องรอสามเดือนก่อนใช่ไหม ตอบว่าไม่ต้องหรอกครับ คอมมอนเซ็นส์ของการป้องกันการเสียหายของตัวเครื่องกระตุ้น (pulse generator) ก็คืออย่าให้มีอะไรไปกระแทกโครมเข้าตรงที่เขาฝังเครื่องไว้ ซึ่งปกติสำหรับคนถนัดขวาจะฝังไว้ที่ใต้ไหปลาร้าข้างซ้าย ยกตัวอย่างเช่นเล่นกีฬายิงปืนยาวโดยประทับพานท้ายปืนยันตัวเครื่องพอดี อย่างนี้ไม่ควร ส่วนท่าร่างกระโดดโลดเต้นที่ไม่มีอะไรมากระแทกตรงใต้ไหปลาร้าทำได้หมด รวมทั้งเล่นเทนนิส เล่นแบตมินตัน และตีกอลฟ์ด้วย การเคลื่อนไหวใดๆไม่มีผลต่อการหายของแผล ขออย่ามีของแข็งกระแทกตรงตัวเครื่องละกัน

จะขับรถก็ขับได้ การห้ามคนใส่ pace maker ขับรถเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่มากเกินจำเป็นซึ่งเป็นการจินตนาการแบบไกลเกิ้น..น คือจินตนาการไปไกลถึงว่าถ้าอนุญาตให้ไปขับรถแล้ว ถ้าเกิดอุบัติเหตุรถชนกันแรงๆ ถ้าหน้าอกกระแทกพวงมาลัย แล้วเครื่องอาจจะเสียหาย โห.. มีคำว่า “ถ้า” สามถ้านะ โอกาสจะเกิดเรื่องอย่างนั้นมันน้อยมาก

หากไม่นับอุบัติเหตุรุนแรงแล้ว กริยาอาการขับรถเช่นหมุนพวงมาลัยเลี้ยวไปเลี้ยวมานั้นไม่มีปัญหากับแผลและกับตัวเครื่องกระตุ้นหัวใจแต่อย่างใด ตัวหมอสันต์เองใส่ pace maker ให้คนไข้แล้วไม่เคยห้ามขับรถเลย บางคนขับรถกลับบ้านเองด้วยซ้ำ

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม และตัวคุณคงไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว แต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านทั่วไป ว่าถ้าเป็นนักออกกำลังกาย หากจำเป็นต้องใส่ pace maker และหากแม้นเลือกได้ หมายความว่ามีเงินซื้อ ให้เลือกใส่ชนิด DDDR หรือ VVIR โปรดสังเกตว่ามีตัว R ต่อท้าย ซึ่งย่อมาจาก rate modulation หมายความว่ามันเป็นรุ่นที่ตัวเครื่องมันปรับอัตราการเต้นหัวใจให้เร็วขึ้นได้เองแบบอัตโนมัติขณะเราออกกำลังกาย ยิ่งเราออกกำลังกายแรงเหนื่อยมาก เครื่องก็ยิ่งเพิ่มอัตราเต้นหัวใจให้เร็ว ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์