Latest

คุณหมอหนุ่มว่า..การเปลี่ยนนิสัยคนไม่ต่างอะไรกับการเอาภูเขายัดใส่ลงในครกเลยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ 

ถ้าอาจารย์พอจำได้ เมื่อเกือบ ๆ สามปีก่อนผมเล่าว่า ผมลาออกจากการทำงานเป็นหมอในบริษัท กลับมาเป็นหมอทั่วไปรับใช้ชาติ ก็ได้บทความของอาจารย์นี่ล่ะครับ เป็นแหล่งฟื้นฟูวิชาการ กลับมาตรวจคนไข้อีกครั้งก็เจอปัญหาเหมือนอาจารย์เลยครับว่าถึงเราจะรู้ว่าการจ่ายยาไม่ได้ผล และ TLM คือการรักษาที่แท้จริง แต่  1 on 1 education กับคนไข้และระบบที่ไม่มีความพร้อมนั้นทำได้จำกัดมาก ก็ได้แค่ทำตาม guideline (ที่เรารู้เบื้องหลัง) รักษาตัวเลขไปครับ

ในด้านชีวิตการทำงานก็ดูคนไข้ไปครับ ซึ่งก็พบอุปสรรคเชิงระบบเดิม ๆ ไม่ชอบหรอกครับแต่ก็อยู่กับมันไป ส่วนในเรื่องชีวิตส่วนตัวพอถอยอออกมาดูภาพกว้างของชีวิตก็พบว่าหักโหมมานานจน “พังทั้งกายทั้งใจ” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงต้องฟื้นฟูระบบประสาท parasympathetic กลับมา โดยวิธีที่ใช้คือการเดิน กินอาหารพืชผักเป็นหลัก และ mindfulness practice ซึ่งทำให้ผมพบว่าผมมี psychological trauma  ตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นตัว  drive ชีวิตผมมจนถึงทุกวันนี้ แต่พอเยียวยาตนเองไปได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ จนดีพอควร ปล่อยวางได้ มันเบาสบายมากเลยครับ

จริง ๆ พอช่วง 6-12 เดือนหลัง สภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว ร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว ก็นึกอยากจะกลับไปทำงานบริษัทหรือโรงพยาบาลอีกครั้ง ก็ไปสัมภาษณ์ หางาน ฯลฯ แต่พอฟังบรรยายของอาจารย์ เรื่อง Health and Well being for Executive และอ่านหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพ” ของอาจารย์ ก็ตัดสินใจได้ครับว่าจะไม่กลับไปทำบริษัทยาหรือไขว่คว้าอะไรมากมายใน reactive health care system อีกแล้ว ยิ่งอ่านก็ยิ่ง in นะ เกิดคำถามว่า “ทุกวันนี้ทำอะไรอยู่?” ลึก ๆ เพราะเพิ่มยาไปเรื่อย ๆ โดยรู้อยู่แก่ใจว่าใส่ complication เข้าไปทั้งนั้นโดยไม่ได้จัดการที่ต้นเหตุจริง ๆ เรื่องนี้เคยลอง educate คนไข้แล้ว แต่การเปลี่ยนนิสัยคนในระบบการทำงานแบบนี้ก็เกิดประสบการณ์ตรงว่าไม่ต่างอะไรกับการเอาภูเขายัดใส่ลงในครกเลยครับ ฮ่า ๆ สุดท้ายแล้วคนเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ ก็มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นเอง เพราะคนอื่นและระบบนั้นอยู่นอกอำนาจของเรา จะไปห้ามไปบังคับก็ไม่ต่างอะไรกับการห้ามมหาสมุทรไม่ให้มีคลื่น ดังนั้นก็ “ทำใจ” ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดการฝึกจิตที่ดีทีเดียว

สักปีหน้าจะหาโอกาสไปเรียน GHBY กับอาจารย์ให้ได้ครับ คงมีโอกาสได้ไหว้อาจารย์ ผู้เป็นบุคคลต้นแบบของผมอีกท่านหนึ่ง ขอบพระคุณอาจารย์มากที่ทำ page ทำ FB ทำ Youtube ซึ่งช่วยคนได้เยอะเลยครับ ผมเองก้เป็นหนึ่งในนั้น

กราบของพระคุณอาจารย์มาก ๆ ครับ

………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ที่คุณหมอเล่าว่าสุดท้ายคนเปลี่ยนนิสัยได้สำเร็จมีคนเดียว คือตัวคุณหมอเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสุดยอดเลยนะครับ ผมขอถือโอกาสนี้ทบทวนเนื้อหาจดหมายของสมเด็จพระราชบิดา (มหิดล ณ สงขลา) ลงวันที่ 4 กพ. 2471 ซึ่งที่มีไปถึงสมาชิกสโมสรแพทย์จุฬาฯ อีกครั้ง ว่า

“…ท่านไม่ควรเรียนวิชานี้ขึ้นใจแล้วใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนแก่คนไข้แล้ว จะหาความไว้วางใจจากคนไข้ได้อย่างไร

แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคว๊ค” ถึงแม้ผู้นั้นจะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์

ท่านนายแพทย์บุนเดสเซนได้กล่าวว่านักสุขวิทยาทุกคนจะต้องอยู่กินเป็นตัวอย่างสุขภาพ จึงจะเป็นพ่อค้าความสุขดี..”

จับความแค่เท่าที่คุณหมอเล่ามา ตอนนี้คุณหมอก็ประสบความสำเร็จตามนัยของจดหมายนี้ของผู้ที่พวกเรายอมรับว่าเป็นบิดาของวงการแพทย์ไทยแล้วนะครับ เป็นเรื่องที่ผมต้องขอแสดงความชื่นชม

2. ที่คุณหมอว่าการจะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนนิสัยการกินการใช้ชีวิตนั้นช่างยากราวกับเอาภูเขายัดลงใส่ครก ผมเข้าใจครับ ที่มันยากปานนั้นก็เพราะแพทย์เราไม่รู้วิธีช่วยคนให้เปลี่ยนนิสัย ทั้งๆที่วิทยาศาสตร์การเปลี่ยนนิสัยคนก็มีงานวิจัยเปรียบเทียบเห็นผลชัดแจ้งอยู่แล้วว่าแบบไหนได้ผล แบบไหนไม่ได้ผล แต่แพทย์เราก็ยังตะบันใช้วิธีที่เราถนัด คือ สอน สั่ง แนะนำ ให้ข้อมูล ยกตัวอย่าง จี้จิก บังคับ ซึ่งวิธีแบบนี้งานวิจัยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าแล้วว่ามันเปลี่ยนนิสัยคนไม่ได้ เหตุหลักที่คนจะเปลี่ยนนิสัยได้มีอย่างเดียว คือพลังความบันดาลใจในตัวเขา แพทย์จะต้องเรียนรู้หลักวิชาโค้ชซึ่งเป็นวิธี “แคะ” เอาพลังความบันดาลใจในตัวเขาเองออกมาไฮไลท์ให้เขาเห็น

ผมเคยเข้าเรียนการเป็นโค้ชกับ NBHWC (National Board Health and Wellness Coaching) ตอนที่สอบเราต้องสอบเป็นโค้ชให้คนไข้จริง จะมีอยู่ตอนหนึ่งที่ก่อนที่เราจะจับคนไข้ตกลงทำสัญญาโค้ชกันเราต้องบอกเขาก่อนว่าเราจะโค้ชเขาอย่างไร (coaching process -CP) ซึ่งมีประเด็นหลักอยู่ 15 ประเด็น คือเราต้องพูดสรุปทั้ง 15 ประเด็นนี้ให้คนไข้ฟังก่อน ซึ่งผมจะเอาที่ผมพูดตอนสอบมาแปลเป็นภาษาไทยเล่าให้คุณฟังนะ เพราะว่าตรงนี้มันจะทำให้คุณหมอเข้าใจได้ง่ายๆว่าการโค้ชให้คนไข้เปลี่ยนนิสัย กับการเป็นหมอแบบคอย สอน สั่ง แนะนำจี้จิก นั้น มันต่างกันอย่างไร

“.. ก่อนที่เราจะตกลงทำสัญญาว่าคุณจะให้ผมเป็นโค้ชให้คุณครั้งนี้ ผมขออนุญาตอธิบายวิธีโค้ชของผมก่อนนะ ว่า..

ผมจะทำงานร่วมกับคุณแบบเพื่อนที่เสมอภาคกันโดยให้คุณเป็นผู้ชี้นำ โดยผมถือว่าคุณรู้จักตัวคุณเองดีกว่าผมและคุณมีพลังในตัวเองที่จะแก้ปัญหาของตัวเองได้อยู่แล้ว

เราจะใช้บรรยากาศการทำงานด้วยกันแบบอบอุ่นเป็นกันเอง

ผมจะเป็นคนตั้งใจฟังคุณพูดเสียเป็นส่วนใหญ่

โดยบางครั้งผมอาจจะขอตอกย้ำยืนยันบางเรื่องบางประเด็นที่คุณได้พูดออกมาแล้วบ้าง

และบางครั้งผมจะขอเก็บเอาคำพูดของคุณเองมาสะท้อนเป็นคำพูดของผมกลับมาให้คุณตรวจสอบว่าผมเข้าใจคุณถูกต้องไหม

ผมอาจจะถามอะไรซอกแซกด้วยความอยากรู้บ้าง

และจะชักชวนให้คุณสรุปความเป็นไปได้และทางเลือกต่างๆเพื่อขมวดมากำหนดเป็นเป้าหมายของงานครั้งนี้

โดยผมอาจจะขออนุญาตแนะนำแหล่งข้อมูลหากผมคิดว่าจะมีประโยชน์กับคุณ

เพื่อให้คุณกำหนดเป้าหมายและขั้นตอนปฏิบัติสู่เป้าหมายด้วยตัวคุณเองได้รัดกุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผมจะชักชวนคุณมาสู่ทางคิดบวกเสมอ

แต่ผมจะเคารพการตัดสินใจเลือกว่าจะทำอะไร จะไม่ทำอะไรของคุณทุกครั้ง

เพียงแค่บางครั้งผมอาจขอชี้ให้คุณเห็นถ้าบางอย่างบางเรื่องที่คุณปักใจเชื่อว่าคุณทำไม่ได้นั้นมันมีหลักฐานชี้ชัดว่าคุณทำได้

ผมอาจจะหาตัวช่วยมาเสนอเช่นการพบกับคนอื่นหรือการเข้ากลุ่มถ้าผมเห็นว่ามันจะช่วยคุณได้

ผมอาจจะชักชวนให้คุณทดลองสิ่งใหม่ๆเพื่อให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆในตัวเอง

และจะคอยเชียร์ให้คุณเดินหน้า แม้ล้มแล้วก็จะเชียร์ให้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

ทั้งหมดนี้คือวิธีที่ผมจะโค้ชคุณ…”

คุณหมอลองเอาคอนเซ็พท์ของการโค้ชที่ผมพูดกับคนไข้ตอนสอบนี้ไปใช้กับคนไข้จริงดูนะครับ แล้วจะเห็นว่าการช่วยคนให้เปลี่ยนนิสัยสำเร็จนั้นมันไม่ยากเกินไป และเมื่อเราช่วยเขาได้แล้ว ชีวิตของเขาดีขึ้นทันตาเห็น เราจะมีความสุขกับการทำอาชีพนี้เพิ่มจากเดิมอีกร้อยเท่าพันทวี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์