Latest

เรื่องไร้สาระ (34) ห้ามสบตา ห้ามยิ้ม

เดือนพย.นี้ผมวางแผนหยุดงานสองสัปดาห์เพื่อไปเดินไพรที่ญี่ปุ่นแบบขับรถเที่ยวไปตามชนบทเดินขึ้นเขาลงห้วยแวะนอนตามบ้านคนหรือเรียวกังเล็กๆ เผอิญจำได้ว่า “คุณแจ่ม” สมาชิกแค้มป์ RD ท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนญี่ปุ่นเคยเล่าว่าการเดินป่าแวะนอนตามบ้านเล็กเมืองน้อยในญี่ปุ่นสามารถทำได้นานเป็นเดือนโดยเดินไปแต่ข้างหน้าไม่ต้องกลับที่เดิม จึงบอกหมอสมวงศ์โทรไปขอวิธีการขั้นละเอียดจากเธอ พอรู้ว่าผมจะไปเที่ยวเธอรีบบอกว่าช่วงนั้นเธออยู่ที่ญี่ปุ่นพอดีให้เธอพาเที่ยวดีกว่า แถมเธอขอรับจัดการให้หมดทั้งรถ ผู้ขับ จองโรงแรม โดยผู้ขับที่เธอสรรหามาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นอีกครึ่งหนึ่งของเธอนั่นเองมาเป็นผู้ขับให้ จะด้วยถูกเกณฑ์มาหรืออาสามาผมก็ไม่ทราบได้ ความที่เป็นผู้ขับกิตติมศักดิ์ผมจะขอเรียกท่านว่า “กัปตัน” ก็แล้วก็ ทริปนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้เที่ยวแบบไม่ต้องทำอะไรเลย รถก็ไม่ต้องขับเอง แผนการเดินทางก็ไม่ต้องวาง ไปลุ้นเอาว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรข้างหน้าบ้าง

ผู้ร่วมเดินทางนับทั้งหมดได้ 6 คน พอดีรถเก๋งใหญ่หนึ่งคัน ก่อนวันจะเดินทางก็เกิดเซอร์ไพรส์แรกคือสมาชิกหนึ่งท่านมาไม่ได้เพราะคุณแม่ป่วยกะทันหัน  จึงเหลือ 5 คน โดยนัดพบกันที่สนามบินฮาเนดะ เมืองโตเกียว

พฤ 2 พย.66

เราสามพ่อแม่ลูกออกเดินทางจากกรุงเทพไปถึงสนามบินฮาเนดะหกโมงเช้า จนท. ด่าน ตม. ญี่ปุ่นแต่งตัวดูเป็นจิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ตัวเล็กๆก๊องๆแก๊งๆแต่ก็ทำงานเร็ว ถ้าเป็นคนที่ลายนิ้วมือไม่ด้านก็ใช้เวลาแค่สองนาทีเสร็จ และที่น่าขำก็คือหมาตำรวจญี่ปุ่นก็ตัวเล็กด้วย เป็นหมาพันธุ์ไส้กรอก มันมาดมกระเป๋าใบเล็กของหมอสมวงศ์ฟิด ฟิด ฟิดแล้วหันหน้าไปบอกเจ้านายของมันว่า

“ใบนี้แหละ”

เจ้านายของมันส่ายหน้าและดึงสายจูงลากมันออกห่างกระเป๋า แต่มันก็ยังดีงดัน แถมปีนขึ้นไปบนล้อเข็นกระเป๋าเอาจมูกมุดเข้าไปตามซอกตามหลืบกระเป๋าใบนั้นอย่างจริงจัง จนเจ้านายของมันขออนุญาตค้นกระเป๋าแล้วไม่เจออะไร ผมแอบยิ้มเพราะรู้ว่ามันได้กลิ่นแซนด์วิชปลาทูน่าของการบินไทยที่หมอสมวงศ์เอาติดมาด้วยความเสียดายของ ตอนที่อยู่หน้าโต๊ะตม.เธอเห็นป้ายห้ามเอาอาหารทุกชนิดเข้าเมืองเธอถามผมว่าจะเอาแซนด์วิชเข้าไปได้ไหม ผมตอบว่า

“ถ้าไม่เสียดายเงินค่าปรับห้าแสนเยนก็ลองดูได้”

เธอจึงตัดใจทิ้งแซนด์วิชนั้นไป หุ หุ เกือบเสียเงินห้าแสนเพราะเจ้าพลตำรวจไส้กรอกตัวนี้แล้วไหมละ

พอพ้นตม.ออกมาก็เจอเซอร์ไพรส์ที่สองคือ กัปตันซึ่งจะมารอรับเราที่ทางออกสนามบินแจ้งว่ามาไม่ได้เพราะเที่ยวบินของเขาถูกยกเลิกกะทันหัน แต่คุณแจ่มซึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่นมาได้และมาแล้ว เธอจึงโทรไปหาเพื่อนซึ่งมีอาชีพเสริมเป็นไกด์ขับรถพาเที่ยวอยู่ในละแวกโตเกียวชื่อ “คิตะมุระซัง” ให้มาเป็นกัปตันขับรถให้เราชั่วคราวเพื่อไม่ให้เสียแผนของวันนี้ที่ตั้งใจจะขับกันจนขึ้นไปถึงตอนบนสุดของจังหวัดนิกโก้โน่น เขามาถึงในเวลาไม่ช้า แต่กว่าเราจะออกจากสนามบินได้ก็เก้าโมง 

ชินเกียว สะพานแดงมรดกโลกที่นิกโก้

แล้วก็เจอเซอร์ไพรส์ที่สาม คือคนญี่ปุ่นชอบทำอะไรเหมือนกันในเวลาเดียวกัน คิตะมุระซังบอกว่าเมื่อคืนวิทยุออกข่าวว่าใบไม้ที่นิกโก้เปลี่ยนเป็นสีแดงระดับพีคสมบูรณ์เต็มที่แล้ว เช้าวันนี้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศจึงพร้อมใจกันขับรถไปนิกโก้จนรถติดตั้งแต่โตเกียวยันนิกโก้ เมื่อเราไปถึงนิกโก้แล้วก็เจอปัญหาคิว คิว คิว ทุกอย่างยาวเหยียดเป็นปลาไหลยืดได้หมดนับตั้งแต่คิวเข้าที่จอดรถ คิวเข้าร้านอาหาร เป็นต้น กว่าจะได้จอดได้กินและได้เที่ยวก็บ่ายสาม

อย่างไรก็ตาม ถึงจะล่าช้า การท่องเที่ยวก็ได้เริ่มแล้ว ณ เวลา 15.00 น. แอ่น.. แอน.. แอ๊น…

ไหเหล้าสาเกบรรจุเต็มพิกัด ไว้ให้ญาติโยมฉลองกันวันสาร์ทหน้าที่จะมาถึง

เริ่มด้วยการแวะถ่ายรูป “ชินเกียว” สะพานแดงมรดกโลก (Shinkyo Bridge) ที่ชานเมือง มีป่าไม้สีแดงสลับเหลืองเป็นฉากหลัง แล้วเดินขึ้นเนินราวหนึ่งกม.เพื่อไปชมศาลเจ้าอายุ 400  ปีที่เป็นมรดกโลกอีกเหมือนกันชื่อศาลเจ้าโตโชกุ (Toshogu shrine) มีบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลอลังการคลาสสิก สิ่งประทับใจ อันดับแรก คือ หัวคนที่ดำพรืดไปหมดนับได้ 9,999 หัว (หิ หิ พูดเล่น ไม่ได้นับจริงดอก) อันดับสอง คือไหบรรจุเหล้าสาเกใบเขื่องๆหลายร้อยใบที่หลวงพี่ตั้งเรียงกองพะเนินเทินทึกไว้ตามระเบียงคด นัยว่าเพื่อให้ญาติโยมได้ดื่มฉลองกันในวันสาร์ทปีนี้ นับเป็นของแปลกประหลาดมหัศจรรย์รองลงมาจากที่ผมได้เคยเห็นพระต้มเหล้าขายให้ญาติโยมที่เยอรมัน จึงขอคุณแจ่มถ่ายรูปไหเหล้านี้ให้ท่านดูเป็นหลักฐาน

ฝีมือช่างสลักไม้ยุคเอโดะเป็นกองทัพมังกรที่จั่วซุ้มประตูศาลเจ้าโตชุกุ

อันดับสาม คือ งานแกะสลักไม้ยุคเอโดะเป็นรูปกองทัพมังกรหัวสลอนสลับซับซ้อนที่ซุ้มประตูทางเข้า ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย 

ศาลเจ้าแห่งนี้พื้นที่ใหญ่มาก ถ้าจะชมกันจริงๆต้องมีอย่างน้อยครึ่งวัน ความที่เราต้องรีบ จึงพลัดหลงกัน บ้างหลงทางไปเพลิดเพลินอยู่ก้บรูปสลักลิงสามตัว บ้างหลงไปถึงป่าช้าหลังวัดนู้น  บ้างลืมตัวนึกว่ายังเป็นช่างถ่ายรูปหากินกับงานพรีเว็ดดิ้ง พอเห็นเขามีพิธีแต่งงานกันก็รีบวิ่งแหวกฝูงชนไปถ่ายรูปเจ้าบ่าวเจ้าสาว กว่าคณะจะรวมกันติดก็สี่โมง คือมืดแล้ว คิตะมุระซังเริ่มออกอาการร้อนรนกลัวจะขับขึ้นเขาลำบาก แต่ผมทำเป็นไม่เข้าใจและทำไก๋บอกเขาว่าผมอยากไปดูหินสลักรูปพระโพธิสัตว์นั่งเป็นแถว เขาบอกว่ามีเยอะแยะทั่วญี่ปุ่นดูที่ไหนก็ได้ ผมบอกเขาว่า

กันมังงะฟุชิของแท้ต้องเป็นพระโพธิสัตว์ใส่หมวกเบเรต์สีแดง ผูกผ้าพันคอแดง มีตะไคร่ขึ้น

“ไม่ใช่ ครับ ของแท้ต้องเป็นพระโพธิสัตว์เป็นหินสลัก สวมหมวกเบเร่ต์สีแดง ผูกผ้าคอแดง นั่งเป็นแถวอยู่ในป่าลึกริมธารน้ำเย็น มีตะไคร่ขึ้นเขียวๆ”

คิตะมุระซังทำหน้างงว่ามีสิ่งนี้อยู่ในโลกนี้ด้วยหรือ เขาขอให้ผมแสดงหลักฐานภาพถ่ายยืนยัน ผมจึงเอาภาพและแผนที่กูเกิ้ลให้ดู มันชื่อกันมังงะฟุชิ (Kanmangafuchi Abyss) เขารับรูปไปพิจารณา แล้วผงกหัวช้าๆหลายครั้ง ก่อนจะขับพาพวกเราไปที่นั่น

สถานที่แห่งนี้เป็นป่าที่เงียบสงบร่มเย็น อยู่ริมธารน้ำไหล ได้บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ ไม่จุ้นจ้าน นอกจากพวกเราแล้วไม่มีนักท่องเที่ยวเอเซียคนอื่นเลย มีแต่ฝรั่งสองสามคน ผมเลือกถ่ายรูปพระโพธิสัตว์องค์ขลังๆเท่ๆ ขนาดเท่าคนจริง ทุกองค์สวมหมวกเบเรต์แดง ผูกผ้าพันคอแดง เท่เบิดเลย นั่งอยู่เป็นแถว ขณะที่ลำตัวเขียวครื้มด้วยตะไคร่น้ำ ใจจริงผมอยากแวะชมวังจักรพรรดิ์เก่า ทะโมะซาวะ (Tamozawa Imperial Villa Memorial Park) ที่ อยู่ใกล้ๆกันนี้แต่เกรงใจคิตะมุระซังซึ่งเป็นคนกลัวความมืด เขาย้ำคิดกังวลแต่เรื่องจะพาพวกเราไปให้ถึงโรงแรมบนเขาอย่างไรให้ปลอดภัย ก็จึงต้องตัดใจขึ้นรถ

ขับขึ้นเขา ระหว่างทางคิตะมุระแวะร้านขายของชำข้างถนนและบอกให้พวกเราตุนอาหารเย็นไปกิน เพราะที่บนเขาคงไม่มีอะไรกิน เราก็ซื้อมากันเพียบประมาณว่ากินไปได้สักสามวัน แล้วขับเข้าเขตป่าสงวน Nikko National Park ในที่สุดก็ฝ่าความมืดมาถึงหมู่บ้านโอกุนิกโกะ (Okunikko) อันเป็นเป้าหมาย พอได้เห็นโรงแรมที่พักชื่อคาเมะโนอิ (Kamenoi Hotel) ก็ต้องร้องโถ.. เพราะมันเป็นโรงแรมระดับสี่ดาวมีครบถ้วนทุกอย่าง รวมทั้งที่อาบน้ำออนเซ็นกลางแจ้งยามราตรีซึ่งช่วยให้สบายหายเมื่อยขบไปได้โข

อุทยานน้ำแร่กำมะถันดั้งเดิม โยโมโตะ ออนเซ็น

ศุกร์ 3 พย.66

หมู่บ้านโอกุนิกโกะนี้มีชื่อเป็นเต้ยเรื่องมีบ่อน้ำร้อนออนเซ็นสายกำมะถัน มีบ่อกำมะถันใหญ่ชื่อโยโมโตะออนเซ็น (Yumoto Onzen) ตื่นเช้าเราเดินสำรวจแหล่งน้ำร้อนกำมะถันดั้งเดิม เป็นพื้นที่ชายป่าขนาดใหญ่มีบ่อน้ำแร่ธรรมชาติส่งไอร้อนและกลิ่นฉุนไปทั่ว เราเดินไปตามทางเดินบนพื้นน้ำแร่ที่ปูไม้กระดานไว้ ตอนเช้าอย่างนี้มีความเงียบสงบปลอดคน อาจเป็นเพราะไม่มีใครที่ไหนจะชอบดมกลิ่นกำมะถันก็ได้

เวทนานุสติปัฐฐาน เวอร์ชั่นเอากลิ่นเป็นอารมณ์

ตรงไหนที่มีน้ำแร่ขึ้นมาก อบต.เขาก็สร้างกระต๊อบไม้สนครอบไว้ไม่ให้คนเข้าไปยุ่ง มองเห็นควันไอน้ำร้อนสีขาวลอยกรุ่นขึ้นมาตามขื่อของกระต๊อบ บรรยากาศอย่างนี้เหมาะสำหรับการทำสมาธิชนิดเวทนานุสติปัฐฐานแบบใช้กลิ่นเป็นอารมณ์ (หิ หิ หมอสันต์คิดขึ้นเอง) ผมจึงนั่งสมาธิอยู่หน้ากระต๊อบพักใหญ่ก่อนจะเดินเล่นยามเช้ากันต่อไป ท่านที่อยากจะฝึกการทำแบบนี้ก็ไม่ยาก หาเพื่อนที่ท้องผูกเรื้อรังมาอยู่ใกล้ๆสักคนก็ฝึกได้แล้ว (อุ๊บ พูดเล่น)

ริมทะเลสาปยุโนะโกะ วิถีชีวิตของชาวหมู่บ้านโอกุนิกโกะ

จนมาถึงริมทะเลสาปยุโนะโกะ (Unoko Lake) มีต้นไม้ออกใบสีแดงฉานอยู่ทั่วไป คนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุพากันออกมาตากแดดนั่งกินปิคนิคที่ริมน้ำเป็นกลุ่มๆ บ้างพาหมามาเดินเล่น แสงแดดอ่อนๆกำลังดี ผู้คนหน้าตาแจ่มใส พูดภาษาญี่ปุ่นกันชิโกะชิเกะเบาๆ

เห็นคนอื่นเขาจุ่มกันหน้าตาเฉยอย่าเพิ่งผลีผลามจุ่มลงไปตาม

กลับเข้ามาชายหมู่บ้าน ผมสะดุดตากับป้ายที่อ่านตัวหนังสือไม่ออก แต่มีรูปฝ่าตีนมนุษย์สองข้างอยู่หน้าบ้าน จึงแอบชะโงกเข้าไปดู เป็นศาลาแช่เท้าของอบต. สำหรับคนทั่วไปที่เดินผ่านไปมาให้เข้ามาแช่เท้าแก้หนาว ผมเห็นตัวเลข 100 เยนก็คิดว่าเป็นค่าแช่เท้า จึงส่งเงินให้คนดูแล แต่กว่าจะรู้เรื่องกันด้วยภาษาใบ้จึงจับความได้ว่าเท้าแช่ได้ฟรี แต่ใครที่อยากได้ผ้าเช็ดเท้าก็ต้องจ่ายเงินให้เขา 100 เยน ผมถอดรองเท้าถุงเท้าเข้านั่งประจำที่ มีสาวชาวญี่ปุ่นนั่งแช่เท้าอย่างสบายอารมณ์อยู่แล้ว ผมจึงจุ่มเท้าลงไป

“อะจ๊าก..ก…ก”

หิ หิ มันร้อนเหมือนน้ำต้มจนต้องชักเท้ากลับโดยอัตโนมัติ

เดินถนนในหมู่บ้านยุโมะโตะออนเซ็น

แล้วเราก็เดินกลับโรงแรมกินข้าวเช้าและวางแผนว่าจะทำยังไงต่อไปกับชีวิตวันนี้ดี คุยกันจนได้ข้อสรุปว่าคุณแจ่มกับคิตะมุระซังจะเอารถลงเขาไปรับกัปตันซึ่งจะนั่งรถไฟมาที่สถานีนิกโก้ จากนั้นคิตะมุระซังก็นั่งรถไฟกลับบ้าน ให้กัปตันขับรถกลับขึ้นมากับคุณแจ่ม คิตะมุระซังบอกว่าวันนี้เป็นวันเริ่มวันหยุดยาวสามวันรถจะติดนะ จึงจะทิ้งเราสามพ่อแม่ลูกให้อยู่เที่ยวที่ทะเลสาปชูเซ็นจิ (Chuzenji Lake) ผมจึงบอกว่าให้ทิ้งผมไว้ที่บ้านทูตอิตาลี่ (Italian Embassy Villa) ดีกว่าเพราะผมเป็นโรคกลัวคนจะได้หลบนักท่องเที่ยวซึ่งมักปักหลักถ่ายรูปใบไม้แดงกันอยู่ทางฝั่งเมือง บ้านทูตอิตาลีนั้นไม่มีคนเพราะคนไม่รู้จัก ส่วนทัวร์นั้นหมดสิทธิ์ไปเพราะมันต้องจอดรถทิ้งไว้แล้วเดินไปอีกเป็นกิโล คุณแจ่มและคิตะมูระตกลงจะไปเที่ยวบ้านทูตอิตาลีด้วยเพราะทั้งสองยังไม่เคยไปและยังมีเวลากว่ารถไฟจะเข้าก็เที่ยงวัน

บ้านทูตอิตาลี่สร้างด้วยวัสดุสร้างบ้านญี่ปุ่นแท้ๆ สร้างในสมัยฝรั่งเรืองอำนาจและพวกทูตประเทศเจ้าอาณานิคมนิยมมาสร้างบ้านพักผ่อนไว้ริมทะเลสาปชูเซ็นจิซึ่งเป็นที่อากาศดีเพราะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1269 เมตร ปัจจุบันเปิดเป็นสวนสาธารณะให้คนมาเดินเล่น ผนังบ้านภายนอกกรุไม้ไผ่และเปลือกกระพี้ไม้สนซึ่งสวยงามคลาสสิกหาดูที่อื่นไม่ได้ รูปทรงของบ้านเป็นแบบกึ่งยุโรป ตั้งอยู่อย่างเท่ๆริมทะเลสาปชูเซ็นจิ บริเวณรอบบ้านกว้างใหญ่ไพศาลโดยสร้างเป็นสวนป่าไม้สีทองที่ออกแบบไว้อย่างดี

ปิคนิคที่บ้านทูตอิตาลี่ริมทะเลสาปชูเซ็นจิ

ในบริเวณกว้างใหญ่นี้ มีบ้านส่วนตัวอยู่บ้านหนึ่งกั้นไว้ด้วยรั้วสูงมองเห็นควันอ้อยอิ่งขึ้นหน้าบ้านโขมง ผมแอบถ้ำมองผ่านรั้วเห็นคนแก่ผู้ชายอายุราวแปดสิบสามคน สวมเสื้อกันหนาวเต็มยศ ผิงไฟและดื่มสาเกกันอยู่ คุยกันเบาๆนานๆครั้ง ผมคิดในใจว่าอย่างนี้สิจึงจะเรียกว่าสโลวไลฟ์ของจริง

เราเดินชมสวนป่าไม้สีเหลืองสีแดงจนเมื่อยขาแล้วจึงมานั่งริมทะเลสาป มองดูเรือใหญ่เรือน้อย และเรือพายคล้ายๆเรือคะนูซึ่งเจ้าของพยายามจะลากจูงหมาตัวน้อยลงเรือด้วยแต่เจ้าหมาน้อยก็ดิ้นรนสุดฤทธิ์แบบกลัวตาย ในที่สุดเจ้าของต้องขึ้นจากเรือขึ้นมาอุ้มมันลงไป พอลงไปอยู่ในเรือได้มันขึ้นนั่งบนหัวเรือมองดูวิวสบายใจเฉิบไม่มีวีแววว่าจะกลัวอะไรอีกเลย

เมื่อหิวเราก็ควักอาหารที่ซื้อตุนไว้ออกมากินเป็นปิคนิค มีโต๊ะวางไว้ให้เพื่อการนี้ อาหารหลักคือข้าวปั้น ขนมปังแข็งบิสคอทติที่หมอสมวงศ์ทำมา ตบท้ายด้วยพลับ แอปเปิล และกล้วยหอม โชคดีที่วันนี้แดดออกจึงได้ปิคนิคในบรรยากาศอบอุ่น

น้ำตกเคงง (Kegon Fall) สูงแต่ไม่สวย

คิตะมุระซังและคุณแจ่มลงเขาไปแล้วโดยไม่รู้อนาคตว่าอีกกี่ชั่วโมงจะกลับขึ้นมารับเราได้อีก เราจึงต้องหาทางไปต่อของเราเอง ด้วยการศึกษารถเมลประจำทางซึ่งก็พบว่าต้องรอนาน จึงเลือกเดินเท้าไปที่ศูนย์ข้อมูลแทน เพื่อถามว่าจะไปจุดตั้งต้นขึ้นกระเช้าดูใบไม้แดงที่ถนนซิกแซก (Iroha saka) ทันไหม คำตอบที่ได้คือไม่ทัน เพราะต้องไปด้วยเท้าอย่างเดียวเนื่องจากรถวิ่งไปที่นั่นไม่ได้ เราจึงตัดสินใจเดินไปชมน้ำตกเคงง (Kegon Fall) ซึ่งเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นคือสูง 70 ม. และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมก่อน ต้องต่อคิวลงลิฟท์ไปดูที่หุบเขาข้างล่างเพื่อให้มองเห็นน้ำตกได้ตลอดความสูง ผมลงไปดูแล้วก็รู้สึกว่าสูงอย่างเดียวแต่หากขาดสีสันสันก็ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ สิ่งที่น่าสนใจกว่าคืออาหารการกินแบบฟาสต์ฟู้ดที่วางขายให้นักท่องเที่ยวข้างบน

รายการแรกที่ผมตกหลุมรักก็คือเกาลัดอบด้วยความดันสูง วิธีการผลิตนั้นพิศดารน่าทึ่งมาก คือคนขายจะโหลดลูกเกาลัดดิบเข้าเครื่องอัดความดันซี่งมีรูปทรงคล้ายปืนใหญ่

คนขายเกาลัดประกาศเสียงดังลั่นก่อนปล่อยแรงดันเครื่องอบ

พอมันสุกได้ที่แล้วเขาก็ประกาศเสียงดังลั่นยาวเหยียดเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วก็หันปากกระบอกปืนใหญ่ไปทางไม่มีคนแล้วปล่อยไอน้ำออกจากเครื่องอบเสียงดัง

“ฟ้าว..ว”

จากนั้นก็อันโหลดลูกเกาลัดหอมฉุยออกมาวางในถาด วิธีขายแบบนี้มีลูกค้าต่อคิวกินยาวเหยียดรวมทั้งหมอสันต์ด้วย เพราะอากาศหนาวอย่างนี้จะมีอะไรดีกว่าเกาลัดอุ่นๆละครับ

สินค้าอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผมก็คือปลาอะไรไม่รู้ตัวเล็กๆรูปร่างคล้ายปลาดุก ย่างกันเห็นๆหอมๆตรงนั้นเลย วิธีย่างคือมีกองถ่านแดงๆอยู่ตรงกลาง แล้วเอาไม่เสียบแทงทะลุปลาแล้วเสียบไม้ปักลงบนขี้เถ้ารอบๆกองไฟ ใครมาซื้อก็หยิบร้อนๆให้เลย

ปลาอะรูมิไร้ ย่างกันร้อนๆ กินกันร้อนๆเดี๋ยวนั้นเลย

ผมตะหงิดๆจะลองซื้อมากินแต่ต้องตัดใจว่าตัวเองไม่มีความรู้ว่ามันคือปลาอะไร ซี้ซั้วกินเข้าไปก้างตำคอแล้วจะเดือนร้อนคนอื่น จะถามคนก็พูดกับเขาไม่รู้เรื่อง ที่ปรึกษาก็ไม่อยู่ จึงตัดใจไม่กินดีกว่า

ออกจากน้ำตกเคงงเราตัดสินใจไปเที่ยวศาลเจ้า ชุกุชิ (Nikko Futarasan Jinja Chuguchi Shrine) ซึ่งจนท.ที่ศูนย์ข้อมูลแนะนำว่ามีทางเดินขึ้นไปบนยอดเขาแล้วจะมองเห็นทะเลสาปซูเซ็นจิทั้งหมด เราเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกม.ผ่านเมืองริมบึงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาถ่ายรูปกับใบไม้แดง เมื่อมาถึงที่ทางขึ้นข้างในศาลเจ้า ก็มีป้ายแจ้งเป็นภาษาอังกฤษว่าหากมีเวลาน้อยกว่า 6 ชั่วโมงอย่าขึ้นไป โดยไม่บอกเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ผมเดาต่อเอาว่าจะกลับลงมาไม่ทันแล้วแข็งตายอยู่บนนั้น หิ..หิ

ศาลเจ้าแห่งนี้มีทุกอย่างที่ศาลเจ้าชินโตของญี่ปุ่นพึงมี ทั้งประตูโทริทุกๆขนาด ต้นไม้ใบสีแดงแจ๋ “ตุง” สีแดงสลับขาวปักเป็นทิวแถวสองข้างทาง และ..บ่อล้างเงิน แต่ที่ประทับใจผมมากที่สุดคือรูปสลักหินโพธิสัตว์ดีดพิณซึ่งแสดงสีหน้าได้อาร์ตมาก จึงถ่ายรูปไว้

ก่อนออกจากศาลเจ้าผมถือโอกาสใช้บริการล้างเงินด้วยน้ำเย็นเจี๊ยบ หมอพอสงสัยว่า

“ทำไมต้องล้างเงินด้วย” ผมตอบว่า

“อ้าว การมีเงินเย็นนี่มันดีสำหรับช่วงเศรษฐกิจขาลงนะ”

มืดแล้ว คุณแจ่มส่งข่าวมาว่ารถติดหนักขยับได้ช้ากว่าเดินเท้า ให้หาอะไรกินเอง เราจึงเดินลงมาในเมืองเพื่อหาของกิน เดินมาได้สักหนึ่งกิโลหมอสมวงศ์เพิ่งคิดขึ้นได้ว่าหมวกหาย โถ.. แม่คุณ หมวกอยู่บนหัวแท้ๆหายไปได้ไงนะ เธอบอกว่าถอดออกตอนอยู่ในศาลเจ้าเพื่อแสดงความเคารพสถานที่ แล้วก็.. เออ รู้ละ เราต้องเดินกลับไปที่ศาลเจ้าใหม่

ไปถึงหมอพอเข้าไปส่งภาษาญี่ปุ่นกระท่อนกระแท่นกับเจ้าหน้าที่ เขาพาไปที่เคาน์เตอร์ซึ่งมีหมวกเก่าๆวางอยู่หลายใบแล้วพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งผมเดาความเอาว่า

“นี่ไงครับคุณย่า หมวก มีแยะ อยากได้ใบไหนเลือกเอาไปเลย”

ได้หมวกแล้วเรากลับเดินเข้าเมืองต่อ มาผลุบเข้าร้านอุ่นๆข้างทะเลสาปและสั่งข้าวราดแกงกะหรี่มากิน กินไปมองทะเลสาปผ่านผนังกระจกร้านไป รอไป ก็ยังไม่มา จนเราต้องอัปเปหิตัวเองออกจากร้านเพราะเกรงใจคนที่หนาวสั่นงักๆรอกินอยู่หน้าร้าน คราวนี้เป็นตาเราต้องออกมาหนาวสั่นงักๆบ้าง เมืองทั้งเมืองมืดมิดราวกับว่าไฟฟ้าเป็นของมีค่าเหลือเกิ้น กำลังลังเลว่าจะกำหนดจุดให้กัปตันรับเราในความมืดตรงไหนดี ผมสังเกตเห็นว่ารถยนต์จำนวนมากจะจอดเปิดไฟฉุกเฉินอยู่เป็นแถวอยู่ทางโน้นน่าจะเป็นจุดนัดพบที่ดี จึงเดินไปและพบว่ามันเป็นห้องส้วมสาธารณะริมทางที่คนที่ขับมาเจอรถติดอยู่นานจวนเจียนจะไฟธาตุแตกต้องจอดรถไว้ริมถนนเพื่อมาปลดทุกข์ร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย ผมนึกสงสารคนญี่ปุ่นที่ซื่อสัตย์เกินเหตุ เส้นทางที่ขับขึ้นมาหรือก็เป็นป่าเขาซึ่งเป็นชัยภูมิที่สัปปายะแท้ๆ ผมหวังว่ากัปตันคงไม่ทำตัวเองให้ลำบากอย่างนั้น

ในที่สุดเราก็ได้พบกันหน้าห้องส้วมตามแผน มันเป็นเวลากลางคืนแล้ว แต่เราก็ต้องขับรถต่อไป ตามถนนโรแมนติกโรด ซิกแซ็กขึ้นเขาไป ความโรแมนติกอันเดียวที่ผมสัมผัสได้ตอนนี้คือความมืด เราต้องตัดโปรแกรมเที่ยวตามรายทางไปหมด คิดเห็นใจกัปตันที่เดินทางมาเหนื่อยๆสิบกว่าชั่วโมงทั้งเรือบินรถไฟรถยนต์ กำลังที่คิดอยู่นั้น ความเห็นใจของผมก็แสดงผลเป็นรูปธรรมทันตาเห็น เมื่อผู้โดยสารคนหนึ่งร้องว่า

“เฮ้ย นี่เรากลับมาที่โรงแรมเดิมที่เราพักเมื่อคืนนี่”

หิ..หิ ไม่เป็นไร แปลว่าเราหลงทางเท่านั้นเอง หลงไปแล้วก็มาเริ่มต้นกันใหม่ได้ ผมเองพยายามจะช่วยกัปตัน แต่ความอ่อนเพลียจากการเดินมาทั้งวันประกอบกับการถูกจับแกว่งไปแกว่งมาทำให้ผมม่อยกระรอกไปเป็นพักๆ ถูลู่ถูกังผ่านไปถึงสามทุ่มกว่าเราก็มาถึงที่หมาย คือหมู่บ้านยุบิโสะ (Yubiso) ตำบลมินากามิ (Minakami) อำเภอโตะเนะ (Tone) จังหวัดกุนมะ (Gunma) เข้าพักโรงเตี๊ยมชื่อ Tenjin Lodge ซึ่งอยู่ในหุบเขาใกล้ทางขึ้นโรพเวย์ที่จะพาเราขึ้นไปสำรวจยอดเขาทะนิงะวะ

ลำน้ำยูบิโสะ บองลงไปจากห้องกินข้าวของโรงเตี๊ยม

เสาร์ 4 พย.66

ตื่นเช้าเจ้าของโรงแรมซึ่งเป็นฝรั่งแนะนำเราว่าอย่าขึ้นโรพเวย์ไปข้างบนเพราะต้นไม้แห้งหมดแล้ว เราตกลงกันว่าจะให้กัปตันนอนหลับฟื้นตัวสักสามชั่วโมง ขณะนั่งกินข้าวเช้าในโรงเตี๊ยมมองลงไปจากหน้าต่างกระจกเห็นธารน้ำยูบิโสะไหลเชี่ยวอยู่เบื้องล่าง ลมพัดใบไม้สีแดงสีเหลืองปลิวร่วงพลูอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งถ้ามันร่วงในอัตรานี้ วันพรุ่งนี้ก็คือไม่เหลือแล้ว จึงตกลงจะใช้เวลาหลังอาหารเดินป่าสำรวจไปตามลำน้ำยูบิโสะ ซึ่งเป็นธารน้ำบนเขาสูง บางตอนเป็นน้ำตกที่น้ำเย็นเจี๊ยบ บางตอนไหลเชี่ยว บางตอนไหลเอื่อย สีสันของป่าสวยสะดุดตา เมื่อประกอบกับแดดยามเช้าก็ให้อารมณ์วิเวกของป่าเขาลำเนาไพรบวกความสดใสร่าเริงได้ดีไม่มีที่ติ

แอบมาอยู่ข้างหลัง แล้วสะบัดน้ำเย็นใส่

เดินมาพอดีเหนื่อยก็ถึงริมธารน้ำที่ชายฝั่งดารดาษด้วยก้อนกรวดสีขาว เราตกลงปักหลักปิคนิกกินผลไม้หั่นที่เตรียมมากันที่นี่ บรรยากาศดี มีน้ำใสไหลเย็นเสียงซู่ซ่า มองไปฝั่งโน้นเป็นต้นไม้ใบไม้แดงสลับเหลือง มองทวนน้ำขึ้นไปเป็นท้องแม่น้ำอันกว้างใหญ่เห็นแต่ก้อนกรวดสีขาวเต็มไปหมดมีธารน้ำไหลอยู่ตรงกลาง

เจ้าหมาน้อยพันธ์ุไส้กรอกตัวหนึ่งหลุดจากสายจูงของเจ้าของมาได้ก็วิ่งมาลงน้ำใกล้จุดปิคนิคของเรา มันแช่น้ำเพลินจนเราเลิกสนใจมัน แล้วมันก็ค่อยๆแอบดอดขึ้นฝั่งมาข้างหลังที่เรานั่งอยู่ แล้วสะบัดเอาฝอยน้ำเย็นเจี๊ยบใส่จนผมร้องลั่น เจ้าของซึ่งเป็นผู้หญิงชาวญี่ปุ่นคงรู้ว่ามันมาก่อเรื่องจึงส่งเสียงเรียกแต่ไกล พอมันได้ยินก็เผ่นแน่บออกไปเลย

หมู่บ้านหัตถกรรมพื้นบ้านทากุมิ

แม่ค้ากระป๋อง อย่าหยอดผิดบ้าน
เอาแป้งขนมไข่ลงก่อน วางไส้ถั่วแดงตรงกลาง แล้วพับประกบเป็นปลาเผา

เหนื่อยได้ที่แล้วเรากลับโรงเตี๊ยมเพื่อเตรียมข้าวของเดินทางต่อ คุณแจ่มอยากจะมุ่งตรงไปปลายทางคือตำบลคูซัตสึออนเซ็นทันทีเพราะเธออยากให้ผมได้ไปสัมผัสบรรยากาศของชุมชนแห่งนี้ก่อนค่ำ แต่ผมแอบดูแผนที่และฝีมือคนขับซึ่งเป็นนักบิดบิ๊กไบค์ด้วยแล้วเห็นว่าใช้เวลาอย่างมากก็ไม่ถึงสามชั่วโมง จึงชวนให้แวะหมู่บ้านหัตถกรรมพื้นบ้านทากุมิ (Takumi No Sato traditional craft community) พอเราลงจากเขามาได้ราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงหมู่บ้าน

เมื่อมาถึงก็พบว่ามันเป็นหมู่บ้านแบบบ้านนอกทั่วๆไป แต่ชาวบ้านตกลงกันว่าบ้านหนึ่งก็ให้เอาดีหนึ่งอย่าง เราเดินถนนในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่คนท้องถิ่น คนบนถนนจึงเป็นคนญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด เดินชมบ้าน ยุ้งข้าว ร้านค้าซึ่งแต่ละบ้านมีเอกลักษณ์และสินค้าของตัวเอง ตัวร้านค้าก็คือบ้านที่ชาวบ้านหมู่บ้านนี้ใช้อยู่อาศัยนั่นแหละ

บางบ้านก็ขายของรวมแบบ “แม่ค้ากระป๋อง” คือบ้านหนึ่งก็ส่งสินค้ามาร่วมขายหนึ่งถาดมีป้ายราคาติดไว้และวางกระป๋องหยอดเงินไว้ในถาดนั้นหนึ่งใบ ดังนั้นเวลาซื้ออะไรต้องหยอดให้ถูกกระป๋อง ไม่ใช่หยิบผลิตผลของบ้านหนึ่ง แล้วไปหยอดเงินให้อีกบ้านหนึ่ง มีร้านสินค้าแบบคราฟท์เช่นตุ๊กตาแกะสลัก ดอกไม้แห้ง  ปลายสุดถนนซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้าน มีตลาดนัดเล็กๆ ซึ่งผมได้ไปยืนชมการปิ้งขนมปลาไส้ถั่วแดงที่นี่และอุดหนุนมาหลายตัว เราตากแดดกินอาหารกลางวันอย่างง่ายๆที่ตลาดนัดนี้แล้วก็ออกเดินทางต่อ

ใบไม้แดงที่ตำบลชิมะออนเซ็น

เหลือบดูนาฬิกาแล้วยังมีเวลาเหลือ เราตกลงขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะเข้าไปดูใบไม้แดงที่ตำบลชิมะ ออนเซ็น (Shima Onzen) โดยขับรถผ่านอุโมง แล้ววนลงไปตั้งต้นที่ทะเลสาปโอคุชิมะ (Okushima Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาปที่เกิดจากการสร้างเขื่อน มีน้ำเป็นสีคราม มีต้นไม้ใบไม้สีแดงสีเหลืองอยู่รอบๆ

เราจอดรถที่ถนนรอบขอบทะเลสาปแล้วเดินลงไปยังเกาะกลางทะเลสาปซึ่งออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับการมาชื่นชมใบไม้แดงโดยเฉพาะ มีคนญี่ปุ่นมาเที่ยวชมใบไม้แดงกันประปราย แต่ไม่เห็นคนต่างชาติ ใบไม้แดงที่นี่เกิดจากการปลูกเสริมของที่มีเดิมตามธรรมชาติทำให้เป็นที่มีใบไม้แดงค่อนข้างหนาแน่น สวนสาธารณะออกแบบให้มีทางเดินขึ้นลงและวนไปวนมาให้มีมุมถ่ายรูปที่หลากหลายไม่เบื่อ

ทางเดินลงไปเกาะกลางทะเลสาปโอคุชิมะ

ตลาดเมืองชิมะออนเซ็น

จากทะเลสาปเราขับรถดูเมืองชิมะออนเซ็นซึ่งเป็นเมืองในหุบเขาใต้เขื่อนที่ซ้อนกันขึ้นมาในทางสูงถึงสามชั้น คือเมืองบน เมืองกลาง และเมืองล่าง บ้านเรือนตั้งเบียดแนบเชิงเขาเพราะพื้นที่ราบไม่มี ลักษณะบ้านเรือนมีทั้งแบบเก่าแบบใหม่ปนกันไปแต่มีเอกลักษณ์อย่างเดียวกันอยู่อย่างหนึ่งคือแทบทุกบ้านล้วนหากินกับการอาบน้ำแร่ออนเซ็น รูปของเมืองนี้ที่ผมถ่ายเองมันไม่สวยจึงยืมของคนอื่นมาลง

แล้วก็ได้เวลาขับไปเมืองเป้าหมายสำหรับวันนี้คือเมืองคูซัตสึ (Kusatsu Onsen) เดิมผมตั้งใจจะแวะดูสวนน้ำพุ Sai-no-Kawara Park แต่ไม่มีเวลาแล้วจึงขับตรงเข้าเมือง

น้ำแร่ร้อนไหลตกโจ๊กๆ กลางเมืองคูซัตสึวันละ 32000 ลิตร
คนทั้งเมืองนุ่งโสร่งสวมเกี๊ยะพร้อมลงน้ำได้ทุกเมื่อ

ขับเบียดเข้าไปตามถนนที่แคบราวสามเมตร มีนักท่องเที่ยวใส่ชุดยุคะตะใส่เกี๊ยะเดินดังก๊อบ เดินดังแก๊บ เหมือนลุงจอนคนเมืองจันทร์ เดินกันเบียดเสียดยัดเยียดจนแทบจะต้องเอามือแหวกคนเพื่อให้รถเบียดเข้าไปได้ เหตุที่เราต้องขับมุดเข้ามาก็เพราะโรงแรมที่เราจะพักคือ Hotel Ishii นั้นอยู่กลางเมืองพอดี การได้อยู่กลางเมืองบ่งบอกถึงราคา เพราะสถาปัตยกรรมของเมืองนี้สร้างรอบบ่อน้ำร้อนกลางเมือง (The Yubatake) โรงแรมจึงเบียดกันอยู่ใกล้ๆบ่อจะได้สูบน้ำร้อนไปใช้ได้สะดวก และผู้คนก็ใส่ชุดยูคะตะสวมเกี๊ยะแบบพร้อมจะขึ้นน้ำลงน้ำได้ตลอดเวลา

เมืองทั้งเมืองสร้างรอบบ่อน้ำร้อน
น้ำร้อนบางส่วนปล่อยลงมาตามรางลงสระกลางเมือง

บ่อน้ำร้อนกลางเมืองนี้มีน้ำผุดขึ้นมาแบบไหลโจ๊กๆวันละ 32000 ลิตร เป็นน้ำกรดที่ชาวเมืองคุยว่ารักษาโรคได้ทุกโรค ยกเว้นโรคเดียวคือโรคเจ็บหัวใจ หิ หิ เขาว่านะ เท็จจริงหมอสันต์ไม่ทราบ

ประเพณีเอากระดานตีน้ำ

เมืองนี้มีประเพณีร้องเพลงร่ายรำเอากระดานตีน้ำเรียกว่า Yumomi dance โดยแสดงให้นักท่องเที่ยวซื้อตั๋วเข้าไปดูได้ที่บ้าน Netsunoyu อยู่ข้างบึงกลางเมืองนี่เอง พวกเราไปซื้อตั๋วได้เป็นคนสุดท้ายของวันนี้พอดี คนขายตั๋วแต่งชุดกิโมโนหน้าตาจิ้มลิ้มน่ารัก พอเปิดแสดงคนเป็นโฆษกบนเวทีก็คือเธออีกนั่นแหละ เธอบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นยาวเหยียดและเปิดตัวนักตีน้ำในชุดกิโมโนทีละคนซึ่งทั้งหมดเป็นหญิงวัยคุณป้าและคุณยายทาแป้งหนาเต๊อะ รวมห้าคน พอถึงเวลาตีน้ำจริงๆโฆษกคนสวยก็ลงไปตีด้วยอีกคนเป็นหกคน ร้องเพลงกันไป ร่ายรำกันไปคล้ายรำวงสาวบ้านแต้ไปพลาง ตีน้ำกันไปพลาง เพลงที่ร้องนี้ผู้ชมที่เป็นญี่ปุ่นร้องคลอไปด้วย แสดงว่าเป็นเพลงที่ป๊อบเอาการอยู่

เสร็จแล้วเราไปนอนแช่น้ำร้อนกลางแจ้ง แล้วใส่ชุดยูคะตะสวมรองเท้าแตะไปนั่งกินอาหารเย็นแบบญี่ปุ่นที่โรงแรมเขาจัดให้อย่างดี แล้วเข้านอนเอาแรงเพื่อเตรียมตัวเดินป่าขึ้นเขาครั้งใหญ่ที่สุดของทริปนี้วันรุ่งขึ้น

(การเดินทางครั้่งนี้ใช้เวลาทั้งหมดสิบสองวัน เพิ่งเขียนมาได้สี่วัน ที่เหลือค่อยมาเขียนต่อนะครับ คราวนี้รับประกันว่าจะมาเขียนต่อให้จบ 100% ไม่มีเบี้ยว หิ..หิ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์