Latest

การฉีดสารอุดตันหลอดเลือดที่หัวเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม (Geniculate artery embolization)

(ภาพวันนี้ / เผาข้าวหลามกินกัน วันไปเยี่ยมเพื่อนที่ทำไร่กาแฟอยู่บนดอยสูง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์ครับ

ตามที่ แผนกรังสีร่วมรักษาของรพ. …. โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อแต่ใช้วิธีรักษาด้วยรังสีแทนนั้น เป็นวิธีที่ใช้ได้จริงหรือไม่ครับ ได้ผลจริงไหม เพราะผมเองก็มีปัญหาปวดเข่ามาก หมอแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า แต่ผมไม่อยากผ่า ควรทำหรือไม่ควรทำขอความเห็นส่วนตัวคุณหมอสันต์ด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าแผนกรังสีร่วมรักษาเขาจะเอารังสีมารักษาข้อเข่าเสื่อมได้จริงไหม ตอบว่าเขาไม่ได้เอารังสีมารักษาข้อเข่าเสื่อม แต่เขารับรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีฉีดสารอุดตัน (emboli) เข้าไปปิดกั้นหรืออุดตันหลอดเลือด geniculate artery ที่ไปเลี้ยงหน้าสัมผัสของหัวเข่า เรียกวิธีรักษาแบบนี้ว่า Geniculate Artery Embolization (GAE) แต่เหตุที่การรักษาแบบนี้ต้องไปทำที่แผนกรังสีก็เพราะแผนกรังสีเป็นเจ้าของเครื่องฉีดสี (angiography) แผนกอื่นที่มีเครื่องแบบนี้นอกจากแผนกรังสีแล้วก็มีแต่แผนกหัวใจเท่านั้น แผนกกระดูกยังไม่มี

2.. ถามว่าการฉีดสารอุดตันเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวข้อเข่ารักษาโรคข้อเสื่อมได้จริงไหม ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายได้หรอกครับ แต่มีสารพัดวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเสื่อม วิธีดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยตามลำดับก็คือการลดน้ำหนักและทำกายภาพบำบัดสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหน้าขาหลังขาและเอ็นรอบหัวเข่าก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็กินยาแก้ข้ออักเสบ (์NSAID) ซึ่งจะบรรเทาอาการได้ตราบใดที่ยังกินยาอยู่ ถ้ายังปวดมากอยู่ก็ไปขั้นที่สองคือฉีดสะเตียรอยด์เข้าข้อ ซึ่งจะบรรเทาปวดได้ราวสามสัปดาห์ ถ้ายังปวดอยู่อีกก็ฉีดจาระบี (hyaluronic acid) เข้าไปในข้อ ซึ่งจะบรรเทาปวดได้สักหกเดือน หากยังปวดอยู่อีกก็โน่น…ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซะเลย

ส่วนการแก้ปวดด้วยวิธีฉีดสารอุดตันเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวข้อ (GAE) นี้เป็นวิธีใหม่ ซึ่งมีความรุกล้ำรุนแรงน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ถามว่าวิธี GAE นี้มันได้ผลไหม ตอบว่ามีงานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์แล้วราวร้อยกว่าเกือบๆสองร้อยงานวิจัย เกือบทั้งหมดเป็นงานวิจัยระดับต่ำ แต่มีอยู่หนึ่งงานวิจัยที่เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยระดับสูงเชื่อถือได้ ผมจึงจะพูดถึงงานวิจัยนี้เพียงงานวิจัยเดียว ในงานวิจัยนี้เขาเอาคนป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการเจ็บหัวเข่าระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 21 คน มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำ GAE ของจริงคือฉีดสารอุดหลอดเลือดหัวเข่าจริงๆ อีกกลุ่มหนึ่งทำทีเป็นเอาเข้าห้องฉีดสีทำ GAE แต่ไม่ได้ฉีดสารเข้าไปอุดหลอดเลือดจริง แล้วตามประเมินอาการปวดเข่าของทั้งสองกลุ่มเมื่อครบ 1 เดือน และ 12 เดือนหลังฉีด พบว่ากลุ่มที่ได้ทำ GAE จริงอาการปวดเข่าน้อยลงและการใช้งานเข่าดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

สรุปว่าการรักษาแบบฉีดสารอุดหลอดเลือดหัวเข่าบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและเพิ่มการใช้งานหัวเข่าได้ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีหลังการฉีด

3.. ถามว่าควรทำ GAE หรือไม่ควรทำขอความเห็นส่วนตัวหมอสันต์ด้วย ฮั่นแน่ หาเรื่องให้หมอสันต์เจ็บตัวอีกละ ตอบว่าความเห็นส่วนตัวผมไม่มี มีแต่การวิเคราะห์ผลวิจัยนี้นั่นแหละครับ ว่า (1) งานวิจัยนี้ได้ผลว่าดีสำหรับคนปวดเข่าระดับเล็กน้อยถึงระดับปานกลางเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับคนปวดเข่าระดับมากอย่างคุณ หากคุณจะลองรับการรักษาแบบนี้ก็ต้องเป็นการลองด้วยความกล้าของคุณเอง อย่าอิงผลวิจัยนี้ เพราะผลวิจัยนี้ใช้ไม่ได้กับคนปวดเข่าระดับมาก (2) ผลวิจัย GAE ในเชิงความปลอดภัยต่อหัวเข่านั้น ประเมินกันเฉพาะในระยะสั้น 1 ปี อย่างเก่ง 2 ปี หลังจากนั้นการจงใจไปอุดหลอดเลือดของหัวเข่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหัวเข่าในระยะยาวยังไม่มีใครรู้ ผมเองรู้แต่ว่าหากเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ถ้าหลอดเลือดแขนงที่ตีบนั้นอุดตันไปซะก็จะหายเจ็บหน้าอกเป็นปลิดทิ้ง เพียงแต่ถ้าโชคไม่ดีกล้ามเนื้อหัวใจตายไปมากก็มักตามมาด้วยหัวใจล้มเหลว นั่นเป็นเรื่องที่หัวใจ แต่ที่หัวเข่ามันคนละเรื่อง การอุดหลอดเลือดที่หัวเข่านานไปจะเกิดอะไรขึ้นผมไม่รู้ หมอกระดูกก็ยังไม่รู้ เพราะวิธีรักษาด้วยการอุดหลอดเลือดเพิ่งมาเริ่มทำกัน ผลระยะยาวต้องตามดูกันต่อไป คุณอยากจะลองก็เอาเลยครับ ใครที่อยากรับการรักษาอะไรใหม่ๆผมเชียร์ทั้งนั้น เพราะในทางการแพทย์ผู้ที่เป็นกองหน้าทำไปก่อนย่อมเป็นผู้ทำความดีด้วยการสร้างข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่คนที่จะมาทำภายหลัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Bagla S, Piechowiak R, Sajan A, Orlando J, Hartman T, Isaacson A. Multicenter Randomized Sham Controlled Study of Genicular Artery Embolization for Knee Pain Secondary to Osteoarthritis. J Vasc Interv Radiol. 2022 Jan;33(1):2-10.e2. doi: 10.1016/j.jvir.2021.09.019. Epub 2021 Oct 2. PMID: 34610422.