Latest

อย่ารีบประเมินหัวใจเอาจากการแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มเมื่ออยู่บนที่สูง

(ภาพวันนี้ / สร้อยสายเพชร)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์

หญิงไทยวัย65 น้ำหนัก 63 กก สูง 160ซม. มีโรคประจำตัว คือ1. ภูมิแพ้ผิวหนังมีตุ่มคันรักษามา20ปีแล้ว  2.ปวดหลังกระดูกพรุนต้องฉีดยามา2ปีแล้ว 3.มีไขมันสูงพึ่งรักษา 4.แถมมีเส้นเลือดขอดแต่ยังไม่รักษา ได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ8ข้อได้หมด ยกเว้นสมาธิแค่เตาะแตะ ขึ้นลงกระไดได้7ชั้นขึ้นไปทำงานพาร์ไทม์ เพื่อเก็บเงินเที่ยว จนกระทั่งไปปีนเขาสูงแล้วแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ มีเจ็บจิ๊ดๆบ้างแต่ไม่ร้าวไปที่ใด เหนื่อยมาก ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ

           จึงไปรับการตรวจ Echo ผลลิ้นหัวใจรั่วหมดทุกลิ้น โดยเฉพาะMV ระดับmoderate แพทย์นัด CAG 5มค67หากพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบก็จะทำการใส่บอลลูนให้เลย และอาจต้องเปลี่ยนลิ้นเป็นลำดับต่อไป จึงขอเรียนถามคุณหมอเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า

           ถ้าต้องทำบอลลูนและหรือซ่อมลิ้นแล้ว จะดำเนินชีวิตแตกต่างกันไหมระหว่างทำกับไม่ทำ คือถ้าทำแล้วสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยมีการดูแลตนเองไม่ยุ่งยากนัก ถ้ายุ่งยากและเสี่ยงสูงก็จะอยู่แบบหัวใจรั่วๆแบบนี้แหละก็มีความสุขดีแล้ว เพียงแต่ไม่ปีนเขาที่ความสูง3000เมตรและออกซิเจนเบาบางก็น่าจะอยู่ได้

                ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ช่วยดูแลสุขภาพ ขอผลบุญทำให้คุณหมอและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีความสุขความเจริญ สมหวังในสิ่งปรารถนา มีพละกำลังมากมายถ่ายทอดความรู้ในการดูแลตนเองให้กับปชช.ได้ยาวนานๆๆ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าไปเที่ยวบนภูเขาสูงแล้วหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่มเป็นเพราะมีโรคหัวใจระดับต้องผ่าตัดแก้ไขซ่อนอยู่ใช่ไหม ตอบว่ามันเกิดได้จากสองสาเหตุ สาเหตุที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ โรคปอดบวมน้ำจากความสูง (high-altitude pulmonary edema – HAPE) ซึ่งมีอาการหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม ทั้งนี้เกิดจากกลไกหลักของโรคคือหลอดเลือดที่ปอดหดตัวจนแลกเปลี่ยนออกซิเจนไมไ่ด้ (hypoxic pulmonary vasoconstriction) ถ้าไม่ตายเสียก่อนเมื่อลงจากที่สูงได้แล้วอาการก็จะหายไป ไม่เกี่ยวอะไรกับหัวใจเลย ส่วนโอกาสที่จะไปหอบเพราะโรคหัวใจหรือหัวใจล้มเหลวนั้นต้องเป็นโรคหัวใจระดับมากอยู่ก่อน แต่ของคุณตามผลตรวจ Echo ที่ส่งมาให้ดูหัวใจห้องล่างซ้ายยังทำงานได้ปกติดีมาก (EF 70%) เทียบเท่าคนไม่ได้เป็นโรคหัวใจเลย

2. ถามว่าหากผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วจะมีผลอะไรกับชีวิตบ้าง ตอบว่า (1) ผลที่แรงที่สุดคือการตายจากการผ่าตัดซึ่งพบได้ 1-2.5% นี่ยังไม่นับภาวะแทรกซ้อนระดับไม่ตายแต่คางเหลืองเช่นเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต ไตวาย ซึ่งมักพบรวมๆกันอีกประมาณ 2.5-5% (2) ผลแรงรองลงมาคือการกินยากันเลือดแข็งตลอดชีวิต (3) ผลที่แรงรองลงไปอีกคือการต้องกลับมาผ่าตัดใหม่เพราะลิ้นเทียมที่ใส่ไปมันขี้มักจะไม่ดีเท่าลิ้นจริง บัดเดี๋ยวรั่ว บัดเดี๋ยวตีบ บัดเดี๋ยวติดเชื้อ เป็นต้น

3. ถามว่าจากภาพ Echo ที่ส่งมามีความจำเป็นต้องผ่าตัดลิ้นหัวใจไหม ตอบว่าการตัดสินใจผ่าตัดลิ้นหัวใจมีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็นคือ (1) คุณภาพชีวิต (2) ความยืนยาวของชีวิต

ประเด็นคุณภาพชีวิต การผ่าตัดจะได้ประโยชน์เชิงคุณภาพชีวิตก็ต่อเมื่อมีอาการให้บรรเทา กรณีของคุณนี้คุณไม่ได้มีอาการอะไรให้บรรเทา อาการการหอบแน่นหน้าอกเมื่อขึ้นภูเขาสูงเอามีพิจารณาประกอบไม่ได้ไม่เกี่ยวกัน พวกนักปีนเขาที่หัวใจดีๆก็ตายคาที่มานักต่อนักแล้วโดยไม่เกี่ยวกับหัวใจ ต้องประเมินจากอาการในการใช้ชีวิตปกติ ถ้าในชีวิตปกติคุณไม่มีอาการอะไรเลย ประโยชน์ในแง่คุณภาพชีวิตก็คือ…ไม่มีเลย

ประเด็นความยืนยาวของชีวิต ต้องพิจารณาเอาจากความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง ผล Echo ที่คุณส่งมาที่คุณบอกว่ารั่วทุกลิ้นนั้นตามรายงานจริงที่รั่วอย่างมีนัยสำคัญมีสองลิ้นคือลิ้นเอออร์ติก (รั่วน้อยถึงปานกลาง)และลิ้นไมทรัล (รั่วปานกลางถึงรั่วมาก) แต่นี่เป็นการประเมินภาพการไหลย้อน (jet) ของเลือดที่เห็นจากเสียงสะท้อนอย่างเดียว ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนได้มาก ต้องประเมินควบคู่กับข้อมูลส่วนอื่น เช่นการที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายยังทำงานดีมากแสดงว่าการรั่วของลิ้นทั้งสองไม่มีความรุนแรงเลย และเมื่อตามไปดูความดันของหลอดเลือดในหัวใจห้องบนซ้ายและในปอดก็ยังต่ำดีอยู่ แสดงว่าข้อมูลจากการเห็น jet ว่าลิ้นไมทรัลรั่วระดับรุนแรงนั้นขัดแย้งกับข้อมูลความดันในห้องต่างๆของหัวใจและขัดแย้งกับผลการตรวจวัดการทำงานของหัวใจ ตัวผมเองประเมินว่าการรั่วของลิ้นทั้งสองไม่รุนแรง การผ่าตัดจะไม่เพิ่มความยืนยาวของชีวิตเพราะมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่าในคนที่การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายยังปกติการผ่าตัดแก้ลิ้นหัวใจรั่วสำหรับคนไม่มีอาการอะไรจะไม่เพิ่มความยืนยาวของชีวิตให้คนไข้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผ่าตัดเข้าไปแล้วก็มีแนวโน้มที่จะถูกเปลี่ยนสองลิ้นทั้งๆที่ลิ้นเอออร์ติกนั่นแน่ชัดว่ายังรั่วไม่มากถึงขั้นที่จะต้องเปลี่ยน แต่เมื่อผ่าเข้าไปแล้วแพทย์มักจะตัดสินใจเปลี่ยนไปซะด้วยคราวเดียวเพราะการต้องมาทำผ่าตัดซ้ำอีกรอบมันทำยากและอัตราตายสูง

กล่าวโดยสรุปผมมีความเห็นว่าเทียบประโยชน์ที่จะได้กับความเสี่ยงแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่คุ้มค่าที่จะทำ

3.. ถามว่าการฉีดสีสวนหัวใจ (CAG) เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีความจำเป็นไหม ตอบว่าหากคิดจะผ่าตัดลิ้นหัวใจก็ต้องตรวจสวนหัวใจก่อนเพราะเป็นความปลอดภัยของการผ่าตัดลิ้นหัวใจ หากพบหลอดเลือดตีบก็ต้องแก้ไขทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน คือแก้ทั้งลิ้นและทั้งหลอดเลือด

ถ้าไม่ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ก็ไม่ต้องสวนหัวใจ เพราะในกรณีของคุณไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึงขั้นต้องลงมือทำบอลลูนหรือทำผ่าตัดบายพาสกันเดี๋ยวนี้ ควรลงมือจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆไปก่อนแล้วค่อยประเมินคุณภาพชีวิต (อาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรง) จากการใช้ชีวิตปกติก่อน แล้วค่อยคิดอ่านเรื่องการรักษาแบบรุกล้ำภายหลังจะดีกว่า

สันต์ ใจยอดศิลป์