Latest

ความคิดนี้มันเป็นสิ่งเสพย์ติด ความเพลิดเพลินที่ได้จากการคิด ทำให้คุณไปไหนไม่รอด

(ภาพวันนี้ / เด็กนักเรียนเดินกลับบ้าน ผ่านต้นซากุระขาวและชมพู ที่อ่างขาง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมได้พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมตามแนวสมาธิวิปัสนาทั้งพุทโธ ตามแนว … สัมมาอรหัง ตามที่ … สอน และขยับมือดูร่างกายตามแนวหลวงพ่อ … ทำมาแล้วหลายปี แบบทำบ้างไม่ทำบ้าง เคยบวชมาแล้วหนึ่งปีและฝึกแบบเข้มข้น ถึงระดับเข้าฌานได้นานเป็นชั่วโมง แต่เมื่อออกมาใช้ชีวิตจริงท้ายที่สุดก็ยังสลัดความคิดฟุ้งสร้านและความยึดถือไม่ได้ ผมติดตามคุณหมอสันต์มาทราบว่าคุณหมอใช้เวลาศึกษาฮินดูและโยคีมามากและมานาน อยากปรึกษาว่าถ้าผมจะเปลี่ยนแนวทางจากศาสนาพุทธไปทดลองวิธีของศาสนาอื่นดูบ้างจะดีไหมครับ

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

ตอบครับ

1.. ถามว่าจะทิ้งศาสนาพุทธเปลี่ยนไปหาศาสนาอื่นดูบ้างดีไหม ตอบว่าไม่ดีหรอกครับ ศาสนาอะไร ลัทธิอะไรไม่ใช่สาระ อย่าไปสำคัญผิด การจับประเด็นคำสอนสำคัญๆไปฝึกปฏิบัติด้วยตนเองต่างหากที่เป็นสาระ

อีกอย่างหนึ่งคำสอนในทุกศาสนา มันไม่ได้มีอะไรมาก สาระหลักขมวดแล้วได้ศาสนาละไม่กี่ประโยคแถมยังซ้ำซ้อนคล้ายคลึงกัน ศาสนาพุทธอาจมีคำสอนให้มองเรื่องเดียวกันจากหลายมุม ทำให้ดูเหมือนเยอะ จริงๆแล้วแก่นมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือการใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้ทุกข์ แค่เลือกเอาคำสอนสักหนึ่งหรือสองประโยคไปฝึกปฏิบัติอย่างใจเย็นและต่อเนื่องก็เหลือแหล่แล้ว

ก่อนที่คุณจะหนีไป ผมแนะนำให้คุณขมวดเอาคำสอนสำคัญไม่กี่ประโยคไปลองฝึกด้วยสามัญสำนึกของตัวเองก่อน ซึ่งผมแนะนำให้ใส่ใจคำสอนที่ท่านสอนในครั้งสำคัญๆแค่สี่ครั้งเท่านั้น คือ

คำสอนครั้งแรก (ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร) มีผู้เรียนห้าคน สาระหลักมีแค่ว่าการจะดำรงชีวิตโดยไม่ทุกข์คือให้อยู่ตรงกลางนิ่งๆ ไม่แกว่งไปกอดรัดยึดเหนี่ยวสิ่งที่ชอบ ไม่แกว่งผละหนีสิ่งที่ไม่ชอบ อะไรผ่านเข้ามาก็ยอมรับมันตามที่มันเป็น ขมวดเป็นคำพูดได้คำเดียว คือ “ยอมรับ” หรือ “acceptance” สอนแค่นี้ผู้ฟังหนึ่งคนเก็ทเลย

คำสอนครั้งที่สอง (อนัตตลักขณสูตร) สอนห่างวันแรกไม่กี่วัน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้อีกสี่คนที่ยังไม่เก็ท มีเนื้อหาสรุปได้ว่าความเป็นบุคคลคนหนึ่งของเรานี้แท้จริงแล้วเป็นเพียงประสบการณ์ที่ใจเราสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ แล้วใจเราเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาร้อยเรียงจดจำไว้ภายใต้คอนเซ็พท์ของเวลากลายมาเป็นอดีตปัจจุบันอนาคตและตัวตนของเราขึ้นมา ซึ่งแท้จริงแล้วทุกประสบการณ์ล้วนเกิดขึ้นจากการมาผสมคลุกเคล้ากันขององค์ประกอบย่อยห้าอย่าง คือ

(1) สิ่งเร้าทางกายภาพที่ผ่านเข้ามาในรูปของภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น

(2) พลังชีวิตที่ใจเรารับรู้ได้ในรูปของความรู้สึก

(3) ความจำ

(4) ความคิด

(5) ความสามารถของใจในการรับรู้ประสบการณ์

ดังนั้นเมื่อแยกองค์ประกอบย่อยนี้ออกไป ประสบการณ์ที่หล่อหลอมความเป็นบุคคลของเราขึ้นมานี้ก็ไม่มีอะไรเหลือให้ยึดถือว่าเป็นเราได้เลย..ไม่เหลือสักนิดเดียว

คำสอนที่สาม (โอวาทะปาฏิโมกข์) สอนในวันมาฆะบูชา มีสาระสำคัญสรุปได้ว่าขั้นตอนปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์มีหกขั้นตอนตามลำดับ คือ

(1) การฝึกเป็นคนนิ่งไม่ตื่นตูม (ขันติ)

(2) การฝึกเป็นคนมีวินัย (ศีล)

(3) การฝึกสำรวมอินทรีย์ (หมายความว่าตื่นตัวคอยตามรู้การที่ใจจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่จะผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งหกอย่างไรบ้าง)

(4) การฝึกกินแค่พอดี ไม่กินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป

(5) การฝึกตามรู้การเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเหลียว ดู คู้ เหยียด

(6) การฝึกนั่งสมาธิตามดูลมหายใจ จนใจสงัดจากความคิด เกิดสมาธิ เกิดปัญญาชี้นำการใช้ชีวิตได้

คำสอนสุดท้าย (ปัจฉิมโอวาท) เป็นคำพูดแค่ประโยคเดียว ซึ่งผมขอโค้ดภาษาบาลีมาด้วยว่า

“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”

ประโยคนี้คนอื่นเขาจะแปลว่าอย่างไรก็แล้วแต่เขาเถอะ แต่หมอสันต์ขอแปลเป็นไทยว่า

“ความคิดย่อมแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา จงฝึกที่จะไม่เผลอ”

คำสอนสุดท้ายของท่านนี้เน็ดขนาด คือสุดยอด เหมาะสำหรับคุณเหน่งๆเลย แค่คุณตั้งใจเอาคำสอนสุดท้ายนี้ไปปฏิบัติก็เหลือเฟือแล้ว

กล่าวโดยสรุป ก่อนจะทิ้ง ให้คุณลองจับเอาแก่นคำสอนไปฝึกปฏิบัติเองโดยไม่ต้องฝืนใจหรือทู่ซี้ทำตามวิธีปลีกย่อยอื่นใดของใคร ฝึกทำไปเองแบบง่ายๆ สบายๆ ทำไปเองดูไปเองสักพักหนึ่งก่อน ถ้าฝึกทำไปแล้วยังไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างไม่ทุกข์ได้ จึงค่อยวางแนวทางนี้ไปลองใช้แนวทางที่สอนกันในศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นดูบ้าง ไม่ต้องเกี่ยงว่าควรลองอะไรก่อนหลัง ลองไปทีละอัน อันไหนใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไป อันไหนดีก็เก็บไว้ใช้ ลองไปจนดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ทุกข์ได้สำเร็จ ขยันหา ขยันลองทำไปเถอะ..แล้วคุณก็จะพบ

2.. ถามว่าจิตใจที่ฟุ้งสร้านเอาแต่ คิด คี้ด..ด คิด นี้จะกำราบอย่างไร ตอบว่า “ความคิด” มันเป็นสิ่งเสพย์ติด ยิ่งเสพย์ก็ยิ่งติด ยิ่งติดก็ยิ่งเสพย์ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ความเพลินจากการได้ล่องลอยไปในความคิด มันช่างเพลิดเพลินจนยากที่จะสละทิ้งได้ การจะเลิกสิ่งเสพย์ติดก็ต้องยอมลงแดง เหมือนขี้ยาไปตัดยาก็ต้องมีลงแดงอ๊วกแตกอ๊วกแตนลำบากลำบนเป็นธรรมดา

วิธีตัดการเสพย์ติดความคิดสำหรับคุณซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้วผมก็แนะนำให้ทำตามปัจฉิมโอวาทนั่นแหละ คือขยันฝึกตนให้เป็นคนไม่เผลอ ฝึกอย่างไรหรือ ก็ฝึกไปตามขั้นตอนที่สอนไว้ในวันมาฆะบูชานั่นแหละ เน้น “สำรวมอินทรีย์” คือแอบขยันตื่นตัว ขยันแอบดูว่าใจมันสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะในแต่ละช็อตอย่างไร ไม่ยากดอก เพราะใจเรานี้มันไม่ได้ซับซ้อน มันทำงานเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งแค่นั้นเอง คือมันมีกลไกการสนองตอบอัตโนม้ติที่ผูกเป็นเงื่อนไขไว้แล้วจากความจำเก่าของเราเอง ถ้ามาแบบนี้มันจะไปแบบนี้ ถ้ามาแบบนั้นมันจะไปแบบนั้น การสำรวมอินทรีย์ก็คือการฝึกแอบดูใจตัวเอง แอบดูเฉยๆ แอบดูจนทุกครั้งที่ใจสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างไรเรารู้ทันทุกครั้ง ทำอย่างนี้ไปถึงจุดหนึ่งความคิดจะหมดอิทธิพลลากจูงในที่สุด

ถ้าการแอบดูไม่สำเร็จเพราะความคิดมันครอบใจไว้ตลอดเวลาจนไม่มีจังหวะดึงความสนใจให้ถอยมาแอบดู ให้เริ่มต้นด้วยวิธีจงใจเอาความสนใจไปขลุกอยู่กับกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับความคิดก่อน เช่นการทำงานอดิเรกหรือหัดเล่นดนตรีแบบที่ต้องอ่านตัวโน้ตไปทีละตัวจึงจะเล่นได้ หรือหัดเล่นกีฬาแบบเผลอไม่ได้ไม่งั้นเจ็บ เป็นต้น พอเริ่มหันเหความสนใจออกจากความคิดได้บ้างแล้วจึงค่อยกลับมาฝึกวิธี “สำรวมอินทรีย์” หรือแอบดูใจตัวเองใหม่

ทั้งนี้อย่าลืมว่าที่คุณเสาะหาคือวิธีจะดำรงชีวิต ณ ขณะนี้อย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์เท่านั้นนะ อย่าไปเสาะหาอะไรที่มากไปกว่านี้หรือไกลไปกว่าขณะนี้ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นการขยับจากการอยู่นิ่งๆตรงกลางเข้าไปกอดสิ่งที่อยากได้ หรือผละหนีจากสิ่งที่ไม่อยากได้ คือกลายเป็นการใช้ชีวิตแบบแส่หาทุกข์เสียฉิบแทนที่จะเป็นใช้ชีวิตแบบไม่ทุกข์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์