Latest

ชีวิตคือซีรี่ส์ของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นบนสามเวที คือเวทีตื่น เวทีฝัน และเวทีหลับลึก

(ภาพวันนี้ / ดวงตะวันบนเนินหญ้า ของจริงเป็นสีหมากสุกสวยกว่าภาพ)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

สวัสดีครับอาจารย์

ในเรื่องความหลุดพ้น ตอนนี้คำถามอื่นๆผมไม่มีความสงสัยอะไรอีกแล้วยกเว้นข้อนี้ครับ คือในชีวิตประจำวันเนี่ยตอนนี้อะไรกระทบมาก็ว่างแบบ infinity แล้วครับ หรือที่บาลีน่าจะเรียนอนัตตา และ spirituality ส่วนใหญ่น่าจะเรียก oneness หรือผมเรียกเองว่า emptiness  ซึ่งก็น่าจะตรงกับคำสอน Buddha ที่ว่าว่างจากตัวตน เรา เขาไม่มีอะไรเลย นิพพาน บลาๆ แต่ๆๆๆ

  1. ทำไมเวลานอนหลับแล้วฝัน ถึงยังอินกับอารมณ์ในฝันอยู่ครับ ? แต่ความอินมันจางลงเรื่อยๆตามระยะเวลานะครับ 2เดือน 1 เดือน ปัจจุบันอินน้อยลง แต่ตื่นมาแล้วช่วงงัวเงียยังเหนื่อยอยู่ พอค่อยๆอยู่กับความรู้ตัวตอนตื่น สุดท้ายมันก็จางไปว่างไม่มีอะไรเหมือนเดิม
  2. ถ้าเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เป็นไปได้ไหมครับ ที่ในความฝันก็จะไม่มีอะไรมากระทบได้ ? ฝันที่ผมชอบฝันบ่อยๆ ตื่นไปสอบไม่ทันบ้าง  ไม่ได้ส่งงานอาจารย์ตามเวลากำหนดบ้าง ฝันว่าโดดเรียนแล้วอาจารย์ไม่ให้ไปสอบบ้าง ทั้งๆที่จบมัธยมมา12 ปีแล้ว และในชีวิตจริงในอดีตก็ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ (มีแค่โดดเรียนบ้างครั้งคราวแต่ไม่ถึงขั้นอาจารย์ไม่ให้ไปสอบ) ชีวิตภายนอกและภายในใจในปัจจุบันก็เป็นอิสระแล้ว แต่ตอนอยู่ในฝันเหนื้อยเหนื่อย พอตื่นมาอยู่กับความรู้ตัวแล้วชิวเลย ขออนุญาตสอบถามประสบการณ์ของอาจารย์

ขอบคุณครับอาจารย์

ตอบครับ

1.. ถามว่าได้ฝึกตัวเองจนรู้ตัวอยู่ได้ทั้งวันไม่เผลอคิดอะไรแล้ว แต่ทำไมยังมีความคิดลบเช่นความกังวลในความฝัน ตอบว่า เพราะ “ความตื่น” และ “ความฝัน” เป็นการเล่นละครคนละเวที มีปัจจัยก่อเกิดประสบการณ์ที่ต่างกัน แม้จะมีความเกี่ยวข้องกันบ้างแต่ก็ไม่ใช่เวทีที่เหมือนกัน100% อย่างน้อยผู้กำกับเวทีก็เป็นคนละคนกัน ในความตื่นความคิดอ่านและสำนึกผิดชอบชั่วดี (intellect) ของคุณเป็นผู้กำกับเวที แต่ในความฝันไม่มีผู้กำกับที่มีอำนาจเต็ม บัดเดี๋ยวความจำเรื่องขี้ๆของคุณขึ้นมาเล่น บัดเดี๋ยวสัญชาติญาณหรือฮอร์โมนในร่างกายของคุณขึ้นมาเล่นบ้าง บัดเดียวสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่นสีแสงเสียงอุณหภูมิห้องนอนสลับขึ้นมาเล่นแทน เรียกว่าเป็นเวทีที่เปะปะไร้ผู้คุม สิ่งที่คุณเจอในฝันไม่ว่าจะประหลาดแค่ไหนก็ถือว่าเรื่องเป็นธรรมดา มีผู้แสวงหาตัวยงซึ่งอายุยังไม่มากท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าเธอมีความก้าวหน้าในการวางความคิดดีมากแต่เธอก็ยังไม่สามารถเอาชนะความคิดเลอะเทอะที่เปลี่ยนเวทีมาอาละวาดในยามฝันแทนยามตื่น เธอบอกผมว่าบางครั้งเล่นเอา กกน.ของเธอ..แฉะ (ฮิ..ฮิ)

ตัวคุณเล่าเองนะว่าตอนอยู่ในฝันนั้นเหนื่อยมาก แต่พอตื่นขึ้นมาอยู่กับความรู้ตัวแล้วก็โล่งสบายดี ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ถ้าจะว่าตามวิชาโยคี ชีวิตมนุษย์ทั้งชีวิตเป็นซีรี่ส์ของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นบนสามเวที คือเวทีตื่น เวทีฝัน และเวทีหลับลึก (หลับโดยไม่ฝัน) เมื่อใดที่คุณตื่นจากเวทีหนึ่ง ความฝันบนเวทีนั้นก็จบลงแค่นั้น แต่คุณอาจไปเริ่มฝันใหม่บนเวทีใหม่อีกเวทีหนึ่ง สมมุติว่าคุณมีชีวิตยามตื่นที่เป็นทุกข์ ทุกข์นั้นมันจะยังไม่จบตราบใดที่คุณยังไม่ตื่นจากเวทีนี้ การตื่นจากเวทีนี้หมายถึงการมองให้ออก หรือมองให้ขาด ว่าประสบการณ์ที่คุณคิดว่าเป็นชีวิตหรือเป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณนั้น แท้จริงเป็นเพียงส่วนผสมของสิ่งชั่วคราวที่เมื่อแยกส่วนออกไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ยึดถือและไม่คุ้มที่จะไปเหนื่อยยากปกป้องเชิดชูมันเลย

2.. ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ในความฝันด้วย ตอบว่าเป็นไปได้หากปัจจัยที่มาปรุงเป็นความฝันของคุณนั้นมันแห้งเหือดลง เด็กอมมือก็รู้ว่าความจำแต่หนหลังของเราเองเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความคิดของเราในวันนี้ ความจำมีธรรมชาติจมสะสมกันอยู่ที่ก้นบึงแล้วค่อยๆทะยอยลอยขึ้นมาสู่การรับรู้ของใจในฐานะหนึ่งในห้าขององค์ประกอบที่มัดกันขึ้นเป็นประสบการณ์ชีวิตทั้งในเวทีตื่นและเวทีฝัน เมื่อความจำโผล่ขึ้นมาหากเราเอาความสนใจไป “เล่นด้วย” ความจำนั้นก็จะใหญ่ขึ้นและกลับมาถี่ขึ้น แต่หากโผล่ขึ้นมาแล้วถูกดีดทิ้ง ดีดทิ้ง มันก็จะมีขนาดเล็กลงๆจนหายหน้าไป เมื่อคุณฝึกสติมาดีจนในเวทีตื่นคุณไม่มีปัญหาแล้ว ความสำเร็จในเวทีตี่นจะค่อยๆทำให้คุณประสบความสำเร็จในเวทีฝันด้วยในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณใช้เทคนิคสองอย่างต่อไปนี้ช่วย คือ

(1) ก่อนที่จะหลับคุณเคลียร์ความคิดหรือความตั้งใจทุกอย่างให้เกลี้ยงหมด เช่นนั่งสมาธิก่อนล้มตัวลงนอน แม้แผนการจะทำอะไรวันพรุ่งนี้ก็ไม่คิด วันนี้จบแล้ว..จบ เมื่อหลับเท่ากับตาย ไม่มีต่อภาคสอง วิธีนี้จะลดความจำที่จะไปลอยโผล่เป็นความฝันได้มากเพราะประสบการณ์ที่เกิดใกล้เวลาฝันจะยิ่งมีแรงโผล่ในฝันมาก

(2) ทันทีที่ตื่นจากความฝัน ให้คุณทิ้งความฝันนั้นไปทันที อย่าให้ราคา อย่าคิดตีความหรือทบทวน อย่าคิดแก้ไข อย่าคิดชื่นชมหรือคิดเสียใจเสียดาย อย่าคิดคาดเดาเชื่อมโยงอะไร หรือไปหานักจิตวิเคราะห์เล่าความฝันให้ฟัง หรือทำสมุดบันทึกเนื้อหาของความฝัน ไม่ควรทำทั้งสิ้น เพราะการทำอย่างนั้นเป็นการเข้าไป “เล่นด้วย” กับความจำเก่าๆที่โผล่ขึ้นมาในความฝัน ยิ่งจะทำให้มันกลับมาบ่อยขึ้นๆ และใหญ่ขึ้นๆ และที่สำคัญ ความจำนั้นมันฝังมาตั้งแต่อดีตไกลโพ้นแค่ไหนเราไม่รู้ อย่าไปยุ่งกับมันเป็นดีที่สุด ตื่นปุ๊บ ดีดความฝันทิ้งปั๊บ หันมาอยู่กับเดี๋ยวนี้เท่านั้น พอเราไม่เล่นด้วย ความจำนั้นก็จะค่อยๆห่างไปและค่อยๆแผ่วหายไปเองในที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์