Latest

ทุกประเด็นเกี่ยวกับการอดอาหาร (Fasting) เพื่อให้อายุยืน/รักษามะเร็ง/รักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ

(ภาพวันนี้ / ผักกาดจ้อน เอาไว้ทำจอผักกาด)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์

ตามที่คุณหมอคนไทยหนุ่มๆคนหนึ่งอยู่ที่ … (อเมริกา) ท่านหนึ่งเผยแพร่คลิปคุณประโยชน์การอดอาหาร (FMD) ควบกับการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งว่าให้ผลการรักษาดี โดยอ้างงานวิจัยสี่ชิ้นประกอบ ผมเองก็เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายที่กำลังให้เคมีบำบัดอยู่ อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าการอดอาหารควบกับการให้เคมีบำบัดได้ผลรักษามะเร็งได้ดีจริงหรือไม่

ตอบครับ

มีจดหมายถามเกี่ยวกับการอดอาหารหรือ fasting ในประเด็นเพื่อลดน้ำหนักบ้าง เพื่อรักษาโรคเรื้อรังเช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือดบ้าง เพื่อรักษาโรคมะเร็งบ้าง ผมยังไม่มีโอกาสได้ตอบอย่างเป็นกิจลักษณะ ที่ไม่ได้ตอบไม่ใช่ว่าเพราะผมไม่สนใจเรื่องนี้ ผมสนใจเรื่องนี้มาก มีอยู่ช่วงหนึ่งผมถึงกับไปกินไปนอนอยู่ที่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนียชื่อซานตาโรซา เพราะที่เมืองนี้มีศูนย์สุขภาพชื่อทรูนอร์ท (True North Health Center) ซึ่งรับรักษาโรคทุกโรคด้วยการให้อดอาหารทุกแบบ โปรแกรมที่โหดที่สุดของเขาไม่ให้กินอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่าเป็นเวลานานถึง 42 วัน ผมจำได้ว่าไปนั่งดูนั่งคุยกับคนไข้ซึ่งจะไปไหนต้องค่อยๆยุรยาตรไปเพราะเขาไม่มีแรง แต่ที่ผมยังไม่เคยตอบเรื่องการอดอาหารรักษาโรคเรื้อรังก็เพราะข้อมูลที่มีอยู่ถึงปัจจุบันมันยังไม่มากพอที่จะตอบคำถามได้ แต่เมื่อคุณถามมาก็ดีแล้ว ผมถือโอกาสทบทวนงานวิจัยในเรื่องนี้เสียเลยว่านับถึงวันนี้เรามีข้อมูลอะไรแล้วบ้าง

ประเด็นนิยามของการอดอาหาร

FMD ย่อมาจาก fasting mimicking diet แปลว่าอาหารเลียนแบบภาวะอดอยาก ก็คือให้กินแบบอดๆ อยากๆ มักจำกัดแคลอรีให้ต่ำ งดหรือลดอาหารกลุ่มโปรตีน บางก็งดหรือลดคาร์โบไฮเดรตด้วย ให้กินแต่ไขมันไม่อิ่มตัว (จากพืช) เป็นหลัก เป็นเวลานานครั้งละประมาณ 4–7 วัน

CR ย่อมาจาก caloric restriction แปลว่าให้กินอาหารที่มุ่งจำกัดแคลอรีให้ต่ำกว่าปกติมากบ้างน้อยบ้างแต่ระวังให้ได้สารอาหารทุกชนิดครบถ้วนเพื่อไม่ให้เป็นโรคขาดอาหาร

TR ย่อมาจาก time restriction แปลว่าให้กินอาหารแบบมีช่วงเวลากิน มีช่วงเวลาอด สลับกันไป เช่นกิน 8 ชั่วโมง สลับกับอด 16 ชั่วโมง เป็นต้น บางครั้งก็เรียกว่า IF (intermittent fasting)

WF ย่อมาจาก water fasting แปลว่าไม่ให้กินอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่า จะกี่วันก็แล้วแต่ เมื่อจะกลับมากินอีกครั้งต้องกลับมาแบบค่อยๆกลับ

DR ย่อมาจาก dietary restriction แปลว่าการเลือกกิน ว่าอะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ เช่นการกินแบบมังสวิรัติก็เป็น DR แบบหนึ่ง ดังนั้น DR จึงไม่ใช่การอดอาหารที่ผมตั้งใจจะพูดถึงในการตอบคำถามครั้งนี้

ประเด็นข้อเสนอว่าการอดอาหารมีประโยชน์อะไรบ้าง

ปัจจุบันนี้มี “ข้อเสนอ” แบบใครคิดอะไรได้ก็โยนขึ้นมาในอินเตอร์เน็ท ว่าการอดอาหารอาจจะมีประโยชน์ดังต่อไปนี้คือ (1) ทำให้อายุยืนยาวขึ้น (2) ช่วยรักษามะเร็ง (3) ช่วยรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ (4) ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (5) ช่วยรักษาโรคอ้วน

ในแง่ของการอดอาหารรักษามะเร็ง มีการตั้งสมมุติฐานว่าเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งมีขีดความสามารถในการยืนหยัดต่ออันตรายหรือความเครียด (เช่นการขาดอาหาร) ได้ไม่เท่ากัน (differential stress resistance -DSR) ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่จะกำจัดเซลล์มะเร็งโดยการสร้างเงื่อนไข (เช่นการอดอาหาร) ให้เซลล์ปกติคุ้นเคยทนทานต่ออันตรายหรือต่อความเครียดให้ได้มากกว่าเซลล์มะเร็งมากๆ (Differential Stress Sensitization – DSS)

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะและสมมุติฐาน ยังไม่ใช่หลักฐานข้อมูลความจริง

ประเด็นหลักฐานวิจัยเรื่องประโยชน์ของการอดอาหาร

นับถึงวันนี้ ผมจะสรุปหลักฐานที่มีอยู่เฉพาะที่เป็นหลักฐานในคนให้ฟังนะ (ส่วนหลักฐานในสัตว์และหลักฐานจากห้องทดลองนั้นไม่เอา)

1.. หากใช้ตัวชี้วัดมาตรฐาน (survival rate) เป็นตัววัด นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานในคนระดับเชื่อถือได้ (RCT) ที่จะมายืนยันว่าการอดอาหารทุกรูปแบบจะช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิต หรือใช้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน หรือทำให้คนไม่ป่วยอายุยืนขึ้นได้แต่อย่างเดียว ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียว

2.. หากใช้ตัวชี้วัดทดแทนอัตราตาย (surrogate indicators) เช่นน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล ตัววัดความไวต่ออินสุลิน ตัววัดการอักเสบ เป็นต้น หลักฐานวิจัยเกี่ยวกับการอดอาหารที่ดีที่สุดคืองานวิจัย CALERIE ซึ่งเอาคนวัยกลางคนที่สุขภาพดีจำนวน 238 คน มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้อดอาหารแบบ CR โดยให้ได้รับแคลอรี่ต่ำกว่าปกติ 25% (แต่อดได้จริงๆแค่ต่ำกว่าปกติ 10%) กับอีกกลุ่มหนึ่งได้แคลอรีเท่าปกติ เป็นเวลานาน 2 ปี พบว่ากลุ่มอดอาหารน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 7.5 กก. (กลุ่มควบคุมนน.เพิ่ม 0.1 กก.) ตัวชี้วัดการอักเสบลดลง และคะแนน metabolic score (ที่คำนวณจากความดันเลือด, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ น้ำตาลในเลือด และเส้นรอบพุง) ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

3.. อีกงานวิจัยหนึ่งเอาผู้ป่วยมะเร็งมา 34 คนแบ่งกลุ่มวิจัยแบบไขว้ (cross over) คือให้กลุ่มหนึ่งอดอาหาร แบบ FMD 36 ชม.ก่อนเริ่มเคมีบำบัดตบท้ายด้วย 24 ชม.เมื่อจบครึ่งแรกของเคมีบำบัด อีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม เมื่อครบครึ่งแรกของเคมีบำบัดแล้วก็ไข้วกัน เอากลุ่มควบคุมมาอดอาหารเอากลุ่มอดอาหารไปเป็นกลุ่มควบคุมบ้าง แล้วประเมินคุณภาพชีวิตช่วงที่ได้เคมีบำบัดทั้งแบบควบกับไม่ควบการอดอาหาร พบว่าการได้เคมีบำบัดควบการอดอาหารมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเคมีบำบัดที่ไม่มีการอดอาหาร นี่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตขณะได้เคมีบำบัดนะ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับผลของการอดอาหารต่อการรักษามะเร็งให้หาย

4.. อีกงานวิจัยหนึ่งเป็นหลักฐานระดับต่ำในคน ซึ่งเป็นรายงานผู้ป่วย (case report) จำนวนสิบคน ทุกคนเป็นมะเร็งที่สมัครใจอดอาหารแบบ FMD 48-140 ชั่วโมง ก่อนรอบการให้เคมีบำบัดและอดอาหารต่ออีก 5-56 ชั่วโมงเมื่อครบรอบการให้เคมีบำบัด พบว่า (1) การอดอาหารก่อนและหลังเคมีบำบัดดังกล่าวมีความปลอดภัย (2) ผู้ป่วยรายงาน (self report) ว่าตนเองมีอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดในรอบที่ได้อดอาหารน้อยกว่าในรอบที่ไม่ได้อดอาหาร ทั้งนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับผลของการอดอาหารต่อการรักษามะเร็งให้หายเช่นกัน

ข้อมูลวิจัยในคนเกี่ยวกับการอดอาหารรักษาโรคมีแค่นี้ จะเห็นว่าของจริงมีน้อยมากใช่ไหมครับ แต่ที่เล่ากันเป็นตุเป็นตะ เป็นคุ้งเป็นแคว ในอินเตอร์เน็ทนั้น ทั้งหมดเป็นการวิจัยหรือการวิเคราะห์ผลวิจัยในสัตว์และในห้องทดลองแล้วตั้งเป็นสมมุติฐานเอามาคาดการณ์ (extrapolation) ในคน ซึ่งผมขอไม่พูดถึงงานวิจัยแบบนั้น เพราะพูดไปก็เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งผมต้องการให้บล็อกนี้เป็นที่เผยแพร่เฉพาะหลักฐานระดับสูง คืองานวิจัยในคนเท่านั้น

คำแนะนำเรื่องการอดอาหารรักษามะเร็งของหมอสันต์

1.. ถ้าท่านอ้วนหรือมีไขมันในเลือดสูง ผมเชียร์ให้เลือกวิธีอดอาหารแบบใดแบบหนึ่งควบไปกับการรักษามะเร็ง เพราะความอ้วนก็ดี การมีไขมันในเลือดสูงก็ดี สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้นและการมีจุดจบที่เลวร้ายของมะเร็งรุนแรงขึ้น แต่ถ้าท่านผอมและไขมันในเลือดไม่สูง ท่านจะอดอาหารหรือไม่อดท่านต้องตัดสินใจเอง ผมไม่มีข้อมูลอะไรจะมาแนะนำ

2.. อย่างน้อยผมแนะนำให้ท่านใช้มาตรการ DR คือการเลือกกินนั่นไม่กินนี่เป็นเครื่องมือหลักในการรับมือกับโรคมะเร็งโดยท่านจะควบหรือไม่ควบกับการอดอาหาร (FMD หรือ CR) ก็แล้วแต่ เพราะมีข้อมูลแน่ชัดแล้วว่าอาหารเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อของสัตว์ที่ผ่านการบ่ม (ไส้กรอก เบคอน แฮม) และเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น และหลักฐานในภาพรวมบ่งชี้ไปทางว่าอาหารพืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติเป็นหลัก ที่มีความหลากหลายและมีสารอาหารจำเป็นครบถ้วน เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกโรค

3..นอกจากเรื่องอาหาร ผมแนะนำให้ท่านเข้าหาธรรมชาติ เดินเล่น ตากแดด แช่น้ำ เหยียบดิน อย่างน้อยการเข้าหาธรรมชาติก็ทำให้ท่านคลายเครียด ย่อมดีแน่ เพราะสารเคมีที่ร่างกายผลิตขึ้นขณะเครียดล้วนแล้วแต่ไปเพิ่มกิจกรรม (upregulating) ยีนที่ก่อโรคมะเร็ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Kraus WE, Bhapkar M, Huffman KM, Pieper CF, Krupa Das S, Redman LM, Villareal DT, Rochon J, Roberts SB, Ravussin E, Holloszy JO, Fontana L; CALERIE Investigators. 2 years of calorie restriction and cardiometabolic risk (CALERIE): exploratory outcomes of a multicentre, phase 2, randomised controlled trial. Lancet Diabetes Endocrinol. 2019 Sep;7(9):673-683. doi: 10.1016/S2213-8587(19)30151-2. Epub 2019 Jul 11. PMID: 31303390; PMCID: PMC6707879.
  2. Bauersfeld SP, Kessler CS, Wischnewsky M, Jaensch A, Steckhan N, Stange R, Kunz B, Brückner B, Sehouli J, Michalsen A. The effects of short-term fasting on quality of life and tolerance to chemotherapy in patients with breast and ovarian cancer: a randomized cross-over pilot study. BMC Cancer. 2018 Apr 27;18(1):476. doi: 10.1186/s12885-018-4353-2. PMID: 29699509; PMCID: PMC5921787.Copy
  3. Safdie FM, Dorff T, Quinn D, Fontana L, Wei M, Lee C, Cohen P, Longo VD. Fasting and cancer treatment in humans: A case series report. Aging (Albany NY). 2009 Dec 31;1(12):988-1007. doi: 10.18632/aging.100114. PMID: 20157582; PMCID: PMC2815756.