Latest

จะต้องสอนหลาน แต่ไม่รู้จะสอนอะไร เพราะสอนอะไรไป AI ก็รู้ดีกว่าหมด

(ภาพวันนี้ / ภาพวาดภูเขามวกเหล็กอ้อยสร้อย ได้ขึ้นติดแทนภาพวาดเก่าของฝรั่งแล้ว)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเกษียณแล้วอายุ 70 ปี ตอนนี้ลูกชายซึ่งเป็นหมอเอาหลานสาวอายุ 8 ขวบมาแหมะให้อยู่ด้วยช่วงปิดเทอม ผมอยากจะสอนอะไรเธอบ้าง แต่ไม่รู้จะสอนอะไร ผมเป็นวิศวกร ผมรู้สึกว่าเธอรู้ทุกอย่างเองจากมือถือหมดแล้ว แต่ผมก็ยังกังวลว่าคนรุ่นเธอเมื่อ AI ทำได้หมดแล้วคนรุ่นเธอจะไปทำอะไรถึงจะยังรู้สึกว่าตัวเองมีค่าอยู่

……………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าอะไรที่เด็กจะเติบโตขึ้นไปเจอที่เขาไม่ได้เตรียมตัวมาเจอในอนาคต ตอบว่าผมเองก็ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่ใช่ AI แน่นอน เพราะทุกวันนี้เขาอยู่กับหุ่นยนต์เรียบร้อยแล้วเกินครึ่งของเวลาที่เขาตื่นอยู่ ดังนั้น AI ไม่ใช่ศัตรูของเขา แต่ศัตรูของเขา ผมว่าจะเป็นความคิดของเขาเอง เพราะ

1.1 เขาถูกสอนมาให้ยึดมั่นกับคอนเซ็พท์ดีชั่ว ถูกผิด ขยันขี้เกียจ ชนะแพ้ จนเขานึกว่ามันเป็นความจริงที่คนยอมรับนับถือกันทั่วไป แต่ความเป็นจริงคือความเปลี่ยนแปลง (Change) ต่างหากที่เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว คอนเซ็พท์ที่เขาเรียนมามันแทบจะใช้การไม่ได้เลยทันทีที่ออกจากห้องเรียน ดังนั้นถ้าเขาไม่มีความสามารถปรับตัว (adaptability) กับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ถ้าเขาไม่มีความยืดหด ล้มได้ ลุกได้ (resilience) เขาก็จะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะเรียนรู้ว่าคอนเซ็พท์ที่โรงเรียนสอนแท้จริงแล้วพาเขามาผิดทาง

1.2 ความสุขแท้จริงในชีวิตของคนรุ่นใหม่ต่อไปจะเหลืออย่างเดียว คือการได้เรียนรู้เติบโต learning and growth) อย่างไม่สิ้นสุด แต่ปัญหาคือจะให้เขาเรียนรู้อะไรที่ AI ไม่รู้หรือที่ประสบการณ์จริงเขายังไม่พบ เพราะสมัยนี้แค่เรียนมาถึงชั้นม.2 เขาก็เจนจบหมดแล้วเรื่องที่คนรุ่นก่อนใช้เวลาค่อนชีวิตเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับมันกว่าจะได้รู้แจ้ง เช่นความสนุกและความเซ็งอันเกิดจากการมีเซ็กซ์ เป็นต้น การมีชีวิตที่เหลืออีกยาวนานจากม.2 เป็นต้นไปจึงเป็นความน่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่งในเมื่อสิ่งรอบตัวเขารู้จักเจนจบหมดแล้ว ไม่มีอะไรให้ท้าทายเรียนรู้อีกต่อไปแล้ว วิถีชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่ที่ใช้ชีวิตไปตาม default คือเรียนหนังสือให้เก่งกว่าเพื่อน จะได้เข้าโรงเรียนดีๆกว่าเพื่อน จบมามีงานดีๆกว่าเพื่อนทำ ซื้อบ้านซื้อรถและร่ำรวยกว่าเพื่อน เด็กมันก็เห็นตำตาอยู่แล้วว่าทำอย่างนั้นแล้วไม่เห็นพ่อแม่จะมีความสุขเลย ดังนั้นหมอสันต์คาดเดาว่าสินค้าที่จะขายดีที่สุดในอนาคตคือ “ยา” หมายถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้ปวด ยากระตุ้นประสาทหลอน รวมทั้งสารเสพย์ติดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกัญชา แอลกอฮอล์ และอนุพันธ์ของฝิ่น จะขายดี ลูกค้าหลักคือคนรุ่นใหม่ เพราะพวกหนึ่งเขาจนแต้มอยู่ในกรงความคิดของตัวเองหาทางออกไม่ได้ อีกพวกหนึ่งพยายามจะเรียนรู้เติบโตต่อไปให้ได้ว่าชีวิตนอกจากเรื่องเซ็งๆหมอนๆรอบตัวเขาที่เขาเองก็เจนจบหมดแล้วนี้ มันยังมีอะไรเหลือให้เรียนให้รู้อีกบ้าง ยาจึงเป็นการทดลองของเขา จะให้เขาไปท่องจำข้อมูลเพื่อสอบป.ตรีโทเอกนั้นเขาไม่เอาด้วยแน่นอนแล้ว..ว เพราะเขารู้ว่าถามอากู๋หรือถาม AI แป๊บเดียวเขาได้คำตอบเหล่านั้นหมดแล้ว หมอสันต์เดาว่าในยุคนั้นมหาวิทยาลัยจะเจ๊งไปหมด สวรรค์นรกก็จะเลิกกิจการไปด้วย อย่าว่าแต่ถึงยุคโน้นเลย เอาวันนี้เลยก็ได้ คุณลองไปถามเด็กดูซิว่าเขาอยากไปสวรรค์ไหม คำถามแรกที่เขาถามกลับมาคือ

“ที่นั่นมี wifi หรือเปล่า”

หิ หิ แล้วยังงี้จะไม่ให้สวรรค์เจ๊งได้ไงละครับ

2.. ถามว่าลูกชายเอาหลานมาแหมะให้สอน จะสอนอะไรเขาดี ตอบว่าก็สอนสิ่งซึ่งเขาจำเป็นต้องได้ใช้เมื่อเขาโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

2.1 สอนทิศทางของการเรียนรู้เติบโต ที่จะไม่มีวันพบกับทางตันและที่ AI ไม่มีวันไปถึง นั่นคือการเรียนรู้เรื่องที่พ้นไปจากความคิดหรือภาษามนุษย์ออกไป ผมหมายถึงการสอนเรื่องความรู้ตัวหรือ consciousness ผ่านกิจกรรมการฝึกวางความคิดเข้าไปอยู่ในความรู้ตัว แล้วให้เด็กไปเรียนรู้ต่อเอาเองจากตรงนั้น ตรงนี้ไม่มีใครคิดอ่านเอามาเป็นหลักสูตรสอนเด็กเพราะคนจะสอนก็ยังไม่รู้จักแล้วจะเอามันมาสอนได้อย่างไร แต่หมอสันต์อาศัยประสบการณ์ตัวเองตั้งโจทย์ที่ท้าทายให้คุณว่า

“เมื่อฝ่าข้ามความคิดของตัวเองไปให้หมด จนเข้าไปถึงความรู้ตัว (consciousness) ที่เงียบและนิ่ง ตรงนั้นมันมีลักษณะ (1) สงบเย็น (peaceful) (2) เมตตา (compassion) (3) เบิกบาน (joyful) (4) ยอมรับทุกอย่างได้ (acceptance) (5) มีปัญญาสร้างสรรค์ทะยอยโผล่ขึ้นมาเอง (wisdom)”

ผมท้าทายให้คุณในฐานะผู้ที่ต้องเป็นครูเพราะต้องสอนหลาน ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตของคุณเอง พิสูจน์สิ่งที่ผมพูดไว้ว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าคุณออกเดินหน้าไปแล้วคุณพบ คุณก็จะสอนหลานของคุณได้ ถ้าคุณไม่พบคุณก็ไม่เสียอะไรมาก แค่หลวมตัวถูกหมอสันต์หลอกให้เสียเวลาแค่นั้นเอง แต่ผมยืนยันว่ามันเป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่า เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องอื่นใดที่คุณจะเอาไปสอนหลานเกือบทั้งหมดล้วนไร้สาระไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น

การสอนให้เด็กฝึกวางความคิดยังจะได้ประโยชน์ในแง่ที่ให้เด็กมองเห็นความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของตัวเองด้วย ทำให้เขาเติบโตไปเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในคนรุ่นใหม่

2.2 สอนเรื่องเมตตาธรรม (compassion) ด้วยการพาเด็กออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่น ใครก็ได้ แม่ค้าในตลาด พนักงานร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งคนจรจัดข้างถนน เพราะสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนมีความสุข และเป็นสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ มีเพื่อนผมคนหนึ่งอายุ 70 แล้วก็ยังไม่เลิกเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนแพงๆทำงานอยู่ในบริษัทคอมพิวเตอร์ ผมถามเขาว่าปูนนี้แล้วเขาจ้างคุณไปทำอะไร เขาตอบว่าจ้างไปช่วยทำให้คนพูดกันให้รู้เรื่อง เพราะคนรุ่นใหม่เขาพูดกันไม่รู้เรื่อง

2.3 สอนเรื่องการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) เริ่มด้วนการชวนให้เด็กสนใจธรรมชาติรอบตัว ชวนให้มองธรรมชาติให้เห็นความมหัศจรรย์ของมัน ไม่ว่าจะในแง่ของสีสัน แสงและเงา และในแง่การใช้งานการแก้ปัญหา ชวนให้จินตนการสร้างสรรค์ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆจากไอเดียของการมองธรรมชาติ รวมไปถึงการสอนการสร้างสรรค์ในกิจกรรมเช่นการวาดรูป ระบายสี ปั้นดิน เป็นต้น จินตนาการจะเป็นท่อเชื่อมโยงกับปัญญาญาณที่จะเกิดขึ้นจากการฝึกวางความคิดเข้าถึงความรู้ตัวได้ดีขึ้น

2.4 สอนเรื่องการปรับตัวและยืดหด (Adaptability and Resilience) ซึ่งเป็นการขยายประเด็นของการสร้างสรรค์และจินตนาการ สอนจากชีวิตจริงและธรรมชาติรอบตัว เพราะในชีวิตจริงข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจธรรมเพียงหนึ่งเดียวที่เที่ยงแท้ คุณสมบัติข้อนี้เป็นข้อที่คนรุ่นใหม่จะขาดไม่ได้

2.5 สองเรื่องการคิดวินิจฉัยแก้ปัญหา (Critical thinking and Problems solving) ถ้าหลานของคุณเรียนโรงเรียนทางเลือกที่อยู่นอกระบบโรงเรียนปกติเรื่องนี้ก็คงไม่ใช่ประเด็นเพราะเขาสอนกันอยู่แล้ว แต่ถ้าหลานของคุณเรียนในโรงเรียนตามระบบปกติคุณก็ต้องสอนเรื่องนี้ด้วยเพราะโรงเรียนของเขานอกจากจะไม่สอนแล้วยังทำลายหรือห้ามการใช้ความคิดวินิจฉัยด้วย

3.. เหนือสิ่งอื่นเครื่องมือสอนที่มีอัตราสำเร็จสูงสุดคือการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง (Role model) ดังนั้นเมื่อคุณมีเจตนาดีจะสอนหลานใน 5 เรื่องข้างต้น คุณต้องเอาทั้ง 5 เรื่องนี้มาสอนตัวคุณเองให้ตัวเองทำตามให้เป็นก่อน ให้ถือโอกาสที่ลูกเอาหลานมาแหมะให้ เป็นโอกาสที่คุณจะๆได้เรียนรู้และเติบโตของตัวเองไปด้วย เพราะมุมมอง learning and growth ก็เป็นมุมมองที่จำเป็นต่อชีวิตผู้สูงอายุด้วย เรียกว่าเป็นการสอนเพื่อเรียน (teach to learn) เพราะไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นหลานหรือคนรุ่นคุณซึ่งเกษียณแล้ว เครื่องมือทั้งห้านี้ก็ล้วนต้องใช้เหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์