Latest

กินผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนแล้วตัวเหลือง (carotenemia)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ขอรบกวนสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการทานผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนเป็นประจำจะมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เนื่องจากหนูมีปัญหาเกี่ยวกับตาที่มีอาการวุ้นตาเสื่อมที่ตาข้างซ้าย (ได้ผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว) และเริ่มมีต้อกระจกที่ตาข้างขวา จึงทานผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนมาก เช่น มะละกอ มะม่วงสุก ขนุน บร็อคโคลี่ มะเขือเทศ ฟักทอง ผักบุ้ง ฯลฯ เป็นประจำ
ซึ่งมีข้อสังเกตุที่เกิดขึ้น คือ หน้าจะออกเหลืองค่อนข้างมาก ลองดูเปลือกตาล่างก็ไม่ค่อยแดงออกจะมีสีเหลืองปน
ช่วงที่ผ่านมาจึงหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น และลดการทานผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนลงระยะหนึ่ง แต่ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะดีขึ้นแต่หน้าก็ยังออกเหลืองอยู่นิดหน่อย ขอเรียนถามคุณหมอถึงข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังในการรับประทานผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน เพราะอ่านเจอว่าถ้ารับประทานมากต่อเนื่องนานๆ จะทำตับทำงานหนักในการขับสารเบต้าแคโรทีนออกจากร่างกาย และ​อาจทำให้ตับอักเสบได้
และอีกคำถาม คือ การรับประทานผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนจะช่วยบำรุงรักษา (maintain) ตา จากอาการวุ้นตาเสื่อม และอาการต้อกระจกได้หรือไม่
ขอบพระคุณคุณหมอค่ะ
ขอแสดงความนับถือ

……………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าเบต้าแคโรทีนคืออะไร ตอบว่าแคโรทีน (carotenes) เป็นโมเลกุลของสารในกลุ่มแคโรตินอยด์ (carotenoid) ซึ่งเป็นเม็ดสีเหลืองส้มในอาหารพืชที่มีสีทุกชนิดไม่เฉพาะมะละกอหรือแครอทเท่านั้น กล่าวคือยิ่งเป็นผักผลไม้ที่มีสีเขียวเข้มหรือเหลืองเข้มยิ่งมีแคโรทีนมาก ผักสีเขียวก็มีแคโรทีนแต่สีมันถูกกลืนโดยสีเขียวของคลอโรฟิลด์ ตัวแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณประโยชน์สาระพัด เป็นสารที่ให้วิตามินเอ. (retinol) แก่ร่างกาย สารตัวนี้ร่างกายเราสร้างขึ้นไม่ได้ ต้องกินเข้าไปเท่านั้น อาหารพืชเหล่านี้ยิ่งบดหรือปั่นหรือบี้มันมากยิ่งทำให้เยื่อหุ้มเซลพืชแตกยิ่งทำให้ร่างกายก็จะดูดซึมแคโรทีนเข้าไปได้มาก นอกจากผักผลไม้แล้ว แคโรทีนยังได้มาจากวิตามินเป็นเม็ดและอาหารเสริมด้วย
 
     2. ถามว่ากินผักผลไม้ที่มีแคโรทีนมากๆจะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ตอบว่าไม่มีผลเสียอะไรที่มีนัยสำคัญถ้าไม่นับว่ามันทำให้ผิวเป็นสีเหลืองทอง แม้ว่าคนกินแคโรทีนจากอาหารมากจะมีแต่ระดับวิตามินเอ.ในเลือดจะถูกร่างกายควบคุมไม่ให้สูงมาก เพราะร่างกายมีกลไกการชลอการผลิตวิตามินเอ.หากมีพอใช้แล้ว ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะเกิดพิษของวิตามินเอ.ขึ้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีกินวิตามินเอ.เป็นเม็ดในขนาดสูงๆที่อาจเกิดพิษของวิตามินเอ.ขึ้นได้ ผมเคยอ่านพบในรายงานทางการแพทย์เพียงครั้งเดียวว่ามีผู้ชายคนหนึ่งกินแครอทสัปดาห์ละ 3 กก.เป็นประจำทุกสัปดาห์มาหลายปี แล้วแกก็มีอาการคล้ายพิษของวิตามินเอ.เกิดขึ้น แต่นี่เป็นรายงานผู้ป่วยคนเดียวซึ่งยังไม่ถือเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ นอกจากกรณีนายนิยมแครอทคนนี้คนเดียวแล้วยังไม่เคยมีหลักฐานอื่นใดเลยว่าการกินแคโรทีนจากอาหารมากๆจะก่อพิษใดๆขึ้น วงการแพทย์ปัจจุบันนี้จึงถือว่าการกินผักผลไม้ที่อุดมแคโรทีนมากๆไม่มีพิษภัยใดๆต่อร่างกายเลย

     อ้อ..ยังมีอีกกรณีหนึ่งคือมีรายงานทางการแพทย์ว่าผู้หญิงที่กินเจ (ไม่กินเนื้อเลย) จำนวนหนึ่งที่มีแคโรทีนในเลือดสูงแล้วพบภาวะขาดประจำเดือนร่วมด้วย โดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน เพียงแต่พบว่ากรณีทั้งสองนี้ (แคโรทีนสูงกับขาดประจำเดือน) เกิดขึ้นร่วมกันได้ในผู้หญิงจำนวนหนึ่ง

     ส่วนอาการป่วยอื่นๆที่เกิดขึ้นขณะมีผิวเหลืองเพราะแคโรทีนสูง เช่นอาการคันผิวหนัง อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปวดท้อง น้ำหนักลด ตับอักเสบ นั้นสืบค้นไปแล้วพบว่าล้วนเป็นอาการที่เกิดจาก “โรค” ในตัวคนคนนั้นที่เป็นเหตุให้แคโรทีนสูง เช่นเบาหวาน ไฮโปไทรอยด์ โรคตับชนิดต่างๆ เป็นต้น ไม่ได้เกิดจากการมีแคโรทีนสูงแต่อย่างใด

     อีกอย่างหนึ่งสีผิวที่เหลืองมากขึ้นนี้ จะเอะอะก็โทษแคโรทีนก็ไม่ถูก สารตัวอื่นเช่นไลโคพีนในมะเขือเทศก็ทำให้ผิวเหลืองได้ วิตามินบี.ที่ผู้คนชอบกินเสริมทุกวันก็ทำให้ผิวเหลืองได้

     3. ถามว่าจริงไหมที่มีคนว่ากินอาหารที่มีแคโรทีนมากแล้วจะให้ตับต้องทำงานหนักในการขับทิ้งจนกลายเป็นตับอักเสบ ตอบว่า “ไม่จริงเลยครับ” แคโรทีนไม่ได้ขับทิ้งทางตับ แต่ขับออกทางลำไส้ใหญ่และทางผิวหนัง ก็คือทางเหงื่อนั่นแหละ  ที่เห็นเหลืองๆอยู่ที่ผิวหนังนั้นคือแคโรทีนที่มารอคิวขับทิ้งทางผิวหนัง มันจะรออยู่ที่นั่นประมาณสองสัปดาห์จึงจะได้คิวขับทิ้ง ยิ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อมากเช่นฝ่ามือฝ่าเท้ายิ่งมีแคโรทีนไปรอคิวขับทิ้งอยู่มาก การที่มันมารอขับทิ้งที่ผิวหนังอยู่นานนี้งานวิจัยพบว่าดีเสียอีกตรงที่เป็นประโยชน์ต่อการบรรเทาความรุนแรงของโรคผิวหนังบางชนิดเช่นโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis)

     การกินแคโรทีนจากอาหารมากไม่ทำให้เกิดตับอักเสบแน่นอน ส่วนคนที่มีแคโรทีนในเลือดสูงและมีตับอักเสบด้วยนั้น สืบสาวราวเรื่องไปแล้วจะเป็นโรคเกี่ยวกับตับอยู่ก่อน แล้วโรคนั้นทำให้แคโรทีนในเลือดสูงขึ้น (ผ่านกลไกที่ตับสูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนแคโรทีนเป็นวิตามินเอ.) ไม่ใช่แคโรทีนสูงก่อนแล้วไปทำให้ตับอักเสบ

      นอกจากโรคตับแล้ว ยังมีโรคอื่นที่ทำให้มีแคโรทีนเพิ่มมากขึ้นในร่างกายทั้งๆที่ไม่ได้กินอาหารอุดมแคโรทีน เช่น โรคเบาหวาน โรคประสาทแบบกินแล้วอ๊วก (anorexia  nervosa) โรคไตเรื้อรังบางชนิด และโรคพันธุกรรมการมีแคโรทีนคั่ง โรคไฮโปไทรอยด์ (เพราะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งช่วยเปลี่ยนแคโรทีนเป็นวิตามินเอ.)

    4. ถามว่ากินอาหารอุดมแคโรทีนจะช่วยบำรุงรักษาตา จากอาการวุ้นตาเสื่อม และอาการต้อกระจกได้หรือไม่ ตอบว่าช่วยได้สิครับ เพราะวิตามินเอ.ซึ่งเป็นผลจากการมีแคโรทีนพอเพียง มีผลดีต่อการสร้างซ่อมและการทำงานของลูกตาทุกส่วน ดังนั้นการจะมีสุขภาพตาที่ดี จะต้องไม่ขาดวิตามินเอ. นั่นก็คือต้องกินผักผลไม้ซึ่งมีแคโรทีนให้มากพอนั่นเอง

     5. ถามว่ากินผักผลไม้ที่มีแคโรทีนมากต้องระมัดระวังอะไรบ้าง ตอบว่าไม่ต้องระวังอะไร ยกเว้นหากผิวเหลืองจนมีคนทักมากและเสียเซลฟ์ เวลาตรวจสุขภาพประจำปีก็ขอให้เขาเพิ่มการตรวจดูค่าของน้ำดีในเลือด (total bilirubin และ direct bilirubin) สักหนึ่งครั้ง เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะดีซ่านซึ่งบ่งชี้ไปถึงโรคตับโรคเม็ดเลือดและโรคทางเดินน้ำดี ถ้าไม่มีดีซ่านก็ปิดเคส จบข่าว สบายใจได้

     ส่วนการวินิจฉัยแยกภาวะดีซ่านโดยการปลิ้นตาตัวเองดูนั้น อันนี้มันต้องรู้จักกายวิภาคของลูกตาให้ดีนะและต้องเข้าใจสรีรวิทยาของการขับแคโรทีนทิ้งให้แจ่มแจ้งถึงจะใช้วิธีตรวจแบบนี้ได้ ถ้าคุณสนใจจะวานให้เพื่อนตรวจตัวเองผมจะสอนวิธีให้ก็ได้

     กล่าวคือในเชิงกายวิภาคศาสตร์ ผิวหนังทั่วร่างกายของเรานี้มันมีชั้นของไขมันใต้เยื่อบุผิว ซึ่งภาษาแพทย์เรียกว่า stratum corneum ชั้นนี้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจากภายนอก แต่ทั่วร่างกายคนเรานี้มันจะมีอยู่จุดหนึ่งที่เยื่อบุผิวไม่มีชั้นของไขมันใต้เยื่อบุ คือที่บริเวณตาขาว (sclera) เรียกว่าตาขาวมีกายวิภาคแตกต่างจากผิวหนังส่วนอื่น

     ในเชิงสรีรวิทยา เมื่อร่างกายมีแคโรทีนมากจนต้องขับทิ้ง มันจะไปเข้าคิวรอการขับทิ้งที่ชั้นไขมันใต้เยื่อบุ stratum corneum นี้แหละ ทำให้ผิวหนังเป็นสีเหลือง แต่ที่ตาขาวมันจะไม่เหลือง เพราะมันไม่มีชั้นของไขมันใต้เยื่อบุ แต่การจะตรวจตาขาวไม่ใช่มองตาขาวตัวเองในกระจกแล้วจะวินิจฉัยได้นะ เพราะตาขาวส่วนที่เรามองเห็นในกระจกเงานั้นมันเหลืองๆของมันอยู่แล้วเพราะมันโดนแดด ต้องวานให้เพื่อนปลิ้นหนังตาขึ้นแล้วมองตาขาวส่วนที่ไม่โดนแดด จะเห็นว่ามันขาวจั๊วะ (ต้องให้เพื่อนมองให้ เรามองตัวเองไม่เห็นดอก) แม้จะมีแคโรทีนสูงจนตัวเหลืองอ๋อยหมดแต่ตาขาวตรงนี้ก็ยังจะขาวจั๊วะอยู่ ตรงนี้มันจะเหลืองอ๋อยในกรณีเดียว คือกรณีที่เป็นดีซ่าน ดังนั้นการปลิ้นตาดูตาขาวจึงเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยแยกภาวะเหลืองจากแคโรทีนสูงออกจากภาวะเหลืองจากดีซ่านได้ด้วยประการฉะนี้ ส่วนการที่คุณไปปลิ้นดูเองในกระจกนั้นส่วนที่คุณเห็นไม่ใช่ตาขาว แต่เป็นเยื่อบุด้านในของหนังตา (internal conjunctiva) มันเป็นการดูผิดที่ ตรงนั้นมันมีชั้นของไขมันใต้เยื่อบุอยู่ เมื่อแคโรทีนสูงมันย่อมจะต้องเหลืองอยู่แล้ว

     โดยสรุปผมแนะนำว่าใครชอบกินผักผลไม้ที่มีแคโรทีนสูงก็กินเข้าไปเถอะ รับประกันว่าไม่เกิดพิษภัยใดๆต่อร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทั้งสิ้น นอกจากจะทำให้ผิวเป็นสีเหลืองทอง ซึ่งบางชาติพันธ์เช่นญี่ปุ่นและพม่าเขากลับมองว่าสีแบบนี้สวยดีนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Julka S, Jamdagni N, Verma S, Goyal R. Yellow palms and soles: A rare skin manifestation in diabetes mellitus. Indian J Endocrinol Metab. 2013 Oct. 17:S299-300. [Medline]. [Full Text].
2. Takita Y, Ichimiya M, Hamamoto Y, Muto M. A case of carotenemia associated with ingestion of nutrient supplements. J Dermatol. 2006 Feb. 33(2):132-4. [Medline].
3. Aktuna D, Buchinger W, Langsteger W, Meister E, Sternad H, Lorenz O, et al. [Beta-carotene, vitamin A and carrier proteins in thyroid diseases]. Acta Med Austriaca. 1993. 20(1-2):17-20. [Medline].
4. Stawiski MA, Voorhees JJ. Cutaneous signs of diabetes mellitus. Cutis. 1976 Sep. 18(3):415-21. [Medline].
5. Sale TA, Stratman E. Carotenemia associated with green bean ingestion. Pediatr Dermatol. 2004 Nov-Dec. 21(6):657-9. [Medline].
6. Darvin ME, Fluhr JW, Meinke MC, Zastrow L, Sterry W, Lademann J. Topical beta-carotene protects against infra-red-light-induced free radicals. Exp Dermatol. 2011 Feb. 20(2):125-9. [Medline].
7. Sansone RA, Sansone LA. Carrot man: A case of excessive beta-carotene ingestion. Int J Eat Disord. 2012 Mar 19. [Medline].
8. Royer M, Bulai Livideanu C, Periquet B, Maybon P, Lamant L, Mazereeuw-Hautier J, et al. [Orange skin and xanthomas associated with lycopenaemia in a setting of type III dyslipoproteinemia]. Ann Dermatol Venereol. 2009 Jan. 136(1):42-5. [Medline].
9. Ermakov IV, Gellermann W. Optical detection methods for carotenoids in human skin. Arch Biochem Biophys. 2015 Apr 15. 572:101-11. [Medline].