Latest

ฉันเป็นใคร (Who Am I?)

     หนังสือที่เขียนโดยตัวศาสดาเองนั้นมีน้อย พระไตรปิฎกฉบับแรกที่พบที่คันธาระเขียนขึ้นจากคำบอกเล่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันฑ์ไปแล้วกว่า 400 ปี คัมภีร์ใบเบิลก็เขียนจากคำบอกเล่าหลังจีซัสสิ้นไปแล้วเช่นกัน แม้ว่าจะหมาดกว่าคือช่วงราวไม่เกิน 50 ปีหลังการตายของจีซัส หนังสือรุ่นเก่าระดับสองพันปีขึ้นไปหากไม่นับหินศิลาจารึกที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์เก่า หนังสือที่เขียนโดยตัวศาสดาเองแน่ๆนั้นเห็นจะมีอยู่เล่มเดียว คือคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง ซึ่งผมเคยแปลให้ท่านอ่านไปแล้ว http://visitdrsant.blogspot.com/2017/04/blog-post_15.html ในยุคต่อๆมาพอจะมีอยู่อีกสองสามเล่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคลงฉันท์กาพย์กลอน แต่มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือเขียนโดยตัวศาสาดาของแท้ที่ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านได้อ่านมากๆ คือหนังสือชื่อ  Who Am I? ซึ่งตัวศาสดาคือ รามานา มหารชี (Sri Ramana Maharishi) ลงมือแก้บันทึกคำสอนที่เขียนโดยศิษย์ของท่านด้วยตัวของท่านเอง จนกลายเป็นหนังสือเล่มเล็กแค่สิบหน้า ท่านมีชีวิตอยู่ในอินเดียช่วงอังกฤษครอบครองอินเดีย หลังจากนั้นท่านไม่เคยเขียนหนังสืออีกเลย  หนังสือนี้บอกหลักคำสอนของท่านที่สอนให้ตั้งคำถามกับตัวเอง (Self inquiry) การสอนของท่านก็ไม่มีเทปอัดให้ฟัง เพราะเป็นการสอนแบบใบ้ หมายความว่าทั้งครูทั้งนักเรียนต่างนั่งกันนิ่งๆไม่มีการพูดจากัน แต่ก็เป็นการสอนที่มีประสิทธิผลมาก เพราะหากมองภาพรวมของผู้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการแสวงหาความหลุดพ้นถึงขั้นที่เรียกว่า “ตื่นรู้” แล้วทั่วโลกที่ยังคงมีตัวตนเป็นๆมีชีวิตหายใจได้อยู่ถึงวันนี้ ผมประมาณคร่าวๆเอาเองว่าไม่ต่ำกว่า 50% เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์เหลนศิษย์ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมของรามานามหารชี 

     ผมแปลหนังสือนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษซึ่ง Dr. T. M. P. MAHADEVAN แปลมาจากฉบับจริงที่รามานา มหารชีให้อาลักษณ์เขียนเป็นภาษาทามิล  ต้นฉบับคำแปลเป็นภาษาไทยนี้ผมไม่สงวนลิขสิทธิ์หากใครจะนำไปเผยแพร่ในลักษณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า

……………………………..

1. ฉัน คือใคร

     ฉันไม่ใช่ร่างกายนี้ ไม่ใช่อายตนะทั้งห้า ไม่ใช่ความคิด

2. แล้วฉันตัวจริงหรือความรู้ตัวส่วนลึก (Self) นี้เป็นใครละ

     เมื่อทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่ไป ก็จะเหลือความตื่นรู้และสบายๆเบิกบาน นั่นแหละคือความรู้ตัวหรือฉันตัวจริง

3. ความรู้ตัวมีธรรมชาติเป็นอย่างไร 

     ความรู้ตัวมีธรรมชาติดำรงอยู่ (existence) ตื่นรู้ (consciousness) และเบิกบาน (bliss)

4. เมื่อไหร่จึงจะเกิดการตระหนักรู้ความรู้ตัว

     เมื่อโลกในแบบที่เจ้าหลงเชื่อว่าเป็นจริงนี้หายไป นั่นแหละจะตระหนักรู้ความรู้ตัว

5. จะตระหนักรู้ความรู้ตัวโดยที่โลก (ที่คิดว่าจริง)นี้ยังอยู่ ไม่ได้หรือ

     ไม่ได้หรอก

6. ทำไมละ

     ผู้รู้กับผู้ถูกรู้เหมือนการเห็นเชือกกล้วยเป็นงู ถ้าความเชื่อผิดว่าเป็นงูยังอยู่ ก็จะเข้าไปจับต้องเรียนรู้ความเป็นเชือกกล้วยไม่ได้ ถ้าความเชื่อที่ว่าโลกนี้เป็นของจริงยังไม่หมดไป ก็จะไม่เห็นความรู้ตัว

7. เมื่อไหร่ที่โลกที่เราหลงเชื่อว่าเป็นของจริงนี้จะหายไป 

     เมื่อใจ (mind) ที่เป็นต้นเหตุของการตีความและสนองตอบต่อสิ่งเร้านี้สงบนิ่ง (quiescent) โลกที่ถูกเห็นว่าเป็นของจริงก็จะหายไป

8. ใจนี้มีธรรมชาติเป็นอย่างไร

     สิ่งที่เรียกว่าใจนี้เป็นพลังมหัศจรรย์ที่ฝังแฝงอยู่ในความรู้ตัว ใจเป็นผู้ให้กำเนิดความคิดทั้งปวง เมื่อไม่มีความคิด ก็ไม่มีใจ ความคิดจึงเป็นเนื้อแท้ของใจ นอกจากความคิดแล้วสิ่งที่เรียกว่าโลกอย่างที่เห็นนี้ไม่มี เมื่อหลับโดยไม่ฝัน ไม่มีความคิด จึงไม่มีโลก เมื่อตื่นหรือเมื่อหลับฝันมีความคิดจึงมีโลก อุปมาดั่งแมงมุมปล่อยใยออกมาจากตัวเองแล้วเก็บกลับเข้าไปในตัวเองฉันใด ใจก็ฉายภาพของโลกออกมาจากตัวมันเองและเก็บกลับเข้าตัวมันเองฉันนั้น เมื่อใจฉายภาพออกมาโลกที่เหมือนจริงนี้ก็ปรากฎให้เห็น แต่ความรู้ตัวไม่ปรากฎให้เห็น เมื่อความรู้ตัวปรากฎส่องสว่างให้เห็น โลกอย่างที่เห็นนี้ก็หายไป เมื่อเจ้าตั้งคำถามถึงเนื้อแท้ของใจครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่หยุดหย่อน ใจก็จะออกไปจากที่มันซุ่มซ่อนอยู่คือในความรู้ตัวนั้น
     สิ่งที่เรียกว่าความรู้ตัวนี้ก็คืออาตมัน ส่วนที่เรียกว่าใจนั้นต้องอาศัยกายหยาบจึงจะดำรงอยู่ได้ ใจนี้แหละที่เรียกกันว่าเป็นกายละเอียดหรือวิญญาณ (soul หรือ jiva)

9. เส้นทางของการตั้งคำถามหาเนื้อแท้ของใจเป็นอย่างไร

     สิ่งที่โผล่ขึ้นมาเป็น “ฉัน” ในร่างกายนี้คือใจ ถ้าถามว่าใจโผล่ออกมาจากส่วนไหนของร่างกายนี้ คำตอบที่ได้ก็จะเป็นว่ามาจากหัวใจ ที่ๆใจสถิตย์อยู่
     ในบรรดาความคิดที่ใจให้กำเนิดออกมา “ฉัน” เป็นความคิดแรกที่โผล่ขึ้นมาก่อนความคิดอื่น เมื่อความคิด “ฉัน” ซึ่งเป็นสรรพนามก่อความเป็นบุคคลคำแรกโผล่ออกมา ความคิดอื่นซึ่งเป็นสรรพนามบ่งบอกความเป็นบุคคลคำที่สองคำที่สามจึงตามโผล่ตามมา หากไม่มีสรรพนามบอกความเป็นบุคคลคำที่หนึ่ง ก็จะไม่มีคำที่สองที่สาม

10. ทำอย่างไรใจจึงจะสงบนิ่ง

     โดยการจี้ยิงคำถามว่า “ฉันเป็นใคร?” ความคิดว่าฉันเป็นใครจะทำลายความคิดอื่นหมด และอุปมาเหมือนกิ่งไม้ที่ใช้เขี่ยกองไฟ ท้ายที่สุดตัวมันก็จะถูกทำลายไปด้วย ถึงตอนนั้นความรู้ตัวจึงจะโผล่ขึ้นมาให้ตระหนักรู้

11. ที่ท่านพูดว่ายึดกุมความคิดที่ว่า “ฉันเป็นใคร” ให้เหนียวแน่นนั้นหมายความว่าอย่างไร 

     เมื่อความคิดอื่นใดโผล่ขึ้นมา เจ้าอย่าไปคิดตามมัน แต่ให้เจ้าถามว่า “ความคิดพวกนี้โผล่มาจากใคร” มันไม่สำคัญดอกว่ามีความคิดโผล่ขึ้นมากี่ความคิด เพียงแต่ทุกหนึ่งความคิดที่โผล่ขึ้นมา ให้เจ้าถามว่า “ความคิดนี้ส่งมาให้ใคร” คำตอบอาจจะเป็นว่า “ส่งมาให้ฉันไง” จากตรงนั้นให้เจ้าถามต่อไปอีกว่า “แล้วฉันคือใครละ” ใจจะกลับไปหาต้นกำเนิดของมัน แล้วความคิดที่โผล่ขึ้นมานั้นก็จะสงบนิ่ง ฝึกทำซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ใจจะเกิดทักษะที่จะอยู่กับต้นกำเนิดของมัน
     เมื่อใจซึ่งละเอียดอ่อนโผล่ผ่านออกมาทางสมองและอายตนะ ชื่อ (names) และเรือนร่าง (forms) ของสิ่งต่างๆก็เกิดขึ้น เมื่อใจสงบนิ่งอยู่ที่หัวใจ ชื่อและเรือนร่างของสิ่งต่างๆก็หายไป
ไม่ปล่อยให้ใจไปเพ่นพ่านข้างนอก แต่กักขังมันไว้ในหัวใจ นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่าหันกลับสู่ภายใน (antarmukha).
     ปล่อยให้ใจออกไปเพ่นพ่านนอกหัวใจ นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่าส่งออกไปข้างนอก (bahir-mukha)
ดังนั้นเมื่อใจอยู่ในหัวใจ “ฉัน” ซึ่งเป็นแม่ของความคิดทั้งมวลก็หายไป ความรู้ตัวซึ่งอยู่ที่นั่นอยู่แล้วเรื่อยมาก็จะฉายแสงให้เห็น
     ไม่ว่าเจ้าจะทำอะไร เจ้าจะต้องทำโดยไม่เอาตัวตนส่วนตื้นหรือ “ฉัน” นี้มาเกี่ยวข้อง ถ้าทำอย่างนี้ได้ทุกอย่างที่ปรากฎออกมาก็จะเป็นการกระทำของพระศิวะ (พระเจ้า)

12. ไม่มีวิธีอื่นที่จะทำให้ใจสงบนิ่งนอกจากการตั้งถามเลยหรือ?

     วิธีอื่นนอกเหนือจากการตั้งคำถามมันเป็นวิธีที่ไม่เบ็ดเสร็จ เป็นแค่วิธีพยายามควบคุมใจ ใจจะทำทีเป็นยอมให้ควบคุมแต่แล้วมันก็จะไปต่อของมันอีก การควบคุมลมหายใจก็เช่นกัน ใจก็จะทำทีเป็นยอมสงบนิ่ง แต่มันจะสงบนิ่งตราบใดที่ลมหายใจถูกควบคุมอยู่เท่านั้น เมื่อปล่อยลมหายใจ ใจก็จะกลับไปซัดส่ายไปโน่นมานี่เหมือนเดิม ทั้งลมหายใจและใจก็มีต้นกำเนิดเดียวกันนั่นแหละ ความคิด “ฉัน” มันเป็นความคิดแรกของใจ นั่นคือความเป็นตัวตนส่วนนอก (egoity) อันแรกที่เกิดขึ้นพร้อมกับลมหายใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อใจสงบนิ่งก็คุมลมหายใจได้ และเมื่อลมหายใจสงบนิ่งความคิดก็สงบนิ่ง แต่ในขณะหลับลึกแม้ใจจะสงบนิ่งแต่ลมหายใจก็ไม่ได้หยุด นี่เป็นเพราะพระเจ้าตั้งใจจะให้ร่างกายนี้ยังคงอยู่โดยไม่ตายไปขณะที่ใจสงบนิ่ง ในยามตื่นและขณะเข้าสมาธิเมื่อใจนิ่งลมใจก็ถูกคุมได้ ลมหายใจเป็นภาคหยาบของใจ ใจเก็บลมหายใจไว้กับร่างกาย เมื่อถึงคราวตายใจก็เอาลมหายใจไปกับมันด้วย ดังนั้นการควบคุมลมหายใจจึงมีผลแค่ทำให้ใจสงบนิ่ง (manonigraha) แต่ไม่สามารถทำลายใจให้หมดสิ้นไป (manonasa).
เช่นเดียวกับการฝึกควบคุมการหายใจ การภาวนาโดยการท่องมนต์หรือเอ่ยนามพระเจ้าหรืออดอาหารก็ล้วนทำได้อย่างมากแค่ทำให้ใจสงบลงแต่ทำลายใจให้หมดสิ้นไม่ได้เช่นกัน เฉพาะเวลาภาวนาท่องมนต์หรือเอ่ยนามพระเจ้าที่ใจจะจดจ่ออยู่ที่เดียว เวลาเอาโซ่ให้ช้างเอางวงจับไว้มันจะจับโซ่ไว้ไม่ไปจับอย่างอื่นเลย เช่นเดียวกันเมื่อใจจดจ่ออยู่กับมนต์หรือนามพระเจ้า มันก็จะจดจ่ออยู่เฉพาะที่ตรงนั้น
     เมื่อใจขยายออกไปเป็นความคิดหลายๆความคิด แต่ละความคิดจะอ่อนกำลังลง แต่เมื่อทำให้ความคิดทั้งหลายที่กระจัดกระจายแผ่วหายไปได้ ใจก็จะกลับมาจดจ่ออยู่ที่เดียวได้และเข้มแข็งขึ้นมาอีก ใจในสภาพจดจ่อที่เดียวและเข้มแข็งนี้เป็นเวลาที่เหมาะแก่การตั้งคำถามเจาะหาใจได้ง่ายขึ้น
     ข้อปฏิบัติที่พึงทำควบไปด้วยคือควรกินอาหารเจที่หาได้ตามฤดูกาล (sattvic food) ในปริมาณพอดีไม่มากไม่น้อยก็จะช่วยให้การฝึกตั้งคำถามเจาะใจทำได้สะดวกขึ้น

13. เมื่อไหร่สาระพัดความคิดที่ท่องเที่ยวไปราวกับคลื่นบนผิวของมหาสมุทรจะถูกทำลายหมดสิ้นไปสักที

     เมื่อระดับของการภาวนามุ่งสู่ความรู้ตัวสูงขึ้นๆ ความคิดทั้งหลายก็จะถูกทำลายไป

14. เป็นไปได้หรือที่ความคิดทั้งหลายซึ่งมีมาแต่เริ่มกำเนิดของเวลาจะถูกทำลายหมดไปจนเหลือแต่ความรู้ตัว

     หากเจ้ายืนหยัดภาวนามุ่งสู่การตระหนักรู้ความรู้ตัวโดยไม่ตั้งข้อสงสัยว่าอะไรจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน แม้เจ้าจะเป็นคนทำบาปมามากก็ไม่ต้องไปกังวลว่าฉันเป็นคนบาป ให้มุ่งมั่นภาวนาสู่การตระหนักรู้ความรู้ตัวเท่านั้น เพราะใจนั้นมีหนึ่งเดียว ไม่มีบาปไม่มีบุญ แต่ความคิดที่ใจสร้างขึ้นมาอาจมีชนิดดีและไม่ดี
     ไม่ควรปล่อยใจให้ท่องเที่ยวไปหาเรื่องทางโลกและเรื่องของคนอื่น ไม่บ่มเพาะความเกลียดชังคนอื่น ทั้งความเกลียดและความอยากล้วนควรหลีกเสีย สิ่งที่จะมอบให้กับคนอื่นควรเป็นสิ่งที่อยากจะมอบให้กับตัวเองนั่นแหละ เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้วก็จะไม่มีใครที่จะไม่ให้อะไรแก่คนอื่น เมื่อความรู้ตัวโผล่ขึ้นมาทุกอย่างก็สงบนิ่งจนกลายเป็นคนถ่อมเนื้อถ่อมตัวแบบสุดๆ ถึงตอนนั้นจะอยู่ที่ไหนอยู่อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น

15. ควรฝึกปฏิบัติถามตัวเองไปนานเท่าใด?

     ตราบเท่าที่ยังมีความคิดที่พาดพิงถึงสิ่งภายนอกอยู่ ก็ยังต้องคอยตั้งคำถาม “ฉันเป็นใคร” อยู่ เมื่อความคิดโผล่ขึ้นมามันจะต้องถูกทำลายตรงนั้นเลยด้วยการตั้งคำถาม จนเข้าถึงความรู้ตัวได้

16. ธรรมชาติของความรู้ตัวเป็นอย่างไร?

     สิ่งจริงแท้ที่มีอยู่คือความรู้ตัวเท่านั้น โลก วิญญาณของบุคคล และพระเจ้า ล้วนเกิดขึ้นในความรู้ตัวนี้ เหมือนมุกสีเงินเกิดขึ้นในหอยมุก ความรู้ตัวคือที่ไม่มีความคิด “ฉัน” ที่นั่นเรียกว่าความเงียบ (silence) หรืออาตมัน ความรู้ตัวนี้ตัวมันเองเป็นทั้งโลก เป็นทั้ง “ฉัน” และเป็นทั้งพระเจ้า

17. ไม่ใช่ว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นหรือ?

     ตะวันโผล่ขึ้นทุกวันโดยไม่ต้องมีใครไปอยากให้มันขึ้นหรือพยายามหรืออ้อนวอนให้มันขึ้น หินตะวัน (sun-stone) จุดประกายไฟได้เพียงแค่มันอยู่ที่นั่น ดอกบัวบาน น้ำระเหย ผู้คนทำกิจวัตรตัวเองแล้วเข้านอนอยู่ทุกวัน เพียงแค่มีแม่เหล็กอยู่ใกล้เข็มก็กระดิกเองได้ บารมีจากการมีพระเจ้าอยู่ก็พอทำให้กิจกรรมทั้งหลายก็ดำเนินไปตามกรรมแห่งตน ตัวพระเจ้าเองนั้นไม่มีกรรมใดๆติดตัว เหมือนที่กิจกรรมในโลกไม่กระทบดวงตะวัน หรือเหมือนที่การมาการไปของธาตุทั้งสี่ไม่มีผลต่อความว่าง

18. ในบรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ใครยิ่งใหญ่ที่สุด?

     คนที่ทอดกายถวายชีวิตให้ความรู้ตัวซึ่งเป็นพระเจ้าตัวจริง คนนั้นเป็นผู้เป็นเลิศที่สุด การถวายตัวกับพระเจ้าหมายถึงยืนหยัดอยู่กับความรู้ตัวโดยไม่เปิดช่องให้ความคิดเจาะเข้ามา ความหนักอึ้งทั้งหลายหากจะมีก็ถ่ายให้พระเจ้าหมด ท่านรับได้หมดเพราะท่านมีอำนาจดลบันดาลให้สิ่งทั้งหลายเคลื่อนไป ใยเราซึ่งไม่ได้เป็นทาสของความคิดต้องไปกังวลด้วยเล่า ประหนึ่งเมื่อขึ้นนั่งบนรถไฟแล้วรถไฟย่อมรับน้ำหนักกระเป๋าทั้งหมดเองโดยเราไม่ต้องไปทูนหัวไว้ให้ลำบากเลย

19. การปล่อยวางความยึดถือคืออะไร?

     การทำลายความคิดทันทีที่มันโผล่ขึ้นมาคือการปล่อยวางความยึดถือ ประหนึ่งนักงมมุกผูกหินกับเอวแล้วลงไปงมหามุกที่ก้นทะเล พวกเจ้าแต่ละคนควรอาศัยการปล่อยวางความยึดถือดำดิ่งลงไปงมหาความรู้ตัว

20. พระเจ้าและครูปลดปล่อยวิญญาณให้ฉันไม่ได้ใช่ไหม?

     พระเจ้าและครูแค่บอกวิธีปลดปล่อย แต่ไม่ใช่พาวิญญาณออกไปเสียเอง ในความเป็นจริงพระเจ้าและครูไม่ได้ต่างกัน ผู้ที่มาถึงเขตของครูแล้วย่อมได้รับการช่วยไม่ให้หลงไปไหนเหมือนเหยื่อที่ล่วงพ้นผ่านกรามเสือเข้าไปแล้วจะไปไหนเสียได้ ถึงกระนั้นแต่ละคนควรพยายามดั้นด้นไปตามทางที่ชี้นำโดยครูหรือพระเจ้าเพื่อความหลุดพ้นด้วยตัวเอง คนเราจะเข้าถึงความรู้ตัวได้ก็ด้วยปัญญาญาณ (ตาภายใน) ของตนเอง ไม่ใช่ของคนอื่น คนที่เป็นพระรามอยู่แล้วย่อมไม่ต้องการกระจกส่องหน้าตัวเองก่อนถึงจะรู้ว่าตัวเองเป็นพระราม

21. จำเป็นไหมที่คนอยากหลุดพ้นควรแยกแยะหมวดหมู่หัวข้อสัจจธรรม (tattvas)?

     คนจะทิ้งขยะไม่จำเป็นต้องมองวิเคราะห์ว่าเป็นขยะอะไรก่อน คนที่อยากจะตระหนักรู้ความรู้ตัวก็ไม่จำเป็นต้องนับหรือแยกแยะหมวดหมู่หัวข้อธรรมใดๆทั้งสิ้น แค่ทิ้งความคิดอะไรก็ตามที่ฝังแฝงในความรู้ตัวไปให้หมด โลกทั้งโลกก็คือฝันเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง

22. ตื่นกับฝันต่างกันไหม?

     ต่างกันแค่ตื่นนั้นยาว ฝันนั้นสั้น ตื่นดูเหมือนจริงเมื่อตื่น ฝันก็ดูเหมือนจริงเมื่อฝัน ในฝันใจไปสวมร่างอีกร่างหนึ่ง แต่ทั้งในตื่นและฝันต่างก็มีความคิดเหมือนกัน ชื่อ (names) และเรือนร่าง (forms) ก็ปรากฎเหมือนกัน

23. การอ่านหนังสือช่วยการหลุดพ้นไหม?

     หนังสือทุกเล่มพูดเหมือนกันหมดว่าการจะหลุดพ้นต้องทำใจให้สงบนิ่ง เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้วก็ไม่ต้องทู่ซี้อ่านหนังสือต่อไปอย่างไม่รู้สิ้นสุดอีก การจะให้ใจสงบได้จริงๆนั้นต้องตั้งคำถามเจาะไปที่ใจตัวเอง จะไปอ่านเอาจากหนังสือได้อย่างไร จะต้องเห็นความรู้ตัวด้วยปัญญาญาณของตัวเอง ความรู้ตัวอยู่ในชั้นของเปลือกห่อหุ้มทั้งห้า แต่หนังสืออยู่ข้างนอก การจะเข้าถึงต้องตั้งคำถามเพื่อปอกทิ้งชั้นห่อหุ้มทั้งห้าชั้น ไร้ประโยชน์ที่จะไปค้นหาในหนังสือ แล้วบนเส้นทางนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งเจ้าจะต้องทิ้งทุกอย่างที่เจ้าเรียนรู้มาแล้วเสียทั้งหมด

24. ความสุขคืออะไร?

     ความสุขเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของความรู้ตัว นั่นคือความสุขเป็นความรู้ตัวเสียเองด้วย ไม่มีความสุขอยู่ในเป้าหมายภายนอกตัวใดๆในโลก เราเดาเอาจากความไม่รู้ว่าเราพึงได้ความสุขมาจากเป้าหมายภายนอก เมื่อใจออกไปข้างนอก มันรับรู้แต่ความทุกข์ที่เกิดจากความอยาก พอความอยากได้รับการสนองตอบใจก็กลับมาตั้งอยู่ที่เดิมกับความสุขซึ่งอยู่ในความรู้ตัวอยู่แล้วเหมือนกับตอนหลับหรืออยู่ในสมาธิ เมื่อได้สิ่งที่อยากได้ หรือทิ้งสิ่งที่ไม่อยากได้ไปสมใจแล้ว ใจก็หันกลับเข้าข้างในมาอยู่กับความสุขของความรู้ตัว ใจจึงเป็นอะไรที่เข้าๆออกๆเหมือนคนโง่ที่อยากหนีร้อนได้แต่เดินเข้าๆออกๆระหว่างแดดร้อนกับร่มไม้ขณะที่คนฉลาดนั่งอยู่แต่ในร่มไม้ ฉันใดก็ฉันนั้น ใจของคนรู้สัจจะไม่เคยทิ้งความรู้ตัว แต่ใจของคนเขลาเข้าๆออกระหว่างโลกที่เป็นทุกข์ทุกข์กับความรู้ตัว ความจริงสิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือความคิดเท่านั้น เมื่อโลกหายไปก็คือเมื่อหมดความคิดใจ เมื่อนั้นก็เป็นสุข เมื่อโลกปรากฎขึ้นอีกใจก็เป็นทุกข์

25. อะไรคือปัญญาญาณข้างใน 

     การสงบนิ่งของใจคือปัญญาญาณข้างใน การสงบนิ่งเป็นการพาใจกลับเข้าไปสู่ความรู้ตัว การระลึกชาติหรือคาดการณ์อนาคต “ไม่ใช่” ปัญญาญาณข้างใน

26. การหมดสิ้นความอยากกับปัญญาญาณต่างกันอย่างไร

     การหมดสิ้นความอยากก็คือปัญญาญาณ ทั้งสองไม่ต่างกัน การหมดสิ้นความอยากคือการจำกัดไม่ยอมให้ใจหันออกไปหาเป้าหมายข้างนอก ปัญญาญาณหมายถึงการไม่มีเป้าหมายให้ใจไปหา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าไม่เสาะหาอะไรอื่นนอกไปจากความรู้ตัว ซึ่งก็คือการไม่อยากหรือการปล่อยวางนั่นเอง

27. การตั้งคำถามกับการหลับตาภาวนาต่างกันอย่างไร

     การตั้งคำถามเป็นการกักใจให้อยู่กับความรู้ตัว การหลับตาภาวนาเป็นการคิดว่าความรู้ตัวคือการดำรงอยู่-ตื่นรู้-เบิกบาน

28. การหลุดพ้นคืออะไร?

     การตั้งคำถามจนตระหนักรู้ธรรมชาติของความรู้ตัวคือการหลุดพ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………

บรรณานุกรม
1. Sriramananmaharshi. Who am I? . Accessed on June 15, 2017 at http://www.sriramanamaharshi.org/wp-content/uploads/2012/12/who_am_I.pdf