Latest

เรื่องพี่จิมมี่ขยิบตา กับหลักวิชา Emotional Contagion

กราบเรียนคุณหมอสันต์
หนูอยู่บ้านกับพ่อแม่ มีพี่สาวซึ่งแต่งงานแล้วเอาครอบครัวของเธอมาอยู่ด้วย พี่สาวเป็นคนท็อกสิกมาก อารมณ์ร้าย วาจาไม่มีหูรูดพูดออกมาแต่ละทีทำให้คนทั้งบ้านหมดความสุข แม้แต่คุณพ่อที่ใจเย็นมากเวลาถูกเธอว้ากก็ยังจ๋อยไปเลย สงสารคุณพ่อมาก ลูกและสามีของเธอพวกเขาหลบมุมหนีลงจอหรือเข้าห้องหมด เธอก็เลยต้องมาลงเอาที่พ่อแม่และหนูซึ่งเป็นน้อง หนูอยากจะย้ายออกไปอยู่ตามลำพังนอกบ้านแต่คุณพ่อคุณแม่ก็ทัดทานเพราะหนูเป็นคนหลักที่ดูแลท่านทั้งสองอยู่ หนูเป็นห่วงพ่อแม่มากแต่ก็เบื่อพี่สาวอย่างที่สุด  หนูอยู่นอกบ้านมีความสุขดี จนกระทั่งรถเลี้ยวเข้าประตูบ้าน หนูจะทำอย่างไรดีค่ะ
(ลงชื่อ)… โทรศัพท์ ….
…………………………………………….

ตอบครับ

     หลายสิบปีมาแล้วสมัยที่ผมยังทำงานเป็นหมออยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากทั้งเมืองมีคนไทยอยู่ไม่กี่คนจึงรู้จักกันหมด ที่ผมชอบไปมาหาสู่มีอยู่สองครอบครัว อยู่กันคนละทิศคนละทาง ครอบครัวหนึ่งเป็นหมอรุ่นพี่ซึ่งปักหลักทำมาหากินเป็นหมออยู่ที่นั่นนานแล้ว อีกครอบครัวหนึ่งเป็นวิศวกรซึ่งทำมาค้าขายอยู่ที่นั่นมานานเช่นกัน ผมเรียกชื่อท่านหลังนี้ว่าพี่เอนก ท่านมีลูกชายสองคน คนเล็กชื่อพี่จิมมี่ อายุราวหกขวบ ที่ต้องเรียกว่าพี่จิมมี่ก็เพื่อให้ลูกชายของผมซึ่งอายุสามขวบเรียกตาม พี่จิมมี่นี้มีเอกลักษณ์ประจำตัวคือชอบขยิบตา ยิบ ยิบ ยิบ เรียกว่าขยิบตานาทีละไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง บางครั้งมีขยิบเบิ้ลอีกต่างหาก วันหนึ่งผมพาลูกเมียไปกินข้าวเย็นที่บ้านพี่เอนก ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างลูกชายผมกับพี่จิมมี่ พอกินข้าวเสร็จก็พากันขับรถกลับบ้าน พอวันรุ่งขึ้นก็พบว่าลูกชายของผมติดโรคขยิบตาจากพี่จิมมี่มาเสียแล้วเรียบร้อย ผมงงมากว่าเฮ้ย มันติดต่อกันได้ง่ายอย่างนี้เลยหรือ ขำก็ขำ แต่ก็กังวลว่ามันจะกลายเป็นนิสัยประจำตัวเขาไป ภรรยาของผมซึ่งเป็นหมอเด็กกระซิบบอกว่าอย่าไปแสดงความสนใจหรือพูดถึงการขยิบตาของเขาเชียวนะ ผมก็พยายามอดกลั้นไม่ยุ่งด้วย ผ่านไปได้ราวเดือนหนึ่ง โรคขยิบตาของลูกชายจึงค่อยๆหายไปเอง

     ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะการจะแก้ปัญหาของคุณ คุณต้องเข้าใจเรื่องกลไกการติดเชื้อทางอารมณ์ (emotional contagion) นักจิตวิทยานิยามการติดเชื้อทางอารมณ์ว่าคือแนวโน้มที่คนเราจะลอกเลียนสีหน้า เสียง ท่าร่าง และการเคลื่อนไหวของคนอื่นอย่างเป็นอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว แล้วรวมสีหน้าท่าทางนั้นมาสร้างเป็นอารมณ์ของตัวเอง ทั้งนี้มีสมมุติฐานซึ่งสรุปมาจากงานวิจัยหลายงานว่ามันมีกลไกการเกิดสามขั้นตอนคือ

     ขั้นที่ (1) การเลียนแบบสีหน้าอย่างเป็นอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว
     ขั้นที่ (2) การเกิดอารมณ์ขึ้นในใจตามสีหน้านั้น
     ขั้นที่ (3) การรับเอาอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นอารมณ์ต่อเนื่องของตัวเอง

     คุณเองสามารถทดสอบสมมุติฐานนี้ด้วยตนเองโดยไม่ยาก คืออยากรู้ว่าใครเขาคิดอะไรอยู่ให้คุณลองลอกเลียนสีหน้าแววตาเขา แล้วก็จะเกิดความคิดแบบนั้นขึ้นในใจคุณทันที หรือให้คุณลองหัดสังเกตดูว่าเมื่ออยู่กับแต่ละคน แต่ละสถานะการณ์ มีความคิดหรือความรู้สึกในใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง สังเกตว่าคุณ “ติด” อะไรมาจากเขาหรือเปล่า ขณะเดียวกัน เพื่อความยุติธรรมก็สังเกตด้วยว่าคุณกำลัง “แพร่” อะไรให้เขาอยู่หรือเปล่า

     การจะตอบคำถามของคุณด้วยหลักวิชา emotional contagion นี้ ผมแยกเป็นสองประเด็นคือ

     ประเด็นที่ 1. จะป้องกันการติดเชื้ออารมณ์ลบจากคนอื่นได้อย่างไร

     ตอบว่าให้ปฏิบัติตามหลักป้องกัน 4 ข้อ

     หลักข้อ 1. การติดเชื้อทางอารมณ์เกิดเมื่อคุณเผลอเท่านั้น ดังนั้นตราบใดที่คุณมีสติรู้ตัวอยู่ คุณไม่มีทางติดเชื้อทางอารมณ์จากใคร จากหลักข้อนี้จะเห็นว่าการมีพี่สาวเป็นคน toxic นี้ก็มีข้อดีเห็นแมะ คือทำให้คุณต้องตั้งใจฝึกสติอยู่กับความรู้ตัวตลอดเวลา อารมณ์ร้ายของพี่สาวของคุณ กลายเป็นเครื่องมือฝึกสติของคุณไปเสียแล้ว เห็นแมะ

     หลักข้อ 2. ใช้จินตภาพช่วย นึกภาพว่ามีโล่ห์อารมณ์คุ้มครองป้องกันรอบตัวคุณเองอยู่ อะไรที่จะทำให้คุณไมสบายใจคุณจะใช้เกราะกันไม่ให้เข้ามา แต่ขณะเดียวกันคุณก็อย่าไปเผลอดูดเอาอารมณ์ลบเข้ามาตรงๆ อย่าไปสบตาหรือมองหน้าเขาเวลาคนอารมณ์ไม่ดีพูดกับคุณ

     หลักข้อ 3. สั่งการกล้ามเนื้อใบหน้าและทั่วตัวของคุณให้ขยับตัวให้แตกต่างไปจากรังสีอำมหิตที่คนอื่นกำลังแผ่ออกมาให้  ยิ้ม ยักคิ้ว หลิ่วตา เปลี่ยนท่าร่าง ขยับเท้าเคาะจังหวะเพลง เดินขย่มตัวแบบเต้นรำ หายใจเข้าลึกๆ ผ่อนลมหายใจออกยาวๆพร้อมกับผ่อนคลายร่างกาย

     สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ปีหก วิธีเรียนคือต้องทำวอร์ดราวด์เป็นกลุ่มกับอาจารย์ มีเพื่อนคนหนึ่งไม่รับผิดชอบการงานจนอาจารย์ซึ่งเป็นคนสวยแต่ดุเกิดน็อตหลุดบริภาษเขาอย่างรุนแรงชนิดที่ถ้าเป็นผมต้องไปนอนร้องไห้กินน้ำใบบัวบก ผมหันไปมองเพื่อนคนนั้นเพื่อจะให้กำลังใจเขา แต่เห็นเขากำลังแอบอยู่หลังเพื่อนผู้หญิงแล้วยักคิ้วให้ผมแผล่บๆๆ

     ในกรณีที่รังสีลบมันแรงมากๆ แม้แต่เสียงคุณก็ไม่ต้องฟัง ทำหูทวนลมเสีย หรือเอานิ้วมือมาขยี้ข้างหูให้ดังขอกแขกขอกแขกเข้าไว้ จะได้กลบมลภาวะทางเสียงนั้น

     หลักข้อ 4. ให้อภัยทานและแผ่เมตตา หายใจเข้ารับเอาพลังเมตตาเย็นๆจากท้องฟ้าอันไกลโพ้นเข้ามา เก็บไว้ที่หัวใจสักพัก หายใจออกพร้อมกับแผ่พลังเมตตาออกจากหัวใจไล่ความอึดอัดขัดข้องออกไปทางรูขุมขนทั่วตัว แุถมมีพลังเมตตาเหลือแผ่ออกจากตัวคุณกระจายไปให้ผองชนรอบๆโดยไม่เลือกหน้า ใครอยู่ใกล้ก็ได้มาก ใครอยู่ไกลก็ได้น้อย จะเป็นคน “ท็อกสิก” หรือคน “นอน-ท็อกสิก” ก็ให้ได้รับเมตตาจากคุณเหมือนกันหมด หมู หมา กา ไก่ที่อยู่รอบๆก็ได้รับด้วย ไม่ต้องซีเรียสว่าใครควรได้ใครไม่ควรได้ ไม่ต้องเสียดายพลังเมตตาธรรมของคุณ เพราะมันเติมให้คุณโดยอัตโนมัติจากแหล่งข้างนอก มันไม่มีวันหมด มีแต่จะเพิ่มขึ้น ถ้าถึงขั้นที่ทั้งจิตใจคุณมีแต่ความเมตตาไม่เหลือความรู้สึกอย่างอื่นเลย นั่นคือคุณบรรลุธรรมแล้ว

     ประเด็นที่ 2. จะรับและแพร่อารมณ์บวกกับคนอื่นได้อย่างไร

     ตอบว่าให้ปฏิบัติตามหลักให้และรับ 6 ข้อ

     หลักข้อ 1. เหมือนประเด็นแรก คือฝึกสติและความรู้ตัว การรับและแพร่อารมณ์บวก จะทำได้ก็ตอนมีสติและตั้งใจเท่านั้น

     หลักข้อ 2. ยิ้มเยอะๆ หัวเราะเยอะ ใส่อารมณ์ขันในทุกเรื่อง ใครจะว่าบ้าก็ช่างเขา ไม่มีใครรังเกียจคนบ้าที่หัวเราะง่ายหรอก สมัยผมเป็นนักเรียนมัธยม มีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนสวย เธอดันไปชอบรุ่นพี่ซึ่งได้รับสมญานามในรุ่นเขาว่า “หมอนบ้า” หมายความว่าเขาชื่อสมร แต่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนบ้า เมื่อผมถามเพื่อนคนสวยว่าทำไมไปชอบเขาละ เขาบ้านะ เธอตอบว่า ไม่เป็นไรหรอก พี่เขาตลกดี

   หลักข้อ 3. ก่อนจะคุยอะไรกับใคร หัดบิวด์ (build) หรือยกระดับอารมณ์ของตัวเองให้ขึ้นมาเป็นบวกก่อน ระวังท่าร่างของตัวเองที่เป็นลบ เช่นกอดอก จ้องเขม็ง บึนปากใส่ ปรับสีหน้าให้เป็นยิ้มก่อน เปิดเผย ยินดีต้อนรับให้ได้ก่อนคุยกับชาวบ้านเขา ถ้าไม่ได้ไม่ต้องคุย แกล้งทำเป็นกล่องเสียงอักเสบพูดไม่มีเสียงเสียก็ได้ ถ้าเป็นพนักงานรับโทรศัพท์บางบริษัทเขาจะตั้งกระจกเงาให้ดูหน้าตัวเองก่อน ถ้ายิ้มยังไม่ออกอย่าเพิ่งคุยกับลูกค้า

     หลักข้อ 4. เมื่อคุยกันแล้ว ให้เริ่มด้วยการฟังอย่างตั้งใจ เปิดใจรับ มองให้เห็นทั้งด้านบวกและลบของ “ของ” ที่เขาปล่อยออกมา แล้วจงใจเข้าหาแต่ด้านบวก สนองตอบแต่เชิงบวก

     หลักข้อที่ 5. เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีด้านบวก หรือส่งด้านบวกมา คราวนี้ให้เปิดอ้าซ่ารับ สบตา ใส่อารมณ์ ใช้คำพูดบันดาลใจ เอ่ยปากชม เป็นต้น

     หลักข้อ 6. วางแผนตั้งใจจงใจทำให้คนอื่นประหลาดใจทุกวันด้วยการกระทำที่เมตตาของเรา คนจะมีเมตตาธรรมต้องเป็นคนไม่มีฟอร์ม เพราะฟอร์มหรือ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” ก็คืือ “อีโก้” หรือ “ตัวกูของกู” ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับเมตตาธรรม เมตตาคือการให้โดยไม่คาดหวังว่าเขาจะมองเห็นแล้วจะดีกับเราตอบนะ เมตตาคือให้โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรกลับมา ให้โดยไม่เลือกว่ามันจะตกแก่ใครไม่ว่าจะเป็นคนที่ดีกับเราหรือเป็นคนที่ทำแสบกับเราอย่างไร ให้แบบฝนที่ตกลงมาใส่ไม่เลือกไม่ว่าจะเป็นต้นดอกไม้สวยๆหรือต้นหนามตำแย เหมือนลมหนาวที่พัดโบกผ่านต้นไม้ใหญ่และหญ้าระบัดสัตว์ใหญ่เล็กให้ได้รับความเย็นเสมอกันหมด

     คุณเอาหลักทั้งหมดของทั้งสองประเด็นนี้ ทั้งหลักป้องกัน และหลักให้และรับ ไปฝึกปฏิบัติดูนะครับ อย่างน้อยต้องฝึกเป็นปี นี่เป็นโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมสู่ความหลุดพ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาไปวัดแล้วนะ พยายามไป แต่ถ้าฝึกเต็มที่นานเป็นปีแล้วมันก็ยังสู้ไม่ไหว ก็ย้ายออกไปอยู่ข้างนอกเสียเถอะครับ ซื้อสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงสักตัวแล้วเปลี่ยนมาหัดแผ่เมตตาให้แมวหมาไปพลางก่อน จนวิชาแก่กล้าแล้วค่อยกลับไปแผ่เมตตาให้พี่สาวใหม่ในโอกาสหน้า ส่วนการดูแลคุณพ่อคุณแม่ขณะที่ย้ายไปอยู่ข้างนอกนั้นก็เปลี่ยนเป็นแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมหรือขยันชวนท่านออกไปเที่ยวนอกบ้านแทน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

1. Blakemore, S. J., & Frith, C. D. (2005). The role of motor contagion in the prediction of action. Neuropsychologia, 43, 260-267. doi:10.1016/j.neuropsychologia.2004.11.012
2. Chartrand, T. L., & Lakin, J. L. (2013). The antecedents and consequences of human behavioral mimicry. Annual Review of Psychology, 64, 285-308. doi:10.1146/annurev-psych-113011-143754
3. Halberstadt, J., Winkielman, P., Niedenthal, P. M., & Dalle, N. (2009). Emotional conception: How embodied emotion concepts guide perception and facial action. Psychological Science, 20, 1254-1261. doi:10.1111/j.1467-9280.2009.02432.x
4. Hatfield, E., Carpenter, M., & Rapson, R. L. (2014). Emotional contagion as a precursor to collective emotions. In C. von Scheve & M. Salmela (Eds.), Collective emotions: Perspectives from psychology, philosophy, and sociology (pp. 108-122). Oxford, United Kingdom: Oxford University Press.
5. Hess, U., & Blairy, S. (2001). Facial mimicry and emotional contagion to dynamic emotional facial expressions and their influence on decoding accuracy. International Journal of Psychophysiology, 40, 129-141. doi:10.1016/S0167-8760(00)00161-6
6. Lakin, J. L., & Chartrand, T. L. (2003). Using nonconscious behavioral mimicry to create affiliation and rapport. Psychological Science, 14, 334-339. doi:10.1111/1467-9280.14481
7. Lakin, J. L., Jefferis, V. E., Cheng, C. M., & Chartrand, T. L. (2003). The chameleon effect as social glue: Evidence for the evolutionary significance of nonconscious mimcry. Journal of Nonverbal Behavior, 27, 145-162. doi:10.1023/A:1025389814290
8. Wild, B., Erb, M., Eyb, M., Bartels, M., & Grodd, W. (2003). Why are smiles contagious? An fMRI study of the interaction between perception of facial affect and facial movements. Psychiatry Research: Neuroimaging, 123, 17-36. doi:10.1016/S0925-4927(03)00006-4