Latest

(เรื่องไร้สาระ 10) โครงการดอกหงอนนาคที่ภูสอยดาว

 หมอสมวงศ์เป็นเจ้ากี้เจ้าการวางแผนให้ผมหยุดงานสี่วันเพื่อไปดูดอกหงอนนาคที่ภูสอยดาว 
โปรดสังเกตมีด 63 บาท

เธอระดมสมัครพรรคพวกเหล่าผู้สูงวัยที่เป็นคนกันเองทั้งนั้นได้ 2 รถตู้ 17 คน แล้วจ้างทัวร์ให้จัดการทุกอย่างให้ ทั้งเอารถมารับ จัดหาลูกหาบ เตรียมวัตถุดิบอาหาร เตรียมเต้นท์ สนนราคาหัวละ 4,000 บาท สี่วันสามคืน ที่ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าชาวบ้านก็เพราะนี่เป็นชราทัวร์ ต้องเจียมบอดี้ จะรีบร้อนลนลานเหมือนหนุ่มสาวทัวร์ไม่ได้ ฟังว่าทัวร์นี้ถึงเป็นคนชราก็จะต้องเดินปีนขึ้นเขาไป 6-7 ชั่วโมงเหมือนคนอื่น แล้วไปกางเต้นท์นอนบนเขาในทุ่งดอกหงอนนาค ไม่มีอาคาร ไม่มีไฟฟ้า  ไม่มีอาหารขาย ถึงจะมีเงินก็ไม่มีให้ซื้อ ไม่มีน้ำก๊อก ต้องตักน้ำลำธารมาอาบเอาเอง ถ้าน้ำดื่มที่เอาติดตัวขึ้นมาหมดก็ต้องดื่มน้ำลำธารนั่นแหละ

      ดังนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวบ้าง จึงวันว่างก่อนเดินทางสองสามวันผมได้ชวนหมอสมวงศ์ไปช็อปปิ้งที่ร้านดีแคทลอนเพื่อเตรียมการและเป็นการหาความเพลิดเพลินไว้ก่อน ได้สินค้าที่ตื่นเต้นเร้าใจมาหลายอย่าง เช่นไฟฉายที่ปั่นให้พลังงานด้วยมือเมื่อถ่านหมด ราคา 100 บาท โคมไฟห้อยในเต้นท์ ราคา 120 บาท เวลาจะผลัดผ้าในเต้นท์ก็สามารถเปลี่ยนไฟขาวเป็นไฟแดงได้ด้วย เข็มทิศเท่ๆจำราคาไม่ได้ ฆ้อนตอกสมอเต้นท์แบบฆ้อนสารพัดนึก แบบว่านอกจากจะเป็นฆ้อนแล้วยังเป็นมีด เป็นเลื่อย เป็นไขควง และเป็นไฟฉายได้อีกต่างหาก ราคา 260 บาท ผมอยากได้มีดเดินป่าดีๆสักเล่ม มีผู้แนะนำว่าให้ซื้อยี่ห้อ Ontario SP5 แต่ร้านที่เราไปช็อปเขาไม่มีขาย เขาบอกว่าต้องไปที่ร้านไทยแลนด์เอ้าท์ดอร์ หมอสมวงศ์ถามว่าราคามีดเท่าไหร่ มีคนบอกว่า 3,800 บาทพร้อมฝัก หมอสมวงศ์สรุปให้เสร็จสรรพว่าอย่าไปซื้อเลย ไว้วันรุ่งขึ้นค่อยไปซื้อมีดอรัญญิกที่ตลาดมวกเหล็กละกัน.. จบข่าว แต่ตอนท้ายของวันนั้นผมก็ได้มีดมาจนได้ จากร้าน Mr. DIY คราวนี้ราคา 63 บาทพร้อมฝัก หิ หิ ไม่เชื่อดูรูปถ่าย ของที่ซื้อมาในรูปจะมีทั้งเชือก (เอาไว้ตาก กกน.) กระปุกแสงสว่างในเต้นท์ (สีขาว) ขวดน้ำ (สีฟ้า) ไฟฉายปั่นไฟมีด้ามปั่น (สีส้ม) เข็มทิศ ฆ้อนสาระพัดนึก และมีด 63 บาท ผมปลอบตัวเองว่ามีดแพงๆไม่ดีหรอก เพราะเท่าที่เคยเดินป่ามาสมัยหนุ่มๆงานที่ใช้มีดทำมากที่สุดคืองานขุดหลุมฝังอึ (ขอโทษ) ดังนั้นอย่าซื้อของแพงเลย เพราะแพงแล้วจะใช้มันไม่ลง เอาด้ามละ 63 บาทนี่แหละตะกุยดินได้ดีนัก

ไฟฉายที่ได้พลังงานจากการปั่นด้วยมือ

     พูดถึงไฟฉาย ที่บ้านมวกเหล็กมีแต่ไฟฉายกระบอกบะเร้อบะร่าใช้เดินป่าไม่ได้เพราะหนัก คราวนี้ผมจึงตั้งใจซื้ออันเล็กๆ ความจริงไฟฉายอันเล็กๆที่บ้านก็พอมีอยู่ แต่เดี้ยงหมด ที่ชาร์จไฟใช้การไม่ได้บ้าง ถ่านชาร์จไฟเสียบ้าง ถ่านหมดหาถ่านขนาดนั้นไม่ได้บ้าง คราวนี้ผมจึงแก้ลำโดยซื้อแบบไม่ต้องใช้ถ่าน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แต่ใช้มือปั่นเอา คือพอแสงสว่างทำท่าจะหมดก็เอามือหมุนคันสีส้มที่ข้างไฟฉาย เหมือนเป็นไดนาโมคอยเติมไฟให้มัน แล้วมันก็จะกลับสว่างขึ้นมาอีก วิธีนี้ไม่ต้องกลัวถ่านหมด ไม่ต้องหาเครื่องชาร์จ ดูซิว่าไฟฉายแบบใหม่นี้มันจะไปได้สักกี่น้ำ  

     ซื้อของเสร็จแล้วก็มาเตรียมของ การเดินป่าและพักแรมในป่าต้องมีอะไรบ้าง เขียนลิสต์ไว้ก่อนเลยกันลืม (1) เสื้อ (2) กางเกง (3) ปลอกแขนกันแดด (4) ยาทากันยุงและแมลง (5) รองเท้าถุงเท้าเดินป่า (6) หมวก (7) เป้สะพาย (8) ขวดน้ำดื่ม (9) มีดเดินป่า (10) ไม้ขีดไฟ (11) เต้นท์ (12) ถุงนอน (13) โคมแขวนในเต้นท์ (14) เชือก (15) ไฟฉาย (16) รองเท้าแตะ (17) เข็มทิศ (18) พลาสเตอร์ปิดแผล (19) อาหารแห้ง (20) กระดาษทิชชู (21) ฆ้อนสาระพัดนึกไว้กางเต้นท์ ครบแล้วมั้ง ใจจริงอยากจะได้ขวดกรองน้ำเล็กๆแบบพกพาปั๊มด้วยมือเอาไว้กรองน้ำลำธารแล้วดื่มได้เลยสักอัน เพื่อนฝรั่งแนะนำว่ายี่ห้อ Katadyn ราคา 14,000 บาทดีมาก แต่ผมไม่กล้าแอะ กลัว ม. ไม่อนุมัติ หิ หิ เอาแค่นี้พอแล้ว จัดของลงเป้เลย 

     พอจัดของลงเป้เสร็จ ฝ่ายข่าวของทีมดอกหงอนนาคก็รายงานมาว่า

     “พายุโนอึลถล่มภูสอยดาว ต้นไม้ล้มทับเต้นท์นักท่องเที่ยวบาดเจ็บ ต้องขนคนลงจากเขาแบบทุลักทุเล และสั่งปิดอุทยานไม่มีกำหนด”

     แป่ว..ว…ว

     ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็สนุกสนานกับการช็อปปิ้งตั้งครึ่งวันแล้ว ได้กำไรชีวิตแล้ว และไหนๆก็จัดเป้แล้ว อย่าเพิ่งรื้อเลย รอฟังข่าวอีกสองวัน เผื่อฟลุ้คเขาเปิดทัน 

     23 กย. 63 บริษัทที่รับจัดทัวร์ให้ แจ้งข่าวมาว่าอุทยานเขาประชุมกันเมื่อวาน ตัดสินใจไม่เปิดจนกว่าฝนจะหมด บริษัททัวร์จึงแจ้งสรุปยกเลิกทัวร์ภูสอยดาวครั้งนี้เป็นการเด็ดขาดและส่งเงินมัดจำคืน ครั้นผมจะเลื่อนการเดินทางรออุทยานก็ไม่ได้เพราะตารางการทำงานของตัวเองขึงพืดเต็มไปจนสิ้นปีเสียแล้ว ถึงตอนนั้นคงเหลือแต่ดอกหงอนไก่ ดังนั้นที่จั่วเรื่องไว้ตั้งใจจะเล่าเรื่องการไปดูดอกหงอนนาคก็เลยเล่าได้แค่นี้ คือได้แค่ไปช็อปปิ้ง แล้วก็..จบโครงการแระ หิ หิ 

     นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์