Latest

น้ำตาลเป็นสิ่งเสพย์ติดได้หรือไม่

ขอขอบคุณคุณหมอที่เขียนสิ่งที่มีประโยชน์และตอบคำถามสุขภาพให้คนทั่วไปได้อ่านนะครับ ผมเองก็ได้อาศัยบล็อกของคุณหมอเป็นทั้งที่คลายเครียด และเป็นที่ค้นหาคำตอบที่เชื่อถือได้ในเรื่องสุขภาพ ปัญหาที่ผมมีเป็นปัญหาเกี่ยวกับลูกชายอายุ 31 ปี สูง 168 ซม. น้ำหนัก 112 กก. เรียนหนังสือจบแล้ว แต่วันๆเขาไม่ทำการทำงานอะไรเอาแต่นั่งเล่นคอมพิวเตอร์ แล้วผมสังเกตว่าเขาต้องกินอะไรหวานๆมากขึ้นๆ ทุกอย่างที่เขากินต้องมีส่วนของน้ำตาล น้ำเปล่า เขาก็ไม่ดื่ม จะดื่มแต่โค้กคลาสสิก ผมเคยซื้อซีโร่โค้กให้เขาเขาก็ไม่เอา วันไหนถ้าไม่มีของหวานใส่ไว้ในตู้เย็นเขาจะหงุดหงิดและเดินออกไปซื้ออะไรหวานๆกินนอกบ้าน ภรรยาของผมเขาเป็นคนเกรงใจลูก จะพูดจะจาอะไรก็กลัวขัดหูลูกตลอด มีอะไรเธอไม่กล้าพูดเองต้องให้ผมเป็นคนพูด ตอนนี้ภรรยาผมตั้งข้อสังเกตว่าลูกติดน้ำตาลเหมือนติดยาเสพย์ติด ผมจึงอยากถามคุณหมอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่คนเราจะติดน้ำตาลเหมือนติดยาเสพย์ติด และถ้าติดอย่างนั้นจริงๆควรจะต้องแก้ไขอย่างไร

ขอให้คุณหมอเขียนบล็อกนี้ตลอดไปอย่าหยุดนะครับ และขอให้คุณหมอและครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ

……………………………………
1.. ถามว่าคนเราจะติดน้ำตาลเหมือนกับติดฝิ่นติดมอร์ฟีนได้ไหม ตอบว่าหลักฐานว่าน้ำตาลเป็นสิ่งเสพย์ติดในคนยังไม่มีนะครับ มีแต่ในสัตว์ทดลอง กล่าวคือเมื่อราวปี 2002 ได้มีการทดลองที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน โดยเอาหนูมาให้ดื่มน้ำหวานใส่น้ำตาล 20% ซึ่งเป็นความเข้มข้นของน้ำตาลในซอฟท์ดริ๊งค์ทั้งหลายของคนเราทุกวันนี้ แล้วติดตามดูก็พบว่าหนูกลุ่มที่กินน้ำหวานเริ่มติดน้ำตาล และค่อยๆเลิกกินอาหารอื่นที่ไม่มีน้ำตาลหันมากินแต่ของที่มีน้ำตาล แล้วต่อมาในปี 2008 ก็มีผู้ทำการวิจัยซ้ำในหนูเหมือนกัน แต่คราวนี้ดูการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองและการกระตุ้นเส้นประสาทในส่วนที่เกี่ยวกับการเสพย์ติด (opioid receptor) ด้วย ก็ได้ข้อมูลยืนยันว่าหนูเหล่านั้นเสพย์ติดน้ำตาลจริงๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีเช่นโดปามีนในสมองและการกระตุ้นตัวรับรู้สิ่งเสพย์ติดเหมือนกับกรณีเสพย์ติดมอร์ฟีน แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เป็นเพียงหลักฐานในสัตว์ทดลอง ซึ่งวงการแพทย์ถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำ ยังเอามาอ้างอิงใช้กับคนไม่ได้
ยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่คนชอบอ้างกัน คือหลักฐานเปรียบเทียบคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ของสมอง ว่าคลื่นแม่เหล็กในสมองของคนที่ชอบกินของหวานเมื่อเห็นของหวานแล้วอยากกิน จะมีคลื่นแม่เหล็กของสมองเหมือนคลื่นของคนติดโคเคนที่เห็นโคเคนแล้วอยากเสพย์ แต่ว่าหลักฐานแบบนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์เทียมแบบสรุปยกเมฆ ไม่ใช่หลักฐานที่จะใช้ยืนยันได้ว่าน้ำตาลเป็นสิ่งเสพย์ติดเช่นเดียวกับโคเคน
2.. ถามว่าแล้วจะแก้ปัญหาลูกชายติดน้ำตาลได้อย่างไร ผมขอแยกเป็นสองประเด็นนะครับ

2.1 ในแง่ของสังคมวิทยา ลูกชายของคุณอายุ 31 ปีแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และถือว่าพ้นอกคุณไปแล้ว คุณยังจะไปยุ่งอะไรกับเขาอีกมากมายละครับ ผมหมายความว่าคุณเลี้ยงลูกมาถึงป่านนี้แล้วคุณหมดหน้าที่หลักแล้ว หน้าที่ที่เหลือคุณเป็นเพียงที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ ถ้าเขาไม่ปรึกษา คุณก็ไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับชีวิตของเขาหรอก ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้บงการชีวิตเขาอีกต่อไปแล้ว หากคุณอยากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นกับชีวิตของเขา คุณทำได้เพียงแค่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคุณก่อนเพื่อให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง เช่นตัวคุณงดดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล งดทานอาหารหวาน คุณทำได้แค่นั้น ในกรณีของคุณอาจจะทำได้มากกว่านั้นอีกหน่อยเพราะลูกชายอาศัยบ้านคุณอยู่ คือคุณอาจปรับสิ่งแวดล้อมบ้านของคุณให้เป็นเครื่องบังคับไปในตัว เช่นในตู้เย็นไม่มีของหวาน เป็นต้น  คุณทำได้แค่นั้นแหละ มากกว่านั้นคงยาก เพราะการจะไปกะเกณฑ์ให้ลูกซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วให้กินนั่นไม่ให้กินนี่มันผิดธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนะคุณ เดี๋ยวคุณจะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์เพี้ยนไปหมด

2.2 ในแง่ของหลักทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หากคุณคิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนคุณต้องรู้ว่าเขาอยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการการเปลี่ยนแปลง แล้วเลือกใช้วิธีช่วยที่เหมาะสมกับขั้นตอนนั้น กล่าวคือ

2.2.1 ถ้าเขายังอยู่ในขั้นตอนไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น ในขั้นตอนนี้คุณทำได้อย่างเดียว คือให้ข้อมูลความจริง ไม่ต้องไปพยายามอย่างอื่น แค่ให้ข้อมูลความจริงว่าน้ำตาลมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ถ้าเขาได้ทราบความจริงแล้ว เขาจึงจะเกิดความคิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ถ้าเขาทราบความจริงแล้วก็ยังไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอีก นั่นมันก็เป็นกรรมเก่าของใครของมันแล้วละคุณ อย่าไปพยายามทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการให้ข้อมูลความจริงเลย เพราะทำไปงานวิจัยที่ผ่านมาบอกว่ามันก็ไม่เวอร์ค

2.2.2 ถ้าเขาอยู่ในขั้นตอนที่รับรู้ความจริงแล้วและแสดงความสนใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ยังไม่เอาจริงสักที ในขั้นตอนนี้เครื่องมือที่ช่วยคือการสร้างแรงจูงใจ หรือชักจูงต่างๆนาๆ เช่น ชี้ให้เห็นประโยชน์ของความหล่อ ชี้ให้เห็นผลกระทบทางบวกต่อคนรอบข้าง เช่นพ่อแม่ที่รักเขามาก เป็นต้น

2.2.3 ถ้าเขาอยู่ในขั้นตอนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองแน่ แต่กำลังจดๆจ้องๆรอจังหวะที่จะลงมือ ในขั้นตอนนี้เครื่องมือช่วยที่ดีคือคุณให้ทางเลือก เพราะคนเราเมื่อมีทางเลือกจึงจะลงมือเลือก เช่นไปเข้าแค้มป์คนอ้วนของหมอสันต์ไหมลูก หรือไปเทียวปีนเขาหิมาลัยกันไหม แบบว่าสองอาทิตย์ไม่ได้กินน้ำตาลเลยสักก้อน หรือเราเปลี่ยนสูตรอาหารทั้งบ้านกันไหมลูก จะเอาสูตรไหนดี มังสะวิรัติไขมันต่ำ หรือจะเอาสูตรอาหารลดความดัน DASH ลูกชอบแบบไหนเลือกเอา

2.2.4 ถ้าเขาอยู่ในขั้นตอนลงมือทำแล้ว แต่ไปไม่รอด ล้มลุกคลุกคลานอยู่นั่นแล้ว ในขั้นตอนนี้ตัวช่วยคือการเสริมวินัย สร้างวินัยกลุ่มเพื่อช่วยให้เขามีวินัยต่อตัวเองง่ายขึ้น เช่นการไม่ซื้อน้ำตาลเข้าบ้านนี่ก็เป็นวินัยกลุ่ม พ่อแม่ลูกมีนัดต้องไปออกกำลังกายด้วยกันทุกเย็นวันศุกร์นี่ก็เป็นวินัยกลุ่ม ตัวช่วยในขั้นตอนนี้อีกตัวหนึ่งคือกัลยาณมิตร คือถ้าหาทางให้เขามีเพื่อนที่หัวอกเดียวกันและมุ่งมันไปในทิศทางเดียวกัน โอกาสที่เขาจะไปได้ตลอดรอดฝั่งก็ง่ายขึ้น
3. ที่เอ่ยปากชวนให้เขียนบล็อกต่อเนื่องเรื่อยไปอย่าให้หยุดนั้น ขอบพระคุณครับ  แต่ว่าชีวิตจริงมันขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง วันนี้ผมเขียนบล็อกเพื่อผ่อนคลายตัวเอง วันพรุ่งนี้ผมอาจมีอะไรหนุกๆกว่านี้ทำก็ได้ ใครจะไปรู้ ดังนั้นผมไม่รับปากอะไรกับใครถึงอนาคตหรอกครับ 
                “…อย่าเพียรถาม ว่าฉันจะรัก เธอนานเท่าใด
            ฉันตอบไม่ได้ ว่าฉันจะรัก ชั่วกาลนิรันดร์
            เพราะชีวิตฉัน คงไม่ยืนยาว ไปถึงปานนั้น
            รู้แต่เพียงฉัน หมดสิ้นรักเธอ เมื่อฉันหมดมู้ด…ด “  

ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.     Avena, Nicole M.; Rada, Pedro and Hoebel, Bartley G. “Evidence for sugar addiction: behavioral and neurochemical effects of intermittent, excessive sugar intake”. Neuroscience & Biobehavioral Reviews, 2008;32(1):20-39. Epub 2007 May 18.