Latest

โรค OCD กับบ้าก็บ้าวะ

สวัสดีครับอาจารย์
ผมเป็นนักศีกษาแพทย์ชั้นปีที่4เพิ่งเริ่มปฎิบัติงานได้มระยะเวลาหนึ่ง  ณ ตอนเริ่มแรกเรื่องทุกอย่างมันเกิดในORครับ บ่อยครั้งที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้สังเกตการณ์ในเคสต่างๆ ผมกลับมีความรู้สึกว่ามีอะไรกระเด็นเข้ามาบริเวณใบหน้าและดวงตาอย่างบ่อยครับ (เนื่องจากผมสายตาปกติ ไม่ใส่แว่น) แล้วผมก็จะนำกลับมาคิดว่ามันจะเป็นเลือดจากการผ่าตัดมั้ย เราจะติดโรคอะไรไหม ทำไมชีวิตมันยากแบบนี้ และสุดท้ายเหตุการณ์ก็มักจะลงเอยที่ MED ID ความกังวลของผมมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนผมไปปรึกษาอาจารย์ที่คอยดูแลในขณะปฎิบัติงาน อาจารย์ได้แนะนำไปหาจิตแพทย์ ซึ่งทำให้ผมทราบว่าผมเป็น OCD แต่ตอนแรกผมยังปฎิเสธอยู่ พร้อมกับยังมีคำถามค้างคาในใจเสมอ ถ้าวันนั้นมันเกิดกระเด็นขึ้นมาละ เราจะเป็นโรคอะไรไหม ผมกลัวมาก ชีวิตที่เราตั้งใจทำมาอย่างดีละมันจะพังลงในพริบตาเลย ตั้งแต่วันนั้นผมก็เริ่มกินยามาโดยเริ่มจาก fluoxetine 1 เม็ด ก่อนโดยอาการเหมือนเริ่มจะดีขึ้น แต่สุดท้ายกลับแย่ลงมากๆ ตอนนี้ผมกลัวทุกอย่างในการใช้ชีวิต เวลาผมเดินไปไหนผมจะรู้สึกมีอะไรกระเด็นที่ใบหน้าและตามตัวเกือบตลอด และผมก็จะคิดว่ามันคือเลือดทำให้ผมกลัวและกังวลผมต้องรีบล้างมือล้างหน้า ผมกลายเป็นคนพกผ้าเปียกกันเชื้อโรค เจลล้างมือตลอดเวลา ใช้จนมือของผมแห้ง พอทำเสร็จความกลัวก็ยังไม่หายไปมันก็ยังคงวนเวียนอยู่ว่าผมจะเป็นไรมั้ย ถ้ามันเป็นเลือดละ ขณะนี้ผมได้ออกมาฝึกปฎิบัติงานที่รพช. ผมไม่กล้าเดินผ่านบริเวณเจาะเลือด หรือ ER เพราะผมกลัวว่าจะมีเลือดกระเด็นใส่ตาใส่ปากใส่แผล หรือลมพัดเอาละอองเลือดมาเข้าตาผม ผมกลัวไปหมดผมไม่กล้าพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักเพราะผมจะรู้สึกว่าน้ำลายเค้าจะกระเด็นใส่ แล้วในน้ำลายนั้นจะมีเลือดมั้ย ผมกลัวมันจะกระเด็นเข้าตา ผมเอามือวางบนโต๊ะผมก้ต้องดูว่าโต๊ะนั้นไม่มีคราบเลือดอะไรนะ เอามือจับกำแพงก็ต้องดูว่ามีคราบเลือดอะไรไหม ตอนนี้ผมกินยา2ตัว fluoxetine 3เม็ด risperidone 1 เม็ดมาเป็นเวลา 2-3อาทิตย์ได้แล้วแต่เหมือนอาการจะไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไหร่ ครั้งล่าสุดผมมีความคิดว่าจะลาออก ตามความเห็นของอาจารย์ผมควรทำอย่างไรต่อกับชีวิตดีครับ

………………………………………

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถาม ผมขอนิยามศัพท์ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นตามทันก่อนนะว่าตามเกณฑ์วินิจฉัย (DSM-5) โรคจิตชนิดย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder – OCD) มีนิยามดังนี้

ย้ำคิด (obsession) หมายความว่า

1. มีความคิด หรือความอยาก เกิดขึ้นซ้ำซากอย่างไม่เหมาะสมกับสถานะการณ์จนทำให้เครียดกังวล เช่น กลัวติดเชื้อ กลัวไม่ปลอดภัย กลัวจำผิด กลัวบาป กลัวผิดระเบียบ ย้ำคิดเรื่องเพศ
2. มีความพยายามจะเพิกเฉยต่อความคิดนั้นหรือพยายามกลบเกลื่อนด้วยความคิดหรืือการกระทำอื่น

ย้ำทำ (compulsion) หมายความว่า

1. มีพฤติกรรมซ้ำซากเช่นล้างมือซ้ำ สั่งงานซ้ำ ตรวจสอบซ้ำ หรือการทำในใจซ้ำซาก เช่นสวดมนต์ซ้ำๆ นับ หรือคิดถึงคำพูดในใจซ้ำๆ
2. การย้ำทำนี้มุ่งป้องกันหรือลดความเครียดกังวลไม่ให้บางอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดขึ้น หรือมันเป็นการป้องกันแบบมากเกินไป เช่น ล้างมืออยู่นั่นแล้ว ชอบตรวจสอบอะไรซ้ำๆ เช่นล็อกประตูซ้ำๆ ปิดแก้สซ้ำๆ นับจำนวนซ้ำๆ จัดระเบียบของใช้ซ้ำๆ ขยันเก็บสมบัติบ้าไว้เต็มบ้าน เอาแต่ทำรายการว่าจะทำนั่นทำนี่อยู่เรื่อย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้กินเวลามากว่าวันละหนึ่งชั่วโมงและมีผลทำให้การทำงานหรือการเรียนเสียไป

     อนึ่ง โรคจิตชนิดย้ำคิดย้ำทำ (OCD) นี้อย่าเอาไปสับสนปนเปกับความผิดปกติของพฤติกรรมชนิดย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive personality disorder) ที่เรียกย่อว่า OCPD ซึ่งหมายถึงการเป็นคนเจ้าระเบียบ เจ้าจอมสมบูรณ์ (perfectionism) ไม่ยืดหยุ่น ไม่เปิดเผย เข้ากับคนได้ยาก บ้างาน แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

     เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าตอนนี้รักษาอยู่กับจิตแพทย์ ตอนแรกกินยาหนึ่งตัว แล้วเพิ่มเป็นสองตัว แล้วไม่ดีขึ้น จะทำอย่างไรต่อไปดี ตอบว่าการรักษาโรค OCD วิธีที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลมีสองอย่างคือ (1) ใช้ยากับ (2) ทำการรักษาแบบจิตบำบัดแบบให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavior therapy – CBT) ซึ่ง CBT รูปแบบที่ให้ผลดีที่สุดสำหรับโรคนี้เรียกว่า การให้เผชิญเหตการณ์แล้วป้องกันการสนองตอบแบบเดิม (Exposure and Response Prevention – ERP) ซึ่งต้องทำโดยอาศัยนักจิตบำบัดที่เรีียนทางนี้มาเป็นผู้ฝึกสอน (ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยมีนักจิตบำบัดสาขานี้อยู่หรือเปล่า) เมื่อทำเป็นแล้วจึงค่อยเอาไปทำต่อเองได้ ดังนั้นผมแนะนำให้ปรึกษากับจิตแพทย์ของคุณเพื่อขอรับการทำจิตบำบัดแบบ ERP นอกเหนือไปจากการใช้ยาเพียงอย่างเดียว อนึ่ง การทำ ERP นี้ไม่ใช่การรักษาด้วยการนั่งพูดกัน (talk therapy) นะ เป็นการรักษาแบบลงมือทำเองโดยมีนักบำบัดเป็นพี่เลี้ยงประกบ ต้องไปพบกับนักบำบัดสัปดาห์ละหลายครั้งเป็นเวลานานๆหลายเดือน วิธีทำก็คือให้พาตัวเองเข้าไปเผชิญกับความคิด หรือภาพ หรืือสถานะการณ์ที่เป็นตัวตั้งต้นการย้ำคิดย้ำทำ พอความย้ำคิดหรือย้ำทำถูกกระตุ้นขึ้นมาแล้วก็ให้ตัดสินใจเลือกการสนองตอบไปในทางที่ไม่ยอมแพ้ไม่ยอมย้ำคิดหรือไม่ยอมย้ำทำ จนเป็นการสร้างนิสัยใหม่ได้สำเร็จ

     เปรียบเหมือนความกังวลนี้เป็นระบบกันขโมยที่ติดอยู่ตามบ้าน พอกริ่งดังขึ้นคุณก็สะดุ้งตื่นสงสัยขโมยจะบุกรุกเข้ามาในบ้านแล้วคุณต้องตื่นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องตัวเองและลูกเมีย แม้ตัวกระตุ้นให้เสียงกริ่งดังจะเป็นเพียงนกบินมาชนกระจกหน้าต่าง คือเป็น false alarm แต่การสนองตอบของคุณก็เหมือนเดิมไม่ต่างจากเมื่อขโมยบุกเข้าบ้าน โรค OCD นี้มันเข้ามาควบคุมระบบกันขโมยของคุณ เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งมันส่งเสียงกริ่งดังลั่นหมด ทำให้ระบบสมองและร่างกายเข้าใจว่าตัวคุณอยู่ในอันตรายจริงๆทั้งๆที่ความคิดความเห็นของคุณก็รู้อยู่ว่ามันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่ถ้าคุณไปยอมย้ำคิดย้ำทำตามระบบสมองและร่างกายสั่งก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เชื่อว่าเสียงกริ่งนั้นหมายถึงอันตรายจริง ทำให้โรคมีแต่จะแย่ลง คุณต้องเลือกที่จะหยุดการย้ำคิดย้ำทำจึงจะตัดวงจรชั่วร้ายนี้ได้ นี่เป็นความพยายามทีจะเปลี่ยนสมองของคุณเลยนะ เป็นวิธีที่งานวิจัยบอกว่าได้ผล ให้ลองทำดู

    2. ถามว่าเรียนแพทย์อยู่ปี 4 แล้วป่วยเป็น OCD ควรจะลาออกเลิกอาชีพนี้ไปเลยดีไหม ตอบว่าเนื่องจากโรคนี้มีหลายระดับความรุนแรง หมอลายคนก็ป่วยเป็นโรคนี้ คนที่เป็นระดับไม่รุนแรงก็ยังประกอบอาชีพรักษาผู้ป่วยอยู่อย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นอย่างเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ ขอให้ตั้งใจรักษาโรคนี้ไปก่อนพร้อมๆกับการเรียน ถ้าคุณบ้าหนักจนไปไม่ไหวจิตแพทย์ผู้รักษาคุณเขาจะเป็นคนแนะนำเองให้คุณเลิกเรียนเปลี่ยนอาชีพเสีย

     ที่ผมแนะนำให้คุณรักษาไปโดยยังไม่ต้องรีบลาออกก็เพราะคนที่เป็นโรคนี้ ถ้ารักษา 70% จะมีอาการดีขึ้นถึงระดับที่ประกอบอาชีพและใช้ชีวิตปกติได้ แต่ว่าตัวโรคนี้เองเป็นที่รู้กันว่ามันมีธรรมชาติเป็นโรคเรื้อรังเป็นๆหายๆ คือเรียกว่า “ของขึ้น” เป็นพักๆ แต่จะมีเพียงประมาณ 15% เท่านั้นเองที่อาการจะมีแต่สาละวันเตี้ยลง ถ้ารักษาไปแล้วมันปรากฎชัดในภายหลังว่าคุณเป็น 15% นี้ ค่อยไปลาออกเปลี่ยนอาชีพตอนนั้นก็ไม่สาย แต่ถ้าคุณเป็น 70% ที่รักษาแล้วดีขึ้นคุณก็ไม่เสียโอกาสที่จำทำอาชีพนี้เพราะไหนๆก็สู้อุตส่าห์เรียนมาได้ตั้งสี่ปีแล้ว

     3. ถามว่าหมอสันต์มีคำแนะนำอะไรเป็นพิเศษไหม ตอบว่ามี แต่ก่อนที่จะตอบต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะว่าหมอสันต์นี้ไม่ใช่ทั้งจิตแพทย์และไม่ใช่ทั้งพระ วิธีที่ผมแนะนำจึงไม่ใช่วิธีที่จิตแพทย์ใช้ และไม่ใช่วิธีที่พระใช้ เพราะคนป่วยแบบคุณนี้ไปหาพระ พระท่านก็ไม่เอา คุณไปบวชท่านก็จะไม่ยอมให้บวช เพราะเวลาสัมภาษณ์ก่อนบวชจะมีคำถามอย่างเป็นทางการคำหนึ่งว่า “คุณเป็นไม่ได้เป็นบ้าใช่ไหม” ถ้าคุณตอบว่า “ไม่ใช่ครับ” ก็หมดสิทธิ์บวชทันที เพราะท่านกลัววัดแตก..หิ หิ

     ก่อนที่ผมจะแนะนำคุณ ผมขอเกริ่นนำก่อน ว่าความคิดที่จำแนกว่า “นี่คือเรา” และ “นั่นไม่ใช่เรา” อันเป็นฐานรากของการพยายามปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากสิ่งคุกคามที่เราคิดว่า “ไม่ใช่เรา” ทั้งหลายนี้ ภาษาความหลุดพ้นเรียกว่าเป็นคอนเซ็พท์ duality (ทุกอย่างเป็นสอง คือเรา กับไม่ใช่เรา) คือเป็นการสร้างสมมุติบัญญัติขึ้นมาจำแนก “เรา” กับ “เขา” เมื่อมีเรา ก็ต้องพยายามปกป้องเรา ซึ่งเป็นเหตุให้เราไม่หลุดพ้นไปไหนสักที แต่เผอิญว่านี่เป็นความคิดพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ว่าบางคนอย่างคุณนี้มีความพยายามปกป้องตัวเองหรือ “เรา” มากล้ำหน้าชาวบ้านไปหน่อย จึงถูกขนานนามว่าเป็นบ้า แต่ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ คนเราทุกคนบ้าเป็นโรค OCD เหมือนกันหมด บ้ามากบ้าน้อยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง คนที่หลุดออกไปจากความบ้านี้ได้ ก็จะมีแต่คนที่เข้าถึงความจริงที่ว่าชีวิตนี้และโลกที่ปรากฎให้เห็นในความรับรู้นี้ แท้จริงแล้วไม่ได้แยกเป็นสอง ทั้งจิตสำนึกรับรู้และสิ่งที่ิจิตไปรับรู้ แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งเดียวกัน คือหมายถึงคนที่เข้าใจและเข้าถึงคอนเซ็พท์ non-duality แล้วเท่านั้น ผมพูดอย่างนี้ทั้งๆที่รู้ว่าคุณจะไม่เข้าใจ แต่ก็ขอพูดไว้หน่อย วันนี้คุณอ่านแล้วไม่เข้าใจไม่เป็นไร เผื่ออีกหลายสิบปีข้างหน้าคุณกลับมาอ่านแล้วคุณอาจจะเข้าใจ

     คำแนะนำของหมอสันต์ ซึ่งไม่ได้เป็นทั้งจิตแพทย์และไม่ได้เป็นทั้งพระ คือให้คุณเริ่มเดินทางเข้าสู่ภายใน เพื่อ “รู้” ธรรมชาติที่แท้จริงของคุณ เป็นการเดินทางจากคอนเซ็พท์ duality ไปสู่คอนเซ็พท์ non-duality เริ่มต้นด้วยการวางความคิดทั้งหลายทั้งปวงลง รวมทั้งความย้ำคิดซ้ำๆซากๆเหล่านั้นด้วย วางความคิดลง หันเหความสนใจจากนอกเข้าสู่ภายใน จากความย้ำคิด ไปสู่ความรู้ตัว เปลี่ยนสำนึกจากสำนึกว่าเป็นบุคคล ไปสู่สำนึกว่าเป็นผู้รู้ตัว จนสำนึกว่าเป็นบุคคลของคุณเหลือเบาบางมากแล้ว ความกังวลที่จะต้องปกป้อง “นี่” ซึ่งเป็นเรา จาก “นั่น” ซึ่งไม่ใช่เรา ก็จะแผ่วลงไปเอง คุณก็จะหายบ้ากลายเป็นคนธรรมดาได้ และเมื่อความเป็นบุคคลหายไปถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะเริ่มเห็นประจักษ์ถึงสัมพันธภาพอันแนบแน่นระหว่างความรู้ตัวกับสิ่งที่ถูกรู้ ว่าแท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน การเห็นประจักษ์นี้เกิดจากประสบการณ์ “รู้” สภาวะการณ์จริง ไม่ใช่เกิดจากการคิดไตร่ตรองเอานะ ณ จุดนั้นความเป็นสองหรือ duality ก็จะหมดไป โรคของคุณซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนคอนเซ็พท์ dualityก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง     

     ทั้งจิตแพทย์และพระเถรเณรชีมาอ่านคำแนะนำวิธีรักษาคนบ้าของหมอสันต์แล้วคงจะลงความเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า หมอสันต์ท่าจะเป็นบ้าไปเสียแล้ว หิ หิ เออ.. เหอะน่า บ้าก็บ้าวะ เขียนมาถึงตอนนี้ผมคิดขึ้นได้ครั้งหนึ่งเคยไปนั่งฟังบรรยายซึ่งองค์ปาฐกเล่าให้ฟังว่าสมัยท่านเป็นพระภิกษุได้ไปเทศน์ให้คนบ้าที่รพ.หลังคาแดง (รพ.สมเด็จเจ้าพระยา)ฟัง พอไปถึงห้องประชุมมีคนป่วยจำนวนหนึ่งไม่ยอมไหว้ท่าน จนผู้จัดประชุมต้องร้องเตือนว่าพระมานะ ให้ไหว้พระ ก็มีเสียงผู้ป่วยคนหนึ่งตะโกนมาจากหล้งห้องประชุมว่า

     “..ไม่ว่าจะเป็นพระหรือชาวบ้าน มาถึงหลังคาแดงนี่แล้วก็บ้าเหมือนกันหมดแหละวะ”

     ฮะ ฮะ ฮ่า.. แคว่ก แคว่ก แคว่ก.. ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ปล. ถ้าคุณมีเวลาให้ไปเรียนฝึกสติรักษาโรค (MBT) ผมให้คุณเข้าเรียนได้ฟรีไม่ต้องเสียเงิน เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นนักศึกษาแพทย์ที่กำลังรักษาโรค OCD อยู่และผมเคยตกปากรับคุณเข้าเรียนฟรีแล้ว คุณก็จะได้สิทธิพิเศษนี้ทันที

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. American Psychiatric Association: Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition. Arlington, VA: American Psychiatric Association; 2013.
2. American Psychiatric Association Work Group on Obsessive-Compulsive Disorder. Practice guideline for the treatment of patients with obsessive-compulsive disorder. Am J Psychiatry. July 2007. 164(suppl):1-56.
3. Simpson HB, Foa EB, Liebowitz MR, et al. Cognitive-Behavioral Therapy vs Risperidone for Augmenting Serotonin Reuptake Inhibitors in Obsessive-Compulsive Disorder: A Randomized Clinical Trial. JAMA Psychiatry. Sep 11 2013.