Latest

ดิฉันไม่ชอบหมอที่ต่อต้านวิตามินและอาหารเสริม

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันไปหาหมอที่โรงพยาบาล…ด้วยอาการไม่สบายแบบว่าเป็นหวัดเป็นไข้ คุณหมอซักประวัติเรื่องยาที่ดิฉันทานอยู่ ดิฉันได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินและอาหารเสริมที่ดิฉันทานอยู่ด้วย กล่าวคือดิฉันทานวิตามินซีวันละ 1,000 มก. แคลเซียมผสมวิตามินดี. (Caltrate Plus) เซเลเนียม เหล็ก wheat grass และวิตามินรวม (Centrum silver) คือดิฉันอายุมากแล้ว (62 ปี) จึงใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ แต่ดูเหมือนคุณหมอที่โรงพยาบาล…. กลับตำหนิดิฉันที่ทานวิตามินและอาหารเสริมมาก ดิฉันรู้สึกว่าหมอไม่พอใจที่ผู้ป่วยไปศึกษาหาความรู้แล้วพยายามดูแลตัวเอง ต้องการให้ผู้ป่วยมาหาแต่อหมอและทานแต่ยาที่หมอสั่งให้ ซึ่งดิฉันมองเห็นว่าหมอมีความเห็นคับแคบเชื่อแต่ในสิ่งที่ตนเรียนมาโดยไม่เปิดหูตารับทราบข้อมูลอื่นบ้าง ดิฉันจึงอดมีความรู้สึกไม่ค่อยชอบใจที่หมอต่อต้านวิตามิน

ดิฉันไม่มีคำถามอะไรคุณหมอหรอกนะคะ เพราะปัญหาที่ดิฉันเคยมีก็มีคนอื่นเขียนมาถามและดิฉันก็ได้อ่านและเข้าใจดีแล้ว เพียงแต่อยากระบายอารมณ์ให้คุณหมอฟัง

…………………………………….

ตอบครับ

1. คุณอยากระบาย ผมก็รับฟังคำระบายแล้ว เป็นอันว่าหายกันแล้วนะครับ

2. ที่ว่าแพทย์มีความเห็นคับแคบ เชื่อแต่ในสิ่งที่ตนเรียนมา แหม.. อันนี้ก็ไม่เชิงนะครับ คือแพทย์ถูกสอนให้ประเมินสิ่งต่างๆว่าอะไรดี อะไรไม่ดีตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ หมายถึงการใช้สถิติเปรียบเทียบโดยตัดเอาตรงที่ถ้ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติละก้อ..โป๊ะเชะ ใช่เลย แต่ถ้าข้อมูลสถิติจากอดีตถึงปัจจุบันบอกว่าเรื่องนี้ยังไม่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แพทย์ก็จะถูกบังคับโดยทั้งจริยธรรมและทั้งกฎหมายว่าจะเอาเรื่องแบบนั้นมาใช้กับคนไข้ไม่ได้ ถ้าเอามาใช้ก็จะกลายเป็นหมอเถื่อนที่มีวิธีทำเวชปฏิบัติที่ไม่ได้มาตรฐานหลักวิชาแพทย์ ผมไม่เถียงว่าเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์หรือยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติอาจจะเป็นของดีมีประโยชน์ก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่าสำหรับแพทย์แล้วการจะบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดีต้องใช้ไม้บรรทัดอันเดียวเท่านั้น คือความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3. การที่แพทย์ของคุณออกแนวขวางๆความนิยมวิตามินและอาหารเสริมนั้น แม้ผมจะชื่นชมในความซื่อตรงต่อวิชาชีพของท่าน แต่ผมก็อดนินทาไม่ได้ว่าแพทย์ท่านนั้นคงจะไม่เคยได้ยินพังเพยที่ว่า “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” ซะแล้ว เพราะการสำรวจโภชนาการแห่งชาติครั้งที่สามของสหรัฐฯสำรวจคนอายุเกิน 60 ปี พบว่า 40% ของผู้ชาย และ50% ของผู้หญิง กินวิตามินหรืออาหารเสริมอยู่ประจำอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และเมื่อปี 2002 สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ทำวิจัยพบว่า 73% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันกินวิตามินหรืออาหารเสริมอยู่ประจำ รายงานยอดขายวิตามินและอาหารเสริมในตลาดสหรัฐประเทศเดียวในปี 2005 มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ หรือหกแสนกว่าล้านบาท น้ำเชี่ยวอย่างนี้ใครทะเร่อทะร่ามาขวางแล้วเจอของแข็งผมก็ไม่แปลกใจหรอกครับ

4. ประเด็นที่ว่าการกินวิตามินและอาหารเสริมกันเป็นว่าเล่นมันมีหลักฐานว่าดีจริงหรือเปล่า คำตอบก็คือ “ไม่มีครับ” คณะทำงานป้องกันโรคสหรัฐ (USPSTF) ได้ศึกษาแล้วออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการว่า “ไม่มีหลักฐานพอที่จะแนะนำสนับสนุนให้กินหรือแนะนำต่อต้านไม่ให้กินวิตามิน ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ. ซี. อี. หรือวิตามินรเวม กรดโฟลิก และสารต้านอนุมูลอิสระ” สมาคมแพทย์อเมริกัน (AMA) แนะนำว่า “เฉพาะผู้สูงอายุที่มีเหตุให้กินอาหารทั่วไปได้น้อยลงเท่านั้นที่ควรกินวิตามินและอาหารเสริม” ขณะที่สมาคมโภชนศาสตร์อเมริกัน (ADA) แนะนำว่า “ให้ทำการประเมินภาวะโภชนาการเป็นรายคนก่อนแล้วค่อยแนะนำให้ผู้ที่มีแนวโน้มขาดวิตามินและเกลือแร่ทานวิตามินและเกลือแร่เสริม โดยไม่ควรแนะนำให้กินวิตามินและอาหารเสริมตะพึดทุกคน”

5. ประเด็นที่ว่าวิตามินและอาหารเสริมมันมีพิษภัยไหม แต่ก่อนเราก็เชื่อว่ามันไม่มีพิษภัยอะไร แต่มาระยะหลังมานี้ก็ชักจะมีหลักฐานโผล่ขึ้นมาประปรายว่าวิตามินและอาหารเสริมอาจมีผลเสียเหมือนกัน งานวิจัยเมตาอานาไลซีสของหอสมุดโค้กเรน ซึ่งวิเคราะห์งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 77 รายการ ครอบคลุมผู้ป่วย 232,550 คนแล้วสรุปผลได้ว่า “ไม่มีหลักฐานว่าการกินสารต้านอนุมูลอิสระใดๆจะช่วยป้องกันหรือลดอัตราตายได้ แต่มีหลักฐานว่าอาหารเสริมบางตัวมีโทษ เช่นพบว่าการกินเบต้าแคโรทีนเสริมเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดของผู้ชายที่สูบบุหรี่อยู่ก่อนแล้วมากขึ้น” และที่เปรี้ยงปร้างมากก็คืองานวิจัยใหม่ขนาดใหญ่ชื่อ “งานวิจัยสุขภาพหญิงที่ไอโอวา” ตีพิมพ์ในวารสาร Archive of Internal Medicine เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงระบาดวิทยา หมายความว่าเป็นการวิจัยแบบตามดูกลุ่มคนโดยไม่ได้สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบแบบสองกลุ่ม งานวิจัยนี้ทำกับผู้หญิงอายุระหว่าง 55-69 ปีจำนวน 38,791 คน ติดตามดูนาน 19 ปี โดยให้กรอกแบบสอบถามการกินวิตามินและอาหารเสริมทุก 5-10 ปี แล้วพบว่า “อาหารเสริมตัวที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือแคลเซียม วิตามินรวม วิตามินซี. และวิตามินอี. ในระหว่างการศึกษานี้มีผู้เสียชีวิต 15,594 คน (40.2%) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่า “กลุ่มผู้ใช้วิตามินและอาหารเสริมหลายตัวรวมกัน มีอัตราตายสูงกว่าผู้ที่ไม่กินวิตามินและอาหารเสริมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการกินธาตุเหล็กเสริมซึ่งความสัมพันธ์กับอัตราตายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไอโอวานี้เป็นเพียงการติดตามดูกลุ่มคน ไม่ใช่การสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ จึงไม่ใช่หลักฐานระดับสูง อาจมีปัจจัยกวนต่างๆได้มากมาย ยังควรฟังหูไว้หูก่อน

6. ถามว่าหมอสันต์ต่อต้านการกินวิตามินและอาหารเสริมหรือเปล่า แหะ..แหะ.. ยังไม่ทราบว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านครับ ทราบแต่ว่าผมกลัวคนกินวิตามิน อะจ๊าก..ก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.Glade MJ. National Institutes of Health Conference: dietary supplement use in the elderly. Nutrition. 2003;19:981-987.

2.US Preventive Services Task Force. Routine vitamin supplementation to prevent cancer and cardiovascular disease: recommendations and rationale. Ann Intern Med. 2003;139:51-55. Abstract

3.Bjelakovic G, Nikolova D, Gluud LL, et al. Antioxidant supplements for prevention of mortality in healthy participants and patients with various diseases. Cochrane Database Syst Rev. 2008;16:CD007176.

4.Albanes D, Heinonen OP, Huttunen JK, et al. Effects of alpha-tocopherol and beta-carotene supplements on cancer incidence in the Alpha-Tocopherol Beta-Carotene Cancer Prevention Study. Am J Clin Nutr. 1995;62:1427S-1430S. Abstract

5.Bolland MJ, Grey A, Avenell A, Gamble GD, Reid IR. Calcium supplements with or without vitamin D and risk of cardiovascular events: reanalysis of the Women’s Health Initiative limited access dataset and meta-analysis. BMJ. 2011;342:d2040.

6. Mursu J, Robien K, Harnack LJ, Park K, Jacobs Jr DR. Dietary Supplements and Mortality Rate in Older Women, The Iowa Women’s Health Study. Arch Intern Med. 2011;171(18):1625-1633. doi:10.1001/archinternmed.2011.445