Latest

เป็นไฮโปไทรอยด์แล้วอ้วนขึ้นอีก 20 กิโล กลัวจะอ้วนต่อ

สวัสดีค่ะ ดร.สันต์

กำลัง สับสนและ ท้อแท้มากเลยค่ะ ขออนุญาติเล่า ประวัติสั้นๆนะคะ
เมื่อห้าปีก่อน ดิฉันป่วยเปนไฮเปอไธรอยด์ ค่ะ ทานยา รักษา มาเรื่อย ๆ ปีต่อมาเป็น ตับอักเสบ ต้องทาน เสตีรอยด์ เบ็ดเสร็จ นน ขึ้นมา 20 กิโล
ช่วงหกเดือนแรก นอน อย่างเดียว เพราะ ตับอักเสบรุนแรงมาก หลังจากหายดี … สามปีที่ผ่านมา ลด นน ได้ สิบกว่าโล โรคสงบ และเริ่มมาใช้ชีวิตปกติ …
ทำงานที่บ้าน เล็กๆน้อยๆ เพราะ คุณหมอบอกว่าห้ามเครียด เพราะโรคอาจกลับมาอีก
หลังจากนั้น เมื่อปีที่แล้ว มีปัญหาทางบ้าน ทำให้ออกมาทำงาน บ. งานค่อนข้างหนักและ ยุ่งมาก
นน. เริ่มเพิ่มขึ้นๆๆ เราก้อรู้ตัว ดิฉันก้อพยายาม ลดอาหาร ควบคุมทุกอย่าง แต่ นน ก้อเพิ่มเรื่อย เริ่มเหนื่อยง่าย จนวันนึง ป่วยจนเข้า รพ เลยได้เจาะเลือด
ปรากดว่า หนูเป็นโรคไฮโปไธรอยด์ หมอบอกว่า มีโอกาส ที่คนเคยเปนไฮเปอ จะกลับมาเป็นไฮโป
นน จากตอนเริ่มทำงาน 60 ตอนนี้ 74 ภายใน 1 ปี และดูเหมือนว่ามันจะไปเรื่อยๆเลย
ไม่รู้จะทำอย่างไรค่ะ ยิ่งมาอ่านเจอใจลิ้งค์เค้าขึ้นไปตั้ง 100 โล หนูไม่อยากเป็นแบบนั้น
หนูขอ คำแนะนำหน่อยได้มั๊ยคะ ทุกวันนี้ปวดเมื่อยเน้อตัวไม่มีแรงเลย เดินขึ้นบันไดชั้นสองก้อหอบแล้ว สุขภาพย่ำแย่ เห็นคุณหมอบอกว่ามี หลักสามอย่าง คือ
1. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่
2. โภชนาการเพื่อลดแคลอรี่
3. ขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หนู ไม่เคยใช้บลอค ไม่รู้ว่าจะหาอ่านยังงัย คุณหมอมีหนังสือมั๊ยคะ หรือคุณหมอรับให้คำแนะนำมั๊ยคะ
หนูอยากทำทุกอย่าง ที่จะทำให้ตัวเองกลับมาแข็งแรงอีกครั้งนึง หนูไม่อยากป่วยอีกแล้ว 5 ปีที่ผ่านมา มันทรมาน มากเลยค่ะ
หนูจะรอคำแนะนำจากคุณหมอนะคะ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ
สงวนนาม

ตอบครับ

อามิตตาพุทธ!… พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน เอ๊ย.. ไม่ใช่อะไรมันจะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดขนาดนี้
เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ หมอให้กินยาต้านไทรอยด์ เอ้ากินก็กิน แต่แล้วก็เจอพิษยาต้านไทรอยด์ ตับพัง หมออัดสะเตียรอยด์เข้าไปแก้ อ้วนกลมเลยคราวนี้ แถมเป็นไฮโปไทรอยด์อีกต่างหาก โอ้..ชีวิต
พูดเล่นนะครับ ผมก็พร่ำตามประสาคนแก่งั้นแหละ เอาละ มามองวิธีแก้ปัญหาของคุณอย่างเป็นขั้นตอนนะครับ

ขั้นที่ 1. การประเมินและรักษาภาวะไฮโปไทรอยด์

ปัญหาของคุณซับซ้อนละเอียดอ่อน คุณต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ เพื่อประเมินภาวะไฮโปไทรอยด์ เอาผลแล็บเก่าไปด้วย หลักการที่หมอจะประเมินก็คือ

1.1 เป็นไฮโปไทรอยด์ชนิดไหน เพราะมันรักษาไม่เหมือนกัน วิธีแบ่งประเภทง่ายๆก็คือดูระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) ถ้ามันสูงปรี๊ดก็แสดงว่าเป็นชนิดตัวต่อมไทรอยด์เดี้ยง ไม่ทำงาน เรียกว่า primary hypothyroidism ซึ่งอาจจะเกิดจากยาต้านไทรอยด์ หรืออาจจะเกิดจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองเช่น Hashimoto thyroiditis ก็ได้ ถ้าฮอร์โมน TSH ต่ำก็แสดงว่าต่อมไทรอยด์เขายังดีๆอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่สมองไม่ปล่อย TSH เรียกว่าเป็น secondary hypothyroid ซึ่งก็ต้องตามไปตรวจดูภาพสมอง (CT) ว่ามีเนื้องอกอะไรที่สมองหรือเปล่า ยังมีอีกแบบหนึ่งคือสมองไม่ปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นฮอร์โมนกระตุ้น อย่างงนะครับมีคำว่ากระตุ้นสองที คือปกติสมองปล่อย TRH ไปกระตุ้น TSH ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์อีกต่อหนึ่ง รวมเป็นสามทอด ถ้าสมองเบี้ยวไม่ปล่อยตั้งแต่ TRH ก็เรียกโรคแบบนี้ว่า tertiary hypothyroidism

1.2 ความรุนแรงของไฮโปไทรอยด์ขณะนี้อยู่ระดับใด ในประเด็นต่างๆเช่น

1.2.1 ระดับฮอร์โมน (T4) ต่ำแค่ไหน

1.2.2 การเผาผลาญวิตามินเอ.ยังดีอยู่ไหม เพราะปกติฮอร์โมนไทรอยด์ช่วยเปลี่ยนแคโรทีนเป็นวิตามินเอ. ถ้าฮอร์โมนไม่พอก็จะเหลืองจ๋อย (hypercarotenemia)

1.2.3 มีอาการบวมเพราะสาร glucosaminoglycans คั่งอยู่ตามที่ต่างๆหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอวัยวะสำคัญเช่นหัวใจ กระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นเพี้ยนไปได้ การเจาะเลือดดูระดับโซเดียมในร่างกายก็ช่วยบอกว่ามีการบวมอยู่หรือเปล่า

1.2.4 ระดับไขมันเลว (LDL) สูงมากหรือยัง เพราะถ้าขาดฮอร์โมนไทรอยด์ก็จะไม่มีอะไรไปจับทำลายเจ้าไขมันเลวตัวนี้ ทำให้มันสูงได้

1.2.5 มีโลหิตจางเกิดขึ้นหรือยัง เพราะคนเป็นไฮโปไทรอยด์ ถ้าเป็นมาก การเผาผลาญต่ำ ร่างกายต้องการออกซิเจนน้อย ไตก็ฉวยโอกาสลดการผลิตฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (erythropoietin) ลงไปด้วย

1.2.6 ภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อรุนแรงแค่ไหน เท่าที่คุณเล่ามาว่าเดินขึ้นสองชั้นไม่ไหวก็แสดงว่ารุนแรงพอควร

1.2.7 มีอาการที่เกิดจากสมองพยายามกระตุ้นต่อมไทรอยด์แล้วมีฮอร์โมนลูกหลงเช่น prolactin เพิ่มขึ้นหรือเปล่า ทราบได้จากมันไปกดให้ฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ ( gonadotropin) ลดลง ยังผลให้ไม่ตกไข่ ประจำเดือนมาไม่เสมอ หรือมามาก หรือเป็นหมัน หรือหมดความรู้สึกทางเพศ เป็นต้น

1.2.8 เป็นเบาหวานร่วมด้วยหรือยัง เพราะสองโรคนี้ชอบเป็นร่วมกัน

1.3 มีหลักฐานว่ามีภูมิคุ้มกันของร่างกาย (antibody หรือ Ab) เข้าไปจับทำลายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ของตนเองหรือเปล่า โดยเจาะเลือดดูภูมิคุ้มกันเหล่านี้ เช่น P-Ab หรือ anti TPO และ TG-Ab หรือ anti Tg หรือ TSH-R(block)Ab เป็นต้น
ข้อมูลทั้งหมดนี้แพทย์ต้องได้ก่อนการรักษา เพราะการสนองตอบต่อการรักษาในคนไข้แต่ละแบบไม่เท่ากัน แม้ว่าไฮโปไทรอยด์ทั่วไปรักษาได้ผลดีด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน levothyroxine -LT4 (Synthroid) 50-200 mcg ต่อวันก็อยู่แล้ว แต่บางแบบก็ดื้อด้านต่อการรักษา ต้องให้ฮอร์โมนสูงเป็นพันไมโครกรัมจึงจะรู้สึกรู้สม บางแบบใช้ฮอร์โมน T4 รักษาได้เลยเพราะร่างกายเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ (T3) ได้เอง แต่บางแบบร่างกายเปลี่ยน T4 เป็น T3 เองไม่ได้ต้องชิ่งไปใช้ยา Armour thyroid ซึ่งมีทั้ง T3 และ T4 แทน เป็นต้น

อนึ่ง พึงทำใจไว้ก่อนเลยว่าการรักษาไฮโปไทรอยด์ต้องใช้เวลานานหลายเดือน เพราะระบบความคุมการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ( hypothalamic-pituitary axis) ต้องใช้เวลาปรับตัวนานหลายเดือนกว่า TSH จะลดลงมาสู่ระดับปกติ คือ 0.40-4.2 mIU/L ซึ่งเป็นเป้าหมายของการรักษา

2. ขั้นที่สอง การปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง หลังการรักษาไฮโปไทรอยด์แล้ว

เขียนมาถึงตรงนี้ผมชักง่วงแล้วละครับ เพราะวันนี้เพิ่งกลับจากไปขุดดินในไร่มา ขอแปะไว้ก่อนแล้วผมรับปากว่าจะมาตอบให้วันหลังนะครับ..สัญญา ในระหว่างนี้คุณไปหาหมอรักษาไฮโปไทรอยด์ให้ TSH กลับมาเป็นปกติก่อนก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์