Latest

กลัวที่สูง กลัวมอเตอร์ไซค์ กลัวศูนย์การค้า ย้ำคิด ย้ำทำ

มีอาการกลัวความสูง นังรถจักยานยนต์แล้วกลัว ย้ำคิด ย้ำทำ เวลาไปห้างแล้วจะมีอาการ รู้สึกร้อนๆ เหงือซึม ปวดหัวมืนหัว หงุดหงิด อยู่ห้างได้ไม่เกิน 30 นาที ถ้าอยู่นานก็จะแย่มากขึ้น ปวดท้ายทอยตุ๊ป ๆ ความทำอย่างไรดี หรือว่าจะให้ไปหาหมอครับ

ทรมาน
…………………………

ตอบครับ

เวลาเจออะไรบางอย่างแล้วมีอาการอย่างคุณว่าคือร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก หงุดหงิด เสียความเป็นตัวของตัวเอง ภาษาหมอเขาเรียกว่า panic disorder ซึ่งมาตรฐานการวินิจฉัยและสถิติโรคจิตเวช (DSM-IV) นิยามว่าคือโรคที่อยู่ๆก็กลัวอะไรขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่รู้สาเหตุด้วยว่าเกิดจากอะไร

ความจริงเรื่องแบบนี้เป็นกันทุกคน แต่ถ้าเป็นมากๆจนมันรบกวนชีวิตปกติจึงจะถือว่าเป็นโรค การรักษาโรคนี้มีวิธีใหญ่ๆ อยู่ 3 วิธี ซึ่งบางวิธีคุณลองใช้กับตัวเองดูก่อนได้ คือ

1. วิธีพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) คือการกลับไปเจอกับสิ่งที่ทำให้กลัวซ้ำๆหลายๆครั้งจนดื้อด้านต่อความกลัวไปเอง ซึ่งมักต้องอาศัยเทคนิคสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลาย (relaxation response) เข้าช่วย คือธรรมชาติร่างากายคนเรานี้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้สองแบบ แบบเครียด (stress response) ก็คือหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น หายใจฟืดฟาดเร็วขึ้น ร่างกายใช้ออกซิเจนมากขึ้น แบบว่าพร้อมจะหนีหรือสู้ (fight or flight) กับอีกแบบหนึ่งคือการสนองตอบแบบผ่อนคลาย (relaxation response) คือหัวใจจะเต้นช้าลง ความดันเลือดลดลง หายใจช้าลง ใช้ออกซิเจนน้อยลง การตอบสนองแบบผ่อนคลายนี้จะเกิดเมื่อสมองอยู่ในภาวะปลอดความคิด เช่นขณะฝึกสมาธิตามดูลมหายใจ (meditation) ทำโยคะ รำมวยจีน หรืออะไรที่คล้ายๆกัน คุณต้องไปฝึกของพวกนี้จนร่างกายของคุณรู้วิธีสนองตอบแบบผ่อนคลายเป็น แล้วจึงจะเริ่มทำพฤติกรรมบำบัดให้ตัวเองได้อย่างปลอดภัยและสำเร็จ

2. วิธีสอนให้คิดใหม่ (Cognitive therapy) ซึ่งจริงๆแล้วก็คือการสอนให้ตัวเรามีสติตามทันความคิดของตัวเอง สอนให้เข้าใจว่าความคิดของตัวเองจะต่อยอดไปสู่ความกลัวได้อย่างไร ถ้าตั้งหลักตามความคิดทัน ความกลัวก็จะไม่เกิด เรื่องพวกนี้เป็นทักษะ ต้องฝึกจึงจะทำได้ ผมแนะนำให้คุณฝึกจิตใจของคุณในสองประเด็น คือ

(1) ฝึกระลึกรู้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้นี้คุณคิดอะไรไป ฝึก recall ความคิดของตัวเองให้ได้บ่อยๆ

(2) ฝึกสังเกตใจตัวเอง (self awareness) ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่า ณ ขณะนี้ใจตัวเองเป็นอย่างไร เครียดหรือผ่อนคลาย มีความคิดหรือความรู้สึกอะไรครอบอยู่หรือเปล่า สังเกตดูเฉยๆ อย่าทำอะไรมากว่านั้น ทั้งความสามารถในการ recall และความรู้ตัวนี้ จะเป็นพื้นฐานในการดับ ”ความคิด” ที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจคิด เพราะโรคของคุณมีต้นกำเนิดจากความคิด ความคิดนำไปสู่ความกลัว ความกลัวนำไปสู่อาการทางร่างกาย เมื่อดับการเกิดของความคิดเสียได้ โรคของคุณก็หาย

3. วิธีใช้ยา ยายอดนิยมก็คือยาแก้ซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI เช่นยา Fluoxetine (Prozac) หรือไม่ก็ยากล่อมประสาทเช่น Lorazepam (Ativan) หรือ Alprazolam (Xanax) เป็นต้น ยาพวกนี้หากจะใช้ผมแนะนำให้ไปหาจิตแพทย์แล้วให้จิตแพทย์สั่งใช้จะปลอดภัยที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision. Washington, DC: American Psychiatric Press; 2000.
2. American Psychiatric Association. Practice guideline for the treatment of patients with panic disorder. Work Group on Panic Disorder. American Psychiatric Association. Am J Psychiatry. May 1998;155(5 Suppl):1-34.