Latest

ระวังอย่าขาดวิตามินดี. (vitamin D)

คุณหมอสันต์ที่นับถือ

ผมอายุ 48 ปี สูง 165 ซม. นน. 58 กก. ตรวจความแน่นของกระดูกหมอบอกว่าเป็นกระดูกบาง (osteopenia) และว่ากระดูกสันหลังโค้งไปข้างหน้าทำท่าจะหัก หมอให้ผมทานแคลเซียมทุกวัน ผมอยากถามคุณหมอสันต์เพื่อความชัวร์ว่าผู้ชายเป็นกระดูกบางควรจะรักษาอย่างไร ควรทานยารักษากระดูกพรุนไหม (ภรรยาผมทานยารักษากระดูกพรุน) มีวิธีรักษาอย่างอื่นอีกหรือเปล่าครับ

………………………………….

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. ขอให้คุณเข้าใจก่อนว่าการมีกระดูกบาง (osteopenia) หมายถึงมีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่าปกติเล็กน้อย เป็นคนละเรื่องกับการมีกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งเป็นระดับที่มวลกระดูกลดลงมาก จนเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ทั้งสองภาวะนี้มีระดับความเสี่ยงกระดูกหักต่างกัน และการรักษาก็ต่างกัน

ประเด็นที่ 2. ควรทานแคลเซียมเสริมไหม ตอบว่าการใช้แคลเซียมเสริม (นอกเหนือจากแคลเซียมในอาหารปกติ) เพื่อป้องกันกระดูกหักเป็นวิธีที่นิยมทำกันทั่วไปโดยเฉพาะในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ทั้งๆที่ผลวิจัยพบว่าแคลเซียมเสริมมีผลต่อการลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานวิจัยใหม่ๆว่าแคลเซียมเสริมมีผลทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น ในคนที่เป็นกระดูกบาง (osteopenia) ซึ่งมีความเสี่ยงกระดูกหักต่ำ การใช้แคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันกระดูกหักจึงเป็นวิธีรักษาที่ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณไม่ควรทานแคลเซียมเสริม

ประเด็นที่ 3. ควรทานยารักษากระดูกพรุนไหม ตอบว่า ยารักษากระดูกพรุน (bisphosphonate) ไม่ว่าจะชนิดกินหรือฉีด ล้วนทำวิจัยในหญิงอายุเกิน 65 ปี ที่เป็นกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งพบว่าเมื่อใช้ไป 3-5 ปี มันช่วยลดอุบัติการเกิดกระดูกหักได้ อย่าลืมคำสำคัญสองคำนะ “อายุเกิน 65 ปี” และ “เป็นกระดูกพรุน” ตัวคุณทั้งอายุไม่ถึง 65 ปี และทั้งไม่ได้เป็นกระดูกพรุน จะไปได้ประโยชน์จากยานี้ได้อย่างไร พูดง่ายๆว่าคุณไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะใช้ยานี้ มีอยู่กรณีเดียวที่มาตรฐานทางการแพทย์แนะนำให้ใช้ยารักษากระดูกพรุนในคนเป็นกระดูกบาง คือกรณีที่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักมากเป็นพิเศษ ซึ่งต้องคำนวณความเสี่ยงด้วย FRAX score

ประเด็นที่ 4. การจะบอกว่าใครมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักมากเป็นพิเศษทำได้โดยคำนวณหา FRAX score ซึ่งเป็นการคำนวณโดยเอาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ 13 อย่างคือ (1) ชาติพันธ์ (2) อายุ (3) น้ำหนักเพศ (4) น้ำหนัก (5) ส่วนสูง (6) การมีกระดูกหักมาก่อน (7) การมีพ่อแม่กระดูกหักมาก่อน (8) การสูบบุหรี่ (9) การใช้ยาสะเตียรอยด์ (10) การเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ (11) การมีโรคที่ทำให้เกิดกระดูกพรุน (12) การดื่มแอลกอฮอล์ (13) ผลตรวจความแน่นกระดูกสะโพก ตัวคุณเองก็สามารถคำนวณคะแนน FRAX ของคุณเองได้โดยใส่ปัจจัยเหล่านี้เข้าไปในเว็บไซท์ต่างๆที่รับคำนวณ FRAX รวมทั้งเว็บ http://www.shef.ac.uk/FRAX/ หากใส่เข้าไปแล้วได้คะแนนโอกาสจะเกิดกระดูกสะโพกหักในสิบปีข้างหน้ามากกว่า 3% หรือโอกาสเกิดกระดูกหักทั่วตัวมากกว่า 20% ก็ถือว่ามีความเสี่ยงกระดูกหักมากเป็นพิเศษ จึงจะถือว่ามีเหตุผลที่จะเริ่มใช้ยารักษากระดูกพรุนได้

ประการที่ 5. คุณควรจะทำอย่างไรต่อไป อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว แคลเซียมเม็ดก็ไม่ให้ทาน ยารักษากระดูกพรุนก็ไม่ให้ใช้ แล้วจะให้ทำอย่างไรต่อไป ตอบว่า สิ่งที่คุณควรทำ คือ

1. คุณต้องเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง เอาให้ถึงระดับมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป คือออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic) ให้ถึงระดับหนักพอควร คือหนักจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกการเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละสองครั้ง หลักฐานวิจัยบอกว่ายิ่งการออกกำลังกายที่มีการเล่นกล้ามหรือมีแรงกระแทกกระทั้นต่อกระดูกมากเช่นการกระโดดโลดเต้นต่างๆ ยิ่งทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้มาก

2. คุณต้องหัดท่าร่าง (posture) คือทำตัวแบบอกผายไหล่ผึ่งหลังตรงแขม่วท้องตลอดเวลา วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อพยุงกระดูกสันหลังแข็งแรง เป็นการป้องกันผลเสียจากหลังโค้ง (kyphosis) ไม่ให้แย่ลงจนการเป็นหลังค่อม (compression fracture of spine)

3. คุณต้องให้ร่างกายได้รับวิตามินดี.อย่างพอเพียง อย่าลืมว่างานวิจัยในคนไทยผู้ใหญ่พบว่าส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี. วิธีให้ร่างกายได้รับวิตามินดี.ทำได้โดย

3.1 ออกแดดบ่อยๆ แดดที่ให้วิตามินดีต้องเป็นแดดจัดๆ คือช่วง 10.00 น. -15.00 น. และต้องรับตรงๆ ไม่ทาครีมกันแดด ไม่ใส่เสื้อกางเกงแขนยาวขายาว และไม่ผ่านกระจกเช่นกระจกรถยนต์หรือกระจกหน้าต่างบ้านด้วย

3.2 ทานอาหารที่ให้วิตามินดี.มาก ซึ่งได้แก่ปลาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่น้ำมันมากเช่นปลาซาลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น

3.3 ทานวิตามินดี.เสริม ชื่อวิตามินดี2 (ergocalciferol) ขนาดเม็ดละ 20,000 IU ทานเดือนละ 2 เม็ด คือทุก สองสัปดาห์ทานหนึ่งเม็ด แค่นี้ก็พอ เพราะคนเราต้องการวิตามินดีวันละ 600-800 IU เท่านั้น และวิตามินดี.นี้ร่างกายเก็บสะสมไว้ใช้ยามขาดได้ แบบว่าตากแดดหน้าร้อนเก็บวิตามินไว้ใช้ได้ถึงหน้าหนาวก็ยังได้เลย

4. คุณต้องให้ร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติอย่างเพียงพอ โดยวิธีเช่น ดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองทุกวัน

ทำทั้งสี่อย่างนี้รับรองว่าดีแน่ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์