Latest

ผลของการออกกำลังกายและปรับโภชนาการ

กราบสวัสดีอาจารย์หมอสันต์ ที่เคารพค่ะ

ขอนุญาตฝากตัวเป็นลูกศิษย์นะคะ เพราะอ่าน blog อาจารย์แล้วได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพมากกกกกก และได้รับประโยชน์จริง คือนำไปปฎิบัติทันที…ดังนี้ค่ะ แนะนำตัวนะคะ หญิงไทยอายุ 48 ปี นน. 45 kgs. 150 cm. BMI=20 ดู OK. แต่ไม่ค่อยมีคุณภาพเพราะ กล้ามเนื้อน้อยมาก และมีไขมันส่วนเกินไม่น้อย ตรวจสุขภาพต่อเนื่องที่ศูนย์มะเร็งลพบุรี มา 4 ครั้งค่ะ 2 ครั้งแรกผลดีมากค่ะ แต่เริ่มมีปัญหา Cholesterol ดังนี้ค่ะ

11/12/2552 Cholesterol 212 mg/dl, Triglyceride 68 mg/dl (HDL,LDL ยังไม่มีการตรวจค่ะ)

19/01/2554 Cholesterol 214 mg/dl, HDL 75 mg/dl, LDL 135 mg/dl, Triglyceride 66 mg/dl

ได้รับผลการตรวจประมาณปลาย กพ.2554 รู้สึกกังวลมาก จึงปรับเปลี่ยนทันที …ลดอาหารประเภททอด,เนื้อหมู,ไก่ ซึ่งปกติรับประทานน้อยอยู่แล้วคิดเองว่า อาจเป็นเพราะกาแฟ (3in1วันละ 2 ซอง) จึงเลิกดื่มกาแฟทันที (ตามดูอาการปวดศีรษะอยู่ 3 สัปดาห์) งดเบเกอรี่ ชอบทานพั๊พค่ะประมาณ 1-2 ชิ้น/สัปดาห์เอง เป็นอันยกเลิกไปพร้อมกาแฟ แค่นี้คงไม่พอ น่าจะต้องออกกำลังกายด้วย จึงได้โอกาส ปั่นจักรยานยิม (หลังจากใช้แขวนผ้ามาหลายปี) ทุกเช้าวันละ 30 นาทีค่ะ แล้วก็รับประทานอาหารเสริมด้วย แฮะ! แฮะ! ประจวบเหมาะกับลงเรียนโยคะไว้กับครูถือศิลทุกวันเสาร์ 2 ชม. 10 ครั้ง ปฏิบัติต่อเนื่องอยู่ 2 เดือน มีอุบัติเหตุเล็กน้อยมีแผลที่หลังเท้าเย็บ 3 เข็ม จึงหยุดในส่วนจักรยานยิมประมาณ 8 สัปดาห์ (อันที่จริง 1สัปดาห์ก็พอ) เมื่อ
26/06/2554 ตรวจ Cholesterol ที่ร้านแล็บใกล้บ้าน ได้ผล 176 mg% หลังตรวจมาอ่านเจอบล็อกอาจารย์เสียดายที่ไม่ได้ตรวจ HDL,LDL แต่อ่านต่อไปอีกอาจารย์บอกว่าไม่ต้องขยันตรวจให้ขยัยออกกำลังกาย เลยคิดว่าไว้รอตวจสุขภาพประจำปี …คิดถูกมั๊ยเนี่ย… หลังตามอ่านบทความอาจารย์ก็อยู่ไม่ได้แล้วรีบออกกำลังกายอย่างเอาเป็นเอาตาย คือ หลังตื่นนอน เล่นโยคะแบบจัดเต็ม 30-45 นาที ต่อด้วย จักรยานยิม 30-40 นาที ก่อนนอน ฝึกโยคะบางอาสนะ เริ่มเมื่อกลางเดือนกค.นี้ค่ะ แล้วก็พยายามชวนเพื่อนๆออกกำลังกายด้วย ได้ผลแล้ว 1ค่ะ กำลังพยายามต่อไป อ้อแล้วงดอาหารที่มีไขมันทรานส์ด้วยนะคะ แล้วก็พยายามปชส. แต่ยังไม่ค่อยได้ผลน่ะค่ะ ขอถามดีกว่า

1. แล็บแต่ละที่มาตรฐานเดียวกันหรือเปล่าคะ
2. ทำไมเวลาขี่จักรยายานแล้วแฮนดจะรู้สึกชาที่มือ
3. การออกกำลังกายจะทำให้ผล CBC OK.มากขึ้นมั๊ยคะ HCT= 36.9 RBC=4.07
4. ถ้าปั่นจักรยานโดยตั้งไว้ฝืดๆ เป็น fitness ด้วยหรือเปล่าคะ
5. จะ motivate คุณพ่อคุณแม่ให้ออกกำลังกาย เริ่มด้วยท่าไม้พลองป้าบุญมีจะ OK.มั๊ย อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ เคยพยายามหลายครั้ง ไม่คอยสำเร็จท่านทั้งสองชอบหาหมอและชอบทานยามากกกกกกกกก ตอนนี้มียาคนละกระเป๋า คุณพ่อ มียาความดัน ต่อมลูกหมาก แก้ปวดเกี่ยวกล้ามเนือและกระดูกเคยผ่ตัดใส่เหล็กที่หลังแก้ไขกระดูกทับเส้น และน่าจะมียานอนหลับด้วย เพราค่อนข้างอ้อนหมอ แล้วก็ยาหยอดตา ต้อหิน เคยผ่าตัดต้อกระจก…..คุณแม่มียาความดัน Vit B1-6-12 แล้วก็น่าจะมียาขยายหลอดเลือดเพราะเคยมีหลอดเลือดสมองตีบ และยาแก้ปวด (หัวเข่า)
6. ทานแคลเซี่ยมเม็ดอยู่น่ะค่ะ เป็น calcium with magnesium,vit.C, zinc ,mangese,copper, vit.E,vit.D ไม่OK. ใช่ป่ะ?
7. อาจารย์หมอมีคอรส หรือบรรยาย ที่เปิดรับบุคคลทั่วไปหรือเปล่าคะ

อาจารย์กรุณาแนะนำด้วยนะคะ ยินดีน้อมรับนำไปปฏิบัติ และจะแนะนำต่อด้วยค่ะ…จะได้สุขภาพดีถ้วนหน้า

กราบขอบคุณในความเมตตาของอาจารย์ค่ะ

……………………………………

ตอบครับ

มีลูกศิษย์เอาถ่านแบบคุณบ้างก็ดีนะครับ

1. แล็บแต่ละที่มาตรฐานไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้ต่างกันมากจนถึงขนาดให้ผลผิดแบบหน้ามือเป็นหลังมือครับ ในกรณีของคุณผลแล็บสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ต้องไปสงสัยความถูกต้องของผลแล็บหรอกครับ จะมากเรื่องเปล่าๆ

2. การเกิดความรู้สึกชาที่มือเวลาขี่จักรยานเป็นเรื่องธรรมดา พวกนักขี่จักรยานเขารู้กันทุกคน คุณสังเกตไหมว่าเครื่องแบบของพวกขี่จักรยานนอกจากหมวกจานบิน เสื้อคับ กางเกงยัดกระจับฟองน้ำแล้ว ต้องมีถุงมือที่หนาๆตรงฝ่ามือด้วย

3. การออกกำลังกายจะทำให้ภาวะโลหิตจาง (HCT= 36.9) ดีขึ้นไหม ตอบว่าดีขึ้นแน่นอนครับถ้าโภชนาการถูกต้องด้วย เว้นเสียแต่ว่าคุณมีองค์ประกอบอย่างอื่นที่ทำให้เป็นโลหิตจางอ่อนๆอยู่เป็นธรรมชาติประจำตัว เช่นมียีนแฝงทาลาสซีเมีย กรณีเช่นนั้นการออกกำลังกายอาจไม่ทำให้ภาวะโลหิตจางอ่อนๆหายไปก็ได้

4. การปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง หรือ aerobic หรือที่ในฟิตเนสเขาเรียกว่าแบบ cardio ถ้าตั้งจักรยานให้ฝืดๆก็จะทำช่วยฝึกความแข็งแร็งของกล้ามเนื้อขา เป็นการออกกำลังกายแบบ strength training ของกล้ามเนื้อขาไปด้วย แต่ไม่ควรให้ฝืดมากเพราะหากตั้งฝืดมากจะทำให้ปั่นทุกวันไม่ได้ เพราะถ้าฝืดมากจนกล้ามเนื้อขาล้า ก็จะต้องมีวันพักให้เขา นี่เป็นหลักพื้นฐานของ strength training คือต้องมีการพักและฟื้น (rest and recovery) จะฝึกกล้ามเนื้อจนล้าทุกวันไม่ให้ได้พักซ่อมแซมเลยนั้นไม่ดี

5. การชักจูงให้คุณพ่อคุณแม่ออกกำลังกายด้วยท่าไม้พลองป้าบุญมี ถ้าทำได้ก็ดีแน่ครับ ยังมีวิธีออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุแบบอื่นๆที่ดีๆอีกเช่น การรำมวยจีน การเดินเร็ว (brisk walk) ก็ดีเช่นกัน ผู้สูงอายุนิยมหาหมอกินยาแต่ไม่นิยมออกกำลังกาย อันนี้เป็นเพราะท่านได้รับข้อมูลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาว่าให้ทำอย่างนั้น เป็นอะไรให้ไปหาหมอ หมอดูแลให้ หาย เพี้ยง แต่สมัยนี้เราต้องพยายามบอกความจริงใหม่ ว่าสุขภาพจะดีอยู่ที่ไลฟ์สไตล์หรือวิธีใช้ชีวิตของตัวเอง หมอช่วยอะไรได้น้อยมาก และยาไม่ใช่ทางออกของปัญหาสุขภาพระยะยาวที่ดี ก็ต้องค่อยๆให้ข้อมูลความจริงท่านไป คุณทำได้ก็จะได้เป็นลูกตัญญู

6. การที่คนสมัยใหม่อย่างคุณชอบทานสารพัดวิตามิน นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนสมัยใหม่ชอบดูแลตัวเอง การเลือกใช้วิตามินเกลือแร่ซึ่งเป็นอาหารอยู่ในเขตอำนาจที่ตนเองจะตัดสินใจได้โดยไม่มีหมอมาก้าวก่าย คนสมัยใหม่ก็เลยชอบ ถามว่าโอเค.ไหม ผมก็ไม่ต่อต้านนะครับ แต่ถามผมว่ามันจำเป็นไหม หลักการแพทย์แผนปัจจุบันที่สรุปจากข้อมูลที่มีอยู่ถึงทุกวันนี้ตอบได้เลยว่ามันไม่จำเป็น

7. เรื่องคอร์สสุขภาพครั้งละสองสามวันตามรีสอร์ท หรือบรรยายตามห้องประชุม ผมก็มีอยู่เกือบทุกเดือนนะครับ แต่ส่วนใหญ่เขาจะจัดให้กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นกลุ่มพนักงานแบงค์ชาติที่กำลังจะเกษียณ เป็นต้น ผมยังไม่มีเวลาจัดให้กับคนทั่วไป ถ้าทำจะแจ้งข่าวให้ทราบทางบล็อกนะครับ แต่สามเดือนข้างหน้านี้คงไม่มี เพราะหลวมตัวไปยุ่งกับทีวีจึงแทบหาเวลาว่างไม่ได้เลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์