Latest

Chronic fatique syndrome, Fibromyalgia, Office syndrome, น้ำตาลในเลือดต่ำ

คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันมีอาการไม่สบายหลายอย่าง อาการหลักๆคืออ่อนเพลียไม่มีแรงมากๆๆๆ เวียนหัว ปวดหัว ใจสั่น มือสั่น ปวดกล้ามเนื้อหลัง คอ ไหล่ (ทำงานคอมพิวเตอร์ด้วย) บางครั้งมือชา บางครั้งยืนแล้วโคลงเคลง ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสียบ่อยด้วย ดิฉันเป็นคนอ้วน น้ำหนัก 67 กก. อาการทางสมองคือคิดอะไรไม่ออกเหมือนแต่ก่อน ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลขจะบวกเลขไม่ได้เลย ความจำเสื่อม เวลาฟังหมายเลขโทรศัพท์ ฟังถึงตัวหลังก็ลืมตัวหน้า หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ บางครั้งตัวรุมๆเหมือนเป็นไข้แต่วัดไข้ก็ไม่มี เป็นมาเกือบปีแล้ว ไปหามาแล้วหลายหมอ ตรวจสารพัดแต่ก็หาสาเหตุไม่พบ ตรวจทั้ง HIV ตับอักเสบบี. ตับอักเสบซี. ตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ตรวจเลือดโลหิตจาง ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ น้ำตาลในเลือด การทำงานของตับ ของไต ทำเอ็คโคดูหัวใจล้มเหลว ตรวจหมด แต่ไม่พบอะไรผิดปกติสักอย่าง แต่ดิฉันหงุดหงิดมากเวลาหมอหลายคนพร่ำบอกว่าดิฉันเป็นโรคซึมเศร้า ดิฉันรู้จักร่างกายและจิตใจดิฉันดี ดิฉันกำลังสูญเสียพลังจนไม่มีแรงแม้แต่จะลุกขึ้นนั่ง มันไม่ใช่โรคซึมเศร้า มองอีกมุมหนึ่งใครก็ตามที่อ่อนเพลียเปลี้ยล้าจนไม่มีแรงจะมีความสุขกับชีวิตมันก็คงจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปด้วยแหละ แต่โรคซึมเศร้ามันไม่ใช่ต้นเหตุ บางหมอบอกว่าดิฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม บางหมอว่าเป็นไฟโบรไมอาลเจีย บางหมอว่าเป็นโครนิกฟาทิกซินโดรม หมอคนสุดท้ายที่ไปหาเป็นหมอทางเดินอาหาร บอกว่าดิฉันเป็นโรค irritable bowel syndrome ดิฉันไปรักษากับชีวจิตมาด้วย เขาวินิจฉัยว่าดิฉันเป็นโรคน้ำตาลในเลือดต่ำ ทุกหมอต่างก็ให้ยาและให้คำแนะนำ แต่มันไม่เวอร์ค ที่ดิฉันเขียนมาหาคุณหมอนี้ไม่ได้คาดหวังว่าคุณหมอจะวินิจฉัยและรักษาดิฉันให้หายได้ แต่ขอระบาย เผื่อคุณหมอจะพูดอะไรให้ดิฉันลดความหงุดหงิดลงได้บ้าง เพราะดิฉันอ่านวิธีตอบคำถามในบล็อกของคุณหมอแล้ว คนฟังคำตอบน่าจะสบายใจกลับไปทุกคน

………………………………………………………..

ตอบครับ

1. ผมขอเอ้อเอิงเอยอารัมภบทของผมก่อนนะ ผมเพิ่งกลับจากไปสอนเฮลท์ แค้มป์ (Health Camp) ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เมืองกาญจน์มา คำว่าเฮลท์แค้มป์นี้หมายความว่าบริษัทรับจ้างจัดเขาเปิดรับเอาคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็มาจากบริษัทเดียวกันว่ากันมาแบบจ้างเหมา บางครั้งก็ต่างคนต่างเสียเงินลงทะเบียนมาเอง แล้วเอามาอยู่รวมกันอยู่ในรีสอร์ทสองสามคืน เพื่อร่วมกันเรียนรู้เรื่องสุขภาพและฝึกหัดพฤติกรรมสุขภาพต่างๆเช่นวิธีออกกำลังกายแบบต่างๆ วิธีดูแลตัวเองด้านโภชนาการ เป็นต้น แค้มป์ที่ผมไปสอนมางวดนี้เป็นแค้มป์พิเศษที่บริษัทลูกค้าส่งเฉพาะพนักงานที่มีสถิติป่วยหาหมอบ่อยมาเข้าแค้มป์ การไปสอนครั้งนี้ทำให้ได้พบเห็นคนป่วยแบบคุณนี้ด้วย อย่างน้อยก็สองสามคน แม้ว่าอาการของเขาอาจจะไม่มากเท่าของคุณก็ตาม

2. คำว่า ซินโดรม (syndrome) แปลว่ากลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบเหตุ หมายความว่ากลุ่มอาการที่มีคนเป็นกันมาก เป็นคล้ายๆกันแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน แต่ความรู้วิชาแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร เมื่อไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรก็ไม่รู้วิธีรักษาว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้นเวลาหมอวินิจฉัยด้วยชื่อโรคที่ลงท้ายว่า “ซินโดรม” แล้วละก็ ขอให้แปลคำพูดของหมอว่า

“..ท่านป่วยเป็นโรคที่ผมในฐานะแพทย์ก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะวิชาแพทย์ยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ และวิชาแพทย์ก็ไม่รู้ว่าด้วยว่าต้องทำอย่างไรท่านจึงจะหาย ผมจึงทำได้แต่ให้ยาบรรเทาอาการแก่ท่านไปเท่านั้น…สาธุ”

3. การที่คุณถูกวินิจฉัยว่าเป็น Chronic fatique syndrome (CFS) บ้าง เป็น Irritable bowel syndrome (IBS) บ้าง เป็น Fibromyalgia (FM) บ้าง หรือแม้กระทั่งศัพท์ที่คนที่ไม่อยู่นอกวงการแพทย์แผนปัจจุบันนิยมเรียกกันว่าโรคน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) นั้น มันล้วนเป็นกลุ่มอาการที่คาบๆเกี่ยวๆกันอยู่ ปริ่มๆจะเป็นเรื่องเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะจับเอาอาการส่วนไหนขึ้นมาเป็นอาการนำ อย่างเช่นถ้าหมอให้ความสำคัญกับอาการระบบประสาทเช่นเปลี้ยล้า ปวดหัว เวียนหัว นอนไม่หลับ คิดเลขไม่ถูก ก็วินิจฉัยว่าเป็น CFS ซึ่งสาระบบโรค ICD จัดไว้ในหมวด G ซึ่งเป็นหมวดโรคทางสมอง แต่ถ้าหมอให้ความสำคัญกับอาการปวด เมื่อย ตึงกล้ามเนื้อเรื้อรังหมอก็วินิจฉัยว่าเป็น FM ซึ่งสาระบบโรค ICD จัดไว้ในกลุ่ม M ซึ่งเป็นกลุ่มโรคทางระบบกล้ามเนื้อและเอ็น เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไรซินโครม มันก็ยังเป็นกลุ่มอาการที่ไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบวิธีรักษา..อยู่ดี ดังนั้นอย่าไปใส่อารมณ์กับคำวินิจฉัยของหมอเลย

4. ที่คุณเป็นหงุดหงิดเมื่อหมอวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้านั้นผมเข้าใจ เพราะผมก็เคยวินิจฉัยตัวเองว่าเป็นโรคนี้มาก่อน ผมต้องแอบเรียกหมอรุ่นน้องที่เชี่ยวชาญโรคนี้มารักษาผมที่ห้องทำงานของผมสองต่อสองเพราะพอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้แล้วผมอายคน เนื่องจากชื่อโรคมันรู้สึกเป็นเสนียดพิกล คนอื่นเขารู้เข้าจะเสียฟอร์มชะมัด แต่ในความเป็นจริงโรคซึมเศร้า หรือ depression นั้น มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นกับจิตใจคนเราได้ง่ายๆเหมือนกับโรคหวัดเกิดขึ้นกับร่างกาย และโปรดสังเกตว่าเขาเรียกมันเป็นโรคนะ เพราะเขารู้แล้วว่าสาเหตุมันสัมพันธ์กับการขาดสารเคมีชื่อซีโรโทนินในสมอง และเมื่อให้ยาที่มีผลเพิ่มสารเคมีตัวนี้ โรคก็หายได้ ดังนั้นใครที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าไม่ต้องกระต๊าก ไม่ต้องตื่นเต้ล..ล ไม่ต้องกลัวเสียฟอร์ม คิดเสียว่าเป็นหวัดทางอารมณ์ก็ได้ ให้ความรู้สึกดีกว่าแยะ

5. ชกลมนานแล้ว เข้าเรื่องเสียทีเหอะ ว่าแล้วคุณควรจะทำอย่างไรต่อไปดี ดังได้กล่าวมาแล้วว่าโรค CFS นี้วิชาแพทย์ไม่รู้สาเหตุ ไม่รู้วิธีรักษา ดังนั้นแพทย์แต่ละคนก็ใช้หลักตัวใครตัวมันละครับ คือใครเลื่อมใสศรัทธาอะไรก็เอาอะนั้นไปบอกคนไข้ ผิดถูกไม่ว่ากันตราบใดที่มันตั้งอยู่บนความปรารถนาดี เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แพทย์บางคนออกนอกตำราหนีไปเข้ากับพวกการรักษาแบบทางเลือก น้ำข้าว สมุนไพร ยาแห้ง อายุรเวช ไสยเวช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปโน่นเลย ก็ไม่ว่ากัน สำหรับผมขอแนะนำบนกรอบที่มีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนว่า

5.1 ปลุกขวัญกำลังใจตัวเองขึ้นมาก่อน คิดบวก เชื่อก่อนว่าตัวเองต้องหาย ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองเชื่ออย่างสนิทใจว่าตัวเองจะต้องดีขึ้น จะต้องหาย จะต้องกลับไปทำงานชึบชับฟุบฟับได้ การสร้างความคิดบวกหรือความเชื่อว่าตัวเองจะมีสุขภาพดีได้สำเร็จนี้สำคัญ ให้ใช้ลูกไม้ทุกอย่างที่ใช้ได้ ถ้าเชื่อหมอดู ไปหาหมอดู เมื่อหมอดูบอกว่า

“โอ้.. คุณดวงตกนี่ พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ราหูอมอีกต่างหาก คุณจะแย่อยู่พักใหญ่นา เอ… แต่ว่าพอพ้นเดือนนั้นเดือนนี้ไปแล้วอะไรๆมันจะดีขึ้นนะ..”

ให้คุณเชื่อเขาให้สนิทใจ รับประกันว่าไม่มีหมอดูคนไหนทายว่าคุณจะแย่ไปกว่านี้ดอก (แหะ..แหะ เพราะผมก็เป็นหมอเหมือนกัน เข้าใจกันดี) ถ้าไม่เชื่อหมอดู ใช้วิธีสั่งตัวเองเอาดื้อๆก็ได้ มองหน้าตัวเองในกระจกแล้วก็บอกว่าเอ็งจะหายแน่ เอ็งจะหายแน่ ทำนองนั้น

5.2 คุณต้องออกกำลังกาย ตอนนี้โรคของคุณไม่มียาธรรมดารักษา ต้องใช้ยาวิเศษ และที่เขาบอกว่ากีฬาเป็นยาวิเศษนั้นเป็นความจริง เปลี้ยแค่ไหนคุณต้องลากสังขารไปออกกำลังกาย ถึงขั้นต้องคลานไปก็ต้องทำ การออกกำลังกายคุณต้องออกให้ถึงระดับมาตรฐานสากล คือออกกำลังกายแบบแอโรบิกเช่นเดินเร็วๆให้ถึงระดับหนักพอควร คือเหนื่อยหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้วันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน ควบกับเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 วัน ใหม่ๆยิ่งเล่นยิ่งเปลี้ย แต่อย่าหยุด ตื้อเล่นไป เดี๋ยวแรงมันมาเอง

5.3 จัดเวลานอนหลับให้พอ อย่าอดนอน

5.4 จัดการความเครียดด้วยวิธีเปลี่ยนการสนองตอบต่อสิ่งเร้ารอบตัวให้เป็นการสนองตอบแบบสร้างสรรค์มากขึ้น คือสนองตอบแบบไม่ให้เราหงุดหงิด การสนองตอบที่มีพิษต่อเรามากที่สุดก็คือการสนองตอบด้วยการ ”คิด” เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามาปุ๊บ ความคิดป๊อบขึ้นมาปั๊บแบบอัตโนมัติโดยเราไม่รู้ตัว แบบนั้นอันตราย ความหงุดหงิดจะมา แล้วหมอก็จะหาว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า ต้องตามความคิดตัวเองให้ทัน เข้าไปตัดหน้าความคิดที่มักจะป๊อบขึ้นมาในหัวแบบอัตโนมัติให้ได้ เช่นถูกคนขับรถปาดหน้าแทนที่จะคิดด่าว่า “ไอ้..เอ๊ย” ก็เปลี่ยนคิดใหม่ว่า “เออ เอ็งรีบ เอ็งไปก่อนเถอะ ญาติผู้ใหญ่เอ็งคงไม่สบาย ข้าเข้าใจ” เป็นต้น

5.5 หัดทำกิจกรรมที่ร่างกายมีโอกาสได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่นรำมวยจีน (จี้กง) ฝึกโยคะ นั่งสมาธิวิปัสสนา เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้มีผลคลายกล้ามเนื้อได้อย่างอัศจรรย์ ธรรมชาติของคนเรา ร่างกายกับจิตใจนี้ผูกกันอยู่ ถ้าข้างหนึ่งเครียดหรือผ่อนคลาย ก็จะพาอีกข้างเป็นแบบเดียวกันไปด้วย ดังนั้น ถ้ากล้ามเนื้อผ่อนคลาย จิตใจก็จะผ่อนคลายตาม

5.6 อาหารการกินก็สำคัญ ควรทานอาหารให้ได้ดุล เพื่อให้ร่างกายอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข อาหารคนสมัยใหม่ในประเทศเจริญแล้วรวมทั้งประเทศไทยเป็นอาหารที่ไม่ได้ดุล กล่าวคือมีแคลอรี่สูง แต่มีไวตามินและเกลือแร่ต่ำ พูดอีกอย่างคือมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันมาก แต่มีผักและผลไม้น้อย คุณปรับให้เป็นแบบตรงกันข้าม ทานผักและผลไม้ให้ได้ 5 เสริฟวิ่งต่อวัน (หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับผลไม้ใหญ่เช่นแอปเปิลหนึ่งลูก หรือผักสดหนึ่งจาน) ลดปริมาณข้าวลง เลิกทานข้าวมื้อเย็นได้ยิ่งดี ลดน้ำหนักลง ชั่งน้ำหนักบ่อยๆ ใช้น้ำหนักเป็นตัววัดความสำเร็จในการดูแลตัวเอง

5.7 ตนแล เป็นที่พึ่งของตน ท่องคาถานี้ไว้ โรคของคุณนี้อย่าหวังพึ่งคนอื่น แม้กระทั่งหมอสันต์ อย่างดีเขาก็ทำได้แต่ให้กำลังใจเล็กๆน้อยๆ แต่เขาทำให้คุณหายจากอาการเหล่านี้ไม่ได้ แต่ตัวคุณทำได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์