Latest

ช่วยอ่านผล Sleep Lab ดิฉันเป็นโรคนอนกรน

คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันมีปัญหา คนรอบข้างบอกว่าดิฉันนอนแล้วเสียงดัง สามีต้องขอตัวแยกไปนอนอีกห้องนอน เวลาไปค้างที่ไหนกับลูก ลูกๆจะขอหลบไปนอนในห้องน้ำ วันหนึ่งไปค้างข้างนอกกับเพื่อน เธอบอกว่าดิฉันทำเสียงดังแล้วทำไม้ทำมืออะไรก็ไม่รู้มากมาย แล้วเวลากลางวันดิฉันง่วงหลับง่ายมาก นั่งคุยๆกันอยู่ถ้าไม่ถึงตาดิฉันพูด ดิฉันจะหลับไปทันที ดิฉันไปตรวจ sleep lab ได้ผลดังข้างล่างนี้ หมอแนะนำว่าดิฉันควรใส่เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) ซึ่งดิฉันไม่ชอบและไม่อยากใช้เลย (เขาเอาลองให้ใช้แล้ว ใช้ได้ไม่ถึงนาทีก็ต้องถอดออก) รบกวนคุณหมอช่วยแปลผลและแนะนำด้วยค่ะว่าดิฉันควรทำอย่างไรต่อไปดี วิธีแก้ปัญหามีกี่วิธี คุณหมอบอกมาให้หมดนะคะ

Sex female
Age 54 yrs
Height 157
Weight 78
BMI 31.6

Sleep architecture: TIB = 7:27:28, SPT = 7:18:44, TST =6:32:11, Sleep efficiency 88.4%, REM period = 1, REM latency = 4:42:20

Sleep staging: stage I = 25.8%, II = 62.6%, III = 1%, IV = 0%, REM = 11.2%

Body position: supine 100%, right lateral 0%, left lateral 0%, prone 0%

Respiratory parameters: Apneas = 61, Hypopneas = 16, AHI = 11.4 (apnea index = 9%),
RDI = 9.7 during NREM, =23.9 during REM, =12.8 in supine position.

Oxymetry: Mean SpO2 = 97.1%, min SpO2 = 80.9%, 97.8% of SpO2 is in 90-100% range.

Arousal & limb movement summary: None of arousals were of a spontaneous nature, or associated with respiratory events, or associated withlimb movements.

Interpretation: Mild OSA. The severity of the disease may be under estimated because of short REM sleep. Please correlate with clinical information.

Dr…………. MD,
Certified International Sleep Specialist

……………………………………

ตอบครับ

ที่คุณไปตรวจมานี้ทางแพทย์เขาเรียกว่า polysomnography ผมจะอธิบายผลไปทีละคำทีละบรรทัดนะครับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้ความรู้ไปด้วย ดังนั้นคำตอบมันจะยาวหน่อย คุณอย่าแอบหลับเสียก่อนละ

1. Height 157, Weight 78, BMI 31.6 ข้อมูลชุดนี้บอกว่าคุณเป็นคนเจ้าเนื้อ BMI ย่อมาจาก body mass index แปลว่าดัชนีมวลกาย ของคุณนี่ขึ้นไปเกิน 30 แปลว่าไม่ใช่น้ำหนักเกินธรรมดา กล่าวอย่างไม่เกรงใจก็คือคุณเป็น “โรคอ้วน” เข้าใจว่าคุณคงทราบแล้วว่าความอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนอนกรนหรือโรค obstructive sleep apnea (OSA) ซึ่งมีอาการดังที่คุณได้บรรยายมานั่นแหละ

2. TIB = 7:27:28 คำว่า TIB ย่อมาจาก total time in bed แปลว่าเวลาตั้งแต่ขึ้นเตียงตอนหัวค่ำจนลงจากเตียงตอนเช้า ของคุณประมาณเจ็ดชั่วโมงครึ่งก็ถือว่าโอเค. คือคนเราควรมีเวลานอนวันละ 7-8 ชั่วโมง

3. SPT = 7:18:44 คำว่า SPT ย่อมาจาก sleep period time แปลว่ารวมเวลาตั้งแต่เริ่มหลับครั้งแรกไปจนตื่นครั้งสุดท้ายตอนใกล้รุ่ง คุณขึ้นไปนอนบนเตียงเจ็ดชั่วโมงครึ่ง หลับได้เกือบเจ็ดชั่วโมงยี่สิบนาที เรียกว่าขึ้นเตียงปุ๊บ แทบจะหลับปั๊บเลย น่านับถือ

4. TST =6:32:11 คำว่า TST ย่อมาจาก total sleep time แปลว่ารวมเฉพาะเวลาที่หลับจริงๆไม่นับเวลาตื่นกลางดึก

5. Sleep efficiency หมายถึงประสิทธิภาพของการนอนหลับ คือเอาเวลาหลับจริงตั้ง เอาเวลาตั้งแต่เริ่มหลับครั้งแรกจนตื่นครั้งสุดท้ายหาร ของคุณได้ 88.4% ก็ถือว่าหลับได้ค่อนข้างดี ไม่ได้ตื่นนอนตาค้างมองเพดานมากนัก

6. REM period หมายถึงช่วงที่หลับแล้วมีการฝัน คำว่า REM ย่อมาจาก rapid eye movement หรือลูกตากลอกไปมาลุกลิกลุกลิก ซึ่งเมื่อใดที่กลอกตาขณะหลับก็หมายความว่ากำลังฝันอยู่เมื่อนั้น ถ้าฝันว่ากำลังดูเขาแข่งเทนนิสกันตาก็จะกลอกไปข้างซ้ายทีขวาทีกลับไปกลับมา พออีกฝ่ายตีลูกออก ตาก็จะมองค้างตามลูกเท็นนิสที่เด้งออกสนามไป ดังนั้นถ้าเห็นสามีนอนกลอกตาแล้วยิ้มหวานละก็…ระวัง (พูดเล่นนะครับ) คำว่า REM latency หมายความว่าเริ่มหลับไปแล้วนานเท่าไรจึงจะเริ่มฝัน ของคุณนานตั้งเกือบห้าชั่วโมง ก็หมายความว่าเป็นคนฝันยาก พูดง่ายๆว่าเป็นคนหลับไม่ลึก เพราะการฝันจะเกิดเมื่อเราหลับลึกจึงจะฝันได้

7. Sleep staging: เป็นการรายงานว่าคุณใช้เวลาในการนอนหลับแต่ละระยะนานเท่าใด คือการนอนหลับของคนเราเขาแบ่งออกเป็นระยะๆ ในรายงานที่คุณไปทำมานี้เขาใช้เกณฑ์แบบเก่าคือแบ่งเป็นห้าระยะ แต่เกณฑ์แบบใหม่ของวิทยาลัยการนอนหลับอเมริกัน (AASM) แบ่งออกเป็นสี่ระยะ แต่มันก็ไม่ได้ต่างกันมากดอก เอาเป็นว่าระยะสำคัญที่สุดคือระยะสุดท้ายคือระยะหลับฝันหรือ REM ซึ่งคุณใช้เวลาอยู่ในระยะนั้นเพียง 11.4% จัดว่าน้อยไป เพราะคุณไปหลับอยู่ในระยะตื้นคือ stage II เสียตั้ง 61.7% ขณะที่คนทั่วไปที่หลับกันปกติควรอยู่ในระยะหลับฝันประมาณ 20-25% ของเวลานอนหลับทั้งหมด

8. Body position: เป็นการรายงานว่าคุณหลับในท่าไหนมากที่สุด supine แปลว่านอนหงาย ของคุณนี่เล่นนอนหงายม้วนเดียวจบไม่เปลี่ยนไปท่าอื่นเลย ซึ่งไม่ดี เพราะการนอนหงายทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดกั้นและกรนง่าย การนอนที่ดีต้องนอนตะแคงเป็นส่วนใหญ่ ท่าที่ดีที่สุดคือท่านอนตะแคงเอาข้างขวาลง ซึ่งเป็นท่าที่เบาแรงหัวใจในการส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากที่สุด

9. Apnea แปลว่าหยุดหายใจไปเลย ซึ่งนิยามว่าคือเมื่อลมหายใจเข้าออกลดลง 70% นานเกิน 10 วินาที ซึ่งคุณเกิด
เรื่องแบบนี้ขึ้น 62 ครั้ง หรือ 9.3 ครั้งต่อชั่วโมง

10. Hypopnea แปลว่าเกือบหยุดหายใจ ซึ่งนิยามว่าคือเมื่อลมหายใจเข้าออกลดลงเกิน 30% นานเกิน 10 วินาทีร่วมกับออกซิเจนในเลือดลดลงเกิน 3%ซึ่งคุณเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น 15 ครั้งหรือ 2.2 ครั้งต่อชั่วโมง

11. AHI ย่อมาจาก apnea and hypopnea index แปลว่าจำนวนครั้งของการหยุดหายใจและเกือบหยุดหายใจในหนึ่งชั่วโมง ซึ่งของคุณเกิดขึ้น 11.5 ครั้ง

12. RDI ย่อมาจาก respiratory disturbance index ก่อนจะเข้าใจคำว่า RDI นี้ต้องเข้าใจอีกคำหนึ่งซึ่งไม่มีในรายงานของคุณก่อน คือคำว่า RERA ซึ่งย่อมาจาก respiratory effort related arousal แปลว่าอาการผวาตื่น (แต่อาจจะยังไม่รู้ตัว)เพราะการหายใจไม่พอ เช่นเกิดพร้อมกันหายใจเฮือกหรือพะงาบแบบคนจมน้ำ นิยามของ RDI ก็คือจำนวนครั้งของการหยุดหายใจหรือเกือบหยุดหายใจที่เกิดขึ้นพร้อมกับการผวาตื่นเพราะการหายใจไม่พอในหนึ่งชั่วโมง ของคุณผวาตื่นขึ้นมาเฉลี่ยชั่วโมงละ 11.7 ครั้ง ค่า RDI นี้ใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยโรคนอนกรน กล่าวคือในทางการแพทย์ถือว่าถ้าค่า RDI เกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมงก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคนอนกรน (OSA) อย่างของคุณนี้พูดง่ายๆว่ายังวินิจฉัยไม่ได้ว่าเป็นโรคนอนกรน เพราะ RDI ยังไม่ถึง 15 ครั้งต่อชั่วโมง

13. Oxymetry แปลว่าการวัดค่าออกซิเจนในเลือด: Mean SpO2 หมายถึงค่าเฉลี่ยของออกซิเจนในเลือดตลอดการนอนหลับ ของคุณได้ 97.8% ถือว่าปกติดี ตัวชี้วัดสำคัญอีกตัวคือ %SpO2ที่อยู่ในพิสัย 90-100% ซึ่งเป็นช่วงปกติ ของคุณมีเปอร์เซ็นต์ถึง 99% นั่นหมายความว่าการนอนหลับของคุณมีปัญหากับออกซิเจนในเลือดน้อยมาก

14. Arousal & limb movement: เป็นการรายงานว่าการสะดุ้งผวาตื่นของคุณเป็นกรณีมีสาเหตุอื่นนอกจากการนอนกรนหรือเปล่า เช่นเป็นการตื่นจริง หรือผวาเพราะความขัดข้องของระบบหายใจ (เช่นเสมหะอุดกั้น) หรือผวาพร้อมกับการเคลื่อนไหวแขนขา ซึ่งของคุณไม่ได้เป็นแบบนี้สักอย่าง ดังนั้นการผวาตื่นของคุณเป็นเพราะปัญหานอนกรนล้วนๆ

15. Interpretation: ก็คือคำวินิจฉัยสุดท้ายของผู้ทำการตรวจ ซึ่งสรุปว่าคุณเป็นโรคนอนกรนระดับเบาะๆ (Mild OSA) หรือแปลไทยให้เป็นไทยก็คือตามผลการตรวจนี้ ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าคุณเป็นโรคนอนกรนจริงตามนิยามของโรค แต่ก็ทิ้งท้ายไว้ว่าการที่ช่วงหลับฝันของคุณสั้นกว่าปกติแสดงว่าคุณน่าจะมีปัญหากับการนอนหลับมากกว่าที่ผลแล็บนี้ตรวจพบ ดังนั้นขอให้หมอที่ดูแลคุณอาศัยข้อมูลจากอาการของคุณประกอบการวินิจฉัยด้วย ในส่วนนั้นผิดถูกอย่างไรผมซึ่งเป็นคนอ่านผลแล็บนี้ไม่เกี่ยว (พูดเล่นนะครับ)

เอาละ ทราบผลการตรวจแล้ว สรุปได้ประมาณว่าเป็นโรคนอนกรนระดับเบาะๆ แม้จะยังไม่เต็มยศ คราวนี้ก็มามาคุยกันว่าคุณควรจะทำอย่างไรต่อไป ผมแนะนำว่า

1. ลดความอ้วนก่อน ลดแบบเอาเป็นเอาตาย เป้าหมายคือลดดัชนีมวลกายลงให้ต่ำกว่า 25 นั้นคือลดน้ำหนักลงให้เหลือ 61 กก. (จากเดิม 78 กก. โอ๊ะ..โอ่..)

2. เลิกนอนหงาย หัดนอนตะแคงกอดหมอนข้าง (ก็สามีเขาหนีไปนอนอีกห้องแล้วนี่ ไม่กอดหมอนข้างแล้วจะกอดใครละครับ)

3. ถ้าสูบบุหรี่อยู่ เลิก ถ้าดื่มแอลกอฮอล์.. ถ้าใช้ยากล่อมประสาทยานอนหลับ..เลิกให้หมด

4. ออกกำลังกายให้หนัก ออกแบบเอาเป็นเอาตาย ให้ถึงระดับมาตรฐานทุกวัน คือออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนถึงระดับหนักพอควร คือหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ ให้ต่อเนื่องกันไปนาน 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกกับเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรง ไม่หย่อนยานยวบยาบ ทำให้มีการหลัง endorphin ทำให้หลับดี หลับลึก และหลับถึงระยะหลับฝันได้มากขึ้น

5. ทำทั้งสี่อย่างนี้ให้ได้ รับรองหาย ถ้าไม่หายเขียนมาด่าผมได้เลย แต่ก่อนจะด่าผมต้องชั่งน้ำหนักก่อนนะ ถ้ายังลงไม่ถึง 61 กก. ยังไม่มีสิทธิ์ว่าผมนะ แหะ..แหะ พูดเล่น ถ้ายังไม่หายก็ต้องขยับไปใช้มาตรการต่อไป คือ

6. การใช้อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์ที่ดีที่สุดและแนะนำเป็นตัวแรกคือเครื่องเพื่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (nasal CPAP) ถ้าไม่ได้ผล หรือไม่ชอบ ก็ต้องหันไปใช้อุปกรณ์ตัวที่สองคือ เครื่องครอบช่วยหายใจสองจังหวะ (BiPAP) ซึ่งผู้ป่วยปรับความดันในช่วงให้ใจเข้าและออกให้พอดีได้เอง แต่ว่ามีราคาแพงกว่าและผลการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างจาก CPAP ถ้าผู้ป่วยยังทนไม่ได้อีก คราวนี้ก็เหลืออุปกรณ์สุดท้ายคืออุปกรณ์เปิดทางเดินลมหายใจ (OA) ที่นิยมใช้มีสามแบบคือ ตัวกันลิ้นตก (tongue retaining device, TRD) ตัวค้ำขากรรไกร และตัวค้ำเพดานปาก ข้อมูลความสำเร็จของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระยะยาวยังมีจำกัดมาก งานวิจัยพบว่าการใช้ CPAP ชนิดปรับความดันด้วยตัวเองที่บ้าน โดยมีพยาบาลคอยช่วยดูแล ให้ผลดีไม่แตกต่างจากการปรับค่าการใช้ CPAP โดยการทำ sleep study ที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าใช้อุปกรณ์แล้วยังไม่หายอีก คราวนี้ก็เหลือทางเดียวแล้วครับ คือ

7. การผ่าตัด วิธีผ่าตัดที่ใช้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการอุดกั้นทางเดินลมหายใจอยู่ที่ระดับหลังเพดานปาก หรือหลังลิ้น หรือคร่อมทั้งสองระดับ ถ้าการอุดกั้นเกิดที่เพดานปากส่วนหลัง การผ่าตัดก็ทำแค่ยกเพดานปากและลิ้นไก่ (uvulopalatophyarygoplasty, UPPP) ก็พอ การผ่าตัดชนิดนี้มีความสำเร็จเพียงประมาณ 50% ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้น (ความสำเร็จนี้วัดจากการลดจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจลงได้อย่างน้อย 50%) และมีเหมือนกันประมาณ 31% ที่ทำผ่าตัดชนิดนี้แล้วอาการกลับแย่ลง แต่ถ้าการอุดกั้นเกิดที่ระดับหลังลิ้น ก็อาจจะต้องทำผ่าตัดดึงลิ้น (Genioglossus advancement with hyoid myotomy หรือ GAHM) หรือบางทีก็อาจจะต้องถึงกับเลื่อนกระดูกกรามล่าง (maxillomandibular advancement osteotomy หรือ MMO)ซึ่งมักจะแก้การอุดกั้นได้ทุกระดับ การเลือกผ่าตัดแบบไหนย่อมสุดแล้วแต่ผลการประเมินจุดอุดกั้นว่าเกิดตรงไหน อัตราการได้ผลก็ระดับลูกผีลูกคน ดังนี้จึงถูกจัดไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะทุกคนต่างก็เห็นพ้องกันว่าเป็นวิธีที่แย่ที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์